สกว. ผนึกกำลังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการวิจัย “ศูนย์ความเสี่ยงอาหาร” มุ่งเน้นบทบาทการประเมินความเสี่ยง ให้ข้อเสนอแนะด้านการจัดการความเสี่ยงให้แก่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการสื่อสารความเสี่ยง และเชื่อมโยงความรู้ทั้งในส่วนวิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรม ศ. นพ..สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พร้อมด้วย ศ. ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงหน่วยปฏิบัติการวิจัย “ศูนย์ความเสี่ยงอาหาร” โดยมี รศ. น.สพ. ดร.ศุภชัย เนื้อนวลสุวรรณ ภาควิชาสัตวแพทยสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ เป็นหัวหน้าหน่วยฯ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย กล่าวว่า สกว.เล็งเห็นความสำคัญของประเด็นการวิจัยเรื่อง “ความปลอดภัยอาหาร” จึงได้ร่วมหารือกับคณะนักวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการวิจัย “ศูนย์ความเสี่ยงอาหาร” ณ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งที่ผ่านมา สกว. ได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยในประเด็นความเสี่ยง “ด้านอาหารและน้ำ” มาอย่างต่อเนื่อง ด้วยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีบทบาทสำคัญในการสร้างผลงานวิชาการด้านการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ที่หลากหลาย เป็นองค์กรที่มีศักยภาพและพร้อมในทุกด้าน และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะนำไปสู่การขยายผลให้มหาวิทยาลัยได้เป็นแหล่งข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ด้านความปลอดภัยอาหาร เพื่อสนับสนุนการวางนโยบาย การออกกฎระเบียบให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลของหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการประสานภาคีเครือข่ายความร่วมมือ ทั้งในส่วนวิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของมหาวิทยาลัย และ สกว. ต่อไป ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย กล่าวว่า การดำเนินงานของหน่วยปฏิบัติการวิจัย “ศูนย์ความเสี่ยงอาหาร” มีวัตถุประสงค์เพื่อ สนับสนุนให้มีการพัฒนางานวิจัยด้านความเสี่ยงอาหาร ที่มุ่งเน้นบทบาทการประเมินความเสี่ยง และให้ข้อเสนอแนะด้านการจัดการความเสี่ยงตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงผู้บริโภค และการสื่อสารความเสี่ยงแก่องค์กรที่เกี่ยวข้อง พร้อมสนับสนุนให้จุฬาฯ เป็นศูนย์กลางทางวิชาการ รับผิดชอบ และดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยด้านความเสี่ยงอาหาร รวมทั้งเป็นแหล่งอ้างอิงข้อมูลทางวิชาการด้านความเสี่ยงและความปลอดภัยอาหารระดับประเทศและภูมิภาค รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนานักวิจัย และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านความเสี่ยงอาหาร เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนางานวิจัยและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านความเสี่ยงอาหารให้กับผู้เกี่ยวข้อง และสนับสนุนให้มีกิจกรรมการสื่อสารด้านความเสี่ยงอาหารในรูปแบบที่เหมาะสมและถูกต้องไปสู่ผู้ประกอบการและผู้บริโภค รวมถึงการประสานภาคีเครือข่ายความร่วมมือ และเชื่อมโยงความรู้ด้านความเสี่ยงอาหารทั้งในส่วนวิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรม ศ. นพ..สุทธิพันธ์ กล่าวอีกว่า เป้าหมายของบันทึกข้อตกลงนี้เพื่อให้มีกลไกและการสนับสนุนการประสานงานระหว่างหน่วยงาน องค์กร และภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการด้านความเสี่ยงอาหาร และมีวิธีการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ และกำหนดนโยบายของประเทศไทย โดย สกว.และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะให้การสนับสนุนงบประมาณการวิจัยให้แก่หน่วยปฏิบัติการวิจัย “ศูนย์ความเสี่ยงอาหาร” เป็นระยะเวลา 3 ปี ในวงเงินรวม 30 ล้านบาท ภายใต้การพัฒนาโจทย์วิจัยและความร่วมมือทางวิชาการที่สอดคล้องกับกรอบภารกิจของหน่วยปฏิบัติการวิจัย “ศูนย์ความเสี่ยงอาหาร” ตลอดจนการพัฒนาโจทย์วิจัยเพิ่มเติมตามสถานการณ์และความต้องการของประเทศ อีกทั้งองค์ความรู้ และขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย