ในห้องเรียนนักเรียนแพทย์แผนโบราณ (วัดโพธิ์) หรือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม   เช้าวันหนึ่ง อาจารย์หมอโบราณผู้ชาย ท่านวางดอกไม้สีเหลืองอ่อนหนึ่งกองใหญ่ คู่กับหางสัตว์และเขาสัตว์ขนาดเขื่องไว้ด้วยกันบนโต๊ะนักเรียนตัวหนึ่ง อาจารย์ท่านนี้มีเคล็ดในการเรียนการสอนน่าสนุก และให้พวกเรานักเรียนโข่งได้จดจำตัวยาได้อย่างแม่นยำ                 สีหน้าเรียบเฉยมาก ขณะที่มือซ้ายคีบบุหรี่เข้าริมฝีปาก อัดควันลงสู่ปอดอย่างเอาจริงเอาจัง อาจารย์ว่า นี่ดอกกระทิง และนั่นหางกระทิงกับเขากระทิง ทั้งสองอย่างนี้เป็นสมุนไพรชื่อซ้ำกัน                  ช่อดอกเล็กๆทั้งหมดเรียกดอกกระทิง เป็นสมุนไพรประเภทสัตว์วัตถุ ส่งกลิ่นหอมจางๆ ดอกไม้ต่างๆที่กลิ่นหอมๆโปรดจำไว้ก่อนว่าต้องมีสรรพคุณใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ ถ้าเปรียบเป็นนางละครก็รองๆนางเอกเทียวล่ะ ฮึฮึทำเอานักเรียนทุกคนอมยิ้ม (นักเรียนหญิงชายวัยครึ่งชีวิตกับพระภิกษุหนึ่งเดียวรวมกันได้สิบเจ็ดราย)                  หางกับเขาสัตว์นี่เป็นอวัยวะสัตว์เรียกว่ากระทิงเช่นเดียวกัน เป็นประเภทสัตว์วัตถุ ใช้ปรุงยาสมุนไพรตำรับต่างๆเพื่อแก้ไข้พิษ ไข้กาฬ บำรุงกำลัง จ้าวแห่งป่าตัวนี้ถ้าเปรียบเป็นชายก็คือชายเปี่ยมพลัง องอาจผึ่งผาย เข้ายาบำรุงกำลังดีมาก จำกันง่ายๆว่า สัตว์วัตถุประเภทเขาอ่อน เช่นเขากระทิง เขากวาง นอแรด อยู่ในตำรับยาพละกำลัง อ้อที่นำหางกระทิงมาด้วยจะได้ยืนยันนี่เขาอ่อนกระทิงแท้ ท่านอาจารย์ย้ำด้วยว่า เขาของสัตว์แต่ละชนิดจะดูไม่ค่อยรู้จัก ปลายเขาอ่อนมันคล้ายๆกันจึงต้องมีส่วนหางหรือส่วนใบหูแนบติดมาด้วย                   กระทิงทั้งสองประเภทที่วางไว้หน้าห้องเรียนนั้น จึงเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมการเรียนการสอน ที่ได้รับความรู้จากผู้สอนแบบเต็มอัตราศึก นักเรียนโข่งอย่างพวกเราจึงจดจำกันได้ขึ้นใจอย่างที่ไม่ต้องกางตำราแม้แต่หน้าเดียว พฤกษศาสตร์ของต้นกระทิง (เครดิต : อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกชาติ) ลักษณะต้น  : ไม้ต้นขนาดกลาง สูง 20-25 เมตร                   ลักษณะใบ : ใบเดี่ยวรูปวงรียาว ใบเรียงตรงข้าม ลักษณะดอก : ดอกช่อ ออกที่ซอกใบ บริเวณปลายกิ่ง มีดอกย่อย 4-6 ดอก กลีบดอกสีขาว เกสรตัวผู้สีเหลืองมีจำนวนมาก กลิ่นหอม ลักษณะผล : ผลสด รูปทรงกลม ภูมิปัญญาไทย : ตำรับยาหอม ใช้แทนดอกสารภี ปรุงยาบำรุงหัวใจ บีบน้ำมันจากเมล็ดได้ ถึง ร้อยละ 60 ใช้ทาถูนวด แก้ปวดข้อ เคล็ดขัดยอก ปวดบวม น้ำมันเมล็ดกระทิง มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ฆ่าเชื้อราและเชื้อโรค ใช้ทำสบู่ ครีม ให้ความชุ่มชื้นกับผิวและน้ำมันบำรุงผม ทำให้ผมดำและยาวเร็ว มีฤทธิ์ฆ่าแมลงด้วย เปลือกต้นกระทิง : มีสารแทนนินและยางไม้มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค และช่วยให้แผลตกสะเก็ด                  กระทิง : เป็นไม้ประเภทไทรชนิดหนึ่ง ไทรสารภีก็เรียก หรือสารภีทะเล มีดอกคล้ายดอกสารภี                  ใบ : จัดเป็นยารสเย็น หมอกลางบ้านใช้ใบคั้นน้ำ ใช้ล้างตาแก้โรคตาแดง