แม้จะไม่ได้กำไรมหาศาลจนถึงขั้นสร้างบ้านโต ออกรถหรู แต่รายได้เฉลี่ยปีละ 3-4 แสน ก็พอจะทำให้ครอบครัวชาวสวนจากหมู่บ้านหนองแม่นา ต.หนองแม่นา อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ติดขัด นับตั้งแต่เริ่มทำเกษตรผสมผสานตามรอยเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นายสุรินทร์ สุขมี ผู้ใหญ่บ้านหนองแม่นา เล่าว่า ด้วยอัตลักษณ์ของชุมชนที่มีความหลากหลาย อันเกิดจากราษฎรอาสาที่ขึ้นมาร่วมรบ และทหารที่ขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่ในบริเวณนี้ได้ปรับเปลี่ยนการดำรงชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม ให้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสงบสุข สมัครสมานสามัคคี มีลำน้ำเข็กเป็นแหล่งในการดำรงชีพ สามารถใช้ในการประกอบอาชีพทางการเกษตร และที่สำคัญในลำน้ำเข็กมีแมงกะพรุนซึ่งเป็นแมงกะพรุนน้ำจืด อยู่บริเวณหน้าวัดหนองแม่นา ซึ่งจะมีให้เห็นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม เท่านั้น “ที่ดินในชุมชนมีประมาณ 1,000 ไร่ มีประชากรใช้ประโยชน์ประมาณ 460 กว่าคน ส่วนมากประกอบอาชีพเกษตรกร ต่อมาพัฒนาการท่องเที่ยวเป็นอาชีพเสริม ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวตลอดปี ยกเว้นช่วงปิดฤดูกาลในหน้าน้ำหลาก คือ ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน โดยเน้นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ” ผู้ใหญ่บ้านหนองแม่นา กล่าว ตอนนี้แบ่งกลุ่มชาวบ้านให้ทำหลายๆ อย่างเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและอาชีพ ได้แก่ ทำสวนผสมผสาน ผลิตสินค้าท้องถิ่นเช่น ไม้กวาด เสาวรสแปรรูป แยม น้ำผลไม้ เป็นต้น นอกจากนี้มีกลุ่มโฮมสเตย์หรือบ้านพักที่ให้นักท่องเที่ยวมาค้างคืน กลุ่มนำเที่ยวและบริการข้อมูล มีร้านค้าชุมชน และมีกลุ่มพายเรือในลำน้ำ ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวที่หลากหลาย บ้างมาจัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ บ้างมาเที่ยวสวนผลไม้ สวนหม่อน แล้วแต่ใครชอบแบบใด แต่จะดูทั้งหมู่บ้านก็ได้ กิจกรรมเหล่านี้ทำให้หมู่บ้านมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนไม่ต่ำกว่าปีละ 1 แสนบาท ซึ่งเป็นรายได้ที่ชาวบ้านพึงพอใจ ขณะที่บ้านเล่าลือ ต.เขาค้อ อ.เขาค้อ ยังมีหมู่บ้านแห่งอารยธรรม 3 ชนเผ่า ประกอบด้วย ม้ง เย้า และลีซอ ซึ่งจัดอยู่ในหมู่บ้านที่โดดเด่นและมีมรดกด้านวัฒนธรรม ที่กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) ยกให้เป็นหมู่บ้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม หรือ Cultural Tourism ซึ่งนอกจากงดงามด้วยความหลากหลายของชาติพันธุ์แล้ว ยังเป็นหมู่บ้านที่มีสินค้าแปรรูป และผลิตภัณฑ์พื้นเมืองมากมายที่เป็นผลงานของชุมชน เช่น ผลิตภัณฑ์ จักสานกัญชง ข้าวไร่อินทรีย์ เมล็ดแมคคาเดเมีย ชุดแต่งกายและข้าวของเครื่องใช้เครื่องประดับประจำชนเผ่าต่างๆ ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้คนมาเที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์ต้องตัดสินใจไปแวะชมและซื้อสินค้า นางอานุรัตน์ แสนยากุล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนชาวม้ง แห่ง ต.เขาค้อ ให้ข้อมูลว่า ต.เขาค้อ เป็นพื้นที่ที่สมบูรณ์เหมาะแก่การปลูกเมล็ดแมคคาเดเมียเป็นอย่างมาก ซึ่งจัดเป็นถั่วที่ให้โปรตีนสูงและกำลังได้รับความนิยม แต่การปลูกยังมีน้อย จึงต้องเร่งส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกเพิ่มเติมบนที่ดินของตนเองแล้วขายเมล็ดให้กลุ่มเพื่อแปรรูป โดยได้เปิดกลุ่มแปรรูปเมล็ดแมคคาเดเมียมานานกว่า 5 ปี ปัจจุบันมีการกระจายสินค้าทั่วประเทศ โดยจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 1,200-1,400 บาท และแบ่งบรรจุภัณฑ์เป็นกล่อง เป็นถุงเพื่อสะดวกแก่การซื้อขาย ซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนเป็นอย่างดี และทำให้ชาวบ้านไม่ต้องไปทำงานนอกชุมชน นายณรงค์ บุ่ยศิริรักษ์ รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า หมู่บ้านโอทอปเพื่อการท่องเที่ยว เริ่มต้นเมื่อปี 2549 โดย พช. เล็งเห็นช่องทางที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจรากฐานและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน จึงได้จัดประกวด OTOP Village Champion ขึ้นมาเพื่อปลุกกระแสท่องเที่ยวหมู่บ้านโอทอป โดย พช.จะเป็นผู้ทำหน้าที่จัดสรรงบประมาณ และช่วยส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับหมู่บ้านที่ได้รับการคัดเลือก ซึ่งหมู่บ้านเล่าลือเป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านที่น่าสนใจและเข้าเกณฑ์ทั้งหมดของนโยบายดังกล่าว ซึ่งประกอบไปด้วย 1. มีผลิตภัณฑ์โอทอปที่โดดเด่น 2. มีนักท่องเที่ยวและสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ 3. ชุมชนมีความพร้อมสามัคคีกัน 4. มีความหลากหลายทางภูมิประเทศและวิถีชุมชน 5. เส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงกัน นายณรงค์ บุ่ยศิริรักษ์ “หมู่บ้านโอทอปเพื่อการท่องเที่ยว ต้องอาศัยการรวมพลังกันทุกฝ่าย โดย พช.จะส่งเสริมให้คนในชุมชน ช่วยกันคิดวิเคราะห์ หาความพร้อมของหมู่บ้าน เพื่อเสริมศักยภาพให้หมู่บ้านสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับหมู่บ้านโอทอปเพื่อการท่องเที่ยว มีจำนวนรวม 111 แห่ง จากทั้งหมด 4 ภาค โดยแต่ละพื้นที่จะชูจุดเด่นของแต่ละภาคซึ่งแตกต่างกัน ทั้งแนว Cultural Tourism เน้นการสัมผัสประสบการณ์ธรรมชาติ ดื่มด่ำกับเสน่ห์กลิ่นอายชนบท และแนว ECO Tourism การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อสัมผัสแหล่งธรรมชาติที่น่าตื่นตาตื่นใจ รวมทั้งวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมของคนในหมู่บ้าน และผลิตภัณฑ์ประจำหมู่บ้านที่เป็นเอกลักษณ์” นายณรงค์ กล่าว ทั้งนี้ หมู่บ้านเล่าลือ ต.เขาค้อ และหนองแม่นา ต.หนองแม่นา อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ล้วนเป็นชุมชนที่มีความพร้อมตามเงื่อนไขของ พช. และนี่คือภาพสะท้อนความสำเร็จของโครงการประชารัฐที่ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวของไทยให้ดีขึ้น