รมว.ท่องเที่ยวเร่งปั้นอัตลักษณ์เที่ยวอีสานใต้ โคราช- เมืองศิลปะ สุรินทร์- เมืองช้างบุรีรัมย์ – เมืองกีฬา ดึงจุดเด่นคลัสเตอร์ เชื่อมโยงเส้นทางไทย สู่อาเซียน คาดกระตุ้นรายได้ โตกว่า 8 เปอร์เซ็นต์ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า จากการลงพื้นที่จ.สุรินทร์ พบโจทย์สำคัญของการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ ได้แก่ นครราชสีมา- อุบลราชธานี- บุรีรัมย์-สุรินทร์-ศรีสะเกษ คือเรื่องดึงเอกลัษณ์คลัสเตอร์อีสานใต้ให้มีการส่งเสริมความโดดเด่น เรื่องเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนและวัฒนธรรมข้ามจังหวัดให้ได้ เพื่อช่วยให้เกิดการพัฒนาที่เกื้อหนุนและสร้างรายได้ให้พื้นทีได้จริง โดยได้ให้ยึดหลักสำคัญ คือ แผนงานต้องไม่เปลี่ยนตามการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหาร หรือตัวบุคคล อีกทั้งต้องเน้นการท่องเที่ยวคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณของนักท่องเที่ยว โดยที่การท่องเที่ยวไม่ได้มีงบประมาณมาก สิ่งที่สำคัญคือ การท่องเที่ยวจะต้องเติบโตโดยไม่พึ่งเงินอย่างเดียว ปัจจุบันอาเซียนเปิดแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านจึงไม่ใช่คู่แข่ง แต่เป็นเพื่อนที่อยากจะมาเที่ยวเมืองไทยในช่วงวันหยุด ดังนั้น จึงควรใช้การเชื่อมโยงอาเซียนให้เกิดประโยชน์สูงสุดดังนนั้นการเน้นเส้นทางเชื่อมโยงจังหวัดในคลัสเตอร์ที่มีความคล้ายคลึงกัน แต่มีอัตลักษณ์ท้องถิ่นไม่เหมือนกันควรต้องเร่งทำและส่งเสริมให้เกิดขึ้น โดยผู้ประกอบการรุ่นใหม่อาจมีบทบาทมากขึ้นในการพัฒนาบ้านเกิดของตนเองโดยใช้จุดแข็งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ ในช่วงต้นปี 2561 การท่องเที่ยวเชิงกีฬา จะเป็นความหวัง โดยไทยมีงาน Moto GP ที่จ.บุรีรัมย์แน่นอน ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 300,000 คน จะช่วยการท่องเที่ยวอีสานให้เกิดการกระจายรายได้ ขอให้ทุกจังหวัดเตรียมตัวต้อนรับเป็นเจ้าบ้านที่ดีได้ “ปัจจุบันรายได้จากการท่องเที่ยวอีสานคิดเป็น17,000 ล้านบาท โดยเราต้องการให้การท่องเที่ยวแบบคลัสเตอร์ส่งต่อเส้นทางกันและกันข้ามจังหวัดและอาเซียน เช่นเดียวกับเรื่องการท่องเที่ยวเชิงกีฬา ที่คาดว่าจะทำให้เกิดการกระตุ้นการใช้จ่ายได้มากขึ้น โดยคาดว่าหากสามรถทำได้ตามเป้าหมายจะช่วยเพิ่มรายได้ให้เติบโตกว่า 8 เปอร์เซ็นต์ได้ ” นางกอบกาญจน์ กล่าว นางกอบกาญจน์ กล่าวว่า จากนี้ควรบริหารความเสี่ยงเรื่องการใช้สัตว์ต่างๆ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เช่น ชมช้างจากหอคอย ทำกิจกรรมเพื่อสังคม ( CSR) ร่วมกันอาบน้ำช้าง โดยกำหนดเส้นทางท่องเที่ยววิถีถิ่น เพื่อเป็นทางเลือกให้นักท่องเที่ยวกลุ่มต่างๆ และ ปีนี้ควรเน้นการทำแอพพลิเคชั่นบนมือถือ (application )ตามนโยบายการท่องเที่ยว 4.0 เพื่ออำนวยความสะดวก แก่ นักท่องเที่ยวยุคใหม่ ที่นิยมเดินทางมาเองและค้นหาข้อมูลจากมือถือ นางกอบกาญจน์ กล่าวว่า นโยบายจะเห็นผลเชิงปฏิบัติได้ เกิดจากการคิดพัฒนาต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่อง หีบห่อบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม (Packaging) และฝากเรื่อง การเต้นเพื่อบำบัด (Dance Therapy )เช่น การรำฟ้อนตามประเพณีท้องถิ่น นอกจากสวยงาม และสร้างความสามัคคี แล้ว ยังเป็นการออกกำลังกายที่ดีได้ใช้ทุกส่วนของร่างกาย เคลื่อนไหว ทำให้สุขภาพแข็งแรงเป็นการออกกำลังกายได้ด้วยนับเป็นภูมิปัญญาพื้นบาทที่ส่งเสริมด้านสุขภาพได้เป็นอย่างดี