ตาฝ้า ตามัว                  เมล็ด : จัดเป็นยารสร้อน ตำจนละเอียด เคี่ยวเอาน้ำมันทาแก้ปวดข้อ เคล็ดขัดยอก บวม                  ดอก : จัดเป็นยารสหอมเย็น เข้ายาบำรุงหัวใจ    ต้นสารภี : เป็นต้นไม้ขนาดกลาง เช่นเดียวกับต้นกระทิง สรรพคุณทางยาได้แก่ ดอก : จัดเป็นยารสขมหอมเย็น ปรุงในยาแก้เลือดพิการ แก้ไข้มีพิษร้อน เจริญอาหาร บำรุงหัวใจ ชู กำลัง เกสร : จัดเป็นยารสหอมเย็น ปรุงยาบำรุงครรภ์รักษา ทำให้ชื่นใจ แก้ไข้ กระทิง : วัวกระทิง เป็นสัตว์บกล่ำใหญ่ อาศัยในป่าลึก ตำรายาทางการแพทย์แผนไทย จัดให้เป็น สัตว์วัตถุ นำมาปรุงยารักษาโรคต่างๆ เช่น                  เขา : เขากระทิงจัดเป็นยารสเย็นคาว วิธีนำมาใช้โดยขูดด้วยมีดคม หรือจำใช้มีดหมอก็จะดูค่อนขลังหน่อย ขูดจนๆได้ผงละเอียดผสมเข้าด้วยผงสมุนไพรอื่นที่ต้องการ เขากระทิงมีสรรพคุณแก้ไข้ร้อนใน ไข้พิษ ไข้กาฬ ถอนพิษผิดสำแดง ท้องเสียสาเหตุจากอาหารเป็นพิษ โรยแผลฝีดับพิษหัวฝีอักเสบได้                 เขากระทิงจึงจัดเป็นสัตว์วัตถุหายาก ยาที่เข้าเครื่องปรุงด้วยเขากระทิงราคาค่อนข้างสูง                  เขากวาง : กวางเป็นสัตว์บก จัดเป็นสัตว์วัตถุ หมายถึงอวัยวะต่างๆของสัตว์สามารถนำมาปรุงเป็นยารักษาโรค เช่น                  เขา : เขากวางการแพทย์แผนไทยจัดเป็นยารสเย็นคาว ปรุงยาแก้ไข้พิษ ไข้กาฬ แก้ร้อนในกระหายน้ำ                 เขาอ่อน : เป็นเขาที่งอกใหม่ยังไม่แข็ง จัดเป็นยารสร้อนคาว ปรุงยาบำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย บำรุงความกำหนัด ถอนพิษผิดสำแดง                  วิธีนำเขากวางมาใช้ : ขูดเป็นผงละเอียดนุ่ม เช่นเดียวกับเขากระทิง                  นอแรด : สัตว์วัตถุอีกชนิดหนึ่งตำราทางการแพทย์แผนไทย จัดเป็นยารสมันเย็น ปรุงยาบำรุงกำลัง ถอนพิษผิดสำแดง ดับพิษร้อนในกระดูกและเลือด                  เขาสัตว์ที่ใช้เป็นยา : ได้แก่ กระทิง กวาง แกะ วัวดำ วัวป่า วัวบ้าน ควายเผือก เขาอ่อนและเขาแก่นำมาขูดเป็นผงทำยารักษาโรคได้ ยังมีไขมันจากกระดูกของวัวป่า วัวบ้าน วัวดำ ควายเผือก ใช้เคี่ยวเป็นน้ำมันถูทาแก้ปวดเข่า ปวดเส้นเอ็น เรียกน้ำมันจากกระดูกวัวว่า น้ำมันเปรียง                  น้ำมันเปรียง : เป็นน้ำมันได้จากการเคี่ยวไขข้อวัว ตำราการแพทย์แผนไทยจัดไว้เป็นยารสมันคาวร้อน ทาแก้เคล็ดขัดยอก แพลง ทาให้เส้นเอ็นหย่อนยาน ลดอาการเส้นเอ็นตึง แก้ปวดขัดตามเข่า ข้อเท้า   งาช้าง : ก็ใช้ปรุงยาได้ด้วย แต่ส่วนใหญ่หมอกลางบ้านจะใช้ปลายงาช้างแทนมีดหมอไล่ภูตปิศาจออกจากร่างผู้ป่วยได้อีกด้วย                  พิกัดสัตตะเขา : หมายถึงการนำเขาสัตว์ 7 ชนิดมาปรุงยาแผนไทยรวมกัน มี เขาวัว เขาควาย เขากระทิง เขากวาง เขาแกะ เขาแพะ เขาเลียงผา สรรพคุณ ดับพิษ ถอนพิษผิดสำแดง แก้ไข้พิษ ไข้กาฬ ใช้ได้ทั้งภายในภายนอกและทำน้ำกระสายยา สรรพคุณทางยาของสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด คือการได้เข้าไปนั่งเรียนรู้จากโรงเรียนการแพทย์แผนโบราณ(วัดโพธิ์) ท่าเตียน ภูมิปัญญาไทยนี้สามารถใช้ประโยชน์และทำยาบำบัดอาการเจ็บไข้ ปวดเมื่อย กับเพิ่มพละกำลังได้เป็นอย่างดีด้วย