ฉลอง 50 ปี วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ "กำจร"แนะอ่านได้ก็ต้องคิดให้เท่าทันด้วย กศน.จัดบรรณสัญจรหนังสือดี 7.2ล้านเล่ม วันที่ 8 ก.ย.59 ที่หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ได้จัดให้มีงานเฉลิมฉลองวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ ประจำปี2559โดย รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัด ศธ. กล่าวว่า ปีนี้ถือเป็นวาระพิเศษเนื่องจากครบรอบ 50 ปี ของการเฉลิมฉลองวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ ตามประกาศขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ที่พยายามผลักดันการรู้หนังสือให้เป็นวาระแห่งโลก ขจัดการไม่รู้หนังสือของประชากรโลกให้หมดไป ซึ่งในส่วนของประเทศไทย รัฐบาลมีความพยายามส่งเสริมการรู้หนังสือของประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยรูปแบบวิธีที่หลากหลาย เพื่อให้คนในชาติตระหนักว่า การรู้หนังสือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต "การรู้หนังสือในปัจจุบันเพียงแค่การอ่านออกเขียนได้ อาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต เพราะอาจตกเป็นเหยื่อของการเสพสื่ออย่างไม่รู้ตัว ก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเองและสร้างปัญหาในสังคม ถึงแม้การอ่านจะช่วยเปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้นก็ตาม แต่ต่อไปนอกจากอ่านออกเขียนได้แล้วต้องมีความเข้าใจและรู้เรื่องสารสนเทศด้วย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เมื่ออ่านแล้วจะต้องทำความเข้าใจ เพราะการทำความเข้าใจในสิ่งที่อ่านนั้น จะทำให้เกิดการคิดวิเคราะห์ ฉะนั้นหากทำได้จะส่งผลให้เด็กรู้เท่าทันเรื่องของโซเชียล ว่า อะไรเชื่อถือได้ หรือเชื่อถือไม่ได้ และมีวิจารณญาณในการใช้สื่อที่ดีขึ้น"ปลัด ศธ.กล่าว นายสุรพงษ์ จำจด เลขาธิการ กศน.กล่าวว่า ในปีนี้สำนักงาน กศน.จัดให้มีการปล่อยคาราวานหนังสือบริจาคตามโครงการบรรณสัญจร (Book Voyage) จำนวน7,241,000 เล่ม เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย ทุกพื้นที่ทั่วประเทศได้มีโอกาสอ่านหนังสืออย่างทั่วถึง ด้าน ดร.ลิปิง หวัง หัวหน้าแผนกนวัตกรรมทางการศึกษาและการพัฒนาทักษะ ผู้แทนยูเนสโก กรุงเทพฯ อ่านสารของ นางอิรินา โบโกวา ผอ.ยูเนสโก ตอนหนึ่งว่า ยังมีผู้ใหญ่ใน 43 ประเทศที่ไม่สามารถอ่านหรือเขียนประโยคง่าย ๆ ได้อีกถึง 758 ล้านคน ซึ่ง 2 ใน 3 ของประชากรดังกล่าวคือสตรี ซึ่งมีแนวโน้มต่อการว่างงาน และได้รับค่าตอบแทนที่น้อยกว่าด้วยเหตุจากการไม่รู้หนังสือ ซึ่งเราต้องทำให้เขาเหล่านั้นมีทักษะรอบด้าน มีสมรรถนะและโอกาสที่จะเป็นทุกสิ่งได้ตามที่ปรารถนา ซึ่งการเรียนรู้หนังสือคือ พื้นฐานแห่งการสร้างอนาคต