ร่วมสมัย / ชะมวง พฤกษาถิ่น "วิจิตรศิลป์ นารายณ์อวตารฉากบังเพลิง พระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9" ช่วงเวลานี้งานจัดสร้างศิลปกรรมประกอบพระเมรุมาศ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวง รัชกาลที่ 9) หลายอย่างแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างเก็บรายละเอียดงานให้ประณีตศิลป์ อย่างงานเขียนภาพฉากบังเพลิง ดำเนินการโดยกลุ่มจิตรกรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร และศิลปิน จิตรกรอาสากว่า 30 ชีวิต ได้ร่วมกันเขียนภาพมาเป็นระยะเวลาหลายเดือน โดยมี นายมณเฑียร ชูเสือหึง จิตรกรเชี่ยวชาญ และ นายเกียรติศักดิ์ สุวรรณพงศ์ จิตรกรชำนาญการพิเศษ ทั้งสองควบคุมการเขียนภาพให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดไว้ “ภาพรวมลงสีจิตรกรรมฉากบังเพลิงทั้งหมดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนจากนี้ ทยอยนำภาพลงมาผนึกเข้ากับแผ่นไม้กระดานอัดหนา จากนั้นเริ่มผนึกภาพลงกรอบไม้แกะสลักของฉาก เมื่อประกอบเสร็จแล้วนำไปติดตั้งบนพระเมรุมาศภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้” เกียรติศักดิ์ กล่าว (11 ก.ย.60) กล่าวฉากบังเพลิง เป็นเครื่องกั้นในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพบนพระเมรุมาศ เพื่อมิให้เห็นการถวายพระเพลิงและบังลม มีลักษณะเป็นฉากพับได้ติดไว้กับเสาพระเมรุมาศทั้ง 4 ด้าน ซึ่งฉากบังเพลิงในครั้งนี้ ‘เกียรติศักดิ์’ กล่าวว่า ฉากแต่ละด้านมีขนาดกว้าง 5 เมตร สูง 4.50 เมตร ใหญ่กว่าฉากบังเพลิงที่ผ่านมา และภาพที่เขียนฉากต่างจากภาพเทพยดาที่ผ่านมา ในครั้งนี้แสดงเรื่องราวนารายณ์อวตารปางต่างๆ จำนวน 8 ปาง เขียนภาพลงบนผ้าแคนวาสของฉากแต่ละบาน รวม 8 บาน มีกลุ่มเทวดาแสดงความยินดี ด้านล่างของฉากเขียนภาพโครงการพระราชดำริ สื่อถึงพระองค์ท่าน ทั้ง 8 บานนี้แสดงด้านหน้าของฉาก ทั้งร่ายที่มาของภาพเขียนเรื่องราวนารายณ์อวตาร นำมาจากฉบับพระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ 6 แต่ละทิศของฉากแสดงปางและภาพเขียนโครงการพระราชดำริ สังเขปดังนี้ ฉากบังเพลิงด้านทิศเหนือ แสดงนารายณ์อวตารปางกูรมาวตาร ทรงอวตารเป็นเต่า และ ปางมัสยาอวตาร ทรงอวตารเป็นปลากรายทอง ด้านล่างโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หมวดน้ำ ฝนหลวงแก้ปัญหาความแห้งแล้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ฝายต้นน้ำเพื่อชะลอน้ำศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ้องไคร้ จังหวัดเชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำเขาเต่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้เวลาขาดแคลนน้ำ โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และกังหันน้ำชัยพัฒนา เครื่องกลเติมอากาศ ฉากบังเพลิงด้านทิศใต้ แสดงนารายณ์อวตารปางรามาวตาร ทรงอวตารเป็นพระรามในรามเกียรติ์ และ ปางปรศุรามาวตาร ทรงอวตารเป็นพราหมณ์ปรศุราม ผู้ใช้ขวานเป็นอาวุธ ด้านล่างโครงการพระราชดำริ หมวดไฟ สบู่ดำ ปลูกเพื่อสกัดน้ำมันใช้แทนน้ำมันดีเซลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน โรงงานผลิตไบโอดีเซล เชื้อเพลิงอัดแท่งโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา แก๊สชีวภาพ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา พลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ ผลิตกระแสไฟฟ้าใช้สำหรับอุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณดาวเทียม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ และกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าที่ประตูน้ำคลองลัดโพธิ์ ฉากบังเพลิงด้านทิศตะวันออก แสดงนารายณ์อวตารปางนรสิงหาวตาร ทรงอวตารเป็นนรสิงห์ และ ปางวราหาวตาร ทรงอวตารเป็นหมูป่า ด้านล่างโครงการพระราชดำริ หมวดดิน ประกอบด้วยดินกรวด ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ ดินเค็ม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน ดินทราย ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนและโครงการหุบกระพง-ดอยห้วยขุน ดินดาน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย ดินพรุ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง และดินเปรี้ยว ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง ฉากบังเพลิงด้านทิศตะวันตก แสดงนารายณ์อวตารปางกัลกยาวตาร ทรงอวตารเป็นมนุษย์ขี่ม้าขาว และ ปางกฤษณาวตาร ทรงอวตารเป็นพระกฤษณะ ด้านล่างโครงการพระราชดำริ หมวดลม กังหันลมโครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี กังหันลมโครงการสถานีพัฒนาเกษตรที่สูงตามพระราชดำริดอยม่อนล้าน จังหวัดเชียงใหม่ กังหันลมโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบวาตภัยแหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช และบางกระเจ้า พื้นที่สีเขียว ปอดของคนกรุงเทพมหานครตามพระราชดำริ สำหรับด้านหลังฉากบังเพลิงทั้ง 4 ด้าน มีสีชมพูและสีส้มเป็นพื้นฉากหลัก แสดงเรื่องราวดอกไม้ทิพย์ และดอกไม้มงคล มาเรียงร้อยผูกเป็นลวดลายเพื่อเทิดพระเกียรติและสักการะ “ในหลวง รัชกาลที่ 9” ช่องกลางบนเขียนพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ประดับด้วยดอกดาวเรืองสีเหลือง ดอกไม้ประจำรัชกาลที่ 9 และลวดลายเฟื่องอุบะผูกด้วยดอกมณฑาทิพย์ ดอกไม้แห่งสรวงสวรรค์ อีกช่องเขียนพุ่มต้นไม้ทองผูกด้วยดอกมณฑาทิพย์ เพื่อเป็นการสักการะ ส่วนช่องด้านล่างเขียนดอกบัวสวรรค์ ที่ปรากฎในสวรรค์ชั้นดุสิต ผูกด้วยดอกไม้และใบบัวล้อสายน้ำ ลายเมฆ ลวดลายไทย และเขียนภาพสัตว์นานาชนิดเพิ่มเข้าไปเป็นส่วนประกอบ อาทิ พญานาค นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร ปลานิล และแมลงปอ เพื่อให้ภาพดูมีชีวิตชีวา มีความสมบูรณ์และงดงามของภาพยิ่งขึ้น “จิตรกรรมฉากบังเพลิงในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ นอกจากยึดคติความเชื่อกษัตริย์เปรียบเสมือนสมมุติเทพ เมื่อสวรรคตเสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์แล้ว การเขียนภาพจิตรกรรมฉากบังเพลิงได้ดำเนินตามแนวพระราชดำริ ทรงแนวทางไว้ให้เป็นแบบปัจจุบัน ภาพเขียนมีลักษณะ 2 มิติครึ่ง ซึ่งเดิมจิตรกรรมไทยประเพณีเป็น 2 มิติ จิตรกรรมตะวันตกเป็น 3 มิติ แล้วนำมาผนวกกันให้มีความเป็นร่วมสมัยเข้ามาเป็นภาพจิตรกรรม 2 มิติครึ่ง ที่ยังคงเอกลักษณ์ความเป็นไทย ใช้การตัดเส้นรอบนอกแบบไทยโบราณและปิดด้วยทองคำเปลว ส่วนการเขียนด้วยสีนั้นใช้สีแบบด้านจะได้อารมณ์รู้สึกมากกว่าสีฝุ่น” เกียรติศักดิ์ จิตรกรชำนาญการพิเศษ กล่าวทิ้งท้าย วิจิตรศิลป์นารายณ์อวตารฉากบังเพลิง พระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9