“ฮีโมฟีเลีย” หรือโรคเลือดออกง่าย เป็นโรคเรื้อรังที่มีค่าใช้จ่ายสูง นับแต่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ริเริ่มโครงการในปี 2549 ด้วยการจัดสรรแฟคเตอร์เข้มข้น (ช่วยให้เลือดแข็งตัว) ที่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อโรคอย่างครบถ้วนที่สั่งซื้อจากต่างประเทศ ปลอดโรคเอดส์และโรคตับอักเสบ สามารถช่วยผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียที่ได้ลงทะเบียนในโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยที่อยู่ใกล้บ้าน ซึ่งมี 49 โรงพยาบาลทั่วประเทศ แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์จะแนะนำ-สอนผู้ป่วยและครอบครัว สามารถให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเองที่บ้าน สามารถฉีดแฟคเตอร์เข้มข้นเข้าหลอดเลือดดำ เมื่อเริ่มมีอาการติดขัดที่ข้อหรือกล้ามเนื้อ ปัจจุบันสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้นับ 1,000 รายต่อปี ผู้ป่วยไม่ต้องมารับน้ำเหลืองในโรงพยาบาลเดือนละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 3-7 วันตลอดปี ช่วยลดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลได้มาก นพ.ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า โรคเลือดออก ง่ายฮีโมฟีเลีย เป็นโรคเรื้อรังที่มีค่าใช้จ่ายสูง สปสช.ได้ตระหนักและเล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีการลงทุนด้านสุขภาพและมีการดำเนินการเชิงนโยบายมาปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับแฟคเตอร์เข้มข้น ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศที่มีคุณภาพในการรักษา รวมทั้งให้การสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพหน่วยบริการรับส่งต่อให้มีบริการที่ได้มาตรฐาน สนับสนุนการจัดเครือข่ายบริการในระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ที่สำคัญมีความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์ทั่วประเทศในการจัดอบรมพัฒนาแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจในการดูแลผู้ป่วย โครงการโรคฮีโมฟีเลีย โรคเรื้อรังที่มีค่าใช้จ่ายสูงของสปสช. ได้ช่วยให้ผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียนับ 1,000 รายต่อปี ไม่ต้องadmission ในโรงพยาบาล ทำให้ลดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาล จากที่ได้ดำเนินโครงการมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว ทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น ศ.พญ.อำไพวรรณ จวนสัมฤทธิ์ ผอ.ศูนย์ฝึกอบรมนานาชาติโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลีย-กรุงเทพฯ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ฮีโมฟีเลียเป็นโรคเลือดออกง่ายหยุดยากทางพันธุกรรม พบไม่บ่อย ผู้ป่วยจะมีอาการเลือดออกบ่อยในข้อ ในกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล เพื่อรับน้ำเหลืองทดแทนแฟคเตอร์แปด หรือแฟคเตอร์เก้า ซึ่งเป็นสารโปรตีนช่วยในการแข็งตัวของเลือดที่ผู้ป่วยขาดเป็นเวลา 3-7 วัน เพื่อรักษาอาการเลือดออก ผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียชนิดรุนแรงมาก และชนิดรุนแรงแรงปานกลาง จำเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาลเมื่อมีอาการเลือดออก เดือนละ 2-3 ครั้งตลอดปี ผู้ป่วยต้องทนทุกข์กับอาการปวดจากอาการเลือดออกในข้อ ในกล้ามเนื้อ ต้องขาดเรียน ผู้ปกครองต้องขาดงานมาดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล ทั้งผู้ป่วยยังเสี่ยงโรคติดเชื้อ ทั้งโรคเอดส์ โรคตับอักเสบ จากที่รับน้ำเหลืองปริมาณมากตั้งแต่ยังเล็ก ผู้ป่วยโรคนี้จำนวนหนึ่งเสียชีวิตตั้งแต่เด็ก เนื่องจากอาการเลือดออกรุนแรงในสมอง ในช่องท้องและทางเดินอาหาร การรักษาในปัจจุบัน ผู้ป่วยสามารถลงทะเบียนในโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยที่อยู่ใกล้บ้าน ซึ่งมี 49 โรงพยาบาลทั่วประเทศ แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ จะแนะนำและสอนผู้ป่วย-ครอบครัว ให้สามารถดูแลรักษาได้เองที่บ้าน สามารถฉีดแฟคเตอร์เข้มข้นเข้าหลอดเลือด เมื่อเริ่มมีอาการติดขัดที่ข้อ หรือกล้ามเนื้อ แฟคเตอร์จะหยุดอาการเลือดออกได้เร็วขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ที่มีโครงการรักษาผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียที่บ้าน ทำให้ผู้ป่วยนับพันรายที่เคยต้องมารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลเดือนละ 2-3 ครั้งตลอดปี ได้หายไปจากโรงพยาบาล จนนักศึกษาแพทย์ นักศึกษาพยาบาล รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ไม่รู้จักอาการเลือดออกในข้อในกล้ามเนื้อ ปัญหาข้อพิการและภาวะกล้ามเนื้อลีบลดลงอย่างมาก สำหรับผู้ป่วยที่ลงทะเบียนกับหน่วยบริการเฉพาะโรคฮีโมฟีเลียทั่วประเทศ ขณะนี้มี 1,519 ราย รู้จักดูแลตนเอง ไม่มีปัญหาข้อพิการ ไม่มีภาวะกล้ามเนื้อลีบอีกต่อไป ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงคนปกติ ไปโรงเรียน -ทำงานได้ ผู้ปกครองและครอบครัวสุขใจ ไม่ต้องวิตกกังวล และไม่ต้องมารักษาในโรงพยาบาลบ่อย ๆ โครงการรักษาโรคฮีโมฟีเลียเป็นโครงการที่ได้รับการประเมินแล้ว 2 ครั้ง โดย รศ.ดร.ชะอรสิน สุขศรีวงศ์ และคณะ ในปี 2551 และ ภญ.ดร.อรลักษณ์ พัฒนาประทีป และคณะ ในปี 2555 พบว่า เป็นโครงการที่ผู้ป่วยสามารถให้การดูแลตนเองได้ดี ลดการรักษาเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล และคุ้มค่าการลงทุน กล่าวคือ ต้นทุนที่ใช้เพื่อให้ผู้ป่วยมีชีวิตอย่างมีคุณภาพ 1 ปีของผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียชนิดรุนแรงมาก และชนิดรุนแรงปานกลางที่ได้รับแฟคเตอร์เข้มข้น เพื่อรักษาที่บ้านน้อยกว่าการไม่ใช้แฟคเตอร์เข้มข้นเพื่อรักษาที่บ้านหนึ่งเท่า จากการเปรียบเทียบต้นทุนที่ใช้เพื่อให้ผู้ป่วยมีชีวิตอย่างมีคุณภาพ 1 ปี ของการใช้และไม่ใช้แฟคเตอร์เข้มข้นเพื่อการรักษา ปรากฏว่า ผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียชนิดรุนแรงมาก ค่ารักษาในการใช้แฟกเตอร์เข้มข้นเพื่อการรักษาที่บ้าน อยู่ที่ 979,557 บาท/คน/ปี ขณะไม่ใช้แฟคเตอร์เข้มข้นเพื่อการรักษาที่บ้าน อยู่ที่ 2,122,085 บาท/คน/ปี ส่วนผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียชนิดรุนแรงปานกลาง ค่ารักษาในการใช้แฟกเตอร์เข้มข้นเพื่อการรักษาที่บ้าน อยู่ที่ 499,157 บาท/คน/ปี และค่ารักษาแบบไม่ใช้แฟกเตอร์เข้มข้นเพื่อการรักษาที่บ้าน จะอยู่ที่ 829,504 บาท/คน/ปี