วารินทร์ พรหมคุณ
สพฐ.เริ่มปฏิบัติการ"ประเทศไทยไร้ขยะ" ขับเคลื่อนพร้อมกันทั้งองคาพยพ
"สพฐ.ได้เริ่มสร้างความตระหนัก สร้างจิตสำนึกการลดใช้พลังงาน จัดการขยะ และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่หน่วยงานในสังกัด ตั้งแต่ 2ปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างจิตสำนึกและความตระหนักให้กับครู นักเรียน รวมถึงผู้บริหาร ดังนั้น เมื่อสร้างสิ่งเหล่านี้แล้วต่อไปก็ต้องนำไปสู่การปฏิบัติ โดยต้องมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน ซึ่งอาจจะเป็นลักษณะงบประมาณแลกเป้า โดยเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตจะต้องลดการจัดกิจกรรม แต่เน้นการปฏิบัติตามบริบทของโรงเรียน และตั้งเป้าหมายไว้ว่าในปี 2561จะเป็น "ปีแห่งการปฏิบัติ" โรงเรียนของ สพฐ.ทุกแห่งต้องไร้ขยะ" นายบุญรักษ์ ยอดเพชร รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) รักษาราชการเลขาธิการ กพฐ. ประกาศอย่างเป็นทางการ ในการเปิดงานเสวนาหัวข้อ "ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สู่การปฏิบัติการ ประเทศไทยไร้ขยะ" เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการจัดการขยะในสถานศึกษาสู่การปฏิบัติที่ยั่งยืน สู่ระดับภูมิภาคและขานรับนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ...ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 5ว่าด้วยการจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิต ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สู่การปฏิบัติการ "ประเทศไทยไร้ขยะ" ปักธงรุก 2560 "Set Zero Waste School" จัดโดย สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่โรงแรมเอวาน่า กรุงเทพฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยมีวิทยากรที่เป็นผู้ปฏิบัติในพื้นที่มาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิด ปัญหาขยะ...เป็นปัญหาสำคัญ ที่ทุกคน ทุกหน่วยงานต้องร่วมกันรับผิดชอบ เริ่มจากการสร้างวินัย การปลูกฝังการบอกกล่าวชี้แนะ และรู้วิธีการกำจัดขยะที่ถูกต้อง เพื่อให้ทุกคนได้รับรู้ และนำไปปฏิบัติ เพื่อให้ขยะลดน้อยลง โรงเรียน ชุมชน รวมไปถึงหน่วยงานระดับท้องถิ่นต่าง ๆ ต้องร่วมมือกันในการบริหารจัดการ การสร้างวินัยให้กับทุกคน รวมถึงการสร้างการรับรู้การคัดแยกขยะ การจำกัดขยะที่ถูกต้อง เช่นการใช้กุศโลบาย "ขยะแลกไข่" รร.วัดท่ามะปราง ผอ.สันติ คงศิลป์ รร.