เป็นอันว่า “การประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ” หรือ “ยูเอ็นจีอี” ครั้งที่ 72 ประจำปี 2017 (พ.ศ.2560) ในปีนี้ ที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 12 – 25 กันยายน จะไม่มี “ออง ซาน ซูจี” เดินทางไปเข้าร่วมและแสดงปาฐกถาบนโพเดียม ในฐานะที่ดำรงตำแหน่ง “ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา” ควบตำแหน่ง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ” และ “รัฐมนตรีประจำทำเนียบประธานาธิบดี” ของรัฐาบาลเมียนมา เฉกเช่นการประชุมยูเอ็นจีอีเมื่อช่วงปีที่ผ่านมาเป็นแน่แล้ว ตามการประกาศที่ประสานเสียงของสองคู่หูโฆษกประจำทำเนียบประธานาธิบดี ในกรุงเนปิดอว์ อันประกอบด้วยนายซอว์ ฮเตย์ และนายอ่อง ชิน ซึ่งมีถ้อยแถลงอย่างชัดเจน โดยโฆษก “ซอว์ ฮเตย์ “ ระบุว่า “ที่ปรึกษาแห่งรัฐ” อันหมายถึง นางซูจี จะไม่ไปร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ประสานเสียงของโฆษก “อ่อง ชิน” แถลงเสริมว่า อาจเป็นไปได้ว่า นางซูจี มีงานที่ต้องทำเร่งด่วนกว่า พร้อมกันนั้น โฆษก “อ่อง ชิน” ยังคุยโวลั่นว่า “ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมาของเรา ไม่เกรงกลัวในการเผชิญหน้าต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์” ซึ่งในที่นี้หมายถึง เสียงวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบเรื่องวิกฤติโรฮีนจาที่กำลังเป็นประเด็นร้อนของเมียนมา ณ เวลานี้ นั่นเอง ทว่า บรรดานักวิเคราะห์ ล้วนต่างไม่เชื่อในถ้อยแถลงของโฆษกประจำทำเนียบประธานาธิบดีเนปิดอว์ โดยยังเห็นว่า หญิงเหล็กแห่งประชาธิปไตยของเมียนมา มิกล้าเผชิญหน้าต่อเสียงตำหนิวิจารณ์บนเวทีโลก จนต้องโบกมือขอระงับการเดินทางไปเข้าร่วม “ยูเอ็นอีจี 2017” ปีนี้ โดยเมื่อกล่าวถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ถึงขั้น “ประณาม” ก็ต้องบอกว่า “มิบันเบา” ที่นางซูจี จำต้องเผชิญ หากเดินทางออกจากดินแดนที่ครั้งหนึ่งได้ชื่อว่า “ฤาษีแห่งอุษาคเนย์” คือ เมียนมาก่อนเปิดประเทศ ไปร่วมการประชุมยังเวทีโลก เพราะถึงขนาดชี้หน้าปักโทษต่อทางการเมียนมากันทีเดียวเชียวว่า “กำลังฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ชนกลุ่มน้อยชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ พร้อมกันนั้น นางซูจี ก็ได้กลายเป็นสภาพ “หมู่บ้านกระสุนตก” ที่บรรดาองค์การระหว่างประเทศ และนานาชาติ ส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตำหนิเชิงลบต่อนางซูจีกันอย่างเจื้อยแจ้ว ถึงขนาดเรียกร้องให้ “เรียกคืน” หรือ “ริบ” รางวัล “โนเบลสาขาสันติภาพ” ที่เธอได้รับมาเมื่อปี 2534 กันก็มี ก่อนกระตุกกระตุ้นเตือนให้หญิงเหล็กสัญลักษณ์แห่งประชาธิปไตยของเมียนมารายนี้ เร่งขยับปรับทัพทำอะไรกันเสียบ้าง เพื่อให้ไฟวิกฤติความรุนแรงที่มีต่อชนกลุ่มน้อยโรฮีนจาในรัฐยะไข่ที่กำลังลุกโชนคลี่คลาย ไม่เว้นกระทั่ง ระดับ “เลขาธิการสหประชาชาติ” อย่าง “นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส” เอ่ยปากร่วมเรียกร้องด้วยว่า เหลือโอกาสุดท้ายที่นางซูจี ยับยั้งต่อทางกองทัพ ใช้กำลังทหาร แสดงความรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อยโรฮีนจา จนเป็นเหตุชนกลุ่มน้อยดังกล่าว จำนวนนับแสนต้องอพยพออกจากประเทศ ทั้งนี้ มีรายงานจากหน่วยงานของทางยูเอ็นด้วยว่า มีชาวโรฮีนจาอพยพหลบหนีทิ้งบ้านเรือนในเมียนมาไปบังกลาเทศแล้วกว่า 4 แสนคน อย่างไรก็ตาม เหล่านักวิเคราะห์ก็แสดงทรรศนะว่า มิใช่เรื่องง่ายเช่นกันที่นางซูจี จะไปสั่งการให้กองทัพยุติการใช้กำลังข้างต้น เพราะเมื่อเอ่ยถึงนางซูจีในหมู่กองทัพแล้ว บอกได้เลยว่า ไม่สามารถไปควบคุมใดๆ ได้ โดยบรรดาทหารหาญของ “ตั๊ดม่ะดอว์” เหล่านั้น หาเชื่อฟังเธอ หรือไว้วางใจเธอไม่ ทว่า บรรดานักวิเคราะห์ ก็แสดงทรรศนะด้วยว่า แต่การที่นางซูจี ปฏิเสธที่จะประณาม แถมยังทำนิ่งเฉยต่อปฏิบัติการต่างๆ ของทหาในกองทัพ “ตั๊ดม่ะดอว์” เยี่ยงนี้ ก็ไม่ผิดอะไรกับการเสริมสร้างเกราะกำบังทางการเมืองให้แก่ทหารหาญ เหล่านายพลไปโดยปริยาย พร้อมกับสร้างความผิดหวังให้แก่ทั้งยูเอ็นและนานาชาติ โดยเฉพาะมหาอำนาจตะวันตก โดยเมื่อว่าถึงอาการ ก็ต้องบอกว่า ทั้งยูเอ็นและนานาชาติ ตลอดจนมหาอำนาจตะวันตกเหล่านั้น เกิดอาการ “รักมาก ผิดหวังมาก” ทำนองนั้น จากการที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้ดำเนินการเป็นประการต่างๆ ทั้งไม้นวม ไม้แข็ง เพื่อให้หญิงเหล็กสัญลักษณ์แห่งประชาธิปไตยของเมียนมารายนี้ ได้รับอิสรภาพจากการถูกคุมขังไว้ในบ้านพัก ตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 พร้อมกับคำยกย่องสรรเสริญว่า ไม่ต่างอะไรจาก “เนลสัน แมนเดลา” ของแอฟริกาใต้อย่างไรอย่างนั้น แต่ปรากฏว่า นับตั้งแต่นางซูจีก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำทางการเมืองในเมียนมา กลับไม่ได้ทำการใดๆ ในอันที่จะทำให้สถานการณ์ความรุนแรงระหว่างชนต่างเผ่าในเมียนมาคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าเมื่อเกิดเหตุรุนแรงครั้งไหนๆ ก็ตาม กล่าวถึงสถานการณ์ในรัฐยะไข่ ก็ ยังคงตะลุมบอน รอนราญ กันไม่หยุด ระหว่างกองทัพรัฐบาลเมียนมา กับ “กองทัพปลดปล่อยอาระกันโรฮีนจา” หรือ “เออาร์เอสเอ” หรือ “อาร์ซา” จนลามเลยไปสู่ความรุนแรงในหมู่พลเรือนมุสลิมโรฮีนจา จนนับเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์แดนเมียนมา นับแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา