พระราชดำริการบริหารจัดการน้ำ (จบ) โครงการเขื่อนขุนด่านปราการชลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครนายก เป็นเขื่อนคอนกรีตอัดบดที่ยาวที่สุดในประเทศและในโลก สร้างขึ้นตามแนวพระราชดำริในปี 2536 เพื่อบรรเทาความทุกข์ยากของราษฎรที่อาศัยอยู่ตามลุ่มน้ำนครนายก ตลอดจนแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งและดินเปรี้ยว โดยเขื่อนนี้เป็นเสมือนกำแพงช่วยชะลอกระแสน้ำไม่ให้ไหลบ่าเข้าท่วมชุมชนที่อยู่อาศัยและพื้นที่เกษตรกรรมด้วย เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดลพบุรีและจังหวัดสระบุรี เป็นอีกโครงการตามพระราชดำริที่ได้ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 2537 ซึ่งได้ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างเด่นชัด นับเป็นเขื่อนดินที่ยาวที่สุดในประเทศที่ได้ช่วยเก็บกักน้ำและช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง บริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โครงการแก้มลิง เป็นระบบการบริหารจัดการน้ำที่มีหลักการที่พระราชทานไว้เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการใช้บริหารจัดการน้ำ ทั้งแก้ปัญหาภัยน้ำท่วมหลากและเป็นแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ได้ คือ จัดหาคลองเป็นแหล่งพักน้ำตามจุดต่างๆ และใช้วิธีชักน้ำจากพื้นที่ท่วมขังให้ไหลลงสู่คลอง ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นบ่อเก็บน้ำขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า “แก้มลิง”ก่อนจะระบายลงสู่ทะเลต่อไป โดยหลักการนี้ได้ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2538 อย่างชัดเจน โครงการผันน้ำเข้าที่ส่วนพระองค์ บริเวณพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย ทุ่งมะขามหย่อง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นอีกแนวพระราชดำริแหล่งน้ำที่เป็นรูปแบบแก้มลิงได้ก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านการป้องกันน้ำท่วมอย่างมาก ดังเช่นเมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ในปี 2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ผันน้ำเหนือจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าที่ดิน ส่วนพระองค์ในบริเวณทุ่งมะขามหย่อง และชาวบ้านอีกหลายคนก็ได้อนุญาตให้ผันน้ำเข้าทุ่งนาของตนด้วย พูดถึงปัญหาน้ำท่วมเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิตวันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม 2538 ความบางตอนว่า “...น้ำท่วมลงมา ถ้าไม่ทำ "โครงการแก้มลิง" น้ำท่วมนี้จะเปรอะไปหมด อย่างที่เปรอะปีนี้ เปรอะไปทั่วภาคกลาง. จะต้องทำ "แก้มลิง" เพื่อที่จะเอาน้ำนี้ไปเก็บไว้เวลาน้ำทะเลขึ้นไม่สามารถที่จะระบายออก เมื่อไม่สามารถระบายออก. น้ำทะเลก็ขึ้นมา ดันขึ้นไปตามแม่น้ำขึ้นไปเกือบถึงอยุธยา ทำให้น้ำลดลงไปไม่ได้. แล้วเวลาน้ำทะเลลง น้ำที่เอ่อขึ้นมานั้นก็ไม่สามารถที่จะกลับเข้าในแม่น้ำเจ้าพระยา ก็ท่วมต่อไป. จึงต้องมีแก้มลิง เราพยายามที่จะเอาน้ำออกมาเมื่อมีโอกาส. เอาลงมาเหมือนโครงการที่ได้กล่าวถึงเมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่บอกให้ทำที่เก็บน้ำทางฝั่งตะวันออก. ในที่สุดก็สำเร็จพอสมควร เพราะว่าภายในไม่กี่วันน้ำที่อำเภอลาดกระบังก็ลดลง.