โครงการร่วมฯ สกว.-กฟผ. หนุนม.เกษตรวิจัยไม้โตเร็วและพืชพลังงาน หวังนำความรู้เป็นข้อมูลประกอบการวางแผนพลังงานแก่ภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างความมั่งคั่งยั่งยืนของพลังงานไทย ชี้พืชชีวมวลช่วยสร้างงานและสร้างรายได้แก่เกษตรกร ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ศ. ดร.สวัสดิ์ ตันตระรัตน์ ประธานกรรมการโครงการร่วมฯ กฟผ.-สกว. เป็นประธานเปิดงานแถลงข่าว “ความสำเร็จจากงานวิจัยด้านไม้โตเร็วและพืชพลังงาน” ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดขึ้น พร้อมเปิดเวทีเสวนาวิชาการ “โอกาสของงานวิจัยพืชพลังงานกับความมั่นคงยั่งยืนของพลังงานไทย” เพื่อนำข้อเสนอผลการวิจัยและเปิดรับฟังข้อเสนอแนะจากภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคประชาสังคม เพื่อให้ได้มาซึ่งโจทย์วิจัยที่สามารถพัฒนาเป็นโครงการวิจัยที่สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาและส่งเสริมพลังงานชีวมวล ตลอดจนเป็นข้อมูลสนับสนุนในการวางแผนเชิงนโยบายและเชิงพาณิชย์แก่ภาครัฐและภาคเอกชน ณ มหาวิทยาลัยเกษตรกร วิทยาเขตบางเขน กรุงเทพฯ ศ. ดร.สวัสดิ์ ตันตระรัตน์ ประธานกรรมการโครงการร่วมฯ กฟผ.-สกว. กล่าว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการเชื้อเพลิงชีวมวลจำนวนมากทั้งจากโรงไฟฟ้าตามแผนของ กฟผ. และเอกชน ตามแผนการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ปี 2558-2579 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ตั้งเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40 จากเดิมร้อยละ 20 เพื่อผลิตไฟฟ้า 37,000 เมกะวัตต์ กระทรวงพลังงานจึงได้เตรียมเสนอปรับแผนการเพิ่มพลังงานทดแทนจากชีวมวล ซึ่งเศษเหลือจากภาคเกษตรอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีการปลูกพืชพลังงานเข้ามาเสริมเพื่อไปสู่เป้าหมายการผลิตไฟฟ้าที่ตั้งไว้ รวมถึงการผลิตไฟฟ้าจากแก๊สชีวภาพ ซึ่งต้องใช้องค์ความรู้ในการผลิตพืชพลังงานเพื่อการผลิตที่มีประสิทธิภาพ งานวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับชีวมวลและพืชพลังงานทั้งระบบ สกว.และ กฟผ. จึงมุ่งสร้างองค์ความรู้เพื่อนำไปแก้ปัญหาและสร้างนวัตกรรมสู่การสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศ ซึ่งโจทย์วิจัยสำคัญประการหนึ่ง คือ การสนับสนุนการปลูกพืชพลังงานทั้งในส่วนของไม้โตเร็วและหญ้าพลังงาน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม เนื่องจากช่วยสร้างงานและสร้างรายได้แก่เกษตรกร จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินการ ดร.วราวุฒิ ศุภมิตรมงคล ผู้วิจัย “การศึกษาศักยภาพของพื้นที่ดินเสื่อมโทรมในการปลูกไม้โตเร็วเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า” กล่าวว่า ได้ศึกษาเพื่อจัดทำแผนที่ความเหมาะสมในการปลูกไม้โตเร็วที่ที่ศักยภาพในการนำมาปลูกเป็นเชื้อเพลิงทางเลือก รวม 5 สกุล ได้แก่ ยูคาลิปตัส กระถินณรงค์-กระถินเทพา กระถินยักษ์ สนประดิพัทธ์ และเสม็ดขาว โดยนอกจากพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่แล้ว ยังต้องพิจารณาเรื่องต้นทุนการปลูก การจัดการแปลง และเมื่อคำนึงถึงผลกำไรสูงสุดจากการปลูกพบว่าไม้สกุลยูคาลิปตัสถูกแนะนำให้ปลูกเป็นอันดับแรกในพื้นที่ที่มีศักยภาพทั้งหมด ขณะที่ ดร.