“การเป็นนักบินฝนหลวง แม้ไม่มีค่าตอบแทนที่สูง แต่มีเกียรติ และมีความภาคภูมิใจ ที่ได้ทำงานสนองใต้เบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และเป็นการสืบสานพระราชปณิธานตำราฝนหลวงพระราชทาน ตามศาสตร์พระราชาในการปฏิบัติการฝนหลวงสืบต่อไป” เปิดภารกิจ “กรมฝนหลวง” สืบสานพระราชปณิธาน “ในหลวง ร.9” เตรียมตั้ง “โรงเรียนการบิน” - เปิดรับนานาชาติ เรื่อง : พุทธชาติ แซ่เฮ้ง นักบินฝนหลวง ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญตัวหนึ่ง ในการปฏิบัติการทำฝนหลวง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยเป็นอาชีพที่ต้องอาศัยความชำนาญในการบินสูง เพราะต้องบินขับเคลื่อนเข้าหาเมฆจะอันตรายกว่า แต่ปัจจุบันมีสายการบินพาณิชย์เกิดขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะสายการบินโลว์คอสต์ นักบินจึงสนใจย้ายสังกัดจากกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ไปบินพาณิชย์แทน เนื่องด้วยค่าตอบแทนที่สูงกว่า จึงเป็นเหตุให้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีอัตรากำลังนักบิน ซึ่งไม่เพียงพอต่อภารกิจซึ่งปัจจุบันมีอากาศยานประจำการทั้งหมด 49 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบิน 41 ลำ และเฮลิคอปเตอร์ 8 ลำ แต่นักบินมีเพียง 65 ตำแหน่ง ซึ่งอย่างน้อยเครื่องบิน 1 ลำ ต้องใช้นักบิน 2 คน จากปัญหาดังกล่าว “สุรสีห์ กิตติมณฑล” อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มองช่องทางในการแก้ไขปัญหาระยะยาว โดยการจัดตั้ง “โรงเรียนการบินฝนหลวง” ขึ้น สุรสีห์ เปิดเผยว่า โรงเรียนการบินฝนหลวงแห่งนี้ จะสามารถผลิตบุคลากรนักบินประจำกรมฝนหลวงฯ รองรับอัตรากำลังที่จะขาดแคลน เพื่อมาเติมเต็ม และอยู่ทำงานร่วมกรมฝนหลวงฯ ได้อย่างยาวนาน รวมทั้งยังมี “ตำราฝนหลวงพระราชทาน” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งปัจจุบันได้มีการแพร่หลายไปสู่ต่างประเทศ และให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้การบินปฏิบัติการฝนหลวง มีความแตกต่างจากการบินพาณิชย์ นักบินประเทศต่างๆ จึงอาจยังไม่มีประสบการณ์ในการบินปฏิบัติการฝนหลวง จึงเป็นโอกาสที่จะเปิดให้นานาประเทศได้เข้ามาเรียนรู้ตำราฝนหลวงพระราชทาน ตามศาสตร์พระราชาในการปฏิบัติการฝนหลวง ผ่านศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการปฏิบัติการฝนหลวง ตามศาสตร์พระราชา โดยจะมีการดำเนินการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ ที่จังหวัดเพชรบุรี ในเร็วๆ นี้ ควบคู่เรียนรู้เรื่องการบินปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อเรียนรู้การบินเข้าเมฆ ขณะนี้ อยู่ระหว่างการศึกษาระเบียบการจัดตั้งโรงเรียนการบินฝนหลวง รูปแบบการบริหารจัดการโรงเรียน อาจจะเป็นรูปแบบ มูลนิธิกรมฝนหลวงฯ หรือบริหารงานในรูปแบบกรมฝนหลวงฯ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และไม่ขัดต่อระเบียบของการปฏิบัติงาน รวมถึงขอความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และกระทรวงการคลัง ในการปรับโครงสร้างงบประมาณ บุคลากร ที่ต้องมีภารกิจเพิ่มขึ้น รวมถึงการพิจารณาหลักสูตรการเรียนการสอน คาดว่า ปี 2561 การจัดตั้งโรงเรียนการบินฝนหลวง จะมีความชัดเจน และเห็นเป็นรูปธรรม โดยคัดเลือกศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง จังหวัดนครสวรรค์ เป็นสถานที่ตั้งโรงเรียน เนื่องจากมีอุปกรณ์พร้อม และจะมีปรับมาตรฐานสนามบิน ให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล นอกจากนี้ ยังได้วางแผนการแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรนักบินในระยะสั้น โดยมีแนวคิดที่จะจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นทุนการศึกษาในโรงเรียนการบินพลเรือน ประมาณคนละ 2 ล้านบาท เมื่อเรียนจบก็กลับมาเป็นนักบินของกรมฝนหลวง “การเป็นนักบินฝนหลวง แม้ไม่มีค่าตอบแทนที่สูง แต่มีเกียรติ และมีความภาคภูมิใจ ที่ได้ทำงานสนองใต้เบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และเป็นการสืบสานพระราชปณิธานตำราฝนหลวงพระราชทาน ตามศาสตร์พระราชาในการปฏิบัติการฝนหลวงสืบต่อไป” “กัปตันมิ๊ก” ร้อยโท บัญชา พาลี ผู้ควบคุมหน่วยการบิน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จากเดิมเป็นนักบินอยู่ในกองทัพบก ทำหน้าที่บินลาดตะเวนตามแนวชายแดน แต่ด้วยภารกิจบินของฝ่ายทหารเริ่มลดลงได้หันมาสนใจเครื่องบินเกษตร ที่มีความทันสมัย จึงศึกษางานของกองบินเกษตร ซึ่งดูแลด้านปฏิบัติการฝนหลวง และยังเป็นภารกิจที่สนองพระราชดำริของพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงห่วงใยในความทุกข์ยากของเหล่าพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดารที่ต้องประสบปัญหาภัยแล้ง เหมือนเช่นการเป็นทหาร ความชอบจึงเกิดขึ้น อีกทั้งเป็นงานที่มีความภาคภูมิใจ และได้ย้ายมาทำงานในกองบินเกษตร เมื่อปี 2536 ปัจจุบันก็คือ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร นั่นเอง โดย กัปตันมิ๊ก มองว่า นักบินฝนหลวง เป็นงานที่ท้าทาย และทำเพื่อประชาชน จนเกิดเป็นความรักในอาชีพนักบินฝนหลวง แม้บางช่วงเวลาจะรู้สึกท้อกับอุปสรรคที่เกิดขึ้น แต่ก็ต้องเดินหน้าต่อไป เพื่อสนองงานตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็นอาชีพที่มีเกียรติ และความภาคภูมิใจอย่างเต็มร้อย “เส้นทางการเป็นนักบินฝนหลวง ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ จะต้องมีการพัฒนาประสบการณ์ แม้ค่าตอบแทนไม่ได้สูงเท่านักบินพาณิชย์ และไม่สามารถเปรียบกันได้ เพราะสายการบินพาณิชย์ทำธุรกิจเพื่อให้ได้กำไร แต่งานของราชการไม่มีขาดทุน กำไร มีแต่จะให้ เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน โดยกำไร คือ ความภาคภูมิใจ ที่ใครก็ไม่สามารถหาได้ ถ้าไม่ได้ลงมือทำเอง” กัปตันมิ๊ก กล่าว “แทน”แทนรัก ศุภทรัพย์ หนึ่งในนักบินรุ่นใหม่ ก้าวเข้าสู่เส้นทางนักบินฝนหลวง เมื่อปลายปี 2559 หลังเรียนจบการบินหลักสูตร Private Pilot License ที่ Australian National Airline College และหลักสูตร Commercial Pilot License ที่ Tailwheels Etc. Flight School สหรัฐอเมริกา ในตำแหน่ง นักบินผู้ช่วย (Co-Pilot) โดยได้รับคำแนะนำจากคุณพ่อทนงศักดิ์ ศุภทรัพย์ ดารานักแสดงชื่อดัง ที่ต้องการให้ทำงานเพื่อตอบแทนกลับคืนสู่สังคม ประกอบกับการเป็นนักบินฝนหลวง ถือเป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่ได้ทำงานในโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดย แทน ก็มีความสนใจอาชีพนักบินฝนหลวง เป็นสิ่งท้าทาย เพราะการบินพาณิชย์ บินหลีกเลี่ยงเมฆเพื่อนำผู้โดยสารจากต้นทาง ไปสู่จุดหมายปลายทางอย่างปลอดภัยเท่านั้น ซึ่งต่างจากการบินปฏิบัติการฝนหลวง ที่ต้องนำผู้โดยสาร ได้แก่ เจ้าหน้าที่โปรยสารฝนหลวง นักวิชาการสังเกตเมฆ ไปสู่เป้าหมาย คือ ภารกิจทำฝนหลวงในพื้นที่ที่ชาวบ้านร้องขอ หรือเติมน้ำในเขื่อน โดยต้องบินตามล่าเมฆ เพื่อทำภารกิจให้สำเร็จ ซึ่งความท้าทายอีกอย่างหนึ่ง คือ การบินปฏิบัติการฝนหลวง ไม่ได้เป็นการบินเพื่อให้บริการที่ประทับใจแก่ผู้โดยสาร แต่ต้องแข่งกับสภาพอากาศที่คาดเดาได้ยาก ต่อให้มีเครื่องมือทันสมัย สภาพอากาศอาจจะแปรปรวนได้อยู่ตลอดเวลา “นักบินฝนหลวง เป็นอาชีพที่ต้องใช้ความสามารถพิเศษ รวมทั้งเป็นความน่าภาคภูมิใจเป็นเพียงกลุ่มคนเล็กๆ ทำงานทดแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงทุ่มเทพระวรกายก่อกำเนิดโครงการฝนหลวง เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับคามเดือดร้อน เวลาฝนตก อาจจะเป็นสิ่งที่น่าเบื่อในชีวิตของเรา แต่บางคน มองว่า น้ำฝน เป็นน้ำที่ช่วยหล่อเลี้ยงชีวิต ได้มีอาชีพทำ เรียกได้ว่า น้ำตาจะไหลตามฝน เมื่อเราเห็นก็เกิดความซึ้งใจ และมีความภูมิใจทุกครั้งที่ทำภารกิจสำเร็จ จนกลายเป็นอาชีพที่รักมาก และมีความสุขทุกครั้งที่ได้ขึ้นบิน” ปัจจุบัน แทน สะสมชั่วโมงบินได้ จำนวน 500 ชั่วโมง หากเทียบกับนักบินจบใหม่มีเพียง 200 ชั่วโมง พร้อมวางแผนอนาคตที่จะพัฒนาประสบการณ์ตัวเอง โดยการเรียนรู้จากกัปตันรุ่นพี่ เพื่อสร้างตัวเองขึ้นแท่นสู่การเป็นกัปตันอย่างเต็มตัว “การบินฝนหลวง ไม่เหมือนกับในตำราที่เรียนการบินทุกรูปแบบ ซึ่งเป็นการบินที่มีเมฆ เป็นหัวใจสำคัญ เพราะเมฆ คือ น้ำฝน หากอยากลองประสบการณ์ใหม่ในชีวิตที่เป็นประสบการณ์ที่ดี ฝนหลวงจะสอนทุกๆ อย่าง และเป็นการบินที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โดยตรง ครั้งหนึ่งในชีวิตต่อให้ไปอยู่ที่ไหนในโลก มีความน่าภาคภูมิใจที่มีโอกาสได้สัมผัส ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่ชาติไหนสามารถพูด หรือรู้สึกได้ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงลงมือทำด้วยพระองค์เอง แม้พระองค์ท่านไม่ได้อยู่แล้ว เราก็จะเป็นส่วนหนึ่งในสานต่อพระราชปณิธาน” แทน กล่าวทิ้งท้าย