สสส.จับมือ ม.ราชภัฎ 9 แห่ง พัฒนาทักษะอ่านออกเขียนได้-ความรอบรู้ด้านสุขภาวะ 200 โรงเรียน วันที่ 20 ก.ย.60 ที่โรงแรมเซนทารา ศูนย์ราชการ กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎ 9 แห่ง จัดงาน "สานพลังเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อพัฒนาทักษะการอ่านออกเขียนได้และความรอบรู้ด้านสุขภาวะ" โดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ทักษะการอ่านออกเขียนได้เป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญ แต่จากสถานการณ์การอ่านของเด็กและเยาวชนไทยปัจจุบันยังคงน่าเป็นห่วง จากการประเมิน PISA ปี 2015 พบว่า นักเรียนไทยอายุ 15 ปี ส่วนใหญ่สอบตกวิชาการอ่าน โดยมีคะแนนอยู่ในระดับ 2 หรือต่ำกว่าถึง 83% นอกจากนี้ ยังพบความเหลื่อมล้ำทางการเรียนรู้จากทักษะการอ่าน ระหว่างนักเรียนจากพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีคะแนนสูงกว่านักเรียนพื้นที่อื่น ๆ โดยห่างจากภาคที่มีคะแนนต่ำสุด คือ ภาคอีสานตอนล่างมากกว่าครึ่งระดับ หรือเท่ากับการเรียนรู้ที่ต่างกันเกือบหนึ่งปี ดร.สุปรีดา กล่าวว่า ทักษะความรอบรู้ด้านสุขภาวะ เป็นอีกทักษะที่มีความสำคัญสำหรับการดำรงชีวิตอย่างมีสุขภาวะที่ดี เพราะโรคที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ 2 ใน 3 มาจากโรคที่เกิดจากพฤติกรรม โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง รวมถึงการมีชีวิตที่มีสุขภาวะ ทั้งการรู้เท่าทันสื่อสังคมออนไลน์ สุขภาวะทางเพศที่เหมาะสม
สสส.จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎ (มรภ.) 9 แห่ง ประกอบด้วย มรภ.อุตรดิตถ์ มรภ.ลำปาง มรภ.สุราษฎร์ธานี มรภ.เพชรบุรี มรภ.เลย มรภ.มหาสารคาม มรภ.พระนคร มรภ.ยะลา และ มรภ.พิบูลสงคราม โดยมีโรงเรียนกลุ่มเป้าหมาย จำนวนกว่า 200 โรงเรียน ครอบคลุมทุกภาคของประเทศ
เพื่อพัฒนานวัตกรรมการอ่านออก เขียนได้ และความรอบรู้ทางสุขภาวะให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษา ผศ.ดร.เรืองเดช วงศ์หล้า อธิการบดี มรภ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏ มีจุดเน้นที่สำคัญ คือเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยความร่วมมือ ในการทำงานร่วมเป็นเครือข่ายโรงเรียน และสถาบันราชภัฎ ในฐานะพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียน เพื่อพัฒนานวัตกรรมการอ่าน เขียนได้ และความรอบรู้ทางสุขภาวะให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษา โดยบูรณาการระหว่างโรงเรียน ชุมชน ท้องถิ่น และกลุ่มทางสังคม ตลอดจนการเสริมศักยภาพภาคีเครือข่าย ให้เกิดเป็นกลไกการทำงานในพื้นที่ โดยให้คณาจารย์ บุคลากร และนิสิต นักศึกษา ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ในการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนและสถานศึกษาในพื้นที่เป้าหมาย ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการอ่านเขียนของเด็กในชุมชน