รศ.นพ.สุเทพ อุดมแสวงทรัพย์ ศัลยแพทย์ส่องกล้องและการผ่าตัดโรคอ้วน ศูนย์ศัลยกรรม รพ.กรุงเทพ เผยมีผู้ป่วยที่เข้าข่ายโรคอ้วนมากขึ้น เนื่องจากรับประทานเกินความต้องการและขาดการออกกำลังกาย หรือแม้แต่ป่วยด้วยโรคแทรกซ้อนต่างๆ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อโรคอ้วน เช่น โรคเส้นเลือดสมองอุดตัน หยุดหายใจขณะหลับ ความดันเส้นเลือดปอดสูง นิ่วถุงน้ำดี เบาหวานฯลฯ ซึ่งหลายคนลดน้ำหนักเองไม่ได้ เกณฑ์อ้วนแล้วเสี่ยงโรคแทรกซ้อนคือ มีค่าดัชนีมวลกาย (Body Mas Index) มากกว่า30ซึ่งคำนวณเองได้ โดยนำน้ำหนักเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง จะได้ค่าดัชนีมวลกาย การรักษาผู้ป่วยโรคอ้วนแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่มีค่าดัชนีมวลกายไม่เกิน 32.5 จะใช้วิธีคุมอาหารลดแป้ง น้ำตาล ไขมัน ร่วมกับออกกำลังกาย ส่วนกลุ่มที่ค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 32.5 ขึ้นไปและมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ร่วมด้วย แพทย์จะแนะวิธีลดน้ำหนักโดย ‘ผ่าตัดส่องกล้องลดขนาดกระเพาะอาหาร’ เพื่อลดขนาดและลดการดูดซึมของกระเพาะ ทั้งนี้ แพทย์จะพิจารณาการผ่าตัดโดยใช้ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) เนื่องจากมีผลวิจัยพบว่าคนไข้กลุ่มนี้ใช้วิธีคุมอาหาร ออกกำลังกาย หรือรับประทานยาไม่ได้ผลกลับมาอ้วนอีก แพทย์จะเลือกวิธีผ่าตัดเพื่อช่วยให้น้ำหนักลดลงได้ในระยะยาว อีกทั้งยังช่วยลดอัตราใช้ยารักษาโรคหัวใจและเบาหวานได้ในคนอ้วนดีขึ้น ลดโอกาสเสียชีวิตก่อนวัยอันควรอีกด้วย วิธีผ่าตัดส่องกล้องลดขนาดกระเพาะมี 3เทคนิคคือ ใส่หูรูดรัดกระเพาะ จะนำซิลิโคนรัดส่วนต้นของกระเพาะอาหารให้มีขนาด30cc.ทำให้อิ่มเร็วเพราะกระเพาะเล็กลง คนไข้ทานได้เกือบปกติ น้ำหนักจะลดลง60 % ของน้ำหนักส่วนเกิน แต่ไม่เหมาะกับคนอ้วนมากๆ ต้องดูแลหลังผ่าตัดใกล้ชิด ต้องมีวินัยสูงในการรับประทานอาหารที่กำหนดไว้หลังผ่าตัด การตัดกระเพาะแบบบายพาส จะใส่เครื่องมือผ่าตัดกระเพาะให้เล็กลงเป็นกระเปาะ และตัดลำไส้บายพาส 150 ซม. แล้วนำมาต่อกับกระเปาะและไปเชื่อมกระเพาะอาหาร ลำไส้ส่วนแรกไป (บายพาส) มาต่อกับลำไส้ส่วนที่สอง ผ่าตัดวิธีนี้คนไข้ต้องเคี้ยวอาหารให้ละเอียดที่สุด เพราะอาหารไม่ผ่านการย่อยในกระเพาะ สุดท้าย ผ่าตัดส่องกล้องลดขนาดกระเพาะอาหารแบบสลีฟ เหมาะกับคนไข้ที่มีดัชนีมวลกาย 35 ขึ้นไป และมีโรคแทรกซ้อนมากกว่า2โรคขึ้นไป โดยผ่าตัดนำกระเพาะออกไป80% ซึ่งรวมถึงส่วนที่ผลิตฮอร์โมนที่คุมความหิว วิธีนี้ลดน้ำหนักได้มากถึง 40-60% จากน้ำหนักตั้งต้น โดยจะมีแผลเล็ก 0.5 ซม. ประมาณ3-4รูเล็กๆ ได้ผลใกล้เคียงวิธีบายพาส คนไข้ดูแลตัวเองหลังผ่าตัดได้ไม่ยุ่งยาก และประสบภาวะขาดสารอาหารหลังผ่าตัดน้อยกว่า ซึ่งแพทย์ผู้ผ่าตัดต้องเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ เพื่อวัดขนาดกระเพาะให้ได้ขนาดเหมาะสม