นักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย ขุดพบเตาเผาโบราณในแหล่งโบราณคดีบึงวัดป่าเมืองพิจิตร จากการเปิดเผย นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย ได้ดำเนินโครงการโบราณคดีภาคเหนือตอนล่าง : ศึกษาแหล่งเตาบึงวัดป่า ตำบลท่านั่ง อำเภอโพทะเล จ.พิจิตร ระยะที่ 1 ได้ข้อมูลในบริเวณพื้นที่บึงวัดป่า เป็นแหล่งที่ตั้งของกลุ่มเตาเผาโบราณจำนวนมากกว่า 5 เตา โดยเป็นแหล่งเตาในสมัยสุโขทัย ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19-20 ซึ่งผลิตภาชนะประเภทไหเนื้อแกร่งเป็นส่วนใหญ่ มีทั้งแบบเคลือบสีน้ำตาลและแบบไม่เคลือบผิว สภาพทั่วไปของเตาที่พบมีลักษณะเป็นเตาระบายความร้อนแบบแนวนอน เตามีหลังคาโค้งรีคล้ายประทุนเรือ ก่อด้วยดิน ผนังเตามีคราบซิลิก้าละลายติดอยู่ วางตัวตามแนวแกนทิศเหนือ - ใต้ มีสภาพไม่สมบูรณ์ทั้งหมด อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวอีกว่า เพื่อทำการศึกษาแหล่งเตาในเขตภาคเหนือตอนล่างอย่างต่อเนื่อง สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย จึงดำเนินงานในระยะที่ 2 โดยขุดค้นทางโบราณคดีในส่วนเตาเผานพเก้าว์ ซึ่งอยู่ในพื้นที่แหล่งโบราณคดีเตาบึงวัดป่า มีลักษณะเป็นเตาระบายความร้อนแบบแนวนอน หรือเตาประทุน แผนผังรูปทรงรี วางตัวลาดเอียงประมาณ 10-30 องศา เตาตั้งอยู่ในแนวแกนทิศตะวันออกเฉียงเหนือ – ตะวันตกเฉียงใต้ มีขนาดความยาว 6.50 เมตร ส่วนกว้างที่สุดประมาณ 2.50 เมตร โครงสร้างเตาเป็นดินเหนียว ทั้งนี้ได้พบกับความน่าทึ่งคือเตามีสภาพสมบูรณ์ ซึ่งถือเป็นเตาดินที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย กำหนดอายุสมัยเบื้องต้นอยู่ในสมัยสุโขทัย มีอายุประมาณ 700 ปี โครงสร้างเตาเป็นดินเหนียว ภายในเตาแบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.ห้องใส่ไฟ ซึ่งอยู่ลึกจากระดับผิวดินปัจจุบัน 200 ซม. ภายในมีช่องใส่ไฟสำหรับเติมเชื้อเพลิงและเป็นทางเข้าเพื่อลำเลียงภาชนะ 2.ห้องบรรจุภาชนะ อยู่บริเวณตอนกลางของเตา มีคันกั้นไฟหรือผนังกั้นไฟ และ3.ปล่องไฟ ลักษณะเป็นรูปวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 70 ซม. ไม่พบร่องรอยภาชนะบรรจุอยู่ในเตา แต่พบร่องรอยการให้ความร้อนกับเตาอย่างต่อเนื่อง โดยปรากฏเป็นชั้นดินเผาไฟและเศษถ่านที่หนาแน่นอยู่ภายในเตา ขณะที่บริเวณรอบๆ ช่องใส่ไฟ พบเศษภาชนะดินเผาประเภทเนื้อดิน เนื้อแกร่ง และเครื่องถ้วยจีนปะปนอยู่ในชั้นดินจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้ได้มอบหมายให้มีการศึกษาโครงสร้างเตาและหลักฐานต่างๆ ที่พบ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น “สำหรับแผนการดำเนินงานหลังจากนี้ จะจัดทำหลังคาคลุมเตาเพื่อรักษาสภาพและป้องกันการชำรุดที่เกิดจากสภาพแวดล้อม จะแล้วเสร็จในปีงบประมาณ2564 ซึ่งผลสรุปจากการศึกษาในครั้งนี้จะเป็นส่วนเติมเต็มให้กับองค์ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง และข้อมูลด้านแหล่งเตาภาชนะดินเผาสมัยโบราณของประเทศไทย ทั้งนี้กรมศิลปากรมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการให้ความร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นและชุมชนในการพัฒนาแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ และอาจพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของชุมชนต่อไป” นายประทีป อธิบดีกรมศิลป์ กล่าว