ที่ลาดกระบังนั้น ท่านผู้ว่าฯ พระนครไปแล้วน้ำขึ้นมาถึงเอว. น่าสงสารท่าน เพราะว่าท่านไปยืนอยู่ข้างปั๊มน้ำ. ยืนที่นั่นพูดโหวกเหวก โว้กเวก จำไม่ได้ว่าท่านพูดอะไร และปั๊มน้ำก็ปั๊ม ปั๊มขึ้นไป แล้วพ่นลงไป. แล้วหารู้ไม่ว่าน้ำนั้นสูบมาจากถนน แล้วพ่นลงไปในคลอง แล้วจากคลองก็กลับมาบนถนน. ท่านก็คงเห็น แต่ท่านไม่กล้าพูด ไม่กล้าพูดว่าน้ำที่สูบนั้นกลับมา. หรือท่านไม่ทราบเพราะเจ้าหน้าที่เขาบอกว่าท่านยืนตรงนี้จะได้รูปสวยๆ มีปั๊มน้ำ. น้ำก็พ่นออกมา แต่แท้จริงน้ำที่พ่นออกมา ไปไหน? ก็กลับมา กลับมาท่วมท่านเอง. หมุนเวียนไป เรียกว่าเวียนเทียนกลับไปกลับมา. ฉะนั้นอย่างนี้ก็ไม่ใช่วิธีที่ควรทำ. สูบน้ำต้องมีประโยชน์ เพราะต้องสิ้นเปลืองพลังงาน เครื่องสูบอันนั้นไม่ทราบว่าใช้พลังงานอะไร คงไม่ใช่ไฟฟ้า คงดีเซล. สูบเป็นดีเซลจะเสียน้ำมันไปเท่าไหร่. แล้วน้ำมันที่เสียไปนั้น เวลาเผาน้ำมันไปมันก็เกิดเป็น "ปฏิกริยาเรือนกระจก" เป็นมลภาวะ. แล้วน้ำนั้นก็ไม่ไปไหน ก็อยู่แถวนั้น. ฉะนั้นเราจึงต้องทำ "แก้มลิง" เพื่อที่จะให้น้ำของลาดกระบังนั้นลงมาคอยอยู่ที่ "แก้มลิง" แล้วสูบออกทะเล จึงทำและรู้สึกว่าจะสำเร็จ เพราะภายในไม่กี่วันเมื่อเริ่มปฏิบัติได้แล้ว น้ำที่ลาดกระบังก็ลดลงไป. ถนนโผล่ขึ้นมา. ถนนที่ท่านอยากจะแก้ไขให้การจราจรไปได้ดี รถก็แล่นได้ ก็มองเห็นว่า ถนนนั้นพังหมด ต้องซ่อม...” โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ คลองลัดโพธิ์ เมื่อปี 2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชดำริให้ใช้คลองลัดโพธิ์ที่ขวางตัวอยู่ในบริเวณส่วนที่แคบที่สุดของแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ตำบลบางกระเจ้า ซึ่งมีลักษณะคดเคี้ยว เพื่อช่วยระบายน้ำที่ท่วมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้ลัดลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด ช่วยลดระยะทางการไหลของน้ำให้สั้นลง เหลือ 600 เมตรจาก 18 กิโลเมตร ประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ จังหวัดนครศรีธรรมราช พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานนาม “อุทกวิภาชประสิทธิ” ไว้เมื่อปี 2542 ซึ่งมีความหมายว่า ความสามารถในการแบ่งแยกน้ำจืดและน้ำเค็มได้สำเร็จ เนื่องด้วยประตูระบายน้ำแห่งนี้ทำหน้าที่ในการกั้นน้ำเค็มไม่ให้รุกเข้าไปในพื้นที่น้ำจืด ในบริเวณลุ่มน้ำปากพนัง และยังช่วยแก้ปัญหาน้ำเปรี้ยวและบรรเทาปัญหาอุทกภัยด้วย น้อมนำแนวพระราชดำริเรื่องการบริหารจัดการน้ำด้วยน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้โดยตระหนักได้อย่างเด่นชัดถึงการที่ทรงให้ความสำคัญทั้งในการต้องมีน้ำปัจจัยสำคัญต่อการเจริญงอกงามของสรรพชีวิต ทั้งต้องบริหารจัดการน้ำให้ดีมิให้เกิดผลกระทบเป็นภัยร้ายแรงแก่ประชาชนมากมายนัก และน้ำดังกล่าวก็น่าจะได้ถูกดำเนินการเก็บกักไว้ใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูกาลที่เหมาะสมด้วย ในช่วงเวลานี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงที่มีความกังวลเพราะกำลังอยู่ในฤดูฝนไม่ว่าจะนำไปสู่ภาวะด้านใดเช่นอุทกภัย หรือจะเกิดการขาดแคลนน้ำในอนาคต แนวพระราชดำริที่พระราชทานไว้น่าจะเป็นหัวใจสำคัญที่ต้องน้อมนำมาศึกษาเรียนรู้เพื่อประยุกต์ใช้ในการบรรเทาปัญหา เพื่อเป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้เราคนในรุ่นปัจจุบันจึงควรศึกษาแนวพระราชดำริเกี่ยวกับน้ำและนำมาใช้เป็นแนวทางในการประพฤติตน ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรในด้านต่างๆ อันรวมถึงทรัพยากรน้ำ ให้สมบูรณ์ต่อไปสืบช่วยลูกชั่วหลานเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลพระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย