สพฐ.สนองพระบรมราโชบายด้านการศึกษา รัชกาลที่ 10 สร้างวินัยนักเรียน นายบุญรักษ์ ยอดเพชร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)รักษาราชการแทนเลขาธิการ กพฐ.เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(กคศ.)ได้ดำเนินการคัดเลือก ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) แทนตำแหน่งที่ว่าง 110 ตำแหน่ง เมื่อช่วงต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ ผอ.เขตพื้นที่ฯ ใหม่ กำลังเข้ารับการอบรมก่อนการแต่งตั้งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งการอบรมครั้งนี้จะแตกต่างจากการอบรม ผอ.เขตพื้นที่ฯ เหมือนที่ผ่านมา หลายเรื่องตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกที่เน้นคนดี คนเก่งที่มีศักยภาพแล้ว ครั้งนี้ ผอ.เขตพื้นที่ฯ เหล่านี้จะต้องเข้ารับการอบรมลูกเสือที่ค่ายวชิราวุธ ซึ่งจะคล้าย ๆ รูปแบบการอบรมของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หรือ วปอ. ซึ่งการเข้ารับการอบรมเพื่อให้ทุกคนได้ทำความรู้จัก คุ้นเคยกัน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ของ ผอ.เขตพื้นที่ฯ ทั้งหมด เพราะการทำงานในอนาคตจะต้องมีการบูรณาการเข้าด้วยกัน ทั้งยังสนองพระบรมราโชบายด้านการศึกษา ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูล รัฐกาลที่ 10 ในเรื่องของการสร้างวินัยให้กับนักเรียน "การที่เราจะไปปลุกฝังเรื่องการสร้างวินัยให้กับนักเรียน ก็ต้องมีกุศโลบายให้เขาได้เรียนเล่น เป็นสุขสนุกสนานได้ทำกิจกรรม ซึ่งก็คือ การนำกิจกรรมลูกเสือมาใช้ และให้เข้าใจหลักการลูกเสือ และคุณประโยชน์ของลูกเสือโดยการเข้าไปฝึกอบรม ซึ่งผู้นำเขตพื้นที่จะต้องเข้าอบรมลูกเสือด้วยตัวเองจะได้เห็นคุณค่าและเข้าใจและจะได้นำนโยบายนำไปสู่ปฏิบัติได้จริง" นายบุญรักษ์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามหลังจากที่ ผอ.เขตพื้นที่ฯ ที่ได้รับการคัดเลือกบรรจุแต่งตั้งในปลายเดือน ต.ค.หรือ ต้น พ.ย.60 นี้ ผอ.เขตพื้นที่ฯเหล่านี้จะต้องผ่านการปฏิบัติงานอีก1ปี ซึ่งจะต้องมีการประเมินติดตามการทำงานตามตัวชี้วัดตามที่ได้กำหนด ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปรุงตัวชี้วัดให้มีความทันสมัยกับนโยบาย รักษาการ เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า การปฎิบัติงาน 1 ปี สพฐ.ได้นำมาใช้กับ ผอ.โรงเรียน มาแล้วซึ่งก็ได้ผลเกินคาด มีการเปลี่ยนแปลงในการบริหารโรงเรียนอย่างเห็นได้ชัดเจน ซึ่ง ผอ.โรงเรียน ได้ฝึกทำงานกับชุมชนอย่างหนัก และทำงานร่วมกับครูในโรงเรียนได้เป็นอย่างดี เพราะจะต้องทำให้สำเร็จตามตัวชี้วัดด้วย ดังนั้น ผอ.เขตพื้นที่ฯ ก็ต้องผ่านการปฏิบัติงานภายใน1ปีก็เช่นเดียวกัน ซึ่งจะต้องทำงานร่วมกับศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ร่วมกับผู้บริหารโรงเรียนอื่น ครู ประชาชน เพื่อขับเคลื่อนตัวชี้วัดให้สำเร็จโดยมี ผอ.เขตพื้นที่ฯ คนเก่าเป็นพี่เลี้ยงและเป็นผู้ประเมินด้วย