“เอปสัน”เดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งไลน์หุ่นยนต์แขนกล จับมือสถาบันไทย-เยอรมัน เปิดศูนย์ “นวัตกรรมหุ่นยนต์เอปสัน” มุ่งให้ความรู้กับผู้ประกอบการไทย เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการผลิตรับยุคไทยแลนด์ 4.0 นายยรรยง มุนีมงคลทร ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า การประกาศนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลทำให้หลายอุตสาหกรรมเกิดการตื่นตัวในการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เข้ามาใช้เพื่อพัฒนาศักภาพการทำงาน เพิ่มผลิตผล และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ อีกทั้งรัฐบาลยังได้วางมาตรการต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมการผลิตและบริการภายในประเทศนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้งานมากขึ้น อาทิ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% สำหรับผู้ประกอบการที่ใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและบริการ การสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากเงินกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตาม แนวประชารัฐ เพื่อปรับเปลี่ยนการผลิตเป็นหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ในขณะที่กระทรวงการคลังจะยกเว้นภาษี เงินได้ 300% โดยสนับสนุนผู้ประกอบการในการวิจัยหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เอปสันจึงมองเห็นโอกาสที่จะรุก ทำตลาดสินค้ากลุ่มหุ่นยนต์แขนกล สำหรับการผลิตที่ต้องการผลผลิตปริมาณมากขึ้นและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ สูงขึ้นในประเทศไทยอย่างจริงจัง “เอปสันได้พัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาอย่างต่อเนื่องนานกว่า 36 ปี และจำหน่ายไปยังกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม ชั้นนำของโลก เช่น อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น จีน และเกาหลี ส่วนในประเทศไทยหุ่นยนต์แขนกลของเอปสันมีใช้ใน โรงงานผลิตอย่างแพร่หลายกว่า 20 ปีแล้ว มีลูกค้าหลักเป็นบริษัทข้ามชาติที่ขยายฐานการผลิตมายังประเทศไทย โดยที่บริษัทแม่ในต่างประเทศคุ้นเคยกับเทคโนโลยีของเอปสันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว จึงเลือกใช้หุ่นยนต์ของเอปสันในโรงงานผลิตที่มีสาขาในประเทศไทยด้วยเช่นกัน ที่ผ่านมาตลาดหุ่นยนต์แขนกลของประเทศไทยยังมีขนาดเล็ก และมีแนวโน้มการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่หลังการเปิดตัวโมเดลไทยแลนด์ 4.0 ตามด้วยอุตสาหกรรม 4.0 ของรัฐบาลทำให้วงการเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเกิดการตื่นตัวขึ้นมาก เอปสัน ประเทศไทย จึงเข้ามาดูแลด้านการตลาดและการจัดจำหน่ายอย่างเต็มตัว โดยจะเริ่มขยายตลาดไปยังกลุ่มโรงงานผลิตขนาดเล็กและขนาดกลางของคนไทย ควบคู่ไปกับการรักษาฐานลูกค้ากลุ่มบริษัทข้ามชาติในปัจจุบัน ซึ่งส่วนมากอยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์” นายยรรยง กล่าวต่อว่า ปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมของไทยส่วนใหญ่ยังใช้ระบบ Manual มีเพียงราว 15% ที่เริ่ม ผสมผสานระบบอัตโนมัติเข้ารวมกับกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นโรงงานขนาดใหญ่ใน 5 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โรงงานเหล็ก โรงงานผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก และการแปรรูป อาหาร แต่ก็มีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เอปสันเล็งเห็นถึงโอกาสทางการตลาดที่เปิดกว้าง และได้เริ่มนำ หุ่นยนต์แขนกลขนาดเล็ก 2 ประเภท คือ SCARA Robot และ 6-Axis Robot เข้ามาทำตลาด ได้แก่ รุ่น T3 SCARA Robot, LS-Series SCARA Robot และ C-Series compact 6-Axis robot ซึ่งเหมาะกับหลายอุตสาหกรรม ทั้งงาน ประกอบชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โรงงานผลิตเครื่องจักร ห้องปฏิบัติการอัตโนมัติ ไลน์การ ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เซมิคอนดักเตอร์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม เป็นต้น สำหรับT3 และ LS-Series SCARA Robot เป็นหุ่นยนต์แขนกลทำงานในแนวระนาบ เหมาะกับงานที่ต้องการความเร็ว และความแม่นยำสูง ใช้งานง่าย มีขนาดเล็กกระทัดรัดเหมาะกับการทำงานในพื้นที่จำกัด ขณะที่ C-Series compact 6-Axis Robot เป็นแขนกล 6 แกนหมุนอิสระ มีประสิทธิภาพสูง สามารถทำงานได้หลากหลาย ใกล้เคียง กับแขนคน มีความยืดหยุ่นและความเร็วสูง ทั้งยังใช้ระบบควบคุมการเคลื่อนไหว หรือ Quartz Micro Electro Mechanical System ช่วยลดความสั่นสะเทือนและเข้าถึงตำแหน่งได้อย่างรวดเร็ว โดยหุ่นยนต์แขนกลทั้ง 3 รุ่นนี้ ยังสนับสนุนการใช้งานกับระบบ Vision ผ่านซอฟต์แวร์ Epson Vision Guide เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของหุ่นยนต์ ให้สามารถรับรู้และแยกแยะประเภทของวัตถุ ตรวจสอบคุณภาพและรับรู้ตำแหน่งของวัตถุ ช่วยให้หุ่นยนต์หยิบจับ หรือประกอบชิ้นงานได้อย่างถูกต้องยิ่งขึ้น ทั้งนี้หุ่นยนต์ของเอปสันยังรองรับการพัฒนาระบบไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยสามารถใช้งานผ่านทั้ง PC Base และ PLC Base มีระบบตรวจสอบความผิดพลาดภายในตัวเองและแจ้งเตือน ระยะเวลาการซ่อมบำรุงต่างๆ ทั้งยังมีซอฟต์แวร์ที่ใช้งานง่าย สนับสนุนการพัฒนาระบบ M2M (Machine to Machine) ทำให้หุ่นยนต์ของเอปสันสามารถส่งข้อมูลระหว่างเครื่องจักรหรือระบบมายังหุ่นยนต์ได้อย่างง่ายดาย