พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคตผ่านครบ ๑ ปี หนังสือพิมพ์สยารัฐรายวัน จัดทำหนังสือพิมพ์รายวันฉบับพิเศษ จำนวน ๑๒ วัน ตั้งแต่วันที่ ๑๘-๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๐ เพื่อร่วมถวายความอาลัย ตอนที่ ๑ มหาธรรมราชา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระนามเดิมว่า พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ ต่อมาได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยเป็นสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และหม่อมสังวาลย์ ซึ่งก็ได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธย เป็น สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ในเวลาต่อมา พระองค์เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2470 ณ โรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ทรงมีชื่อเล่นว่า เล็ก หรือ พระองค์เล็ก ทรงเรียกสมเด็จพระราชชนนี หรือสมเด็จย่า อย่างธรรมดาว่า 'แม่' ๐ เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ เมื่อพุทธศักราช 2475 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช เจริญพระชนมายุ 5 พรรษา ได้ทรงเข้ารับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนมาแตร์เดอีถนนเพลินจิต กรุงเทพฯ หมายเลขประจำตัว 449 ขณะนั้น ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งการเมืองในช่วงนั้นได้ผันผวน จนมาถึงเดือนกันยายน 2476 หม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา จึงทรงนำพระธิดาพระโอรส เสด็จฯ ไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทรงรับการศึกษา โดย พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดชทรงเข้ารับการศึกษา ชั้นประถมศึกษา ณ โรงเรียนเมียร์มองต์ ชั้นมัธยมศึกษา ณ โรงเรียนเอโกล นูแวลเดอ ลา สวิส โรมองต์ และโรงเรียนยิมนาส กลาซีคกังโตนาล ตามลำดับ และทรงได้รับประกาศนียบัตรบาเชอลิเย เอ แลทร์ จากการศึกษาดังกล่าวทรงรอบรู้หลายภาษา ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และละติน ต่อจากนั้น ทรงเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษา แผนกวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยโลซานน์ เมื่อครอบครัวมหิดลเดินทางมาถึงโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์ในปี 2476 นั้นได้พำนักอยู่ที่อพาร์ตเมนต์เลขที่ 16 ถนนทิสโซต์ เมื่อพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงรับราชสมบัติ ก็ต้องย้ายไปอยู่ที่ใหม่ ที่เมืองพุยยี่โดยผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ นิวยอร์ก ไทมส์ เขียนถึงที่ประทับว่า เป็นวิลล่าที่ดูธรรมดาๆ ค่อนข้างจะมืดทึมอยู่ในย่านที่ไม่ได้ทันสมัยอะไรของเมืองโลซานน์ แต่เมื่อเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามก็ต้องเรียกพระตำหนักอยู่นั่นเอง และแม้ว่าเพื่อนบ้านแถวนั้นจะรู้ว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่งประทับอยู่ที่นั่นหรือไม่ก็ตาม พระตำหนักนี้ก็ได้รับชื่อใหม่ว่า 'วิลล่าวัฒนา' ตามสร้อยพระนามสมเด็จฯพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า โดยภายในตัวพระตำหนักมีสิบสองห้อง เป็นวิลล่าสองชั้น หลังคามุงกระเบื้องสีแดง มีห้องใต้หลังคาและห้องใต้ดิน เพราะฉะนั้นจึงทำให้พระโอรสพระธิดาสามารถที่จะทรงงานและเล่นได้อย่างสบาย ๐ ช่วงเวลาที่ทรงเรียนรู้ ในเวลานั้น พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (พระอนุชา)ได้ทรงคิดค้นประดิษฐ์สิ่งต่างๆทั้งด้านช่างกลและช่างวิทยุ ทรงต่อโมเดล เครื่องร่อน ขณะที่องค์พระอนุชาทรงเก่งเรื่องเครื่องยนต์กลไกเป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่ทรงแก้จักรเย็บผ้าที่มีปัญหาให้พระพี่เลี้ยงเนื่องได้และทรงทำเครื่องรับวิทยุอย่างง่ายๆ ด้วยพระองค์เองอีกด้วย โดยเฉพาะพื้นที่ของวิลล่าวัฒนา มีเนื้อที่ประมาณ32,000 ตารางเมตร หรือประมาณ 20 ไร่ ในส่วนของบริเวณที่ลาดลงไปจากตัวพระตำหนักเป็นสวนผลไม้มองเห็นทะเลสาบเจนีวาในระยะไกล มีทั้งสวนแอปเปิลเชอร์รี แพร์ พีช และพลัม ซึ่งไม่นานนัก หม่อมสังวาลย์ก็กันส่วนหนึ่งของสวนทำเป็นสวนครัว แล้วลงมือปลูกพืชผักชนิดต่างๆ สำหรับรับประทานภายในบ้าน ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งนี้ พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 และพระอนุชาทรงมีสัตว์เลี้ยง 2-3 ชนิด เช่น หนูตัวใหญ่ หนูตะเภางู โดยสมเด็จพระราชชนนีเองก็ทรงสนับสนุนให้พระราชโอรสทรงมีความรู้กว้างขวางที่สุดเท่าที่จะทรงทำได้แล้วก็ทรงทำให้ทอดพระเนตรเป็นตัวอย่างในหลายเรื่องที่พระองค์เองโปรดด้วย เช่น การสะสมแสตมป์การอ่านหนังสือหลายๆ แนว และการทำสวนทั้งสวนผลไม้และสวนครัว ซึ่งสองอย่างหลังนั้นทรงลงมือทำด้วยพระองค์เอง โดยทรงสวมพระสนับเพลาขาสั้น ทะมัดทะแมง ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 สมเด็จพระราชชนนีทรงจ้างครูคนใหม่มาถวายพระอักษรพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 และสมเด็จพระอนุชา ซึ่งช่วงแรกๆ ช่วยสอนการบ้านเท่านั้น คือ นายเคลออน โอ. เซอรายดาริสเป็นฝรั่งเชื้อสายกรีก อายุประมาณ 30 ปี อพยพมาอยู่สวิตเซอร์แลนด์ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 บ้านของเขาอยู่ใกล้ๆ พระตำหนัก โดยอาศัยอยู่กับภรรยาและลูกชายสองคน ที่อ่อนกว่าศิษย์ทั้งสองพระองค์มาก โดยนายเซอรายดาริสมาถวายพระอักษรที่พระตำหนักวิลล่าวัฒนา และตามเสด็จด้วยเวลาพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 และพระอนุชาเสด็จฯ ไปทรงพักผ่อนตามที่ต่างๆส่วนสมเด็จพระพี่นางนั้นทรงศึกษาอยู่ในเมืองเจนีวา ซึ่งนายเซอรายดาริสทำหน้าที่คล้ายครูประจำบ้านพาพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 และสมเด็จพระอนุชาเสด็จไปทรงจักรยานบ้าง กรรเชียงเรือบ้าง หรือไม่ก็ทรงว่ายน้ำ ทั้งสามช่วยกันต่อรางรถไฟของเล่นที่ห้องใต้หลังคา