“คนในพื้นที่ไม่ได้คิดถึงเรื่องของการเลือกตั้ง แต่คิดว่ารัฐบาลชุดนี้สามารถแก้ปัญหาได้ ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมาทำไม่ได้ เราทำงานด้วยความตั้งใจมากกว่าการเอาใจใคร เราทำงานด้วยความเข้าถึง มากกว่ากังวลเรื่องของคะแนนเสียง เราเข้าถึงความเดือดร้อนของประชาชน” “ภาณุ อุทัยรัตน์” สะท้อนสถานการณ์ “ไฟใต้” ปลุกประชาชน “เชื่อมั่น เชื่อใจ ร่วมมือ” สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน หลายคนอาจรู้สึกชินชา และดูเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจนไม่สามารถแก้ปัญหาได้ อาจเป็นเพราะบางคนไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ แต่สำหรับคนในพื้นที่หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบนั้น ความสูญเสียในแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นย่อมเป็นบาดแผลที่ยังคงปวดร้าวในใจอยู่ตลอดเวลา ภายใต้สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ที่ดูเหมือนจะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ ในทางกลับกันหากลองศึกษาดีๆ แล้วนั้น จะพบว่าในแต่ละพื้นที่มีความเปลี่ยนแปลง และพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ หรือแม้แต่การแก้ไขปัญหาต่างๆ วันนี้ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์”จะพาไปพูดคุยถึงการแก้ปัญหากับผู้ที่คลุกคลีและมีความเข้าใจสถานการณ์ไฟใต้อย่างมาก คนหนึ่ง นั่นคือ “ภาณุ อุทัยรัตน์” สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และอดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ๐ สถานการณ์ภาพรวมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ในปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง และทางภาครัฐมีแนวทางการดำเนินการอย่างไร การดำเนินการของภาครัฐต่อการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาชายแดนภาคใต้ ถือเป็นวาระแห่งชาติ อยู่ในนโยบายของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาอย่างมาก โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นคนที่ให้ความสำคัญกับปัญหาชายแดนใต้ ผมได้มีโอกาสอ่านแนวนโยบายข้อสั่งการตั้งแต่เมื่อครั้งที่ท่านยังดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งข้อสั่งการต่างๆ ยังไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องงานด้านการข่าว และการเฝ้าระวัง การสร้างความปลอดภัยให้ประชาชนในพื้นที่ ยังอยู่ในขั้นที่ต้องปรับปรุง ส่วนเรื่องที่ถือว่ามีความก้าวหน้า คือเรื่องเอกภาพในการดำเนินการ มีการบูรณาการงานของกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ทั้งภาคการพัฒนา และงานด้านความมั่นคง ถือว่ามีความพัฒนา มีการปรับปรุงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยรัฐบาลชุดนี้ได้มีการกำหนดทิศทาง ให้น้ำหนักกับการพัฒนาอย่างมาก มีฝ่ายนโยบาย ฝ่ายอำนวยการ และฝ่ายปฏิบัติการ สำหรับการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะเห็นว่าอยู่ในภาวะที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกของประชาชน เราต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ เพราะเมื่อมีสถานการณ์ หรือเหตุการณ์ความไม่สงบในหลายๆ ครั้ง ประชาชนก็จะคิดว่ามันยังไม่ดีขึ้น มันยังมีระเบิด มีการบาดเจ็บล้มตาย และคิดว่าการแก้ปัญหายังผิดทางอยู่ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่เป็นเรื่องที่เราไม่สามารถแก้ได้ในทันที แต่ฝ่ายผู้ดำเนินการต้องยอมรับว่านั่นคือเป้าหมายที่เราจะต้องไปให้ถึงโดยเร็ว แต่บางทีประชาชนเองยังขาดความเชื่อมั่นในเรื่องเหล่านี้ ผมในฐานะผู้ปฏิบัติงาน อยากให้ประชาชนได้เชื่อมั่น มั่นใจและให้ความร่วมมือ เพื่อให้ทุกอย่างดีขึ้น เพียงแค่ต้องรอเวลา การมีส่วนร่วมทางการข่าว ที่สำคัญคือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และภาคประชาชน ทุกฝ่ายกำลังดำเนินการ สถานการณ์โดยรวม รัฐบาลขอให้ประชาชนมั่นใจว่าเรามีแนวทางในการปฏิบัติงานที่มั่นใจว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้อง การดำเนินการ เรามีเจ้าภาพชัดเจน ตามลำดับขั้นตอน สามารถก้าวหน้าได้หลายอย่าง ประชาชนมีความมั่นใจในความปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงนักลงทุนก็กล้าเข้าไปลงทุน ทำให้ประชาชนเกิดอาชีพ และมีรายได้มากขึ้น ๐ เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ หรือแม้แต่เหตุการณ์ลอบวางระเบิดที่อ.กาบัง จ.ยะลา ส่งให้ผลเราต้องสูญเสียเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร และมีเจ้าหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บหลายสิบนาย เหตุการณ์ดังกล่าว บอกอะไรเราได้บ้าง หากพิจารณาจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ตั้งแต่ต้นปี 2560 อย่างเหตุการณ์ระเบิดที่บิ๊กซี จ.ปัตตานี เราสามารถจับตัวคนร้ายได้ เขารับสารภาพ และรู้ที่ไปที่มา จนเกิดเป็นเกิด “เกาะเปาะโมเดล” คือการใช้เงื่อนไขทางศาสนา ความเกรงกลัวต่อบาป ทำให้กล้าพูดความจริง กล้าแจ้งเบาะแส ทำให้เราสามารถระงับเหตุได้ หรือเมื่อเกิดเหตุเราสามารถตามจับตัวคนร้ายได้ นอกจากนี้ยังรวมถึงการระเบิดหลายครั้งต่อมา แม้กระทั่งการปล้นเต็นท์รถที่ อ.นาทวี จ.สงขลา เราก็สามารถจับคนร้ายได้ ขั้นตอนทั้งหมดเป็นเรื่องของการทำงาน อาทิ กล้องวงจรปิดที่จับภาพได้ ที่สำคัญคือความร่วมมือจากประชาชนในการแจ้งเบาะแส การทำงานอย่างจริงจังของฝ่ายบ้านเมือง แต่ที่เน้นย้ำคือความร่วมมือจากประชาชนที่ร่วมกันแจ้งเบาะแส ๐ ความคืบหน้าของการเจรจาสร้างสันติสุข วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง เราต้องชะลอไว้ก่อนหรือไม่และเป็นเพราะสาเหตุใด งานด้านการพูดคุยสร้างสันติสุข รัฐบาลไม่ได้ผูกขาดการพูดคุยกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่เราคุยทุกฝ่าย วันนี้ได้เสียงตอบรับ เราใช้สันติวิธี ดำเนินการทั้งหมด 3 ส่วน คือ 1.การพูดคุยกับผู้เห็นต่างที่อยู่นอกพื้นที่ เช่น การพูดคุยกับทางมาราปาตานี และกลุ่มอื่นๆ 2.การสื่อสัมพันธ์ออกไป ในภาคประชาสังคม ว่าทางรัฐเองเราคิดว่าการใช้สันติวิธีเป็นวิธีการที่ถูกต้อง และ 3.การพูดคุยในส่วนของเวทีพื้นที่ คือ ตำบล และหมู่บ้าน โดยให้มีการบอกกล่าวกับพี่น้องประชาชนว่า เราเองจะยึดวิธีการในการที่จะพูดคุยทำความเข้าใจกัน ใครมีปัญหาเดือดร้อน รัฐจะต้องช่วยเหลือ ซึ่งประชาชนในพื้นที่ไม่อยากให้มีความรุนแรงเกิดขึ้น เท่ากับว่าประชาชนปฏิเสธผู้ก่อเหตุรุนแรง ดังนั้นการหันกลับมาให้ความร่วมมือจึงเป็นส่วนสำคัญ อย่างโครงการพาคนกลับบ้าน มองในแง่ที่ได้ผล ถือเป็นการลดกำลังของฝ่ายเห็นต่าง และเป็นการให้โอกาสผู้ที่เห็นต่าง และต้องการกลับมา แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนบางส่วน อาจเป็นเพราะเขาไปรับกระแสของฝ่ายตรงข้ามที่ต้องการให้เลิกล้มโครงการดังกล่าว ซึ่งตัวโครงการก็มีปัญหาและอุปสรรคบ้าง เช่น คนที่เข้าโครงการเขามาแต่ตัว แต่ใจไม่มา หรือบางทีอาจเป็นพวกหนอนบ่อนไส้ แต่วันนี้ระบบการกรองบุคคลก็ถือว่าดีขึ้น วันนี้การสร้างความเข้าใจ หรือที่เรียกว่าการสร้างการรับรู้กับประชาชน เป็นเรื่องที่สำคัญที่ทางฝ่ายราชการจะต้องปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ภาครัฐจำนวนกว่า 50,000 คน จำเป็นต้องกระจายข่าวสารข้อมูล สร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนให้ดีขึ้น ขณะเดียวกันอะไรที่เป็นปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ต้องส่งผ่านมาเพื่อนำไปสู่การแก้ไข ดังนั้นเจ้าหน้าที่รัฐจะเป็นตัวสำคัญในการสร้างความรับรู้ และความเข้าใจให้คนอีกกว่า 1 ล้าน 8 แสนคน ในพื้นที่ชายแดนใต้เข้าใจให้ได้ ว่าเราสามารถที่จะมีความร่วมมือกันเพื่อสร้างสันติสุข กลับมารักกันให้เหมือนเดิมให้ได้ ๐ ล่าสุดอาบูอาฟิช โฆษกมาราปานี ออกแถลงการณ์กับสื่อมวลชนไทย ยืนยันเดินหน้าเรืองการพูดคุยสันติภาพต่อไป และคาดว่าจะมีขึ้นในปลายเดือนก.ย. มองว่าการพูดคุยหลังจากที่เพิ่งเกิดเหตุการณ์ในพื้นที่ จ.ยะลา คาดว่าในโอกาสนี้ น่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นหรือไม่ ถ้าถามว่าเหตุการณ์จะดีขึ้นไหม เราดูได้หลังจากเกิดเหตุเราสามารถจับกุมคนร้ายได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งมีการแจ้งเตือนกันไว้ก่อน ทำให้หลังเกิดเหตุการณ์มีความสูญเสียลดลงในระดับหนึ่ง ทั้งหมดเกิดจากการที่ประชาชนร่วมมือกัน ถือว่าต่างจากในอดีตที่เราไม่สามารถทำอะไรได้เลย ๐ วันนี้ขณะที่หลายคนกำลังสนใจว่า จะมีการเลือกตั้งหรือไม่ และเมื่อใด แต่ขณะเดียวกันต้องหันไปโฟกัสเรื่องสถานการณ์ปัญหาไฟใต้ ให้มากขึ้นด้วยหรือไม่ คนในพื้นที่ไม่ได้คิดถึงเรื่องของการเลือกตั้ง แต่คิดว่ารัฐบาลชุดนี้สามารถแก้ปัญหาได้ ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมาทำไม่ได้ เราทำงานด้วยความตั้งใจมากกว่าการเอาใจใคร เราทำงานด้วยความเข้าถึง มากกว่ากังวลเรื่องของคะแนนเสียง เราเข้าถึงความเดือดร้อนของประชาชน มีการตั้งศูนย์ดำรงธรรมในระดับอำเภอ และระดับตำบล มีศูนย์อำนวยความเป็นธรรมภาคประชาชนประจำตำบล หรือกืออดิลันเซ็นเตอร์เกิดขึ้นมา โดยมีคนในพื้นที่ที่สามารถดูแล หากประชาชนในพื้นที่เดือดร้อน ๐ สถานการณ์ไฟใต้ที่ยังคุกรุ่นเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ปัญหาการค้าบริเวณชายแดน หรือไม่ อย่างไร จุดเริ่มต้นของ “โครงการสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เกิดจากข้อเรียกร้องของประชาชนในพื้นที่ วันนี้เราสามารถดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ได้ระดับหนึ่ง จนเป็นที่วางใจของนักลงทุนที่จะมาลงทุนในบ้านเรา ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีงาน มีอาชีพ เมื่อมีคนมาลงทุน เรามีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้กับเขาด้วย ขณะเดียวกันต้องมีการจูงใจจากภาครัฐให้นักลงทุนสนใจด้วย อย่างที่ อ.เบตง จ.ยะลา เป็นเมืองท่องเที่ยว เราจะดูแลเรื่องไฟฟ้า มีการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำจากชุมชน ไฟฟ้าชีวะมวลเพิ่มขึ้น และมีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว หรือที่ อ.สุไหง-โกลก จ.นราธิวาส ก็มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิม มีการอำนวยความสะดวกในการส่งออกสินค้า การดูแลเส้นทางสัญจร การเปิดอำนวยความสะดวกที่ด่าน การเพิ่มแหล่งกระจายสินค้า ดังนั้น 1 ปีที่ผ่านมา โครงการนี้ถือว่าตอบโจทย์ได้ มีนักลงทุนเพิ่มขึ้น การจ้างงานเพิ่มขึ้น นักท่องเที่ยวที่ผ่านทางอ.เบตงเพิ่มขึ้น และขาออกที่ด่านสุไหง-โกลก แต่ทั้งหมดเป็นเพียงเฟสที่ 1 ของปีที่ 1เท่านั้น เรายังมีแผนงานโครงการรองรับปีงบประมาณ 61 ในเรื่องของถนนหนทาง ระบบขนส่งมากขึ้น รวมถึงการปรับปรุงผลผลิตทางการเกษตรด้วย ๐ วันนี้ดูเหมือนปัญหาหลายด้านรุมเร้ารัฐบาล ทั้งการเมือง และไฟใต้ จุดนี้จะทำให้รัฐบาลรับมือกับปัญหาหลายทางหรือไม่ ผมเชื่อว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้กำหนดแผนการ โครงการต่างๆ ไว้อยู่แล้ว แต่ในพื้นที่ 3 จังหวัด เราเน้นหนักในเรื่องการพัฒนาพื้นที่เป็นหลัก เรามีทั้งแผนพัฒนา และความมั่นคง โดยจะดำเนินการไปพร้อมกัน ๐ ในฐานะคนที่ทำงานคลุกคลีกับปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบ อยากทำความเข้าใจ หรือมีข้อเสนอแนะไปยังสังคม ต่อเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหรือไม่ อย่างไร ข้าราชการที่เข้ามาทำงานในพื้นที่มีสวัสดิการพิเศษ ทั้งเรื่องความก้าวหน้า และสวัสดิการต่างๆ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นสำนึกร่วมกันของพี่น้องข้าราชการคือการทำงานแบบพิเศษ งานที่นำมาซึ่งความภาคภูมิใจของทุกคน วัดกันที่ความร่วมมือร่วมใจของทุกคน การยอมรับจากพี่น้องประชาชนถือเป็นความสำเร็จของงาน ซึ่งเราคิดว่าหากเราทำงานร่วมกับประชาชน เขารักเรา และศรัทธาแล้ว มันนำมาซึ่งประสิทธิภาพในการทำงาน สามารถร่วมกันแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ได้ ๐ ขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ และประชาชน เป็นเรื่องสำคัญ จุดนี้ รัฐบาลเองควรให้ความมั่นใจ ได้อย่างไรบ้าง เราดูแลด้านสวัสดิการ และความก้าวหน้า รัฐบาลถือว่าข้าราชการในพื้นที่เป็นคนพิเศษ ดังนั้นจึงดูแลแบบพิเศษอยู่แล้ว เรื่องนี้เป็นขวัญกำลังใจที่สำคัญ ประชาชนต้องรักสามัคคีกัน อย่าแบ่งแยก สิ่งที่สำคัญที่สุด พี่น้องประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีคนเห็นต่างจำนวนไม่มากถ้าเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด ดังนั้นเราอย่าไปกังวลกับคนเหล่านี้ มันจะทำให้บ้านเมืองเสียหาย เรามั่นใจว่ารัฐสามารถบังคับใช้กฎหมายกับคนเหล่านี้ได้ อย่างไรก็ดี เราถือว่าทุกคนเป็นคนไทยด้วยกัน โครงการพาคนกลับบ้านจะเป็นโครงการที่ทำให้คนเหล่านี้กลับตัวกลับใจ วันนี้บ้านเมืองก้าวไปเยอะ และปัญหาต่างๆ ที่เป็นเงื่อนไข มันได้รับการแก้ไขหมดแล้ว การไม่ได้รับความเป็นธรรมต่างๆ ก็ไม่มีแล้ว อยากให้ลองมาคุยกันว่าต้องการอะไรที่มากมายกว่านั้น ซึ่งเราก็มีตัวแทนไปพูดคุยในพื้นที่อยู่แล้ว ผมคิดว่าความคิดเก่าๆ เงื่อนไขเก่าๆ มันน่าจะหมดไปแล้ว แต่คนเหล่านี้ถูกครอบงำไม่ให้มีโอกาสได้รับรู้ เพราะฉะนั้นประชาชน ญาติพี่น้องที่อยู่นั่น ต้องบอกเขาว่าวันนี้บ้านเมืองมันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร