สามล้อถีบพิษณุโลก...ฤากลายเป็นตำนาน?
แต่ก่อนเมื่อกลับจากกรุงเทพฯ พอลงรถทัวร์เป็นต้องมองหารถสามล้อถีบ นั่งชมเมืองแบบเพลินเพลินระหว่างกลับบ้านแบบไม่เร่งรีบ เจอสะพานหรือเนินสูงก็ต้องลงไปช่วยเข็นกันสนุกสนาน เป็นสีสัน และเสน่ห์คู่เมืองพิษณุโลกมาอย่างยาวนาน แต่ปัจจุบันสามล้อถีบ..ลดจำนวนลง เหลือน้อยมาก
สามล้อถีบหายไปไหน..คนถีบสามล้อไปทำอาชีพอะไร?? "สังคมเมืองพิษณุโลกก้าวเข้าสู่การพัฒนา และขยายตัวของชุมชนเมือง มาตั้งแต่ปี 2500 ส่งผลให้วิถีชีวิตของคนถีบสามล้อ เป็นส่วนหนึ่งของสังคมเมืองพิษณุโลก แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนผ่านรถสามล้อถีบเมืองพิษณุโลกได้ถูกพัฒนาเป็นสัญลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว แต่วิถีชีวิตของคนถีบสามล้อ กลับโรยราและเปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนขาดผู้เชื่อมต่อจากรุ่นสู่รุ่น เหลือเพียงวิถีชีวิตของผู้เฒ่าและกลุ่มคนที่มองว่าเป็นเพียงชายขอบของสังคม" ผศ.ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผอ.กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) กล่าวถึงที่มาของงานวิจัย "พลวัตของคนประกอบอาชีพสามล้อถีบเมืองพิษณุโลก" จุดเปลี่ยนแปลงของวิถีสามล้อ เริ่มจากปี 2503 ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศยกเลิกสามล้อในกรุงเทพฯ เมื่อในกรุงเทพฯ ยกเลิก "สามล้อ" จึงกระจายออกสู่ต่างจังหวัด รวมทั้งพิษณุโลก จังหวะเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ จึงมีการบูรณะเมือง สามล้อถีบจึงเป็นสิ่งใหม่ที่คนพิษณุโลกให้ความสนใจ และได้รับความนิยมเรื่อยมา พร้อมกับการพัฒนาเมือง เกิดโรงแรม ร้านค้า และธุรกิจใหม่มากมาย มีกิจการอู่เช่าสามล้อถีบหลายสิบอู่ กลายเป็นอาชีพ เป็นเส้นทางทำมาหากินที่สำคัญ" นายอภิสิทธิ์ ปานอิน ผู้ลงมือศึกษาวิจัยได้เริ่มสืบค้นตั้งแต่กำเนิดของสามล้อในเมืองไทย อธิบายและว่า กระทั่งช่วงปี 2531 เป็นต้นมา สามล้อถีบเริ่มลดความนิยมและน้อยลงเรื่อย ๆ ซึ่งมีปัจจัยสำคัญมาจากนโยบายการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านการศึกษา เศรษฐกิจ การคมนาคม อุตสาหกรรม สำหรับพิษณุโลกเองเริ่มมีรถจักรยานยนต์ มากขึ้นเรื่อย ๆ มีรถเมล์บ้านเรา รถตุ๊กตุ๊ก และวินมอเตอร์ไซต์ นี่ยังไม่นับรวมรถแท็กซี่ที่เกิดขึ้นในภายหลัง สามล้อถีบจำนวนหลายพันคัน เหลือเพียงหลักร้อย และมีทีท่าว่าจะลดลงเรื่อย ๆ ทั้งนี้ สามล้อถีบที่ยังหลงเหลือในปัจจุบันแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ สามล้อดั้งเดิมและสามล้อเพื่อการท่องเที่ยว "สามล้อดั้งเดิมแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่มีอายุ 50-60 ปี รับจ้างปั่นแบบไม่เร่งรีบ เนื่องจากมีลูกหลานเลี้ยงดูอยู่แล้ว กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มดั้งเดิมที่ปรับตัวเข้ากับสังคมเมือง คือ ปั่นสามล้อแบบหารายได้จากทั้งรับบริการทั่วไปกับให้บริการนักท่องเที่ยว มีรายได้พอเลี้ยงตัวเองได้ ส่วนกลุ่มที่ 3 คือกลุ่มสามล้อเพื่อการเอาชีวิตรอด ส่วนใหญ่เป็นคนยากจน ปั่นสามล้อเพื่อเลี้ยงชีพ" "สามล้ออีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังคือ สามล้อเพื่อการท่องเที่ยว กลายเป็นเอกลักษณ์ เป็นสีสันและวัฒนธรรมของเมืองพิษณุโลก นับตั้งแต่ยุคของนายไพฑูรย์ สุนทรวิภาค เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก มีนโยบายสนับสนุน ส่งเสริมอาชีพสามล้อถีบ โดยต้องการให้เป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวยามค่ำคืน เราจึงมักเห็นนักท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติสนุกสนานกับการนั่งสามล้อทัวร์ชมเมืองพิษณุโลกชมแสง สี เป็นส่วนใหญ่" นายอภิสิทธิ์ กล่าวและว่า คนมองว่าเอกลักษณ์ของเมืองพิษณุโลก คือ รถสามล้อ แต่ไม่เคยมองที่คนปั่น...เหมือนทัวร์สามล้อ มีรถสามล้อเป็นเอกลักษณ์ คนปั่นสามล้อไม่ได้เป็นเอกลักษณ์ สิ่งที่ยังคงอยู่คือรถสามล้อ ในขณะที่คนปั่นเริ่มหายไป คนนั่งสามล้อก็ลดลง จึงอาจกล่าวได้ว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดจากคนมากกว่า ช่วงเวลานี้เป็นช่วงก้ำกึ่งอาจยังมองไม่เห็น นึกภาพไม่ออก แต่เชื่อว่าอีก 10-20 ปีข้างหน้าสามล้อทัวร์จะไม่มีแล้ว อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ ไม่ใช่บทสรุปของอาชีพสามล้อถีบของพิษณุโลก ในอนาคตสามล้อถีบอาจกลายเป็นจดหมายเหตุ ความทรงจำของชาวบ้าน หรือไม่แน่ว่าอาจได้รับการพลิกฟื้นให้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งก็เป็นได้ ---------------- ขอบคุณข้อมูล - พรปวีณ์ ทองด้วง กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ม.นเรศวร