ITPC จัดเสวนา “Smart City with Smart Governance” ดึงรัฐ-เอกชน แชร์แนวคิดเปลี่ยนแปลงประเทศ รับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ชูจุดมุ่งหมายเมืองต้นแบบอัจฉริยะ เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2560 ที่ผ่านมา ที่อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพคเมืองทองธานี ในงาน “ดิจิทัล ไทยแลนด์ บิ๊กแบง 2017” ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ (ITPC) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงานเสวนา เรื่อง “Smart City with Smart Governance” ซึ่งได้รับเกียรติจาก “พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม (ดีอี) เป็นประธานกล่าวเปิดงานเสวนาในครั้งนี้ พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงเทคโนโลยีทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ได้แก่ “ดร.ครรชิต มาลัยวงศ์” ราชบัณฑิต สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ และนายกสภา มหาวิทยาลัยศรีปทุม และประธานชมรมส่งเสริมธรรมาภิบาล และความรับผิดชอบต่อเทคโนโลยีดิจิทัลไทย (NaDGA) , “พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ “ดร.จุมพต ภูริทัตกุล” หัวหน้าคณะผู้บริหาร ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด “พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์” รมว.กระทรวงดีอี กล่าวในงานเสวนาฯว่า วิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีในขณะนี้ มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องรีบตามให้ทันความเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ชัดเจนคือตัวเทคโนโลยีไปเร็วเท่าใด คนเราต้องปรับตัวตลอดเวลาให้ทันสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่ใช้อยู่เทคโนโลยีที่เข้ามาเกี่ยวเนื่อง จึงเป็นเรื่องรองลงมา สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความพร้อมในเรื่องคุณภาพคน ถือเป็นเรื่องสำคัญ การรู้เท่าทันเทคโนโลยีต้องรู้ได้กว้างกว่าที่ตัวเองรู้อยู่ ให้ดิจิทัลเข้าไปมีส่วนสำคัญกับการดำรงชีวิต ดังนั้น ทุกภาคอุตสาหกรรมต้องใช้เทคโนโลยีเอาภาครัฐมาร่วมมือกับการทำงานของเอกชนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันข่าวสารด้านดิจิทัลน้อยเกินไป ดังนั้นทั้ง 2 ฝ่ายต้องร่วมกัน โดยเฉพาะประเด็นข่าวที่สื่อมวลชนต้องให้ความสนใจ สิ่งที่ตนเป็นห่วงคือสื่อมวลชน เพราะหลายธุรกิจอุตสาหกรรมมีผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ดังนั้นสื่อมวลชนต้องศึกษาพฤติกรรมการบริโภคข่าวสารที่กำลังเปลี่ยนแปลง ต้องหาไอเดียมาใช้ร่วมกันกับการรายงานข่าวปัจจุบัน ซึ่งผู้บริโภคเสพข่าวจากที่ใดก็ได้ จะเห็นว่ามีการปิดสำนักพิมพ์ และสิ่งสำคัญคือจะปรับบทบาทอย่างไรให้สื่อมวลชนที่เป็นปัจจัยสำคัญให้อยู่ได้อย่างยั่งยืนได้อย่างไร “ดร.ครรชิต มาลัยวงศ์” ราชบัณฑิต สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ และนายกสภา มหาวิทยาลัยศรีปทุม และประธานชมรมส่งเสริมธรรมาภิบาล และความรับผิดชอบต่อเทคโนโลยีดิจิทัลไทย (NaDGA) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่จะเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่จะต้องนำไปสู่การใช้งานเทคโนโลยีและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต อยากให้ทุกคนเข้าใจก่อนที่จะไปสนใจเรื่องการเข้าถึงของเทคโนโลยี ซึ่งเป็นกับดักทางด้านความคิด แต่กับดักที่แท้จริงนั้นคือ การที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ไทย แลนด์ 4.0 ดังนั้นอยากให้มองว่าการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน จะต้องมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ทันที และต้องมีเอกภาพด้านเป้าหมายและวัตถุประสงค์ และแนวทางดำเนินงานร่วมกัน โดยภาคเอกชนจะต้องมีความจริงใจในเรื่องความการร่วมมือกับภาครัฐ ทั้งนี้ความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน จะต้องดำเนินการตามกฏหมายไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นพิเศษ คำนึงถึงประโยชน์สังคมและประเทศเป็นหลัก ซึ่งหากภาคเอกชนและภาครัฐไม่ร่วมมือกันประเทศจะขับเคลื่อนไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะนำพาประเทศไปสู่ต้นแบบเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ท ซิตี้) “พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรอบนโยบายที่จะมุ่งสู่ไทยแลนด์ 4.0 นั้น ต้องพัฒนาคนให้มีรายได้อย่างยั่งยืน ผ่านการใช้งานเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มรายได้ ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐและเอกชนได้ร่วมมือกันอยู่มาอย่างต่อเนื่อง โดยการพัฒนาประเทศนั้นควรมีการดำเนินงานในรูปแบบสร้างระบบนิเวศของอุตสาหกรรม (อีโค ซิสเต็มส์) ผลักดันให้เกิดการสร้างสรรเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดเทคโนโลยีที่สร้างให้เกิดกิจกรรมโดยรวม และสร้างให้เกิดการใช้งานจริง สู่การพัฒนาและสร้างเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ เช่น โครงการดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์ ที่ จ.ชลบุรี นั้น ต้องการให้เกิดการลงทุนของทุกกลุ่มอุตสาหกรรมเกิดนักพัฒนาหน้าใหม่ มีการบ่มเพาะความคิด จากเหล่าสตาร์ทอัพ และเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้กับประเทศ สำหรับการนำเข้าอุปกรณ์ไอที อุปกรณ์ต่างๆ มาใช้ในประเทศไทย ภาครัฐควรจะสนับสนุน จะต้องดูว่าภาครัฐจะต้องดำเนินการอย่างไรให้เกิดระบบนิเวศของอุตสาหกรรมดังกล่าว เกิดการสร้างคน สร้างการลงทุนให้เกิดเทคโนโลยีขึ้นมา ดังนั้น การดำเนินการของภาคเอกชนถือว่าได้ดำเนินการไปไกลระดับหนึ่งแล้ว ดังนั้น รัฐบาลควรผลักดันให้เกิดการใช้งานได้จริง สร้างนวัตกรรมจากธุรกิจให้เกิดขึ้นได้จริงจากเทคโนโลยี และสอดคล้องกับความต้องการของทุกอุตสาหกรรม ด้าน“ดร.จุมพต ภูริทัตกุล” หัวหน้าคณะผู้บริหาร ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หัวเว่ยมีข้อเสนอและแนวความคิด ที่จะช่วยประเทศไทยพัฒนาไปสู่เมืองอัจฉริยะ โดยจะต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 4 ด้าน คือ 1.การเชื่อมต่อของเทคโนโลยีต้องมีการพัฒนาในรูปแบบโซลูชั่นแบบครบวงจร 2. การเชื่อมต่ออุปกรณ์อัจฉริยะ (สมาร์ท ดีไวซ์) กับอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที) 3.ดาต้าเซ็นเตอร์ และ 4.แอพพลิเคชั่น ซึ่งจะต้องเป็นความร่วมมือกันในทุกภาคส่วน จะต้องพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกันสนับสนุนสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ที่แท้จริง "การทำให้ประชาชนเข้าถึงการสมาร์ทซิตี้ ควรดูที่เป้าหมายตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จะต้องพัฒนาให้พ้นกับดักรายได้ปานกลาง นำไปสู่รายได้สูงของค่าเฉลี่ยรายได้ต่อประชากร และต้องทำให้เกิดการรับรู้ในแต่ละช่วงอายุ ให้เข้าถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีหัวเว่ย ที่มีความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน การเป็นเมืองอัจฉริยะสามารถทำได้หลายแนวทาง"