ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวระหว่างเยี่ยมชมโครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ (หนองหาร) ระยะที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุดที่ 1 ปี 2557 และปี 2558 ที่รัฐบาลอนุมัติให้เร่งดำเนินการจัดสร้างช่วยผู้มีรายได้น้อยได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม ว่า จังหวัดเชียงใหม่ มีโครงการทั้งหมด 12 โครงการ จำนวนรวมทั้งสิ้น12,000 หน่วย สำหรับโครงการที่จังหวัดเชียงใหม่ ถือว่าเป็นโครงการที่ได้รับความสนใจและเป็นที่ต้องการของผู้อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีทำเลที่ตั้งดี และรูปแบบการก่อสร้างที่ทันสมัย โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุดที่ 1 ปี 2557 - 2559 เป็นโครงการหนึ่งที่อยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 10 ปี (พ.ศ. 2559 - 2568) ของการเคหะแห่งชาติ ซึ่งรัฐบาลได้อนุมัติให้การเคหะแห่งชาติเร่งดำเนินการเพื่อช่วยผู้มีรายได้น้อยได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในระดับราคาที่สามารถผ่อนชำระได้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคมด้านที่อยู่อาศัย ปัจจุบันมีการดำเนินงานในหลายจังหวัดกระจายตามภูมิภาคต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดเชียงใหม่ การเคหะแห่งชาติได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุดที่ 1 ปี 2557 และปี 2558 จำนวน 4 โครงการ ได้แก่ โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ (หนองหาร) ระยะที่ 1 และ 2, โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ (ไนท์ซาฟารี) ระยะที่ 1 และ 2, โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ (สันผีเสื้อ) และโครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ (สันกำแพง) ดร.ธัชพล  กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ดร.ธัชพล กล่าวว่าในรอบปีที่ผ่านมาประชาชนให้ความมั่นใจโครงการการเคหะแห่งชาติเพิ่มมากขึ้น จะเห็นได้จากยอดขายที่เพิ่มขึ้น เดิมตั้งเป้าไว้ที่ 10,000 หน่วย ขณะนี้ยอดขายพุ่งไปถึง 14,000 หน่วย และมีอีกหลายเรื่องที่ประสบความสำเร็จ เช่นโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง มีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก ขณะนี้การก่อสร้างระยะที่ 1 แปลง G สูง 28 ชั้น ได้ก่อสร้างถึงชั้นที่ 8 แล้ว เป้าหมายคือ ก่อสร้างให้แล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2561 และจะย้ายเข้าไปอยู่ประมาณ เดือนสิงหาคม 2561 โดยจะจัดอบรมกฎ กติกา มารยาท จัดระเบียบในการจอดรถ และเลี้ยงสัตว์ ให้กับผู้ที่จะเข้าอยู่อาศัยก่อน เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพิจารณากฎเกณฑ์ร่วมกัน โดยจะเสนอเข้า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในต้นปี 2561 ขณะเดียวกันการก่อสร้างที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ ก็มีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ส่วนกลางที่เป็นพื้นที่สีเขียวซึ่งมีเป็นจำนวนมาก และการดึงให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ออกกำลังกายของผู้สูงอายุ หรือสถานที่เล่นกีฬาของเด็กและเยาวชน ตรงนี้ถือว่าเป็นจุดเด่นของโครงการการเคหะแห่งชาติ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ให้แนวทางการบริหารชุมชนไว้ว่า ให้ชุมชนเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยการจัดตั้งสถาบันพัฒนานักบริหารชุมชนขึ้น เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งในชุมชน ซึ่งคาดว่าจะเป็นรูปธรรมในปี 2561 ส่วนเรื่องขายโครงการที่ค้างสต็อกจากโครงการเอื้ออาทรเดิม ขณะนี้การเคหะแห่งชาติ ขายโครงการไปได้เยอะแล้ว ปัญหาที่มีคือการส่งมอบไม่ค่อยได้ตามเป้า เนื่องจากสถาบันการเงินค่อนข้างจำกัดการให้สินเชื่อ รอให้รัฐบาลออกมาตรการมาสนับสนุน ขณะที่การเคหะแห่งชาติ ก็มีแนวทางมาสนับสนุนด้วยเช่นกัน โดยใช้ชุมชนให้เป็นประโยชน์ เช่นพัฒนาตลาดในชุมชนให้มีระเบียบมากขึ้นและมีพื้นที่ขายของมากขึ้น นำสินค้าธงฟ้าของกระทรวงพาณิชย์มาขายในชุมชน ซึ่งมีราคาถูกกว่าข้างนอก 25 % ทำให้เศรษฐกิจในชุมชนดีขึ้น พี่น้องประชาชนซื้อของถูกลง ขณะที่ความคืบหน้าด้านการก่อสร้าง ซึ่งการเคหะแห่งชาติสามารถก่อสร้างได้ตามเป้าหมาย ประกอบด้วย อาคารขาย 21-22 โครงการ จำนวน 6,000 หน่วย รัฐบาลอนุมัติมาแล้ว และกำลังเริ่มก่อสร้างอาคารเช่า 12 โครงการ จำนวน 4,000 หน่วย ล่าสุดรัฐบาลได้อนุมัติโครงการที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้า และกำลังจะอนุมัติ โครงการบ้านพักข้าราชการ เริ่มก่อสร้างที่จังหวัดสงขลา และปัตตานี รวมถึงบ้านผู้สูงอายุที่กำลังจะมีขึ้นในปี 2561และได้รับนโยบายจากรองนายกรัฐมนตรี (สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ให้ดำเนินโครงการบ้านคนจน โดยร่วมกับ กรมธนารักษ์ และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธ.อ.ส.) ดำเนินการในรูปแบบดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมบริหาร ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 20 ปี ว่าจะขยายวงกว้างมากขึ้นครอบคลุมทุกกลุ่ม เช่นกลุ่มคนจน และกลุ่มคนเร่ร่อน เป็นต้น ต่างจากยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 10 ปี ซึ่งดูแลเฉพาะผู้มีรายได้น้อย และผู้มีรายได้ปานกลางเท่านั้น นอกจากนี้ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 20 ปี จะเน้นการร่วมทุนกับเอกชน ฉะนั้นการบริหารแบบเดิมคนเดียวที่สร้างบ้านจำนวน 1.7 ล้านหน่วย จะเพิ่มเป็น 2.3 ล้านหน่วย ส่วนนี้จะเป็นบ้านประชารัฐ 1.5 ล้านหน่วย ซึ่งการเคหะแห่งชาติ จะต้องวางแนวทางเพื่อดำเนินงานให้ได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 20 ปี อีกแนวทางหนึ่ง คือการร่วมกับท้องถิ่น ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนมากขึ้น ฉะนั้นบทบาทของการเคหะแห่งชาติในอนาคต จะเปลี่ยนจากผู้สร้างเป็นผู้กำกับนโยบาย แต่จะสร้างด้วยบางส่วน โดยร่วมทุนกับเอกชน เน้นการออกแบบให้เหมาะสมกับทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นแนวราบหรือแนวสูง รวมถึงการดูแลเรื่องของสิ่งแวดล้อม และระบบสาธารณูปโภคที่เน้นประหยัดพลังงาน เพื่อลดค่าใช้จ่ายส่วนกลางให้กับพี่น้องประชาชนรวมถึงการจัดตั้งกองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง สามารถเข้าถึงได้ เพราะที่ผ่านมา เมื่อผู้มีรายได้น้อยยื่นขอสินเชื่อมักจะติดขัดไม่อาจเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินทั่วไปได้ นายกิร  ดั่นคุณะกุล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการ 2 นายกิร ดั่นคุณะกุล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการ 2 กล่าวว่า การก่อสร้างโครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ (หนองหาร) ระยะที่ 1 และ 2 ขนาดที่ดินประมาณ 70 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณถนนสายเชียงใหม่ - พร้าว (ทล.1001) ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ระยะ คือ โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ (หนองหาร) ระยะที่ 1จัดสร้างเป็นบ้านแฝด 2 ชั้น 2 ห้องนอน ขนาดที่ดินประมาณ 22.75 ตารางวา จำนวน 394 หน่วย พื้นที่ใช้สอยประมาณ 49 ตารางเมตร ราคาขาย 600,000 บาท ก่อสร้างแล้วเสร็จ 100 % ปัจจุบันมีผู้สนใจจองเต็มโครงการแล้ว และอยู่ระหว่างการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน คาดว่าจะสามารถส่งมอบอาคารให้ผู้อยู่อาศัยได้ประมาณเดือนตุลาคม 2560 โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ (หนองหาร) ระยะที่ 2 จัดสร้างเป็นบ้านแฝด 2 ชั้น 2 ห้องนอน ขนาดที่ดินประมาณ 22.75 ตารางวา จำนวน 390 หน่วย พื้นที่ใช้สอยประมาณ 49 ตารางเมตร ราคาขาย 630,000 บาท ความก้าวหน้าการก่อสร้าง 90% คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและสามารถส่งมอบให้ผู้อยู่อาศัยได้ประมาณเดือนมกราคม 2561