"สมคิด” ย้ำ “เทคโนโลยีดิจิทัล” เป็นตัวพาชาติก้าวข้ามกับดักเศรษฐกิจ ชี้ถึงเวลาเปลี่ยนประเทศสู่ยุคดิจิทัล ต้องเร่งพัฒนาเทคโนฯ 7 ด้าน หวังยกระดับประเทศไทยสู่ World Connectivity แห่งใหม่ในเอเชีย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน “Digital Thailand Big Bang 2017” จัดขึ้น ณ อิมแพค เมืองทองธานี ตั้งแต่วันที่ 21 – 24 ก.ย.นี้ ว่า เทคโนโลยีดิจิทัลมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมถึงการตอบโจทย์“ไทยแลนด์ 4.0” อันเป็นนโยบายสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และเป็นโมเดลทางเศรษฐกิจในการนำพาประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดัก 3 ด้าน คือ กับดักประเทศรายได้ปานกลาง กับดักความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง และกับดักความไม่สมดุลของการพัฒนา ดังนั้นในการจัดงานนิทรรศการนานาชาติ “ดิจิทัลไทยแลนด์บิ๊กแบง 2017” ภายใต้แนวคิด “ดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่นไทยแลนด์” โลกเปิด เราปรับ ประเทศเปลี่ยน ถือเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการเตรียมความพร้อมที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างเต็มรูปแบบและพร้อมกันทั่วประเทศ ที่จะส่งเสริมให้ประชาชนคนไทยนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ได้อย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพสูงสุด เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทย รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดความสนใจที่จะนำไปสู่การลงทุนด้านดิจิทัลของบริษัทชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ สำหรับแนวนโยบายของรัฐบาลทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาดิจิทัลของประเทศไทย ดร.สมคิด กล่าวว่า มี7 ได้แก่ 1.เทคโนโลยีดิจิทัลต้องช่วยให้เกิดการกระจายรายได้และความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยจะเร่งขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ให้เข้าถึงทุกหมู่บ้าน หรือ โครงการเน็ตประชารัฐ โดยสิ้นปี 2561 จะมีอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ทั่วประเทศไทย จำนวน 74,965 หมู่บ้าน ขณะที่สิ้นปี 2560 จะขยายบรอดแบนด์ และติดตั้งจุดกระจายสัญญาณ Free Wi-Fi หมู่บ้านละ 1 จุด ตามจุดที่ประชาคมหมู่บ้านเป็นผู้กำหนด เพื่อให้บริการฟรี ครอบคลุม 24,700 หมู่บ้าน 2.ประเทศไทยต้องมุ่งสู่ความเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของภูมิภาคอาเซียน โดยลงทุนขยายการเชื่อมโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ (ASEAN Digital Hub) เพื่อสร้าง Digital Infrastructure เชื่อมโยงกับโลก ทั้ง CLMV และ One-Belt-One-Road ของประเทศจีน ผลักดันประเทศไทยให้เป็น ASEAN Digital Hub โดยที่กระทรวงดิจิทัลฯ กำลังเร่งขยายการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศผ่านทั้งระบบเคเบิลใต้น้ำ (Submarine cables) ไปสู่ฮ่องกง โดยรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งมอบให้บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) เป็นผู้ดำเนินการ และเคเบิลบนดินเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่จะเชื่อมไทยกับประเทศ CLMV ไทยกับอาเซียน ไทยกับโครงการ One-Belt-One-Road ของประเทศจีน โดยในช่วงปี 2558-2563 คาดว่าความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 65% ต่อปี ช่วยดึงดูดให้ Content Provider มาลงทุนในไทย ซึ่งด้วยตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทยจะสามารถทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน การแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต ที่สำคัญของเอเชีย หรือ World Connectivity แห่งใหม่ในเอเชีย 3.ประเทศไทยจะดึงดูดการลงทุนธุรกิจด้านดิจิทัลจากต่างประเทศมาเสริมความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย โดยพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม และนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand) หรือ (DPT) ภายใต้โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ของรัฐบาล โดย DPTออกแบบให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของภูมิภาคอาเซียน ด้วยสิทธิประโยชน์จาก BOI (tax, non-tax measures) และการผ่อนผันด้านการกำกับดูแล (regulatory sandbox) Digital Park Thailand เป็นแหล่งรวมบริษัทดิจิทัลระดับโลกในประเทศไทย และเครือข่ายการลงทุนของนักลงทุน (Venture Capital & Angel Funding) รวมถึงเป็นที่ตั้งของ Digital Tech Startups ที่จะจับคู่ธุรกิจกับภาคอุตสาหกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และ New S-Curve 9 อุตสาหกรรม เน้นการผลิตอุปกรณ์อัตโนมัติ เช่น Robotic, IoT 4.รัฐบาลจะเร่งสร้างความสามารถในเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลฯ จัดตั้งสถาบันไอโอที (IoT Institute) ซึ่งจะเป็นอาคารแรกใน Digital Park Thailand ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างทำเรื่องขออนุมัติจาก ครม. เพื่อให้เริ่มโครงการได้ทันทีในปี 2561 ในการทำหน้าที่พัฒนานวัตกรรมที่จำเป็น ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องมือสำหรับสร้างสรรค์นวัตกรรม IoT ส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้ทางเทคโนโลยีแก่ Digital Technology Startups สร้างความรู้ ความเข้าใจในการนำเทคโนโลยี IoT ไปประยุกต์ใช้ใน Real Sector ให้คำปรึกษาและจับคู่ธุรกิจระหว่างภาคธุรกิจและ Digital Technology SMEs/ Startups ในการพัฒนาระบบ IoT เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจ โดยมีอุตสาหกรรมเป้าหมายใน 3 ปีแรกคือ อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมการเกษตร และอุตสาหกรรมบริการด้านสุขภาพ (สังคมสูงอายุ) 5.สร้างแรงกระเพื่อมในระบบเศรษฐกิจ ด้วยการปลุกปั้นกลุ่ม Digital Startup สายเลือดใหม่ในเมืองไทยที่มีแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ เน้นการนำนวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อนำมาพัฒนาประเทศทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ได้จัดการประกวดเพื่อคัดเลือกผลงานภายใต้ชื่อ ‘Digital Startup’ เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา เพื่อใช้เป็นช่องทางสำหรับผู้ที่สนใจเริ่มธุรกิจดิจิทัลสตาร์ทอัพ เพราะหลายคนมีไอเดียแต่ขาดเงินทุนและประสบการณ์ รวมทั้งมีผู้เชี่ยวชาญ ช่วยชี้จุดบกพร่อง และคอยให้คำแนะนำที่มีประโยชน์ โดยในปี 2561 ตั้งเป้าจะสร้าง Digital Startup จำนวน 100 คน และขยายผลจนถึง 1,500 คนในปี 2564 คาดว่าจะสามารถระดมทุนจากนักลงทุนระดับโลก ในระดับ Seed Fund เป็นเงินประมาณ 5 ล้านเหรียญสหรัฐ และในรอบซีรียส์เอประมาณ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ 6.การประกอบธุรกิจในประเทศไทยที่มีความง่าย คล่องตัว และอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ (Ease of Doing Business) โดย กพร. ร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ช่วยกันพิจารณาเกี่ยวกับการลดขั้นตอนและระยะเวลาในการให้บริการ อำนวยความสะดวก ค่าใช้จ่าย และกฎหมาย ซึ่งภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ จะเปิดให้บริการ One stop service ในการยื่นขออนุญาตต่างๆ ผู้ประกอบการสามารถยื่นแบบฟอร์มผ่านเว็ปไซด์ได้ ภายใน 3 ปี จะรวมใบอนุญาตภาครัฐเป็นฟอร์มเดียว และ 7.พัฒนาคนพันธุ์ดิจิทัล หรือ Digital Manpower ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของอุตสาหกรรม S curve และ New S curve แต่ปัจจุบันเรายังมีไม่เพียงพอ ซึ่งต้องเร่งพัฒนาเพราะการพัฒนาคนต้องใช้เวลา ทั้งกลุ่ม Digital Professional และแรงงานทั่วไปที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการและภาคการเกษตร ทั้งหมดเป็นจำนวน 500,000 คน ดังนั้นงานดิจิทัลบิ๊กแบง 2017 จึงเป็นที่หารือ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงสตาร์ทอัพและนักลงทุนจากทั่วโลก เพื่อขยายช่องทางและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยไปสู่ระดับนานาชาติ และผลักดันศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลในอาเซียนของประเทศ