พระราชดำริการบริหารจัดการน้ำ (1) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรนับแต่เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติตราบจนเสด็จสวรรคตเป็นเวลายาวนาน 70 ปีทรงให้ความสำคัญเรื่องน้ำ ด้วยทรงถือว่าเป็นปัจจัยหลักต่อการดำรงชีวิตของพสกนิกร สรรพสัตว์และสรรพสิ่งมีชีวิตนานาชนิดรวมถึงสิ่งไม่มีชีวิตก็ต้องพึ่งพาอาศัยน้ำให้มีความเป็นอยู่ที่สมบูรณ์ ได้พระราชทานพระราชดำรัสไว้ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2532 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ความตอนหนึ่งว่า “...เรื่องน้ำนี้ ก็เป็นปัจจัยหลักของมวลมนุษย์ ไม่ใช่มนุษย์เท่านั้น แม้สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ทั้งสัตว์ทั้งพืช ถ้าไม่มีก็อยู่ไม่ได้ เพราะว่าน้ำเป็นสื่อ หรือเป็นปัจจัยสำคัญของสิ่งมีชีวิต แม้สิ่งไม่มีชีวิตก็ต้องการน้ำเหมือนกัน มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นอะไรไม่ทราบ เช่น ในวัตถุต่างๆ ในรูปผลึก ก็ต้องมีน้ำในนั้นด้วย ถ้าไม่มีน้ำก็จะไม่เป็นผลึก กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีรูป ฉะนั้น น้ำนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่กล่าวถึงข้อนี้ก็จะให้ได้ทราบถึงว่า ทำไมการพัฒนา ขั้นแรกหรือสิ่งแรก ที่นึกถึงก็คือโครงการชลประทาน แล้วก็โครงการ สิ่งแวดล้อมทำให้น้ำดี สองอย่างนี้อื่นๆ ก็จะเป็นไปได้ ถ้าหากว่า ปัญหา ของน้ำนี้ เราได้สามารถที่จะแก้ไข หรืออย่างน้อยที่สุด ก็ทำให้เรามีน้ำใช้อย่างเพียงพอ ฉะนั้น การพัฒนานั้นสิ่งสำคัญก็อยู่ตรงนี้ นอกจากนั้น ก็เป็นสิ่งที่ต่อเนื่อง เช่นวิชาการในด้านการเพาะปลูก เป็นต้น ตลอดจนถึงการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม หรือการค้า หรือการคลัง อะไร พวกนี้ก็ต่อเนื่องต่อไป...” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงสนพระราชหฤทัยในเรื่องทรัพยากรน้ำ การชลประทานและการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นอย่างยิ่ง ดังพระราชดำรัสที่ทรงเคยพระราชทานไว้เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2512 ความตอนหนึ่งว่า “...อาจมีบางคนเข้าใจว่า ทำไมจึงสนใจเรื่องชลประทาน หรือเรื่องป่าไม้ จำได้เมื่ออายุ 10 ขวบ ที่โรงเรียนมีครู ซึ่งเดี๋ยวนี้ตายไปแล้ว สอนเรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องการอนุรักษ์ดิน แล้วให้เขียนว่าภูเขาต้องมีป่าไม้อย่างนั้น เมื่อเม็ดฝนตกลงมาแล้ว จะชะดินลงมาเร็ว ทำให้ไหลตามน้ำไป ทำความเสียหายดินหมดจากภูเขา เพราะไหลตามสายน้ำไป ก็เป็นหลักของป่าไม้ เรื่องการอนุรักษ์ และเป็นหลักของชลประทาน ที่ว่า ถ้าเราไม่รักษาป่าไม้ข้างบน จะทำให้เดือดร้อนตลอดทั้งดินบนภูเขาจะหมดไป กระทั่งมีตะกอนลงมาในเขื่อน มีตะกอนลงมาในแม่น้ำ ทำให้น้ำท่วม นี้นะ เรียนมา ตั้งแต่ อายุ 10 ขวบ …" ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาต้นน้ำ และได้ทรงริเริ่มโครงการตามพระราชดำริมากมายเพื่อพัฒนาต้นน้ำและรักษาแหล่งน้ำในประเทศไว้ ดังพระราชดำรัสพระราชทานเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2532 ณ ดอยอ่างขาง เชียงใหม่ ความตอนหนึ่งว่า “...