สพฐ.ประกาศรับนักเรียนปี 2561 ล็อก 40 คนต่อห้องทั้งประถม-มัธยม ไม่เปิดโอกาสขอขยายห้องเรียนเพิ่ม ชูเป้าหมายเด็กทุกคนมีที่เรียน กลุ่ม รร.ดัง จัดสอบ70% + คะแนนโอเน็ต 30% ประกาศผลสอบทั้งตัวจริง-สำรองพร้อมคะแนนอย่างโปร่งใส ส่วนการรับเด็กเงื่อนไขพิเศษ กำหนดชัดว่ามีอุปการคุณอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพิ่งมาบริจาคแล้วลักไก่!รับสิทธิ์ วันที่ 3 ต.ค.60 นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูง ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่าที่ประชุมรับทราบแนวทางการรับนักเรียนของโรงเรียนสังกัด สพฐ.ประจำปีการศึกษา 2561 ซึ่งได้ผ่านความเห็นของจากคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)แล้ว เป้าหมายสำคัญคือเด็กทุกคนต้องมีที่เรียน โดยปีการศึกษา 2561จะเน้นความโปร่งใส บริสุทธิ์ยุติธรรม การรับนักเรียนในปีการศึกษา 2561 จะแตกต่างจากปีที่ผ่านมาคือ กำหนดจำนวนนักเรียนต่อห้องที่ชัดเจน ไม่เปิดโอกาสให้ขอขยายห้องเรียนเพิ่ม โดยระดับก่อนประถมศึกษา 30คนต่อห้อง ระดับประถมศึกษา40คนต่อห้อง และระดับมัธยมศึกษา40คนต่อห้อง สำหรับโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง การคัดเลือกจะใช้คะแนนสองส่วนคือ คะแนนสอบของโรงเรียน 70% และคะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต 30% ส่วนการรับนักเรียนจากชั้น ม.3 ขึ้น ม.4 โรงเรียนเดิมจะให้โควตาเด็กโรงเรียนเดิม 80% และเปิดโอกาสให้เด็กโรงเรียนอื่นมาสอบได้อีก 20% ที่สำคัญการประกาศรายชื่อนักเรียนที่สอบผ่านจะต้องประกาศทั้งตัวจริงและตัวสำรองพร้อมคะแนนที่สอบได้ด้วย ส่วนโรงเรียนเงื่อนไขพิเศษ เช่น กลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ การรับนักเรียนให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่โรงเรียนกำหนด "สิ่งที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดสำหรับแนวทางการรับนักเรียนปี 2561 คือ เงื่อนไขการรับนักเรียนโรงเรียนจะต้องประกาศเงื่อนไขต่างๆให้ชัดเจน รวมถึงเงื่อนไขพิเศษของแต่ละโรงเรียนด้วย เช่น กรณีผู้มีอุปการคุณ ต้องกำหนดชัดว่ามีอุปการคุณอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพิ่งมาบริจาคแล้วได้รับสิทธิ์ตามเงื่อนไข และเมื่อประกาศชื่อนักเรียนแล้ว จะต้องระบุด้วยว่า เป็นนักเรียนเงื่อนไขพิเศษตามข้อใด และสิ่งสำคัญคือ ห้ามโรงเรียนระดับทรัพยากรในช่วงที่มีการรับนักเรียน เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการรับเด็ก และเพื่อความเป็นธรรมกับเด็กทุกคน ทั้งนี้ สพฐ.จะมีการประชุมเพื่อชี้แจงแนวทางทั้งหมดกับโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง ซึ่งหมายถึงโรงเรียนที่มีเด็กสมัครเข้าเรียนมากกว่าแผนการรับ 2 เท่าขึ้นไป" นายบุญรักษ์ กล่าวและว่า นอกจากนี้ช่วงการรับนักเรียนจะตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน และศูนย์บริการ one stop service เพื่อให้บริการให้คำแนะนำปรึกษาแก่ผู้ปกครอง อย่างไรก็ตาม ตนจะเสนอแนวทางดังกล่าวให้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ พิจารณาก่อนจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป