กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมกับศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดเวทีประชาพิจารณ์ร่างยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560 - 2579) ระดมความเห็นทุกภาคส่วน ร่วมเสนอแนวทางพัฒนายางพาราทั้งระบบ อย่างยั่งยืน ณ ห้องประชุมกันตัง การยางแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่ ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการ อนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ยางพารา 20 ปี เผยว่า แผนยุทธศาสตร์ยางพารา ระยะ 20 ปี เป็นแผนยุทธศาสตร์ซึ่งมีความสืบเนื่องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ ระยะ 20 ปี ซึ่งสามารถทำให้การดำเนินการต่างๆ ได้รับการสนับสนุนทั้งในเชิงทิศทาง งบประมาณจากทางรัฐบาลได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยการรวบรวมความคิดเห็นจากพี่น้องเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยาง และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการประกอบธุรกิจยางพาราทั้งระบบผ่านการจัดประชุมระดมความเห็น และการจัดทำประชาพิจารณ์ ดร.ธีธัช  สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ดร.ธีธัช ให้ความเห็นว่า ตามกรอบวิสัยทัศน์ในการบ่งบอกถึงการเป็นผู้นำของโลกในการทำธุรกิจเรื่องผลผลิต ผลิตภัณฑ์จากยางพารา รวมไปถึงไม้ยางพารา ได้มีการวางแนวทางการดำเนินการ ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางให้มีความพร้อมและมีรายได้ที่มั่นคง ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพ และการยกระดับคุณภาพและมาตรฐาน ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดในอนาคตได้ เพราจะมีประเทศผู้ปลูกยางเพิ่มมากขึ้น แต่ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้นำในเรื่องของคุณภาพ จึงต้องรักษาระดับไว้ รวมไปถึงในอีก 20 ปีข้างหน้าจำเป็นต้องรักษาความเป็นผู้นำในเรื่องระดับคุณภาพหรือมาตรฐานของยางพาราเช่นกัน ยุทธศาสตร์ที่ 3 การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เพื่อนำข้อมูลนวัตกรรมต่างๆ ไปพัฒนายางพาราทั้งระบบให้สามารถต่อยอดได้อย่างต่อเนื่อง ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาตลาดและช่องทางการจัดจำหน่าย โดยไม่ใช้การมองเพียงต้นน้ำเท่านั้น แต่จะต้องมองถึงตลาดในส่วนของกลางน้ำ และปลายน้ำด้วย จะทำให้มีผู้ประกอบการเกิดขึ้นใหม่ในประเทศไทยมากขึ้น เมื่อผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น จะเกิดการใช้ยางในประเทศสูงขึ้น ทำให้มีตลาดใหม่สำหรับวงการยางพาราไทยได้ และ ยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนาปัจจัยสนับสนุน ในการปลดล็อคในเรื่องระเบียบ กฎหมาย หรือโครงสร้างพื้นฐาน ที่ทำให้ยางพารายังติดขัดอยู่ ซึ่งจะเป็นอีกส่วนหนึ่งในกรอบยุทธศาสตร์ที่จะพูดคุยกัน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นระบบมากขึ้น โดยมีตัวชี้วัด แผนงาน ระยะเวลาที่ชัดเจน โดยเฉพาะปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งที่ผ่านมาอาจจะแก้ปัญหาระยะสั้น เพราะยางพาราเป็นพืชที่เลือกช่วงเวลา บางช่วงผลผลิตออกมาน้อย แต่ความต้องการมาก ทำให้มีรายได้มาก เมื่อมีรายได้มาก ก็มีปริมาณการปลูกมาก เมื่อปริมาณการปลูกมากราคาก็จะลดลง เป็นปัญหาซึ่งวนเวียนอยู่อย่างนี้มาตลอด ดังนั้น การปรับแก้ที่ตัวโครงสร้างพื้นฐาน กำหนดวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน เป็นแนวทางที่จะแก้ปัญหาในระยะยาวได้ และด้านราคายางเป็นแค่ตัวชี้วัดหนึ่งเท่านั้น สิ่งที่สำคัญคือ รายได้ที่มั่นคงมากกว่า เพราะรายได้อาจไม่ได้มาเฉพาะในส่วนของผลผลิตจาก แต่มาจากผลผลิตประเภทอื่นๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์ในรูปอื่นด้วย นอกจากนี้ ยังมีเกษตรกรหลายรายที่มีรายได้เสริมของผู้ปลูกยางพาราเองเช่นกัน “เพราะฉะนั้น ไม่ควรยึดติดกับเรื่องราคาเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องมองความเป็นอยู่ และการกระจายรายได้ที่สมบูรณ์ของเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยางที่จะอยู่ได้ ถือเป็นเป้าหมายของข้อเสนอแนะในยุทธศาสตร์อีกหนึ่งข้อ หรือในเวทีนี้อาจมีข้อเสนอแนะที่เกิดขึ้นใหม่ๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการนำไปผลักดันหรือพูดคุยต่อในเวทีที่สูงขึ้นไป”ดร.ธีธัช กล่าว ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมพงษ์ มหิงสพันธุ์ หัวหน้าโครงการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ยางพาราฯ จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ในการจัดทำยุทธศาสตร์ยางพารา 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์คือ "ประเทศไทยเป็นผู้นำในตลาดซื้อขายยางธรรมชาติ และเป็นผู้ส่งออกยางธรรมชาติและผลผลิตภัณฑ์ยางอันดับ 1 ของโลก" โดยปัจจัยแห่งความสำเร็จ (CSF) ที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวไปเป็นผู้นำนั้นประกอบด้วย (1) นโยบายของรัฐต้องชัดเจน มียุทธศาสตร์ที่สามารถนำไปปฏิบัติ (Implement) ได้ และจะต้องมีการปฏิบัติอย่างจริงจัง (2) จะต้องมีงบประมาณสนับสนุนที่เพียงพอในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ (3) หน่วยงานที่รับผิดชอบหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพารา 20 ปี คือ การยางแห่งประเทศไทย ต้องเป็น Intelligent Unit ที่มีความพร้อมทั้งด้านวิชาการ และการปฏิบัติ (4) มีการพัฒนาบุคลากรเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราอย่างเป็นระบบ (5) มีการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมที่ทันสมัย เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงอย่างต่อเนื่อง (6) มีการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยาง และมีการผลักดันและพัฒนาผู้ประกอบการ และสถานประกอบการให้ได้มาตรฐาน (7) สนับสนุนให้เกษตรกร และผู้ประกอบการทั้งในระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้อย่างทั่วถึง (8) ต้องมีห้องปฏิบัติการ หรือศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ยางที่ทันสมัย มีมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับในระดับสากล (9) มีการพัฒนาผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับปลายน้ำ โดยมีศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการ มีสถาบันฝึกอบรม ทั้งด้านการผลิต การตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ การพัฒนาและการสร้างแบรนด์สินค้า และการบริหารความเสี่ยงอย่างมืออาชีพในระดับสากล (10) มีการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนในระยะสั้นได้แก่ การให้ข้อมูล ข่าวสาร ที่ถูกต้องให้เกษตรกร และผู้ประกอบการ สามารถนำไปใช้ในการตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ การส่งเสริมให้เกษตรกร และผู้ประกอบการ ป้องกันความเสี่ยงของราคาโดยใช้ประโยชน์จากตลาดซื้อขายล่วงหน้า การสนับสนุนและส่งเสริมสถาบันเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง การส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงการปรับปรุงแก้ไขให้กลไกตลาดมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีการส่งเสริมให้มีการแข่งขัน ไม่ให้เกิดปัญหาการผูกขาดในระบบการตลาดยาง