กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์จากยางพาราส่งผลให้มูลค่าการส่งออกมากกว่า 4 หมื่นล้านบาท เป็นอันดับ 1-2 ของโลก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สนองนโยบายประชารัฐส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศเพิ่มขึ้น โดยเร่งทดสอบคุณภาพเครื่องมือแพทย์ทำจากยางพาราที่ผู้ประกอบการส่งตรวจ ช่วยให้ผู้ประกอบการยื่นขอใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองการผลิต เพื่อจำหน่ายในประเทศหรือส่งออกกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อย่างรวดเร็ว นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีการส่งออกถุงยางอนามัยเป็นอันดับ 1 ของโลก เนื่องจากต่างประเทศยอมรับคุณภาพมาตรฐานของถุงยางที่ผลิตในประเทศไทย ซึ่งสิ่งสำคัญ คือ การทดสอบคุณภาพโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และตามที่รัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนให้หน่วยงานทุกภาคส่วนดำเนินการ ใช้ยางพารา สำหรับแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ยางพาราในประเทศให้มากยิ่งขึ้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้พัฒนาการให้บริการทดสอบคุณภาพเครื่องมือแพทย์ที่ทำจากยางพารา เช่น ถุงยางอนามัย ถุงมือสำหรับการตรวจโรค และถุงมือสำหรับการศัลยกรรม ให้รวดเร็วมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยระหว่างปี พ.ศ.2557-2559 ได้รับตัวอย่าง ถุงยางอนามัยและถุงมือแพทย์ รวมทั้งสิ้น 980 ตัวอย่าง มาทำการทดสอบคุณภาพตามวิธีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยทดสอบคุณสมบัติทางกล/กายภาพ ได้แก่ ด้านมิติ (ความกว้าง ความยาว ความหนา) การรั่วซึมน้ำ แรงดึง ความยืดเมื่อขาดและความปราศจากเชื้อ ทั้งนี้จากข้อมูลการให้บริการทดสอบคุณภาพเครื่องมือแพทย์ พบว่า ถุงยางอนามัยมีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน ร้อยละ 100 ส่วนถุงมือสำหรับการตรวจโรคและถุงมือสำหรับการศัลยกรรม ยังคงตรวจพบตัวอย่างไม่เข้ามาตรฐานอยู่บ้าง ประมาณร้อยละ 9 และร้อยละ 7 ตามลำดับ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัญหา ความทนต่อแรงดึงและความยืดตัวของเนื้อยาง รองลงมาคือ การรั่วซึมน้ำ ความยาว ความหนา และความกว้าง จากการตรวจทดสอบคุณภาพโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถไปดำเนินการขอใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองการผลิต เพื่อจำหน่ายในประเทศหรือส่งออกกับ อย. ได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้หากผู้ประกอบการได้รับการรับรองความสามารถของห้องปฏิบัติการทดสอบตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 : 2005 จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว สามารถดำเนินการขอขึ้นบัญชีเป็นหน่วยตรวจสอบกับ อย. และจะสามารถใช้ผลการตรวจสอบคุณภาพของห้องปฏิบัติการผู้ประกอบการเอง ในการยื่นขอใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองการผลิต เพื่อจำหน่ายหรือส่งออกได้เช่นกัน นายแพทย์สุขุม กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการผลิตถุงยางอนามัยในประเทศไทยทั้งสิ้น 7 ราย และการที่มีคุณภาพมาตรฐานถึงร้อยละ 100 ทำให้ในปี พ.ศ.2559 ประเทศไทยครองอันดับ 1ของโลกในการผลิตและส่งออกถุงยางอนามัย มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกประมาณร้อยละ 22 หรือประมาณ 4,894 ล้านบาท ตลาดส่งออกถุงยางอนามัยรายใหญ่ของไทย คือ จีน รองลงมา คือ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย ฮ่องกง และมาเลเซีย สำหรับถุงมือยาง พบว่า มีการผลิตถุงมือยาง 3 ประเภท คือ ถุงมือยางที่ใช้ทางการแพทย์ ถุงมือยางที่ใช้ในงานบ้าน และถุงมือยางที่ใช้ในอุตสาหกรรม โดยมีการผลิตถุงมือดังกล่าวทั้งหมดประมาณ 15,110 ล้านคู่ โดยร้อยละ 98 ผลิตเพื่อการส่งออก และใช้ในประเทศเพียงร้อยละ 2 โดยประเภทถุงมือยาง ที่ประเทศไทยมีการผลิตและส่งออกส่วนใหญ่เป็นถุงมือที่ใช้ทางการแพทย์ (ร้อยละ90 ของถุงมือยางทั้งหมด) โดยส่งออก เป็นอันดับ 2 ของโลก มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 36,465 ล้านบาท โดยส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา เยอรมัน และญี่ปุ่น