โครงการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (1) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงศึกษาเรื่องการใช้หญ้าแฝก ในการอนุรักษ์ดินและน้ำจากเอกสารของธนาคารโลก ซึ่ง นาย Richard Grimshawได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายและได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝกเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2534 สรุปความว่า “...ให้ศึกษา ทดลองปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของดินในศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ และพื้นที่อื่นๆ โดยให้พิจารณาปลูกตามความเหมาะสมของภูมิประเทศ และควรเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลการศึกษา ทดลอง ให้ครอบคลุมทุกด้านด้วย...” สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงานกปร.) ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆดำเนินงานสนองพระราชดำริ โดยมี คณะกรรมการพัฒนาและรณรงค์การใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มีองคมนตรี เป็นประธานทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแนวทางในการทำงาน และสำนักงานกปร.เป็นหน่วยงานหลักซึ่งทำหน้าที่บริหารจัดการในส่วนนโยบายและประสานหน่วยงานในการปฏิบัติ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานสนองพระราชดำริให้ประสบผลสำเร็จเป็นเวลากว่า 20 ปี หญ้าแฝกนั้นเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวตระกูลหญ้าชนิดหนึ่ง ซึ่งพบกระจายอยู่ทั่วไปหลายพื้นที่ตามธรรมชาติ จากการสำรวจพบว่า มีกระจายอยู่ทั่วโลก และสำรวจพบในประเทศไทย 2 ชนิด คือ หญ้าแฝกลุ่ม และหญ้าแฝกดอน หญ้าแฝกเป็นหญ้าที่ขึ้นเป็นกอ หน่อเบียดกันแน่น ใบของหญ้าแฝกมีลักษณะแคบยาว ขอบขนานปลายสอบแหลมด้านท้องใบจะมีสีจางกว่าด้านหลังใบ มีรากเป็นระบบรากฝอยที่สานกัน แน่นยาว หยั่งลึกในดิน ดังนั้นจึงสามารถนำมาใช้ในการปกป้องและอนุรักษ์ดูแลทรัพยากรธรรมชาติได้ เช่น ปลูกตามแนวคลองชลประทาน อ่างเก็บน้ำและหนองบึง รวมทั้งไหล่ถนนและบริเวณใกล้สะพาน รากที่สานกันแน่นเหมือนตาข่ายจะพยุงดินไว้ กลายเป็นกำแพงใต้ดินที่มีชีวิตช่วยชะลอแรงน้ำ ทำให้น้ำซึมลงในดินได้มากขึ้น ช่วยป้องกันหน้าดินถูกกัดเซาะพังทลาย ในส่วนของบริเวณเชิงเขาแนวรั้วหญ้าแฝกยังช่วยหยุดยั้งการพังทลายของดินด้วย หญ้าแฝกยังใช้ปลูกในพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อช่วยให้ดินในแปลงเกษตรมีความอุดมสมบูรณ์ โดยมีวิธีการ เช่น การปลูกเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในสวนผลไม้ การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ดอนที่ปลูกพืชไร่ การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ราบหรือพื้นที่ลุ่ม และการปลูกรอบขอบสระเพื่อกรองตะกอนดิน เป็นต้น การดำเนินงานที่ผ่านมามีการใช้แผนแม่บทการพัฒนาและรณรงค์ การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นเครื่องมือในการกำหนดทิศทางในการดำเนินงานในห้วงระยะเวลาต่างๆ แผนแม่บทฉบับที่ 1(พ.ศ.2536-2537) เน้นการดำเนินงานเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยในลักษณะของงานวิจัยพื้นฐาน และงานวิจัยประยุกต์ แผนแม่บทฉบับที่ 2 (พ.ศ.2540-2542) เน้นการศึกษาวิจัยตามแนวพระราชดำริต่อเนื่องจากแผนแม่บทฉบับที่ 1 ควบคู่กับการสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่กลุ่มเป้าหมาย แผนแม่บทฉบับที่ 3 (พ.ศ.2545-2549) เน้นการส่งเสริม และขยายผลการใช้หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้การสนับสนุนและการมีส่วนร่วมของหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ แผนแม่บทฉบับที่ 4(พ.ศ.2550-2554) เน้นการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้อง และเหมาะสมแก่การใช้ประโยชน์หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ แผนม่บทฉบับที่ 5(พ.ศ.2555-2559) เน้นการศึกษาด้านการเพิ่มศักยภาพหญ้าแฝกส่งเสริมให้มีการใช้หญ้าแฝกควบคู่กับการปรับปรุง ฟื้นฟูสภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่วิกฤตที่มีความเสี่ยงจากดินถล่ม และน้ำป่าไหลหลาก ผลการดำเนินงานโดยรวมตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษในด้านต่างๆ ที่พอจะสรุปให้เห็นเป็นตัวอย่าง คือ ในด้านการศึกษา วิจัยนั้น ได้มีงานศึกษา ทดลอง วิจัยเพื่อนำความรู้เกี่ยวกับหญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริไปใช้ให้ถูกต้องเหมาะสม มีการดำเนินงานใน 7 ประเภท ได้แก่ การอนุรักษ์ดินและน้ำ การเกษตรกรรม วิทยาศาสตร์พื้นฐาน (การเจริญเติบโต การขยายพันธุ์) การปลูกร่วมกับพืชเกษตร การส่งเสริม การใช้ประโยชน์ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกปร.ตั้งแต่ปี 2535-2559 มีจำนวนถึง 262 เรื่อง โดยได้มีการจัดทำทะเบียนงานวิจัยเพื่อรวบรวมรายชื่องานวิจัยและผลงานวิจัยให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ ในปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับการศึกษา ทดลองพันธุ์หญ้าแฝกที่สามารถทนต่อร่มเงา ทำให้เกิดประโยชน์ในการนำไปใช้ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ และลดปัญหาการชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีร่มเงา และการขยายพันธุ์หญ้าแฝกจากเมล็ดจะเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งนอกเหนือจากการแยกหน่อ ซึ่งหากวิธีการนี้สามารถผลิตต้นพันธุ์หญ้าแฝกได้จะเป็นข้อได้เปรียบอย่างยิ่งที่สามารถช่วยลดปัญหาต่างๆที่เกิดจากข้อจำกัดในการขยายพันธุ์โดยวิธีแยกหน่อ โดยไม่ต้องขนย้ายกล้าพันธุ์หญ้าแฝกจากแหล่งผลิตไปยังสวนและไร่จะช่วยกระตุ้นให้เกษตรกรอยากปลูกหญ้าแฝกเพื่อใช้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น รวมถึงมีการศึกษาการใช้หญ้าแฝกในการบำบัดน้ำเสีย น้ำที่ปนเปื้อนสารพิษ โลหะหนักต่างๆ โดยน้ำที่ผ่านการบำบัดด้วยหญ้าแฝกสามารถนำมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้ ช่วยลดต้นทุนในการนำน้ำมาใช้ในการอุปโภค บริโภค เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ ลดการปล่อยของเสียลงสู่สิ่งแวดล้อม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในด้านการจัดการองค์ความรู้ มีการจัดประชุมวิชาการและการฝึกอบรม เพื่อการเผยแพร่ผลงานการศึกษา วิจัย โดยการจัดประชุมสัมมนามีทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ โดยการจัดประชุมสัมมนาการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในประเทศรวม 6 ครั้ง และมีการจัดการประชุมสัมมนาหญ้าแฝกนานาชาติ International Confereces on Vetiver (ICV)รวม 6 ครั้ง (อ่านต่อฉบับหน้า) เรียบเรียงโดย นายวัชระ หัศภาค กองแผนงานและวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานกปร.