นายกฯขีดเส้น 1 เดือน สรุปข้อห่วงใยโครงการคลองระบายน้ำบางบาล-บางไทร ด้านพื้นที่อีสาน มูล-ชี ไม่มีปัญหา แม้พายุขนุนผ่านไทยแล้ว แต่ยังมีผลยังต้องระบายน้ำเขื่อน วันที่ 17 ต.ค.ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงต่อที่ประชุม ครม.ว่า การบริหารสถานการณ์น้ำในพื้นที่อีสานประกอบด้วยแม่น้ำมูล กับแม่น้ำชี ที่แม่น้ำมูลไม่มีปัญหา แต่ที่แม่น้ำชีมีปัญหาเล็กน้อยคือที่เขื่อนอุบลรัตน์ ปัจจุบันปริมาณน้ำที่กักเก็บไว้เต็มความจุของเขื่อนแล้ว จึงจำเป็นต้องระบายน้ำออกมา แม้ว่าพายุขนุนจะไม่ส่งผลต่อประเทศไทยแล้วก็ตาม แต่จะมีผลกระทบจากหย่อมความกดอากาศหลังวันที่15 ตุลาคม แม้ฝนจะไม่ตกหนักมาก แต่ยังมีผล จึงจำเป็นต้องระบายน้ำในเขื่อนออกมา “การระบายน้ำออกมาแบบนี้ทำให้พื้นที่ของลำน้ำชีมีปริมาณน้ำสูงขึ้นเล็กน้อยไม่มากนัก แต่ที่เขื่อนลำปาวปิดไม่ได้ระบายน้ำ วิธีการบริหารจัดการน้ำเช่นนี้จะไม่ทำให้พื้นที่ภาคอีสานได้รับผลกระทบ ส่วนแม่น้ำมูลตอนล่างมีการบริหารจัดการที่สอดคล้องกับแม่น้ำชี โดยให้ระดับความเร่งด่วนในการระบายน้ำในแม่น้ำชีก่อน ดังนั้น พื้นที่ในภาคอีสานจึงไม่มีปัญหา” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า นอกจากนี้ ในวันที่ ครม.สัญจรที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ประชุม ครม.ได้มีการอนุมัติโครงการทำคลองระบายน้ำ บางบาล – บางไทร สามารถระบายน้ำสูงสุด 1,200 ลบ.ม./ ซึ่งหลังจาก ครม.ผ่านความเห็นชอบ มีเสียงติงมาจากบางส่วนว่าทำแล้วจะได้ผลจริงอย่างที่ตั้งวัตถุประสงค์หรือไม่ พล.อ.ฉัตรชัย จึงรับบัญชานายกฯ ว่า จะไปสรุปข้อมูลประเด็นข้อสังเกตและข้อห่วงใยทุกมิติมาพิจารณาให้ระเอียดให้เร็วที่สุดภายใน 3 เดือน ซึ่งนายกฯ ให้เวลาเพียง 1 เดือน หากทุกอย่างลงตัวจะสามารถสร้างได้ในปี 2562 นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอข้อมูลแนวคิดสำหรับบริหารจัดการเพื่อให้สามารถระบายน้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้เร็วขึ้น 2-3 วิธี ซึ่ง พล.อ.ฉัตรชัยก็ได้รับบัญชาจากนายกฯ ไปศึกษาให้รอบด้านเช่นกัน เพราะลำน้ำเจ้าพระยาบางตอนมันคดเคี้ยวกว่าน้ำจะไหลลงมาด้วยความเร็วของน้ำ และด้วยปริมาณน้ำที่มากจะทำให้น้ำเอ่อท่วม 2 ฝั่งได้ จึงพยายามคลองลัดให้เร็วขึ้น โดยโครงการที่ 1.ทำคลองที่ลัดเส้นทางเจ้าพระยาลงสู่อ่าวไทยให้เร็วขึ้น อ้อมทางด้านฝั่งตะวันออกของสนามบินสุวรรณภูมิ คือคลองระบายน้ำควบคู่ถนนวงแหวนรอบที่ 3 ระบายน้ำได้สูงสุด 500 ลบ.ม./วินาที โครงการที่ 2.คลองเชื่อมเพื่อระบายน้ำจากแม่น้ำ ป่าสัก ลงสู่อ่าวไทย ระบายสูงสุด 600 ลบ.ม/วินาที และโครงการที่ 3.ทำอุโมงค์ 3 แห่ง ที่ภาษีเจริญ และราชมนตรี โดยใช้เวลาทั้งหมดภายศึกษาให้เสร็จภายใน 1 เดือน ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ อยากให้ทุกภาคส่วนเปิดใจและมาคุยกัน รัฐบาลไม่ได้ตั้งธงสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ จะคิดแค่เพียงผลกระทบสิ่งแวดล้อมในมิติเดียวไม่ได้