มะลิวัลย์ หฤทัยธนาสันติ์ กล่าววถึงโครงการ “การรวบรวมข้อมูลการปลูกต้นไม้โตเร็วสำหรับจัดทำแผนที่นำทางงานวิจัยการปลูกไม้โตเร็วเพื่อพลังงาน” ซึ่งได้ร่วมวิจัยกับภาคเอกชนและเกษตรกรเพื่อให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม โดยแบ่งแผนที่นำทางระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ออกเป็น 7 กลุ่มหลัก คือ การพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ไม้โตเร็ว ระบบการปลูกและการเตรียมพื้นที่ การจัดการสวนป่า การตัดฟันและโลจิสติกส์ การประเมินผลผลิตมวลชีวภาพ การวิเคราะห์ผลตอบแทนและการขยายผลการส่งเสริมปลูก และการยอมรับและผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการพัฒนาพลังงานชีวมวลอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ปัญหาสำคัญที่สุด คือ การขาดแคลนแรงงาน ในระยะสั้นจึงต้องเร่งพัฒนาเครื่องจักรเพื่อทดแทนแรงงานที่มีจำนวนลดลงและแรงงานสูงวัย รวมถึงช่วยลดต้นทุน ส่วนโครงการ “ระบบการปลูกและการจัดการไม้โตเร็วในการผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลบนที่ดินเสื่อมโทรม” ว่าได้ศึกษาระบบการปลูกและการจัดการที่เหมาะสมของการปลูกไม้โตเร็วในพื้นที่เสื่อมโทรม โดยเน้นพื้นที่เสื่อมโทรมระดับเฝ้าระวัง และไม่กระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกพืชอาหาร ซึ่งมีพื้นที่ “โมเดลเชิงสาธิต” ใน 5 จังหวัดตามภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ แพร่ อุบลราชธานี กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา และสุราษฎร์ธานี ตลอดจนหารูปแบบธุรกิจที่เหมาะสม และขยายผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลอัตราการเติบโต ผลผลิต การหมุนเวียนสารอาหาร การเก็บกักคาร์บอน ค่าพลังงานที่ได้ และผลตอบแทนทางการเงินและเศรษฐศาสตร์ ส่วนโครงการ ด้านโครงการ “การศึกษารูปแบบที่เหมาะสมในการปลูกยูคาลิปตัสร่วมกับมันสำปะหลังในระบบวนเกษตรในพื้นที่ดินเสื่อมโทรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ผศ. ดร.รุ่งเรือง พูลสิริ กล่าวว่า ได้หารูปแบบที่เหมาะสมในการปลูกไม้โตเร็ว (ยูคาลิปตัส) ร่วมกับพืชอาหาร (มันสำปะหลัง) ในแปลงทดลองที่สวนป่าช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ก่อนนำผลที่ได้มาวิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์เพื่อหารูปแบบธุรกิจที่นำไปขยายผลได้ และหาแนวทางในการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมสำหรับการส่งเสริมพื้นที่ผลิตพืชอาหารและพืชพลังงาน สำหรับโครงการ “การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพชีวมวลของหญ้าเนเปียร์เชิงพื้นที่เพื่อผลิตไฟฟ้า” ผศ. ดร.นรุณ วรามิตร กล่าวว่า ความสำเร็จในการปลูกหญ้าเนเปียร์ซึ่งเป็นพืชที่สามารถปลูกและให้ผลผลิตได้ในพื้นที่แห้งแล้ง ดินเลวที่ไม่สามารถปลูกพืชไร่เศรษฐกิจชนิดอื่นได้ดี เพื่อเป็นวัตถุดิบชีวมวลในการผลิตไฟฟ้า ควรเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะการคำนึงถึงปริมาณน้ำฝนหรือความชื้นในดินเป็นปัจจัยสำคัญ นอกจากนี้ระดับน้ำในดินที่ลดลงส่งผลให้ปริมาณเฮมิเซลลูโลสในชีวมวลของหญ้าเนเปียร์มีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 แต่มีปริมาณเซลลูโลสและลิกนิกลดลงร้อยละ 6 และร้อยละ 2 ตามลำดับ ซึ่งอาจเป็นผลดีในแง่การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของจุลินทรีย์ในการหมักก๊าซมีเทนให้สูงขึ้นได้ ขณะที่โครงการ “การปรับปรุงพันธุ์หญ้าเนเปียร์เพื่อเพิ่มผลผลิตชีวมวลในสภาพดินเปรี้ยวและดินเค็ม” พบว่าพันธุ์หญ้าเนเปียร์ส่วนใหญ่เจริญเติบโตได้ในดินกรดจัดมาก (พีเอชประมาณ 4.8) ในจังหวัดปทุมธานี และดินกรดจัด (พีเอชประมาณ 5.3 ในจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยบางพันธุ์ที่เจริญเติบโตได้ดีกว่าพันธุ์ปากช่อง 1 ที่นิยมปลูกทั่วไปในขณะนี้ อย่างไรก็ตามแม้ว่าพันธุ์หญ้าทั้งหมดยังให้ผลผลิตต่ำหรือไม่สามารถเติบโตได้ในดินเค็มปานกลาง แต่เชื้อพันธุกรรมที่นำเข้ามาและสายพันธุ์ลูกผสมที่พัฒนาขึ้นมีบริษัทเอกชนนำไปปลูกทดสอบในพื้นที่ดินเค็มของบริษัทในจังหวัดชัยภูมิแล้ว ส่วนในดินเปรี้ยวพบว่ามีลูกผสม 1 สายพันธุ์ในจังหวัดปทุมธานีและนครนายก ที่เป็นสายพันธุ์ที่ดีกว่าในปัจจุบัน