สำหรับต้นน้ำ ไม้ที่ขึ้นอยู่บริเวณสองข้างลำห้วย จำเป็นต้องรักษาไว้ให้ดี เพราะจะช่วยเก็บรักษาความชุ่มชื้นไว้ ส่วนตามร่องน้ำและบริเวณที่น้ำซับก็ควรสร้างฝายขนาดเล็ก กั้นน้ำไว้ในลักษณะฝายชุ่มชื้น แม้จะมีจำนวนน้อยก็ตาม สำหรับแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก จึงสร้างฝายเพื่อผันน้ำ ลงมาใช้ในพื้นที่เพาะปลูก...ควรสร้างฝายต้นน้ำลำธารตามร่องน้ำ เพื่อช่วยชะลอกระแสน้ำและกักเก็บน้ำ สำหรับสร้างความชุ่มชื้นให้กับบริเวณต้นน้ำ...” นอกจากโครงการตามแนวพระราชดำริเพื่อพัฒนาต้นน้ำแล้ว ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงริเริ่มโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับน้ำ เกินครึ่งหนึ่งของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการฝนหลวง เกิดขึ้นเมื่อคราวที่เสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อปี 2498 ในคราวนั้นสภาพผืนดินแตกระแหง เพราะฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล จึงเป็นที่มาของแนวพระราชดำริการทำฝนหลวงซึ่งประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ได้แก่ ก่อกวน เลี้ยงให้อ้วน โจมตี ปฏิบัติการเหนี่ยวนำกลุ่มเมฆให้ตกเป็นฝนนี้นำพาความอุดมสมบูรณ์แก่พื้นที่เกษตรกรรมอย่างทั่วถึง การบำบัดน้ำเสียด้วยผักตบชวา บึงมักกะสัน กรุงเทพมหานคร เป็นนำวัชพืชที่ไร้ค่ามาเป็นพืชกรองน้ำเสียในแหล่งน้ำธรรมชาติ แนวพระราชดำรินี้เกิดขึ้นในปี 2528 ด้วยทรงสนพระราชหฤทัยใช้ผักตบชวาในการปรับปรุงคุณภาพของแหล่งน้ำขนาดใหญ่ใจกลางเมือง เช่นที่บึงมักกะสัน เพราะผักตบชวามีคุณสมบัติที่ช่วยบำบัดน้ำเสียได้เป็นอย่างดี นับเป็นวิธีการที่เรียบง่าย ประหยัดและได้ประโยชน์สูงสุดตามหลักการทรงงานโดยแท้จริง โครงการน้ำดีไล่น้ำเสีย กรุงเทพมหานคร เป็นวิธีการบำบัดน้ำเสียโดยอาศัยหลักแรงโน้มถ่วงของโลก ซึ่งถือเป็นการปรับปรุงคุณภาพน้ำที่ต่อยอดจากแนวพระราชดำริเมื่อปี 2528 คือ เป็นวิธีการส่งน้ำคุณภาพดีให้ไหลไปตามคลองต่างๆ ที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำ และเมื่อครบวงรอบการไหลของน้ำแล้ว น้ำดีก็จะผลักดันน้ำเสียออกไป และช่วยเจือจางสภาพของน้ำเน่าเสียได้ โครงการกังหันชัยพัฒนา ในปี 2531 ทรงมีแนวพระราชดำริให้ประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศแบบประหยัดที่เรียกว่า “กังหันน้ำชัยพัฒนา” มาช่วยเติมออกซิเจนให้กับน้ำ และเพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียให้มีคุณภาพดีขึ้น โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่อาว จังหวัดลำพูน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชดำริให้ใช้พื้นที่ลุ่มน้ำแม่อาวให้เกิดการใช้ประโยชน์ จึงได้ทรงส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและเพิ่มผลผลิตการประมงในแหล่งน้ำ ด้วยหวังให้ลุ่มน้ำแห่งนี้เป็นที่ผลิตอาหารให้กับราษฎรและเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วย (อ่านต่อ)