ช่วงที่ผ่านมาประเด็น "โรฮิงญา" กลับมาเป็นประเด็นร้อนที่สำนักข่าวหลักทั่วโลกให้ความสนใจอีกครั้ง ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา และขณะนี้ก็มีรายงานว่า ปฏิบัติของทางการเมียนมาในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้มีชาวโรฮิงญาต้องอพยพเข้าไปในบังคลาเทศแล้วกว่า 3 แสนคน เราทราบดีว่าปัญหาโรฮิงญาเป็นเรื่องที่คาราคาซังมานานของประเทศเพื่อนบ้าน และปฏิเสธไม่ได้เลยในฐานะที่มีพรมแดนติดกัน ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสิ่งที่เมียนมาแสดงจุดยืนชัดเจนว่าเป็นปัญหาภายในของตนไม่ต้องการให้ใครเข้ามาแทรกแซงโดยตลอด กรณีการเคลื่อนย้ายอย่างไม่ปกติทางเรือ ที่ทางการไทยถูกจับตามอง และถูกวิจารณ์ในทำนองติติง ถึงความเหมาะสมที่ปฏิบัติในการผลักดันออก ต่อกลุ่มคนที่บางกลุ่มได้นิยามไปแล้วว่าเป็น "ผู้ลี้ภัย" หนีภัยการสู้รบ เพื่อเอาชีวิตรอด ทว่าต้องไม่ลืมว่า Boat People ซับซ้อนมากกว่านั้น พวกเขาอาจจะเป็นผู้ลี้ภัยที่หนีการประหัตประหารมาจริงๆ หรือเป็นคนที่ตั้งใจออกมาเพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่า แต่วันนี้เราจะยังไม่กลับไปพูดถึงตรงนั้น สิ่งที่เรากำลังจะเข้าไปทำความเข้าใจบริบทต่างๆ เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมาปัจจุบันที่กำลังระอุได้บนบรรทัดฐานเดียวกัน ไม่ได้กำลังจะบอกว่าแบบไหนคือถูก หรือผิด แต่วันนี้เห็นกระแส และคำถามมากมายว่าเรื่องนี้เป็นวิกฤติมนุษยธรรม วิกฤติสิทธิมนุษยชน ปัญหาทางศาสนา หรืออาจจะเป็นอย่างอื่น ส่วนหนึ่งของเวทีจุฬาฯเสวนา หัวข้อ "โรฮิงญา: เรื่องที่ใกล้ตัวกว่าที่คิด" ได้มีการให้ความรู้จากนักวิชาการที่มีประโยชน์อย่างมาก ต่อผู้ที่ต้องการจะทำความเข้าใจเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง มากกว่าการอ่ายรายงานข่าวสิ่งที่เกิดขึ้นรายวัน "รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์" คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านปะวัติศาสตร์เมียนมา กล่าวว่า ช่วงปี 2012 - 2013 เป็นกระแสแรกที่เกิดการรับรู้กันอย่างกว้างขวางถึงปัญหาโรฮิงญา ว่ามีคนอพยพเข้าไปเรือนแสนในบังคลาเทศ และกระแสที่แรงไม่แพ้กันคือ ปี 2016 ที่มีการใช้คำรุนแรงไปถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่ปัญหาความขัดแย้ง และปัญหากรณีโรฮิงญามีมาช้านานในเมียนมา ทว่าเราไม่ได้ข้อมูล เพราะเมียนมาปิดประเทศ ข้อมูลข่าวสารไม่เปิดกว้าง สื่อต่างๆ เทคโนโลยีไม่เปิดกว้างอย่างปัจจุบัน แต่ความรุนแรงก็ใกล้เคียงกัน อ.สุเนตรกล่าวว่า ปัญหาจากประวัติศาสตร์บาดแผลที่สำคัญคือ "สถานะของชาวโรฮิงญา" สัมพันธ์อย่างยิ่งต่อท่าทีของรัฐบาลเมียนมา ในทางหนึ่งในมุมมองของรัฐบาล หรือผู้ต่อต้านโรฮิงญาในเมียนมา จะมองว่า โรฮิงญาไม่ได้เป็นคนพื้นถิ่ เช่นเดียวกับคนเมียนมา และคนกลุ่มน้อยอื่นๆ โดยมองว่าโรฮิงญา คือผู้ที่เข้ามาประเทศหลังปี 1824 เรียกว่า "เบงกาลี" ก็สืบต่อการกำหนดสถานะ ว่าเป็นชาวต่างชาติ แต่การกำหนดสถานะ มีกฎหมายเข้าไปคุมด้วย ทำให้ซับซ้อนขึ้น เช่นในปี 1974 ไม่สามารถถือบัตรประชาชนได้ หรือ ปี 1982 เป็น Burmese Citizenship Law ปลดสถานะของโรฮิงญาสิ้นเชิงไม่สามารถือบัตรอะไรได้เลย ภาพนี้แสดงภาพของการมองโรฮิงญาเป็นคนต่างชาติ และเป็นกระแสที่คนส่วนใหญ่ในเมียนมาเชื่อถือ ซึ่งข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะว่า ฝ่ายโรฮิงญาเอง และนักวิชาการชาวต่างประเทศ และอื่นๆ ว่าคำว่าโรฮิงญามีใช้มานานแล้ว มีหลักฐานหลายชุดที่เอามาสนับสนุนว่าโรฮิงญาอยู่มาก่อนปี 1824 นี่เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับสถานะของ ขณะเดียวกันโรฮิงญาเป็นประวัติศาสตร์บาดแผล โดยปกติคนอาระกันพุทธไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นคนเมียนมา และรัฐอำนาส่วนกลางก็ไม่เคยรวมอำนาจอารกันได้มาก่อน จนกระทั่งมาถึงรัชกาลพระเจ้าผดุง ในปี 1784 ที่ส่งราชโอรสไปตีเมืองหลวงของอารกันได้ ครั้งนั้นก็ถือว่าได้เข้ามาปกครองอารกัน ก็มีคนมุสลิมที่ย้ายหนีออกไปบังคลาเทศหลายหมื่นคน ผลต่อมาเกิดการกระทบกระเทือนกับอาณานิคมอังกฤษซึ่งตอนนี้มีพรมแดนเชื่อมต่อกันแล้ว หลังก่อนหน้านี้มีอารกันเป็นรัฐกันชนอยู่ จนเกิดสงครามเรียกว่า First Anglo- Burmese War 1824 - 1826 จบด้วยสนธิสัญญายานนะโบ ผลทำให้อารกันทั้งก้อนหลุดไปเป็นของจักรวรรดินิยมอังกฤษรวมไปกับอินเดีย และบังคลาเทศ ตรงนี้เกิดการเคลื่อนย้ายประชากรเข้าออก แต่จะเข้ามามากในช่วงต้น ค.ศ.ที่20 ที่อังกฤษต้องการใช้แรงงานของแขกหลายกลุ่ม แต่ส่วนใหญ่เป็นมุสลิม จึงมีการนำเข้าคนฝั่งโน้นมาก แล้วใครจะทราบว่าโรฮิงญาส่วนไหนอยู่มาก่อน และโรฮิงญาส่วนไหนที่อังกฤษเอาเข้ามา มาถึงยุคนี้จะปนกันไปขนาดไหน แต่รัฐบาลเมียนมาเหมาทั้งหมดเกือบล้านว่าเข้ามาหลังปี 1824 เรื่องที่เป็นเรื่องใหญ่คือ สงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษใช้โรฮิงญารบกับญี่ปุ่น ในขณะที่ผู้นำกอบกู้เอกราชของเมียนมาไปเข้ากับญี่ปุ่น เช่น 13 สหาย นายพลอองซาน จึงเปิดพื้นที่ให้เมียนมากับโรฮิงญารบกัน พออังกฤษเริ่มถอยออกไป ก็ให้อาวุธกับโรฮิงญาไว้มาก เพราะจะเก็บพื้นที่นี้ไว้เป็นรัฐกันชน ไม่ให้ญี่ปุ่นขยายตามออกไปในเขตอินเดีย นี่เป็นแผลสำคัญมาก ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดปรากฏการณ์การแยกประเทศ เช่น ปากีสถานตะวันออก ปากีสถานตะวันตก ในกลุ่มโรฮิงญาก็มีกลุ่มที่เคลื่อนไหวอยากแยกประเทศเหมือนกัน มีชื่อปรากฏคำออกมา เช่น Arakanistan ซึ่งต้องบอกว่า เป็นเรื่องสุดท้ายที่รัฐบาลจะยอมได้ จึงเกิดกลุ่มเคลื่อนไหว และใช้กำลังต่อต้าน ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะคนกลุ่มน้อยาอื่นๆ ก็ทำ แต่โรฮิงญาเป็นกลุ่มมุสลิม ที่เรียกว่า Muslim Group Rebellion ที่ชื่อว่ามูจาฮีดีน เกิดความไม่สงบขึ้นในปี 1947 และตามมาหลังจากนั้น นอกจากประวัติศาสตร์บาดแผลที่รัฐอ้าง คนเมียนอ้าง เพื่อกำหนดสถานะของคนโรฮิงญาต่างไปจากสถานะของคนกลุ่มอื่น ปัญหาเพื่อการต่อสู้เพื่อความเป็นเอกราชของชาติ ยังมีปัญหาทางการเมือง อ.สุเนตร กล่าวว่า มีกลุ่มการเมืองที่สัมพันธ์กับเรื่องนี้ ได้แก่ กลุ่มพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางออง ซาน ซูจี ที่ก็คงปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ทั้งๆ ที่อยู่ในภาวะที่ยากลำบากมากๆ เพราะเป็นรัฐบาลด้วยคะแนนเสียงส่วนใหญ่ แต่นางซูจีตระหนักถึงความละเอียดอ่อนของปัญหานี้มาก ดังนั้นตั้งแต่ในช่วงหาเสียง มีคำถามที่ห้ามนักข่าวถาม คือคำถามเรื่องโรฮิงญา และตอนนี้ก็ยังไม่พยายามตอบปัญหานี้ จนกระทั่งถูกกดดันจากประธานาธิบดีของตุรกี ก็เป็นครั้งแรกที่แสดงจุดยืนในเรื่องนี้ แต่คนก็ไม่พอใจนัก อีกส่วนคือกองทัพที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับโรฮิงญามานานแล้ว ปัจจุบันกองทัพก็คือพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (ยูเอสดีพี) ที่เป็นละคู่แข่งกัน ต่างก็คาดหวังว่าจะได้เสียงสนับสนุนจากชาวเมียนมาซึ่งร้อยละ 90 เป็นพุทธ ถ้ารัฐบาลแสดงทีท่าว่าไปเห็นอกเห็นใจ หรือสนับสนุนมุสลิมโรฮิงญา ก็จะถูกต่อต้านจากภาคประชาชน "หมวกที่ออง ซาน ซูจี สวมในขณะนี้เป็นหมวกนักการเมือง ไม่ใช่หมวกของผู้ที่ชนะรางวัลโนเบลสันติภาพ ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน ดังนั้นถ้าไปทำมากก็จะทำให้คะแนนเสียงเสีย" ขณะเดียวกันตัวแปรที่สำคัญคือพรรคการเมืองภายในอารกันเอง เริ่มตั้งแต่การเลือกตั้งใหญ่ในปี 1990 พรรคนั้นคือ Arakan League For Democracy ซึ่งเป็นพรรคพุทธหัวรุนแรง โดยพื้นฐานต่อต้านโรฮิงญาอยู่แล้ว ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Rakhine Nationality Development Party (RNDP) ในปี 2010 แต่ก็ไม่ได้ต่างกัน คือ ถ้าไม่คิดว่าต้องผลักดันโรฮิงญาเข้าไปอยู่ในค่ายกักกัน ก็ต้องผลักดันออกไปในบังคลาเทศให้หมด เพราะถือว่าเป็นคนเบงกาลี ไม่ใช่คนพม่า และพรรคพวกนี้ก็ชนะเลือกตั้ง ดังนั้นทั้งสองพรรคใหญ่ก็ต้องให้ความสำคัญกับพรรคในพื้นที่ ก็จะเข้าใจว่าทำไมซูจีแสดงจุดยืนค่อนข้างยาก ในมิติทางสังคม แต่ปัญหาโรฮิงญายังเป็นปัญหาในเรื่องสีผิวด้วย และเป็นปัญหาใหญ่ด้วย เพราะคนโรฮิงญาที่แยกออกจากคนเมียนมาที่เป็นมองโกลอยด์นั้นมีสีผิวที่แตกต่างชัดเจน ยังมีภาษาคนละภาษา ไม่ได้ถูกกลืนกลายอย่างชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม ศาสนาก็ยังแตกต่างกันไปด้วย "ถ้าจะสรุป ปัญหาโรฮิงญาตอนนี้ เป็นปัญหาคล้าย P to P ในระดับหนึ่ง คือมียะไข่พุทธ กับโรฮิงญาที่ค่อนข้างขัดแย้งกัน ทั้งๆ ที่ในอารกันไม่ได้มีแค่ 2 ชาติพันธุ์นี้" พอเป็นปัญหาระดับนี้รัฐวางตัวยาก ว่าต้องการสนับสนุนจากใคร แค่ไหน ซึ่งแน่นนอนเอนเอียงมาทางพุทธ พอเป็นปัญหานี้มันข้ามพรมแดน ไม่ได้อยู่ในรัฐยะไข่เท่านั้น แต่กระจายไปในพื้นที่ส่วนอื่นที่เป็นชาวพุทธด้วยกัน ที่มีความเคลื่อนไหวต่อต้านโรฮิงญาอยู่ ซึ่งเป็นปัญหาเชิงศาสนา เชื้อชาติ และท้ายที่สุดเราเห็นภาพของความร่วมมือกัน ของคนที่ไม่ถูกกัน แต่พอมามีปัญหาเรื่องโรฮิงญาสามารถร่วมมือกันได้ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ เอ็นแอลดี หรือพรรคการเมืองท้องถิ่น จึงทำให้ยากเข้าไปอีกที่จะไปแก้ไข