วันที่ 24 ก.ย. 60ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงข้อกังวลที่หากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตีตกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. หลังพ้นกรอบการทำงานของ กรธ. ไปแล้ว 240 วัน โดยย้ำว่า กรธ. จะต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่จนกว่ากฎหมายลูกทั้งหมดมีผลบังคับใช้ และหาก สนช. ตีตกร่างกฎหมายดังกล่าว กรธ.ก็จะนำประเด็นที่ สนช. ไม่เห็นด้วยมาปรับแก้ โดยไม่จำเป็นต้องยกร่างขึ้นใหม่ เว้นแต่ว่าแก้แล้วจะไม่ถูกใจสนช.ด้วยกันเอง นายมีชัย ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้ง 10 ฉบับ ว่าขณะนี้เสร็จสิ้นเกือบทั้งหมดแล้ว เหลือเพียง 3 ฉบับ เท่านั้น คือ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ที่กรธ.กำลังพิจารณาอยู่ และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. ซึ่งกรธ.จะต้องใช้เวลาในการพิจารณา ไม่สามารถทำลวกๆได้ พร้อมยืนยันว่า ไม่ว่าอย่างไร กรธ.ก็จะต้องรีบดำเนินการให้เสร็จสิ้น หากไม่ทันก็จะต้องนัดประชุมเพิ่มวันเสาร์ และวันอาทิตย์ ส่วนความเป็นไปได้ที่จะเชิญ สนช. เข้ามาร่วมพิจารณากฎหมายกับกรธ. เพื่อลดขั้นตอนการตั้งกรรมาธิการร่วม หลังกฎหมายผ่านวาระ 3 จาก สนช.นั้น นายมีชัย ระบุว่า โดยปกติสนช.จะพิจารณาคู่ขนานกับกรธ.อยู่แล้ว เมื่อเสร็จสิ้นก็จะมีการส่งความเห็นมายังกรธ. ส่วนความคืบหน้าการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยป.ป.ช. ในประเด็น สถานะการคงอยู่ ป.ป.ช. นายมีชัย กล่าวว่า ยังไม่มีการพูดถึง ส่วนเมื่อคราวประชุมนอกสถานที่ต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา กรธ.มีแนวทางรีเซต กรรมการ ป.ป.ช. ที่ขาดคุณสมบัติพ้นจากตำแหน่ง จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรหรือไม่นั้น เบื้องต้นยังคงยืนยันจุดยืนเดิม หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ส่วนกรณีที่ พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ยอมรับว่าอยากให้ ป.ป.ช. อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อจนครบวาระ เพราะป.ป.ช.มีลักษณะการทำงานพิเศษ ต้องใช้บุคคลที่มีความสามารถนั้น นายมีชัย ยืนยันว่าต้องทำตามหลักการเดิม เว้นแต่จะมีกรณีพิเศษอย่าง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่กรธ.เสนอให้เซตซีโร่ทั้งคณะ