“เยาวชนสานต่อพระราชปณิธาน ผ่านผลประกวดงานสืบสานพระราชดำริ (1) “…การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือความพอมี พอกิน พอใช้ ของประชาชนเป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะทางเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับ ต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกฐานะทางเศรษฐกิจขึ้นได้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศ และของประชาชน โดยสอดคล้องด้วย จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่างๆได้ ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวในที่สุด…” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำรัสหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ครั้งแรกในงานพระราชทานปริญญาบัตร ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันพุธที่ 18 กรกฎาคม 2517 สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(สำนักงานกปร.)จัดการประกวดผลงาน “เยาวชนสานต่อพระราชดำริ” ในโครงการค่ายเยาวชนรู้งานสืบสานพระราชดำริ (RDPB Camp)รุ่นที่ 7 เนื่องจากเล็งเห็นว่าเยาวชนทั้งหลายต่างมีศักยภาพ ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ประกาศผลเมื่อวันจันทร์ที่ 25 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา โดย นายปวัตร์ นวะมะรัตน รองเลขาธิการ กปร. เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรมการประกวด โดยมีเยาวชนจากมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วประเทศเสนอผลงานเข้าร่วมประกวดรวมแล้ว 22 ทีม ได้ผู้ชนะทั้งสิ้น 5 ทีม จุดมุ่งหมาย เพื่อให้เยาวชนในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ได้เข้ามาเรียนรู้เกี่ยวกับแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานพระราชดำรัส  พระบรมราโชวาทเป็นแนวทางองค์ความรู้เพื่อนำสู่การปฏิบัติในชีวิตจริงที่เรียกว่าศาสตร์พระราชา ศึกษาเรียนรู้ผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ  ทำให้ได้เห็นหลักการทรงงานอย่างเป็นรูปธรรมทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนคนไทย  ให้สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ได้บูรณาการการเรียนรู้แบบผสมผสาน ทั้งภาคทฤษฎีและการปฏิบัติจากพื้นที่จริง โดยมุ่งมั่นตั้งใจให้เยาวชนได้รับความรู้ และสามารถนำความรู้เชิงประจักษ์ไปถ่ายทอดสู่กลุ่มเยาวชนด้วยกัน  สู่รุ่นน้องและชุมชน ตลอดจนทำหน้าที่เป็นสื่อกลางให้กับสถาบันการศึกษาในการสืบสานพระราชดำริให้มีความชัดเจนและยั่งยืนต่อไป สำหรับทีมที่ชนะในการประกวดครั้งนี้ประกอบด้วย 1.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ทีมสิงห์น้ำเงินแห่งกรมสงขลานครินทร์ โครงการเยาวชนรุ่นใหม่สืบสานและอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้านตามแนวพระราชดำริ 2. มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย ทีมต้นกล้าของพ่อหลวง โครงการระบบสูบน้ำแบบชั้นบันไดพลังงานแสงอาทิตย์ 3.มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ทีม BEGIN โครงการการบริหารจัดการพื้นที่ต้นน้ำตามศาสตร์พระราชา4.มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี ทีม GenA จิตอาสารำไพพรรณี โครงการสู้วิกฤตชุมชนน้ำเค็มดินเค็มสู่ภูมิทัศน์กินได้ตามวิถีพอเพียง 5.มหาวิทยาลัยรามคำแหง วิทยาเขตบางนา ทีม รามฯรักษ์ป่า2 โครงการนวัตกรรมรูปแบบใหม่กับ “ฝายกั้นไฟ” ที่ยั่งยืน เริ่มที่ทีม BEGIN จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลกที่ชนะด้วยโครงการการบริหารจัดการพื้นที่ต้นน้ำตามศาสตร์พระราชาให้ความเห็นว่าสำหรับแนวคิดในโครงการบริหารจัดการพื้นที่ต้นน้ำตามศาสตร์พระราชาก็คือ มีแนวคิดบริหารจัดการตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำของเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้เสนอแนวคิดการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น กักเก็บน้ำ เพื่อให้ป่ามีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น แล้วยังใช้ประโยชน์จากฝายก็คือ สามารถใช้น้ำเป็นพลังงานผลิตกระแสไฟฟ้าให่แก่เรา ในการต่อยอดก็คือ ในอนาคตเราจะเพิ่มพลังผลิตไฟฟ้าให้ได้มากขึ้น ชุมชนให้ความร่วมมือในการทำฝาย ชุมชนหมู่บ้านโป่งสอ อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ผู้ใหญ่บ้านได้เข้ามามีส่วนร่วมกับพวกเราเสมอ ผู้นำก็จะประกาศ ใครว่างก็จะมาช่วยพวกเราทำที่เลือกพื้นที่ตรงนี้เพราะเป็นต้นน้ำของเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนที่อยู่อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก แล้วที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนระยะยาวคือ ทางทีมBEGINบอกว่าจะสามารถสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ ดิน น้ำ ป่าและพลังงานให้แก่เยาวชน ก็คือ ตัวที่ผลิตชุดพลังงานจะเป็นตัววัดที่ว่า ถ้าไม่มีน้ำเราก็จะไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ จะเป็นตัวชี้วัดว่า ถ้าป่าต้นน้ำถูกทำลาย เราก็จะไม่มีน้ำใช้