"สมคิด"แจง ที่ประชุมปฏิรูปตำรวจ เสนอกระจายอำนาจเป็นสามด้าน จ่อพบสุเทพฯขอความรู้อดีตรองนายกฯคุมตำรวจ วันที่ 13 ก.ย.60 นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ โฆษกคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) แถลงผลการประชุมว่า คณะอนุกรรมการด้านหน้าที่อำนาจและภารกิจของตำรวจที่มีนายมนุชญ์ วัฒนโกเมร เป็นประธาน ได้เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการกระจายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไป ซึ่งที่ประชุมมีเห็นชอบในหลักการตามที่คณะอนุกรรมการฯเสนอ 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.การบริหารงานบุคคล 2.งบประมาณ และ3.การบริหารงานภายใน นายสมคิด กล่าวว่า ทั้ง 3 หลักการจะเป็นการกระจายอำนาจให้กองบัญชาการที่สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติบริหารกันเอาเอง อย่างเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจภายในกองบัญชาการภาคจะเป็นอำนาจของผู้บัญชาการภาค โดยจะไม่สามารถโยกย้ายข้าราชการตำรวจข้ามภาคได้เพื่อให้ข้าราชการตำรวจสามารถเติบโตได้หน่วยงานที่้สังกัด แต่อาจจะกำหนดสามารถย้ายข้ามภาคได้เฉพาะข้าราชการตำรวจในบางระดับ ส่วนเรื่องงบประมาณนั้นจะต้องแก้ไขพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณพ.ศ.2502 เพราะสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นนิติบุคคล อย่างไรก็ตาม ในประเด็นเหล่านี้ที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการฯไปกำหนดรายละเอียดอีกครั้ง นายสมคิด กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบกับการให้มีการรับฟังความคิดเห็นด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก 3 ครั้ง แบ่งเป็น กลุ่มสภาทนายความ สื่อมวลชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ซึ่งในกรณีของการสัมภาษณ์นายสุเทพนั้นเพราะเห็นว่าเป็นอดีตรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกิจการตำรวจมาก่อน และนายสุเทพยังเคยเป็นแกนนำในการชุมนุมซึ่งเคยมีความขัดแย้งกับตำรวจ ขณะที่ การต้องไปสอบถามความคิดเห็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากคณะกรรมการฯต้องทราบถึงปัญหาในข้อกฎหมายต่างๆเกี่ยวกับการบริหารงานตำรวจ เมื่อถามว่า เมื่อมีการแบ่งแยกอำนาจไปแล้ว ต่อไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จะมีบทบาทอย่างไร นายสมคิด กล่าวว่า ในที่ประชุมได้มีการพูดเบื้องต้นว่ามีแนวโน้มอาจจะให้คงไว้เฉพาะคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) โดยอาจจะไม่มีคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ (กตช.) เพื่อให้มีคณะกรรมการเพียงชุดเดียวเหมือนกับองค์กรอื่นๆ เช่น ข้าราชการอัยการก็จะมีเฉพาะคณะกรรมการข้าราชการอัยการ (ก.อ.) ทั้งนี้เพื่อให้ตำรวจปกครองกันเองโดยที่ฝ่ายการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ยังไม่ได้ข้อยุติอย่างเป็นทางการ เพราะต้องไปกำหนดโครงสร้างของก.ตร.ให้มีความชัดเจนด้วย