นับตั้งแต่มีการลงทุนโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเสร็จสิ้นเมื่อสิบปีก่อนแล้ว ประเทศไทยก็ยังไม่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่จะดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้ประเทศเลย ส่งผลให้ปัญหาด้านระบบการขนส่งคมนาคม หรือ โลจิสติกส์ สะสมมายาวนาน เป็นผลให้ต้นทุนในการทำธุรกิจสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และบั่นทอนขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศให้ลดลง   ภายหลังรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อ 12กันยายน 2557 เข้ามาบริหารประเทศ ก็ได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำ ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 รวมระยะเวลา 8 ปี มีเป้าหมายเพื่อเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศขนาดใหญ่ทุกรูปแบบ เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางและการขนส่งภายในประเทศ เชื่อมโยงระหว่างเมืองหลักกับหัวเมืองต่าง ๆ ในภูมิภาค ตลอดจนสามารถติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านได้ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ตามนโยบายที่แถลงต่อ สนช.      โครงการพัฒนาระบบราง โดยเฉพาะรถไฟระหว่างเมืองได้ถูกจัดอันดับให้เป็นโครงการที่มีความสำคัญอันดับต้น ๆ เพราะถือเป็นหัวใจสำคัญของการขนส่งสมัยใหม่ ทั้งประหยัด รวดเร็ว และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งที่ผ่านมาเส้นทางรถไฟทั่วประเทศที่มีกว่า 4,043 กิโลเมตร ได้ขาดช่วงการพัฒนามานานจนมีสภาพชำรุดทรุดโทรม ขณะที่เป็นแบบรางเดี่ยว 3,763 กิโลเมตร หรือร้อยละ 93 เป็นรางคู่เพียงแค่ 7%    พลเอกประยุทธ์ ได้ปักธงตามแผนยุทธศาสตร์ว่า ภายในปี 2565 ประเทศไทยจะต้องมีทางรถไฟทางคู่เพิ่มขึ้นจาก 357 ก.ม. เป็น 3,994 ก.ม. โดยผลักดันให้อยู่แผนปฏิบัติการคมนาคมระยะเร่งด่วน ปี 2559 และคัดเลือกโครงการลงทุนรถไฟทางคู่สำคัญ 7 เส้นทางมาดำเนินการก่อน และได้เริ่มก่อสร้างแล้ว 2 เส้นทาง ได้แก่ สายฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ระยะทาง 106 ก.ม. และสายชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 132 ก.ม. ตามแผนจะเปิดใช้งานได้ภายในปี 2561-62 ส่วนแผนพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่เพิ่มอีก 9 เส้นทาง ระยะทาง 2,217 กิโลเมตร มูลค่ารวม 3.9 แสนล้านบาท ก็อยู่ในแผนเร่งด่วน ซึ่งมี 1 โครงการที่ได้รับการอนุมัติจากบอร์ดการรถไฟแห่งประเทศไทยแล้ว คือ ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ส่วนอีก 8 เส้นทางอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดของโครงการ คาดว่าจะสามารถจัดทำเสนอได้ภายในปี 2560   หากมีการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่เสร็จสิ้น จะทำให้ไทยมีระบบรถไฟเป็นทางคู่ยาวตลอดตั้งแต่เหนือจรดใต้ รวมถึงภาคอีสานในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ความเร็วเฉลี่ยของรถไฟขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นจาก 39 เป็น 60 ก.ม./ชั่วโมง และความเร็วขบวนรถไฟโดยสารเพิ่มขึ้นจาก 60 เป็น 100 ก.ม./ชั่วโมง เพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรางเพิ่มจาก 2.5% เป็น 5% และการขนส่งผู้โดยสารผ่านทางรถไฟเพิ่มจาก 45 ล้านต่อปี เป็น 75 ล้านคน อีกหนึ่งไฮไลท์ที่เป็นผลงานสำคัญของรัฐบาล นั่นคือ การลงทุนพัฒนา รถไฟความเร็วสูงระหว่างเมือง 4 สายทาง สายแรกที่มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมแล้วคือ โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและจีน ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ – หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทาง 252.5 ก.