วัดท่ามะปราง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) สระบุรี เขต 2 กล่าวว่าโรงเรียนเป็นองค์กรหนึ่งที่มีปัญหาขยะ โดยสิ่งที่พบในโรงเรียนมากที่สุดคือ ถุงพลาสติก ถุงนม โรงเรียนตระหนักถึงปัญหานี้จึงพยายามคิดหาวิธีจำกัดขยะเหล่านี้ แบบไม่ต้องเสียเงิน ภายใต้โครงการ"ขยะแลกไข่" คือ ให้นักเรียนนำขยะจากบ้าน ชุมชน หรือจากห้องเรียนมาล้างทำความสะอาด ตากให้แห้ง แล้วนำมาแลกไข่ โดยถุงแกง 20ใบแลกไข่ได้ 1ฟอง ทางโรงเรียนจะรวบรวมขยะที่นักเรียนนำมาแลกไข่ไว้ เมื่อถึงสิ้นเดือนทุกเดือน จะมีผู้รับซื้อมาซื้อขยะส่งโรงงานนำไปย่อยสลาย "ต้องยอมรับว่าทุกที่ ทุกชุมชน มีปัญหาเรื่องขยะกันมาก โดยเฉพาะขยะถุงพลาสติก แต่ยังไม่ค่อยมีใครเห็นคุณค่าของถุงพลาสติกที่ใช้แล้ว แต่ถ้าทุกคนมีความตระหนักร่วมมือกันอย่างจริงจัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องทำอย่างจริงจัง โดยมีนักเรียนเป็นตัวขับเคลื่อน ขณะที่โรงเรียนก็จัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ ทำกันแบบยั่งยืน สร้างจิตสำนึก 3Rได้แก่ Reduce ลดการใช้, Reuse การใช้ซ้ำ, Recycle แปรรูปนำกลับมาใช้ใหม่ โดยผ่านกระบวนการแปรรูปให้แก่นักเรียน เชื่อได้ว่าขยะในทุกพื้นที่จะลดน้อยลง และจะไม่มีปัญหาตามมาแน่นอน เพราะฉะนั้นขอฝากถึงนักเรียนทุกคนให้ ปฏิบัติต่อไปทำตามที่คุณครูชี้แนะ และทำต่อไปเรื่อย ๆ ลดความมักง่าย ขยะก็จะลดลงได้" ด้าน ผอ.ประภาภรณ์ ศรีแพทย์ รอง ผอ.สพป.สมุทรปราการ เขต 1ในฐานะที่เขตพื้นที่ฯ เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนนโยบายของ ศธ. ทางเขตพื้นที่ฯ ก็มีนโยบายที่ชัดเจน มีแผนและมีการติดตามประเมินผล และต้องสามารถแนะนำวิธีการที่จะสร้างจิตสำนึกให้แก่นักเรียนว่า "ประเทศไทยไร้ขยะ ต้องเริ่มต้นจากนักเรียน" โดยโรงเรียนก็ต้องมีวิธีการสร้างความเข้าใจกับนักเรียนเรื่องการลดปริมาณขยะ การคัดแยกขยะ การใช้ประโยชน์จากขยะ โดยทำให้เกิดเป็นนิสัยตั้งแต่อยู่ในโรงเรียน และสามารถนำไปเผยแพร่ ทั้งนี้ นายวัชระ เติมวรรธนภัทร์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)ทรงคนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ผู้แทนการปกครองท้องถิ่น มองว่าปัญหาปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้น เกิดจากทุกครอบครัว ซึ่งในส่วนของการบริหารการจำกัดขยะนั้น แต่ละท้องถิ่นมีการดูแลจัดการกันอยู่แล้ว ยกตัวอย่าง จ.สมุทรปราการ สมัยก่อนใช้วิธีฝังกลบ แต่ก็ยังไม่สามารถย่อยสลายขยะได้ในเวลาอันรวดเร็ว ปริมาณขยะยังเพิ่มมากขึ้นกองเป็นภูเขา และสะสมจนเกิดปัญหาเป็นมลภาวะ "วิธีการจัดการกับปัญหาทุกคนต้องร่วมมือกัน ต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ โดยเริ่มจากการลดปริมาณขยะ คัดแยกประเภทขยะก่อนทิ้ง แล้วทิ้งในถัง หรือถุงขยะที่กำหนดเป็นสีไว้ ซึ่งถ้าทำตามนี้ได้ขยะจะลดน้อยลงแน่นอน แต่ปัญหาคือการคัดแยกขยะยังไม่ได้ผลโดยเฉพาะถุงพลาสติก ดังนั้น หากทุกคนรู้จักการคัดแยกขยะ ก็เชื่อว่าจะสามารถลดปริมาณขยะของประเทศได้" นายก อบต.ทรงคนอง กล่าว ...ปัญหาขยะเกิดจากเราทุกคน ฉะนั้นต้องร่วมกันรับผิดชอบ โดยพีงตระหนักอยู่เสมอว่าต้องช่วยกันลดปริมาณขยะ และที่สำคัญต้องแยกทิ้งให้ถูกที่ถูกทาง -----------------------