สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสานพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2560 ที่ผ่านมาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงห่วงใยการบริหารจัดการน้ำของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยเฉพาะโครงการสำคัญๆ ที่อยู่ในพื้นที่ของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการระบายน้ำบริเวณรอบสนามบินสุวรรณภูมิอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสมุทรปราการ ที่ทำหน้าที่ในการรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนและช่วงฤดูน้ำเหนือไหลหลากเพื่อระบายลงสู่ทะเลก่อนที่จะเข้าสู่พื้นที่ ในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ทรงให้มีการติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง เพื่อทรงรับทราบถึงสถานการณ์และแนวทางการบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด พัฒนาโครงการฯ ให้บังเกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุดต่อไป ในวันดังกล่าวเวลา 10.00 น. นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี พร้อมคณะฯ ได้เดินทางไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ รับฟังการบรรยายสรุปโครงการระบบป้องกันน้ำท่วมของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสรุปผลการดำเนินงานการบริหารจัดการน้ำฝั่งตะวันออกของโครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมกับตรวจเยี่ยมการดำเนินงานระบบป้องกันน้ำท่วมฯ ซึ่งประกอบด้วย เขื่อนดิน อ่างเก็บน้ำ สถานีสูบน้ำ และเยี่ยมชมการระบายน้ำที่สะพานน้ำสุวรรณภูมิ และพบปะกลุ่มผู้ใช้น้ำ สืบเนื่องมาจากการเกิดอุทกภัยครั้งสำคัญในหลายพื้นที่ของประเทศไทยรวมทั้งกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับผลกระทบจากพายุพัดผ่าน ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน และเศรษฐกิจของประเทศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จึงได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำท่วมในหลายพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ฝั่งตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะต้องรองรับน้ำระบายออกสู่ทะเล นับตั้งแต่ปี 2526 ปี 2538 และล่าสุดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2546 ได้พระราชทานพระราชดำริ ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สรุปความว่า 1) ให้คำนวณบริหารจัดการน้ำโดยหลีกเลี่ยงการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา และหลีกเลี่ยงการสูบน้ำออกจากพื้นที่ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงน้ำทะเลหนุน ซึ่งหากระบายน้ำมาชนกัน 3 ทางคือ น้ำเหนือ น้ำทะเล น้ำฝน ที่ระบายออกมาจากพื้นที่ ก็จะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงล้นตลิ่งเกิดน้ำท่วมได้ 2) ให้พิจารณาระบายน้ำออกทางด้านข้าง เช่น ฝั่งแม่น้ำตะวันออกระบายน้ำลงสู่ทะเล โดยผ่านทางคลองระพีพัฒน์ ปล่อยตรงไปยังคลอง 14 ลงสู่คลองแสนแสบ แล้วระบายน้ำออกไปทางแม่น้ำบางปะกง และคลองพระองค์ไชยานุชิต ส่วนฝั่งตะวันตกให้ระบายไปทางแม่น้ำสุพรรณบุรีเป็นระยะ ๆ โดยพิจารณาจากน้ำขึ้น น้ำลง ของกรมอุทกศาสตร์ 3) ไม่ให้ระบายน้ำผ่านเข้าพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้เร่งระบายน้ำลงสู่ทะเลโดยเร็ว ระบายไปลงตรงปลายคลองพระองค์ไชยานุชิต และเนื่องจากคลองประเวศน์ ไปถึงทะเลมีความลาดเทน้อยก็อาจทำสถานีสูบน้ำที่คลองสำโรง เพื่อเร่งสูบทยอยน้ำเป็นขั้น ๆ ลงสู่ทะเล 4) การระบายน้ำบริเวณหนองงูเห่าให้พิจารณาขุดคลองระบายน้ำ โดยมีขนาดที่เหมาะสมและไม่ใช่เพื่อการระบายน้ำเฉพาะบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ ให้พิจารณารวมบริเวณรอบ ๆ ด้วย จากแนวพระราชดำริดังกล่าว จึงได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำออกเป็น 3 ส่วน คือ 1) การบริหารจัดการน้ำท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) โดยจัดทำระบบป้องกันน้ำท่วมจากน้ำหลากโดยการทำคันกั้นน้ำเป็นเขื่อนดินล้อมรอบท่าอากาศยาน ความยาว 23.5 กิโลเมตร ความสูงสันเขื่อนที่ระดับ 3.50 เมตร เพื่อป้องกันน้ำไม่ให้ไหลเข้าสู่ภายในพื้นที่ของท่าอากาศยาน พร้อมกับจัดทำระบบระบายน้ำฝน ประกอบด้วย ระบบระบายน้ำภายใน ทำหน้าที่รับน้ำฝนที่ตกภายในพื้นที่ ท่าอากาศยานและเก็บกักน้ำไว้ชั่วคราวก่อนระบายออกสู่ภายนอก ระบบสูบระบายน้ำ โดยจัดตั้งสถานีสูบระบายน้ำขึ้นจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ สถานีสูบน้ำฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก 2) การบริหารจัดการป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร (การบริหารจัดการน้ำฝั่งตะวันออก) ประกอบด้วย ระบบป้องกันน้ำท่วมโดยก่อสร้างคันกั้นน้ำปิดล้อมพื้นที่เพื่อป้องน้ำหลากและน้ำทะเลหนุนสูง และระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง โดยจัดทำท่อระบายน้ำ คู คลอง สถานีสูบน้ำ อุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ แก้มลิงในพื้นที่ต่าง ๆ ตลอดจนจัดตั้งศูนย์ควบคุมระบบป้องน้ำท่วมฯ 3) การบริหารจัดการสถานีสูบน้ำสุวรรณภูมิ จัดทำโครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2548 แล้วเสร็จ ในปี 2553 มีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งระบายน้ำจากคลองสำโรงออกสู่ทะเลโดยตรง ลดปริมาณน้ำบริเวณพื้นที่รอบ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้สามารถระบายน้ำลงสู่พื้นที่ตอนล่างได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากคลองสำโรงเป็นแนวรับน้ำที่สำคัญเพราะเป็นแนวป้องกันปริมาณน้ำจากคลองประเวศบุรีรมย์ และคลองพระองค์ไชยานุชิต มิให้เข้าสู่พื้นที่ด้านใต้คลองสำโรง ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมบางพลี นิคมอุตสาหกรรมบางปู โรงงานอุตสาหกรรมบริเวณแนวถนนเทพารักษ์ ที่อยู่อาศัยและสถานที่ราชการต่างๆ ลักษณะของโครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิฯ ประกอบด้วย คลองระบายน้ำความยาว 10.12 กิโลเมตร เป็นคลองดินท้องคลองกว้าง 36 เมตร ลึก 3.55 เมตร สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พร้อมถนนบนคันคลอง และอาคารประกอบในคลองระบายน้ำ ประกอบด้วย อาคารสะพานน้ำรูปตัดตัวยู ข้ามคลองชายทะเลและถนนสุขุมวิท สะพานรถยนต์ 10 แห่ง อาคารรับน้ำคลองสำโรง อาคารประตูระบายน้ำด้านข้างคลองระบายน้ำ 22 แห่ง สถานีสูบน้ำ 1 แห่ง โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำไว้ จำนวน 4 เครื่อง ระบายน้ำได้สูงสุด 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สำหรับการระบายน้ำที่สถานีสูบน้ำสุวรรณภูมิ จะพิจารณาระดับน้ำในคลองสำโรง และระดับน้ำที่ด้านหน้าสถานีเป็นหลัก ปัจจุบันโครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิฯ สามารถลดพื้นที่น้ำท่วมได้ถึง 140 ตารางกิโลเมตร ลดความเสียหายจากน้ำท่วมขังในช่วงฤดูน้ำหลากและอุกทกภัยในพื้นที่จาก 10 วัน เหลือ 2 วัน รวมถึงลดปัญหาการจราจรของจังหวัดสมุทรปราการในการใช้ถนนที่เชื่อมโยงถนนสุขุมวิท-เทพารักษ์ และถนนบางนา-ตราด นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งน้ำจืดสำรองเพื่อไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งได้ถึง 2 ล้านลูกบาศก์เมตร อีกด้วย กองประชาสัมพันธ์ สำนักงาน กปร.