ม. ภายใต้วงเงินลงทุน 1.79 แสนล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (2560 – 2563) คาดเปิดใช้ปี 2564 จากนั้นจะพัฒนาระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา- หนองคาย และช่วงที่ 3 ช่วงแก่งคาย- มาบตาพุด ต่อไป ซึ่งล่าสุด รมว.คมนาคม ได้ลงนามกับรัฐบาลจีนแล้ว 2 สัญญา คือ สัญญาการออกแบบรายละเอียดและสัญญาที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง นับเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าแรกให้กับประเทศไทยในการพัฒนาเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายแรก ที่สำคัญโครงการนี้ยังก่อให้เกิดการโอนถ่ายวิทยาการ และเทคโนโลยีการขนส่งสมัยใหม่ให้แก่ประเทศไทย ตลอดจนช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและจ้างงานในไทย เพราะงบลงทุนกว่า 75% ของงบลงทุนทั้ง 1.79 แสนล้านบาท จะถูกใช้สำหรับว่าจ้างผู้รับเหมาและวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างของไทยทั้งหมด   นอกจากความร่วมมือกับจีนแล้ว รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ยังมีแผนพัฒนาความร่วมมือด้านระบบรางไทย-ญี่ปุ่นอีกด้วย ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 673 ก.ม. ซึ่งการศึกษารายละเอียดก่อสร้างจะเสร็จในสิ้นปีนี้ , เส้นทาง Southern Corridor เส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง และกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ ซึ่งได้เริ่มนำร่องทดลองขนส่งสินค้าเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ผลักดันรถไฟความเร็วสูงสู่ภาคตะวันออกและภาคใต้อีก 2 เส้นทาง คือ เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง ระยะทาง 193.5 ก.ม. และกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 ก.ม. โดยทั้งสองโครงการนี้จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) เพื่อช่วยประหยัดงบประมาณ ซึ่งทั้งสองโครงการเมื่อแล้วเสร็จจะช่วยพัฒนาการท่องเที่ยวใน 2 พื้นที่ และกระตุ้นเศรษฐกิจตามโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือพื้นที่เขตเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาลด้วย โครงการพัฒนาทางถนน ซึ่งยังเป็นระบบขนส่งหลักของประเทศไทย รัฐบาลได้วางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) เพิ่มเติม จำนวน 3 เส้นทาง ประกอบด้วย สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ระยะทาง 196 ก.ม. ขณะนี้ได้ลงมือก่อสร้างแล้วและจะเปิดใช้ได้ภายในปี 2563 พร้อม ๆ กับ มอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 ก.ม. ที่เชื่อมต่อเส้นทางภาคตะวันตกไปถึงโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายในประเทศเมียนมาได้ เส้นสุดท้ายเป็น โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 32 กิโลเมตร ขณะนี้การก่อสร้างก้าวหน้าไปแล้วถึง 1 ใน 3 และจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2562 ช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าต่าง ๆ ในพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญหลายแห่ง ตั้งแต่อีอีซี ไปจนถึงนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ในจังหวัดระยอง ชลบุรี ให้สามารถขนส่งสินค้าไปส่งออกต่อยังทางเรือผ่านท่าเรือแหลมฉบัง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้ง่ายและเร็วขึ้น นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เห็นว่า การที่ภาครัฐหันมาลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยเน้นระบบรางและถนนถือว่าถูกต้องอย่างยิ่ง เพราะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ประเทศและลดต้นทุนการขนส่งแก่ภาคธุรกิจ ทำให้ประเทศไทยมีความน่าสนใจในการลงทุนต่อนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากเงื่อนไขที่ต่างชาติจะเลือกมาลงทุนในประเทศใดในปัจจุบัน จะดูเรื่องความพร้อมในโครงสร้างพื้นฐานมาเป็นลำดับแรก “อีกจุดที่สำคัญจะช่วยผลักดันให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่ง การค้า การลงทุนของภูมิภาคด้วย หรือเรียกว่า 1 ภูมิภาคเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจโลก เพราะโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ในแผนของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นระบบราง หรือถนนมีจุดมุ่งหมายเข้าไปเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจที่สำคัญๆ ของโลก เช่น รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน อนาคตก็จะมีการขยายไปเชื่อมกับรถไฟความเร็วสูงของลาว และจีน หรือภาคตะวันตกจะมีการทำทางมอเตอร์เวย์เส้นทาง บางใหญ่-กาญจนบุรี เพื่อรองรับการเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายในเมียนมา และยังต่อเชื่อมไปถึงอินเดีย มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอีกประเทศได้ รวมถึงรถไฟทางคู่ในภาคใต้ก็จะสนับสนุนพื้นที่สามเหลี่ยมเศรษฐกิจของไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ดังนั้นการทำโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐกำลังทำอยู่นี้จะเป็นการสร้างพื้นฐานให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อไปได้อีกหลายสิบปี” นายอัทธ์ ระบุ 	นายยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางรถบรรทุกแห่งอาเซียน นายยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางรถบรรทุกแห่งอาเซียน กล่าวว่า ผู้ประกอบการรถบรรทุกสนับสนุนให้เร่งการทำรถไฟทางคู่ให้เสร็จตามแผนโดยเร็ว ทั้ง 5 เส้นทางที่กำลังจะเปิดประมูลอยู่นี้รวมถึงแผนอื่น ๆ ในอนาคต เพราะถ้าใช้ระบบรางมากขึ้นแล้วจะช่วยทำการขนส่งในประเทศมีประสิทธิภาพขึ้นทวีคูณ นอกจากประหยัดขึ้นแล้ว ยังลดมลพิษ และการสูญเสียจากอุบัติเหตุได้มาก ในส่วนผู้ประกอบการเชื่อว่าทุกคนพร้อมปรับตัวเข้ากับระบบโครงสร้างพื้นฐานใหม่ที่เกิดขึ้น ขณะที่ นายเอนก ศรีชีวะชาติ ประธานที่ปรึกษานายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว กล่าวว่า การพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ถ้าทำให้เชื่อมต่อการเดินทางไปยังประเทศลาว จีนได้ จะกลายเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยการท่องเที่ยวของประเทศได้ในระยะยาว เพราะปกติเวลาชาวต่างชาติเลือกมาท่องเที่ยวที่ใดที่หนึ่ง จะมองเรื่องระบบขนส่ง ความสะดวกในการเดินทางด้วย ซึ่งปัจจุบันไทยยังเดินทางมาได้แค่ทางเครื่องบิน ซึ่งบางครั้งก็ยังมีข้อจำกัด เช่น เที่ยวบินไม่พอ หรือสนามบินแออัดอยู่ แต่หากมีรถไฟความเร็วสูงเข้ามาช่วย เชื่อมต่อก็จะทำให้ดีขึ้นมาก นายเอนก ศรีชีวะชาติ ประธานที่ปรึกษานายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว จากแผนการเดินหน้าพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง และถนนมอเตอร์เวย์ของรัฐบาลครั้งนี้ จึงนับเป็นการวางรากฐานของโครงสร้างพื้นฐานครั้งสำคัญของประเทศ เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว และช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศได้อีกหลายสิบปี สามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีพีพีลงจาก 14.4%เหลือ 12%   ช่วยประหยัดน้ำมันลดความสูญเสียจากเชื้อเพลิงไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท ที่สำคัญทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการก้าวไปสู่ประตูการค้า รองรับการเดินทางของผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าในภูมิภาคได้อย่างเต็มตัว นับเป็นการปูทางเพื่อให้ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนอย่างแท้จริง