นางรวงทอง สุภิษะครูภูมิปัญญาไทยรุ่น8 ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯ (1) “ความตั้งใจ และความมุ่งมั่นทุ่มเทในการประพฤติปฏิบัติตนตามหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน ปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ในการดำรงชีวิตอย่างพอเพียง ทั้งในฐานะความเป็นชาวชุมชน เป็นครอบครัวหนึ่งในชุมชนแล้วก็ในฐานะผู้นำชุมชนคือการเป็นกำนัน เป็นผลพวงนำไปสู่การเป็นต้นแบบความดีงามของคนในชุมชนที่ยึดเดินตามเป็นที่ประจักษ์ว่า คนในชุมชนอยู่กันอย่างสุขสงบ มีความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน” เป็นบางถ้อยกระทงความที่ นางรวงทอง สุภิษะ กำนันตำบลลำดวลบอกแก่สื่อมวลชนด้วยรอยยิ้มก่อนได้รับประกาศยกย่องเป็นครูภูมิปัญญาไทยปี 2560 รุ่นที่ 8 รากฐานบรรพชนครอบครัวนางรวงทองเป็นลูกชาวนาหรือลูกหลานเกษตรกร การทำเกษตรมิใช่เป็นอาชีพหลักของคนไทยเกือบทั้งประเทศ ครอบครัวของนางรวงทองก็เป็นเกษตรกรเช่นเดียวกับพี่น้องไทยในแต่ละภูมิภาค เฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสานหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยประชาชนส่วนใหญ่ยึดอาชีพเกษตรกรรม หลายท้องถิ่นหลายพื้นที่ในภาคอีสานถูกขนานนามที่ราบสูง การทำนาหรือทำไร่จึงเป็นไปตามยถากรรมเป็นหลัก เพราะสภาพนับแต่อดีตหน้าฝนน้ำมากหลากบ่าท่วม พอหน้าแล้งน้ำไหลไปหมดไม่เหลือไว้ให้ใช้ได้เลย นางรวงทอง สุภีษะ บอกเดินตามบรรพชนสืบสานมรดกอาชีพเกษตรกรรม แต่พัฒนาวิถีเกษตรเป็นเดินตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทำการเกษตรแบบผสมผสาน มีการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมมาใช้ในพื้นที่แล้วขยายผลสู่เพื่อนบ้านในชุมชนสืบสานพระราชดำริพออยู่พอกิน อาทิ การปลูกพืชผักสวนครัวโดยใช้ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ในการรดน้ำผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ดเทศ เมื่อประสบผลสำเร็จแล้วจึงได้ถ่ายทอดให้กับคนในชุมชนหมู่บ้าน ตำบล พร้อมกับการแนะนำแนวทางการทำการเกษตรแบบผสมผสานเดินตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯให้กับคนในตำบลเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นพออยู่ พอกิน เป็นแบบอย่างของเยาวชนไปพร้อมกันด้วย ไม่หยุดนิ่งเพียงแค่นั้น ยังตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยทรัพยากรธรรมชาติ ต้นไม้ แหล่งน้ำ รวงทวง สุภิษะ ได้ริเริ่มโครงการธนาคารต้นไม้ เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนได้มีการปลูกต้นไม้อย่างน้อยปีละ 9 ต้น พร้อมกับรักษาต้นไม้ที่ได้ปลูกให้เจริญเติบโต นางรวงทอง มิใช่สืบสานมรดกภูมิปัญญาด้านอาชีพหลักคือการเป็นเกษตรกร แต่อีกมรดกหนึ่งของคนไทยภาคอีสานคือการทอผ้าแล้วก็มักเป็นผ้าไหมไว้ใช้เองในครอบครัวที่ได้เป็นผู้สืบสานมาด้วยโดยอัตโนมัติตั้งแต่เด็กๆ ที่สุดกลายเป็นอาชีพเสริม อาชีพหลักควบคู่ไปกับอาชีพเกษตรกรรม ควบคู่ไปกับอาชีพการเป็นผู้นำชุมชนแล้วตกผลึกเป็นปลูกฝังสำนึกอนุรักษ์ สืบสาน ต่อยอดพัฒนาให้เป็นมรดกภูมิปัญญาคู่ท้องถิ่นดินแดนอีสานสืบไป จนเป็นที่ยอมรับในความรู้ความสามารถความเชี่ยวชาญในทุกด้านที่เกี่ยวกับการทอผ้าไหมแบบต่างๆเอกลักษณ์โบราณของท้องถิ่นแล้วต่อยอดรูปลายสมัยใหม่เพื่อให้สามารถใช้เป็นเครื่องมือดำรงชีวิตควบคู่ไปกับอนุรักษ์สืบสาน นั่นคือบทบาทผู้นำสตรีกำนันรวงทอง สุภิษะ ตำบลลำดวน แห่งบ้านประดู่ทอง หมู่ที่ 5 ที่นำเอาความรู้ความเชี่ยวชาญมาเป็นการฝึกอาชีพเสริมเมื่อยามเว้นว่างจากฤดูทำนา ได้แก่ กลุ่มสตรีทอผ้าไหม ได้รวมกลุ่มสมาชิกเพื่อขยายการผลิตจากที่ทอใช้ในครัวเรือนผลิตออกสู่ท้องตลาด โดยได้พัฒนาการผลิตผ้าไหมให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น ผลิตภัณฑ์ที่สำคัญได้แก่ ผ้าไหมลายราชวัตร ผ้าไหมลายลูกแก้ว ผ้ามัดหมี่พุ่ง ผ้าไหมลายพริกไทย นอกจากนี้ยังเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องการแต่งกายด้วยผ้าไหมท้องถิ่นเป็นประจำและยังส่งเสริมประชาชนในชุมชนให้ใส่ชุดผ้าไหมไทยในชีวิตประจำวันและเทศกาลสำคัญนอกจากนี้ยังได้ทุ่มเทกำลังกายและสติปัญญาในการถ่ายทอดองค์ความรู้ โดยเป็นวิทยากรให้กับ ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอลำดวน โครงการเส้นสายลายไหม และให้ความรู้แก่ผู้ที่เข้ามาศึกษาดูงานในพื้นที่ จนได้รับการประกาศเชิดชูยกย่องจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)รุ่นที่ 8 ประจำปี2560 เป็นหนึ่งในจำนวนผู้ได้รับการประกาศเชิดชูทั่วประเทศทั้งสิ้น 54 คน ที่มีการมอบเข็มเชิดชูเกียรติโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการม.ล.ปนัดดา ดิสกุลเมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.)ในนามรัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของปราชญ์ชาวบ้านหรือผู้ทรงภูมิปัญญาเชี่ยวชาญอย่างลึกซึ้งทางภูมิปัญญาทั้งสายอาชีพโดยตรง หรือด้านอื่นเช่นวรรณกรรม แพทย์แผนไทยหรือหลายๆด้านที่มีอยู่ไม่น้อยทีเดียวในทั่วประเทศทุกภูมิภาคจนสามารถดูแลชีวิตตนเองครอบครัวให้หลุดพ้นจากความอดอยากขาดแคลน มีที่อยู่อาศัยมีที่ทำกิน มีอาชีพ มีงานทำ มีรายได้มั่นคงเป็นปึกแผ่นเป็นกำลังหลักสำคัญของชาติบ้านเมืองได้ในระดับหนึ่งทีเดียว แม้จะไม่ได้ร่ำรวยมากมายแต่ก็พอยู่พอกินพอเก็บพอแบ่งปันดำเนินไปอย่างมีความสุข เป็นความสุขอย่างยั่งยืนโดยมั่นคงในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ โดย พึ่งพาตนเองได้ตามวิถีแห่งความพอเพียง (อ่านต่อ)