เนื่องในวันที่ 22 ก.ย.ของทุกปีเป็นวันปลอดรถสากล หรือ วันคาร์ฟรีเดย์ World Car Free Day : CFD ปีนี้ ศ.กิตติคุณ ดร. ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย (TCC) และประธานมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย (TWCI) ในฐานะที่เป็นผู้อาวุโสที่ใช้จักรยานและมองเห็นความสำคัญของการเดินเท้า เพื่อลดการใช้รถ ใช้ถนนนั้น เจ้าตัวยืนยันว่า ในวัน คาร์ พรี เดย์ หรือ วันปลอดรถ>ปีนี้ คงต้องกระตุ้นให้สังคมมองไปไกลกว่าการจัดกิจกรรมแค่วันเดียว ที่เน้นจำนวนคนมาร่วมงานหรือจัดกิจกรรมรณรงค์เพียงวันเดียวต่อปี แต่อยากเสนอให้สังคมไทยมี คาร์ ฟรี เอเวอรี่เดย์ (Car Free Every day) มากกว่า คือ ลดใช้รถยนต์ส่วนตัวทุกวัน เพื่อให้คนส่วนใหญ่เห็นความสำคัญของการผลักดันพฤติกรรมลดการใช้รถยนต์ในระดับพฤติกรรมแบบปัจเจกมากขึ้น “คนส่วนใหญ่ในสังคม อาจไม่ใช่คนมาร่วมกิจกรรมในวันคาร์ ฟรีเดย์ แต่เป็นคนที่ทำอะไรก็ได้ ที่มีส่วนช่วยลดการใช้รถยนต์เพื่อผลประโยชน์ทั้งทางตรงทางอ้อม เช่น เดิน หรือปั่นจักรยานแทนก็ลดมลพิษ แต่หากคุณมีที่ทำงานใกล้บ้านพัก แล้วยังเลือกปั่นจักรยาน หรือเดินไปทำงานแทนใช้รถแล้วพบว่าคุณมีเวลามากกว่าปกติ 2 ชั่วโมง คุณมีเวลาอยู่กับลูก กับครอบครัวมากขึ้น มีเวลาทานอาหารเช้า แล้วออกไปทำงานช้าแต่ไปถึงที่ทำงานทันเวลา เพราะว่าถนนโล่ง ไม่ต้องตื่นเช้าเพื่อไปนั่งติดบนรถเป็นระยะทางไกลๆ นั่นคือผลตอบกลับของพฤติกรรมที่ช่วยลดใช้รถยนต์ เป็นการลงทุนทางสังคมที่คุ้มค่า เราทำแบบนี้ก็ได้นะ เมื่อมีคนใช้แนวคิดนี้มากขึ้น เราก็จะลดฝุ่นละออง ลดมลพิษทางอากาศ มันคือการลงทุนระยะยาว การใช้ชีวิตในการปรับพฤติกรรมเพื่อตอบโจทย์แนวคิด คาร์ฟรีเอเวอรี่เดย์ หลังจากเป็นผู้นำแนวความคิด คาร์ฟรีเดย์ หรือ วันปลอดรถมาใช้ตั้งแต่ปี 2543” ศ.กิตติคุณ ดร. ธงชัย กล่าว บทเรียนที่ผ่านมา คนกลับมองแนวคิดดังกล่าวเป็นการรณรงค์ให้คนใช้จักรยาน แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ทั้งหมด เพราะจักรยานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของพฤติกรรมลดการใช้รถเท่านั้น ซึ่งต้องยอมรับเมืองใหญ่ของไทย มีถนนแต่ไม่ได้ใช้เพื่อการสัญจรทั้งหมด บางคนก็ใช้เป็นที่จอดรถ การเพิ่มถนนจึงไม่ใช่การแก้ปัญหารถติด และไม่ช่วยในการลดใช้รถ ใช้ถนนแน่นอน ทางจักรยานก็เช่นกัน หลังสร้างทางจักรยานไม่มีหน่วยงานไปดูเลยว่า ใครใช้ประโยชน์จากมันและบางคนยังยึดเป็นที่จอดรถอยู่ดี ดังนั้น ถ้ามีการส่งเสริมให้ปลอดรถทุกวันเป็นเรื่องที่ดีทำให้ประชาชนเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้นและลดการขับรถยนต์เข้าเมือง ซึ่งช่วยลดภาวะโลกร้อนมลพิษน้อยลง คนป่วยระบบทางเดินหายใจก็น้อยลง ประชาชนก็ไม่ต้องลาป่วย เมืองน่าอยู่ และลดปัญหาจราจรติดขัดในพื้นที่เมืองได้ ประธานชมรมจักรยานฯ ย้ำชัดว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยนั้นเมืองใหญ่เต็มไปด้วยรถรา และถนนหลายที่ก็มีปัญหาจราจรติดขัด แต่อย่างน้อยไทยก็เป็นประเทศอันดับหนึ่งของSouth East Asia ที่มีการเดินเท้าและใช้จักรยานทุกประเภท ตั้งแต่จักรยานใช้งานทั่วไป จนถึงจักรยานที่ใช้เพื่อการกีฬาและวงการผู้คลั่งไคล้จักรยาน ดังนั้น การสนับสนุนให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดใช้รถยนต์อาจทำได้ไม่ยาก อาจจะเริ่มจากสิ่งง่ายๆ ก่อน “...เราไม่ได้ต้องการก่อสร้างเกินตัว เราต้องการสะดวกและปลอดภัย เช่น หันมาทำทางเท้ามากขึ้น ให้เลนรถวิ่งน้อยๆ รถที่ใช้ก็หนุนใช้รถขนาดเล็ก ถนนใดบ้างรถใหญ่วิ่ง รถเล็กวิ่ง ไม่ต้องไปสร้างทางจักรยานเลย ถ้าเราเร่งส่งเสริมทำความเข้าใจตรงนี้ประเทศเราก็จะค่อยๆ เปลี่ยน ผมเสนอเลยว่าทางเดินเท้าที่เดินได้เป็นเรื่องจำเป็นอันดับแรกๆ ให้คนใช้ทางเดินเท้าได้สะดวก ปลอดภัย” ประเทศที่พอจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการส่งเสริมกิจกรรม คาร์ฟรี เอเวอรี่เดย์ และส่งเสริมความปลอดภัย รวมทั้งเห็นความสำคัญของการปั่นจักรยาน เดินเท้า ลดใช้รถ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ค เยอรมัน แต่ประเทศไทย ทวีปเอเชีย ยังไม่มีประเทศใดทำได้ ไม่ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ...ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรม “คาร์ฟรี เอเวอรี่เดย์” ได้ตั้งแต่วันนี้!