แล้วนำลังกระดาษมาดัดแปลงเป็นอาคารสโมสรปาตาปุม ที่ปลายสวน ซึ่งที่นั้นจะใช้เป็นสโมสรของเด็กโดยเฉพาะ และเครื่องดื่มก็จะดื่มได้แต่ที่ไม่มีแอลกอฮอล์เท่านั้น ครูและลูกศิษย์สนใจอ่านแมกกาซีนเกี่ยวกับเครื่องยนต์ต่างๆ ทำกระดาษหลายแบบไว้เล่นเอง โดยนายเซอรายดาริสมีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์หลายเรื่องดังนั้นจึงถวายการสอนให้ทั้งสองพระองค์ทรงต่อโมเดลเรือและเครื่องบิน รวมทั้งเครื่องจักร เครื่องยนต์แบบต่างๆ หัดประกอบอุปกรณ์ รวมทั้งหัดทำวิทยุอีก รวมทั้งยังทรงสนพระทัยเรื่องรถยนต์ด้วยเช่นกัน เวลาเสด็จไปไหนๆ ครอบครัวก็จะทรงใช้รถเมอร์เซเดส-เบนซ์คันใหญ่ พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 กับสมเด็จพระอนุชาทรงผูกพันใกล้ชิดกันมาก ในส่วนของสมเด็จพระเชษฐานั้นทรงเคร่งขรึมจริงจัง จึงทำให้สมเด็จพระอนุชาเป็นพระสหายที่รักสนิทของพระองค์เลยทีเดียว ขณะที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ทั้งสองพระองค์นั้นเหมือนฝาแฝด สนิทสนมรักใคร่กันมาก โปรดกันและกันมากกว่าโปรดพระสหายของพระองค์เอง ทรงอยากเล่นกันเองมากกว่าเล่นกับคนอื่น อีกทั้งนายเซอรายดาริสนั้นเป็นช่างไม้ชั้นหนึ่งดังนั้นจึงถ่ายทอดความชอบเรื่องนี้สู่พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 และสมเด็จพระอนุชาด้วย ด้านสมเด็จพระราชชนนี ทรงใช้ชีวิตอยู่แต่ในสถานที่ใกล้ๆ พระตำหนักที่ประทับเท่านั้น ไม่ทรงออกสังคมใดๆ เลย ใครจะมาเฝ้าฯ ก็มาได้เฉพาะวันเสาร์ซึ่งพระโอรส พระธิดา ทรงอยู่พร้อมกัน เพราะไม่ต้องเสด็จฯ ไปโรงเรียน ซึ่งวันหนึ่งทูตญี่ปุ่นมาเฝ้าฯ ที่พระตำหนักโดยมีข้าวมาถวายด้วย ข้าวที่เป็นของขวัญก็ถูกส่งไปบริจาคหลังจากนั้นอย่างเงียบๆ สำหรับครูเซอรายดาริสนั้นจะคอยกราบทูลขอคำปรึกษาจากสมเด็จพระราชชนนี หรือปรึกษานายเอนกราชเลขานุการส่วนพระองค์ ทุกครั้งก่อนจะทำอะไรเกี่ยวกับเจ้านายทั้งสองพระองค์ ส่วนครูสอนดนตรีชาวสวิสเซอร์แลนด์นั้นจะมาถวายการสอนตามตารางเช่นเดียวกับครูสอนภาษาอังกฤษ โดยจะมีพระอาจารย์ชราคนหนึ่งทำหน้าที่ถวายพระอักษรภาษาไทย รวมทั้งถวายการสอนธรรมะด้วย ๐ ปฐมบทการทรงดนตรี ขณะเสด็จฯ ไปทรงพักผ่อนฤดูหนาวโดยการทรงสกีที่เมืองอาโรซา เมื่อปี 2485 นั้น ทุกพระองค์ประทับที่โรงแรมแห่งหนึ่งชื่อโรงแรมคุล์ม ที่นั่นมีการแสดงดนตรีแจ๊ซให้แขกฟังทุกคืน เสียงดนตรีทำให้สมเด็จพระอนุชาทรงหวนรำลึกถึงเพลงที่ทรงเคยฟังจากแผ่นเสียง โดยเครื่องเล่นแผ่นเสียงยี่ห้อวิคโทรล่าที่วังสระปทุม ดังนั้นจึงทรงอยากเรียนทรัมเป็ตบ้าง แต่สมเด็จพระราชชนนีทรงวิตกว่า การเรียนทรัมเป็ตนั้นอาจจะหนักเกินไปสำหรับเด็กดังนั้นเมื่อเสด็จฯ กลับถึงโลซานน์จึงทรงปรึกษาแพทย์ ไม่มีใครรู้ว่าหมอผู้นั้นเห็นพระทัยในความเป็นห่วงของสมเด็จพระราชชนนี หรือมีความเห็นว่าทรัมเป็ตจะเป็นอันตรายต่อช่องปากและช่องคอของเด็กวัยรุ่นจริงๆหมอจึงถวายคำแนะนำสมเด็จเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชให้ทรงหัดแซ็กโซโฟนแทน