เส้นทางเชื่อมโยงจาก ผอ.โรงเรียน เก็บเกี่ยวประสบการณ์ก้าวไปไกลสู่ผู้บริหารเขตพื้นที่ วันที่ 5 ก.ย.59 รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เห็นชอบเห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งของ ผอ.และ รอง ผอ.สถานศึกษาใหม่ โดยการเข้าสู่ตำแหน่ง ผอ.สถานศึกษา จะไล่ตามขนาด ตั้งแต่โรงเรียนขาดเล็ก กลาง ใหญ่ ตามลำดับ โดยเปิดโอกาสให้ครู หรือศึกษานิเทศก์ ที่มีประสบการณ์สอนมาไม่น้อยกว่า 10ปี สมัครสอบคัดเลือก เข้าสู่ตำแหน่ง ผอ.โรงเรียนขนาดเล็ก ส่วนโรงเรียนขนาดกลาง และโรงเรียนขนาดใหญ่ จะเป็นการเข้าสู่ตำแหน่ง โดยการประเมินผลการทำงาน และเลื่อนไปตามลำดับ มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ไม่เกิน 2 วาระ นั้นจะช่วยให้เกิดการเลื่อนระดับเป็นวงรอบตลอดปี และเกิดการสไลด์เป็นลำดับจากโรงเรียนขนาดเล็ก ไปขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ และ ผอ.โรงเรียน แต่ละคนจะดำรงตำแหน่งได้ไม่เกินโรงเรียนละ 8 ปี ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีประสบการณ์ ค่อนข้างมาก ซึ่งต่อไป ศธ. มีแนวคิดจะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแห่ง ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และรอง ผอ.สพท. ให้เชื่อมโยงกับตำแหน่ง ผอ.โรงเรียน ด้วย ปลัด ศธ.กล่าวต่อว่า เดิมการเข้าสู่ตำแหน่ง รอง ผอ.และ ผอ.สพท.จะใช้วิธีการสอบคัดเลือก ซึ่งมีการกำหนดหลักเกณฑ์ คุณสมบัติต่าง ๆ ไว้พอสมควร แต่ยังไม่มีความเชื่อมโยงกับ ผอ.โรงเรียน ดังนั้นในอนาคต คุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่ง รอง ผอ. และ ผอ.สพท.จะต้องมีประสบการณ์ผ่านการเป็น ผอ.โรงเรียน มาก่อน เพราะการเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา จำเป็นต้องมีประสบการณ์ การทำงานด้านการศึกษามาและงานบริหารอย่างรอบด้าน เป็นที่มาของการต่อเก้าอี้จาก ผอ.โรงเรียนขนาดใหญ่ มาสู่รอง ผอ.สพท. พอเป็นรอง ผอ.สพท.ไปสักระยะหนึ่งค่อยขึ้นมาเป็น ผอ.สพท.ตามลำดับ “จะเห็นว่าหากเป็นไปตามนี้ การเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษาจะมีเส้นทางความเจริญก้าวหน้าตลอด เริ่มจาก ผอ.โรงเรียน ลำดับต่าง ๆ มาสู่ รองผอ.สพท.ขยับเป็น ผอ.สพท.และผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.)เขต 1 ก็จะขึ้นมาเป็น ศึกษาธิการภาค (ศธภ.) ส่วน ผอ.สพท.อื่น ๆ ก็จะขึ้นมาเป็น รอง ศธภ.และมีโอกาสขึ้นมาเป็นผู้ตรวจราชการ ศธ.ซึ่งก็เป็นตำแหน่งระดับเดียวกับ ศธภ.เช่นเดียวกัน ทั้งนี้เป้าหมายเพื่อจะลดการสอบข้อเขียนลง แต่อาจจะมีการสอบความรู้บ้างเรื่อง อาทิ การสอบสัมภาษณ์ภาค ค แม้บางคนอาจคิดว่า ระบบนี้เป็นช่องทางทำให้เกิดปัญหาการใช้เส้นสายเข้าสู่ตำแหน่ง หรือทำให้มีการกลั่นแกล้ง แต่หากไม่เชื่อใจใครเลย ประเทศไทยก็อยู่ไม่ได้ แม้แต่วิธีการสอบคัดเลือกที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็ยังมีการทุจริต ทุกระบบล้วนมีข้อบกพร่อง แต่หลักเกณฑ์การเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารใหม่นี้ จะวัดการที่ผลงาน ถ้าจะเล่นเส้นสาย หรือเล่นพรรคเล่นพวก หากผลงานไม่ดี ก็ต้องมีผู้รับผิดชอบตามลำดับ” รศ.นพ.กำจร กล่าว