คปภ. มุ่งยกระดับธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคเอเชีย พร้อมรับมือศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม NAIC-OECD-OIC Joint Roundtable on Insurance and Retirement Saving in Asia ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันทั่วโลกต่างเผชิญกับสภาพการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทั้งการพัฒนาของเทคโนโลยี ภัยคุกคามทางไซเบอร์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งองค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ในช่วงปี ค.ศ. 2001-2100 เป็นศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ โลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) แต่ละประเทศจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมของแต่ละประเทศ เช่น ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาทางด้านการแพทย์การโภชนาอาหาร และโครงสร้างประชากรไทยก็มีทิศทางเดียวกันกับประชากรโลก จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่าประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 โดยมีประชากรผู้สูงอายุถึงร้อยละ 10.4 ของประชากรทั้งประเทศและคาดว่าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) ในช่วงปี ค.ศ. 2024-2025 การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะทำให้สังคมไทยในอนาคตขาดแคลนประชากรวัยทำงานและขาดแคลนแรงงาน รวมถึงค่าใช้จ่ายของภาครัฐที่สนับสนุนสวัสดิการให้ผู้สูงอายุต้องเพิ่มมากขึ้น ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ล้วนส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเติบโตช้าลง จึงเป็นความท้าทายที่ธุรกิจประกันภัยไทยต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย ให้ตอบสนองความต้องการดังกล่าวได้ ควบคู่กับการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัยให้ประชาชนเห็นคุณค่า และประโยชน์ของการประกันภัยเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง ซึ่งมีจุดเด่นที่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์การเงินอื่นๆ ดังนั้น เพื่อเป็นการพัฒนาการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ตลาดประกันภัย และการกำกับดูแลด้านความมั่นคงทางการเงินในระดับภูมิภาคเอเชียให้มีมาตรฐานในการกำกับดูแล และการประกอบธุรกิจประกันภัยที่ใกล้เคียงกัน เป็นไปตามมาตรฐานสากล สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของประเทศไทย จึงได้ร่วมกับสมาคมนายทะเบียนประกันภัยของประเทศสหรัฐอเมริกา (The National Association of Insurance Commissioners: NAIC) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organization for Economic Co-operation and Development : OECD) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในหัวข้อเรื่องการประกันภัยและการออมเพื่อการเกษียณอายุในภูมิภาคเอเชีย ระหว่างวันที่ 20-21 กันยายน 2560 ณ โรงแรม Park Hyatt กรุงเทพฯ เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการประชุมครั้งนี้ ตนได้เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมฯ และเข้าร่วมเป็นประธานคณะผู้อภิปรายกลุ่ม ในหัวข้อการพัฒนาตลาดประกันภัยและการเข้าถึงบริการด้านประกันภัยของประชาชน ทั้งนี้ มีเป้าหมายหลักเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประสบการณ์เกี่ยวกับการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคเอเชีย การพัฒนาการกำกับดูแลด้านความมั่นคงทางการเงินของธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคเอเชีย การเข้าถึงบริการด้านประกันภัย และการพัฒนาตลาดประกันภัย การออกแบบผลิตภัณฑ์การออมเงินเพื่อวัยเกษียณ (Retirement saving) เทคโนโลยีทางการเงินในด้านประกันภัย (FinTech in insurance) รวมถึงประเด็นอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งเป็นผู้แทนจากหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยและผู้แทนจากภาคธุรกิจประกันภัย จำนวนกว่า 90 คน จาก 18 ประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ ตุรกี จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ศรีลังกา ปาปัวนิวกินี เกาหลีใต้ ฮ่องกง สิงคโปร์ บรูไน กัมพูชา สปป. ลาว และมาเลเซีย รวมถึงมีผู้แทนจากหน่วยงานของประเทศไทยเข้าร่วมการประชุม ได้แก่ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย และบริษัทประกันภัยต่างๆ “สิ่งสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนเป้าหมายสู่ความสำเร็จ คือ การเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของประเทศไทย ดังนั้น สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของประเทศไทย จึงได้ยกระดับการพัฒนาการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย โดยร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชีย และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ และแนวทางการกำกับดูแล ตลอดจนนำแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practices) มาใช้ เพื่อยกระดับการกำกับดูแลและพัฒนาการของธุรกิจประกันภัยให้มีการเติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน และอยู่ในระดับมาตรฐานสากล” เลขาธิการ คปภ. กล่าวทิ้งท้าย