และเผอิญตอนนั้นเพื่อนบ้านชาวสวิสผู้หนึ่งเล่นแซ็กโซโฟนอยู่ จึงทูลเสนอขายอัลโต้แซ็กโซโฟนมือสองยี่ห้อชตราสเซอร์ มาริโกซ์ และเลอแมร์ เป็นเงิน 300 ฟรังก์สวิส พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 และสมเด็จพระอนุชา ทรงช่วยกันออก 150 ฟรังก์ สมเด็จพระราชชนนีทรงออกส่วนที่เหลือให้ โดยได้ครูที่ถวายการสอนดนตรีในขณะนั้นชื่อ เจ. ไวเบรทช์ ทำงานอยู่ที่ร้านขายเครื่องดนตรีโฟติช แฟรส์ ที่เมืองโลซานน์ และเล่นได้ทั้งอัลโต้ แซ็กโซโฟน และ แคลริเนต เข้ามาถวายการสอนทั้งสองพระองค์ที่พระตำหนักวิลล่าวัฒนา องค์ละครึ่งชั่วโมง โดยได้รับค่าสอน 3 ฟรังก์ต่อครึ่งชั่วโมง ในวันพุธที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2486 ถือเป็นวันสำคัญต่อประวัติศาสตร์การดนตรีของครอบครัวมหิดลนั่นคือพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 และสมเด็จพระอนุชาได้ทรงเริ่มการเรียนดนตรีในห้องทรงพระอักษร พระตำหนักวิลล่าวัฒนา ครูไวเบรทช์นั้นเป็นชายร่างเล็ก ชาวแคว้นอัลซาส พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 ทรงรุนพระอนุชาให้เสด็จเข้าไปเรียนก่อนเป็นองค์แรก ซึ่งการเรียนการสอนก็ผ่านไปอย่างรวดเร็วยิ่ง ครูไวเบรทช์เริ่มต้นด้วยการสอนสมเด็จฯ เจ้าฟ้า ให้ทรงจับแซ็กโซโฟนให้ถูกท่าก่อนเป็นอันดับแรก ต่อไปจึงทรงหัดเป่าเสียงเบสิกทีละเสียง เมื่อหมดเวลาเรียนเสด็จออกมานอกห้อง สมเด็จพระอนุชาก็ทรงพบว่า พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 เสด็จไปไหนเสียแล้วก็ไม่ทราบได้ เพราะทรงเปลี่ยนพระทัย ไม่ทรงอยากเรียนแซ็กโซโฟนเสียแล้วนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตาม อีกสิบวันต่อมา พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ก็เสด็จมาเข้าห้องเรียนดนตรี โดยทรงถือแคลริเนตมาด้วย เป็นของใหม่ ซึ่งทรงซื้อมา 150 ฟรังก์ หลายเดือนต่อจากนั้น ครูไวเบรทช์กับลูกศิษย์ก็พบกันทุกวันพุธและวันอาทิตย์ไม่เคยขาด ทั้งสองพระองค์ทรงคืบหน้าในการเรียนดนตรีตั้งแต่หัดเป่าโน้ตตัวเดียว ไล่บันไดเสียง แล้วก็หัดเป่าไล่เสียงตามคอร์ดดนตรี นอกจากครูไวเบรทช์จะถวายการสอนดนตรีให้แก่สองพระองค์แล้ว ทั้งสามก็เล่นร่วมกัน แคลริเนตหนึ่งตัว แซ็กโซโฟนสองตัว ซึ่งการเรียนดนตรีนั้นถูกพระทัยพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 และสมเด็จพระอนุชามากกว่าการหาความเพลิดเพลินพระทัยแบบอื่นนอกจากนั้นยังได้ทรงเรียนรู้การแต่งเพลงและการเล่นดนตรีแบบเข้าวงควบคู่ไปอีกด้วย ๐ ช่วงเจริญพระชันษา ในปีนั้นเอง พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 ก็เสด็จเข้าทรงศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยโลซานน์ ทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมายส่วนสมเด็จพระอนุชาทรงเข้าเป็นนักเรียนประจำที่โรงเรียนใหม่แห่งภาคสวิตเซอร์แลนด์ที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส ณ เมืองไซยี แต่การเรียนดนตรีกับครูไวเบรทช์ก็ยังคงดำเนินต่อไป โดยทรงเรียนเฉพาะวันหยุดสุดสัปดาห์เท่านั้น และแล้ว เอดวร์ด แฮร์ซุก ครูที่โรงเรียนคนหนึ่งก็มากราบทูลเชิญสมเด็จพระอนุชาให้ทรงร่วมบรรเลงดนตรีในการแสดงคอนเสิร์ตประจำปีของโรงเรียน วงนั้นประกอบด้วยไวโอลิน เซลโล โดยครูแฮร์ซุกเล่นเปียโน ถึงแม้จะทรงเรียนแซ็กโซโฟนได้เพียงเก้าเดือนเท่านั้น รวมทั้งสมเด็จพระอนุชาก็ทรงรับคำเชิญ โดยผู้มาฟังคอนเสิร์ตคือพวกครูในโรงเรียน นักเรียน แล้วก็ครอบครัว วงดนตรีบรรเลงเพลง Die Fledermaus ของโยฮันน์ สเตราส์ ถือเป็นการแสดงดนตรีต่อสาธารณะครั้งแรกในพระชนม์ชีพของสมเด็จเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งในขณะนั้นมีพระชนม์ 16 พรรษา และทรงโซโลอัลโต้ แซ็กโซโฟน ระหว่างประทับอยู่สวิตเซอร์แลนด์นั้น สองพี่น้องจะทรงใช้ภาษาฝรั่งเศส แต่จะใช้ภาษาไทยกับสมเด็จย่าเสมอ ซึ่งทรงได้รับการอบรมให้รู้จัก 'การให้' โดยสมเด็จย่าจะทรงตั้งกระป๋องออมสินเรียกว่า กระป๋องคนจน เอาไว้หากทรงนำเงินไปทำกิจกรรมแล้วมีกำไร จะต้องถูกเก็บภาษี หยอดใส่กระปุกดังกล่าว 10% ทุกสิ้นเดือนสมเด็จย่าจะเรียกประชุมเพื่อถามว่าจะเอาเงินในกระป๋องนี้ไปทำอะไร เช่น มอบให้โรงเรียนคนตาบอด มอบให้เด็กกำพร้าหรือทำกิจกรรมเพื่อคนยากจน ครั้นถึงวันที่ 2 มีนาคม 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศสละราชสมบัติ ทางรัฐบาลจึงกราบทูลอัญเชิญ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ซึ่งสืบสายราชสันตติวงศ์ ลำดับที่ 1 และมีพระชนมายุเพียง 9 พรรษา เสด็จเถลิงถวัลยราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 8 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ซึ่งได้ทรงสถาปนา พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช เป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ทรงสถาปนา หม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา เป็น พระราชชนนีศรีสังวาลย์ และทรงสถาปนา พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยานิวัฒนา เป็น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา อีกทั้ง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ได้โดยเสด็จพระบรมเชษฐาธิราช สมเด็จพระราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ นิวัตพระนคร เป็นครั้งที่ 2 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2481 ประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สวนจิตรลดา เป็นเวลา 2 เดือนแล้วเสด็จฯ กลับไปทรงศึกษาต่อ ณ เมืองโลซานน์ ต่อมาได้เสด็จนิวัตพระนครอีกครั้งเป็นครั้งที่ 3 เมื่อ 5 ธันวาคม2488 ในครั้งนี้ ปวงชนชาวไทยในแผ่นดินที่พระมหากษัตริย์ มิได้ประทับเป็นประมุขยาวนานกว่าสิบปี ต่างปลาบปลื้มปีติชื่นชมโสมนัส ที่ได้ชื่นชมพระบารมีสมเด็จพระยุวกษัตริย์ ซึ่งมีพระชนมพรรษาเพียง 20 พรรษา พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระชนมพรรษา 18 พรรษา ทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินเคียงคู่กันไปทรงเยี่ยมราษฎร ณ ที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง แต่ความชื่นชมโสมนัสนั้นดำรงอยู่มินาน ครั้นถึงวันที่ 9 มิถุนายน 2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ได้เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งบรมพิมานในพระบรมมหาราชวัง ๐ เสด็จขึ้นครองราชย์ ขณะที่พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชพระชนมพรรษา 18 พรรษา ทางรัฐบาลได้กราบบังคมทูลอัญเชิญขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 นั้น ทรงเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และรัฐบาลได้แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการ บริหารราชการแผ่นดินแทนพระองค์ เนื่องจากยังทรงพระเยาว์ และต้องทรงศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2489 ได้เสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อ ณ เมืองโลซานน์ แม้พระองค์จะทรงโปรดวิชาวิศวกรรมศาสตร์ แต่เพื่อประโยชน์ในการปกครองประเทศได้ทรงเปลี่ยนมาศึกษาวิชาการปกครองแทน เช่น วิชากฎหมาย อักษรศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ ภูมิศาสตร์ นอกจากนี้ ทรงศึกษาและฝึกฝนการดนตรีด้วยพระองค์เองด้วย โดยพระราชนิพนธ์บันทึกประจำวันบางส่วนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ระหว่างวันเสด็จฯ จากสยามสู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่พอจะสะท้อนให้เห็นถึงความรักของประชาชนที่พร้อมใจส่งเสด็จอย่างมืดฟ้ามัวดิน วันที่ 19 สิงหาคม พุทธศักราช 2489... "วันนี้ถึงวันที่เราจะต้องจากไปแล้ว พอถึงเวลาก็ลงจากพระที่นั่งพร้อมกับแม่ ลาเจ้านายฝ่ายใน ณ พระที่นั่งชั้นล่างนั้นแล้ว ก็ไปยังวัดพระแก้วเพื่อนมัสการลาพระแก้วมรกต และพระภิกษุสงฆ์ ลาเจ้านายฝ่ายหน้า ลาข้าราชการทั้งไทยและฝรั่งแล้วก็ไปขึ้นรถยนต์" ตลอดทางที่รถพระที่นั่งแล่นผ่านฝูงชนที่มาส่งเสด็จอย่างล้นหลาม ได้ทอดพระเนตรเห็นประชาชนที่แสดงความจงรักภักดี บางแห่งใกล้จนทอดพระเนตรเห็นดวงหน้าและแววตาชัด ที่บ่งบอกถึงความเสียขวัญอย่างใหญ่หลวง ทั้งเต็มไปด้วยความรักและห่วงใยอันเป็นภาพที่ทำให้อยากรับสั่งกับเขาทุกๆ คนถึงความหวังดีที่ทรงเข้าพระทัย และขอบใจเขาเช่นกัน ขวัญของคนเราเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าขาดกำลังใจ ถ้าขวัญเสีย มีแต่ความหวาดระแวง ประเทศจะมีแต่ความอ่อนแอ และแตกสลาย "พอรถแล่นออกไปได้ไม่ถึง 200 เมตร มีผู้หญิงคนหนึ่งเข้ามาหยุดรถแล้วส่งกระป๋องให้เราคนละใบ ราชองครักษ์ไม่แน่ใจว่าจะมีอะไรอยู่ในนั้น บางทีจะเป็นลูกระเบิดเมื่อมาเปิดดูภายหลังปรากฏว่าเป็นทอฟฟี่ที่อร่อยมากโดยตามถนนผู้คนช่างมากมายเสียจริงๆ ที่ถนนราชดำเนินกลาง ราษฎรเข้ามาใกล้จนชิดรถที่เรานั่ง กลัวเหลือเกินว่าล้อรถของเราจะไปทับแข้งทับขาใครเข้าบ้าง" รถแล่นฝ่าฝูงคนไปได้อย่างช้าที่สุด ถึงวัดเบญจมบพิตร รถแล่นเร็วขึ้นได้บ้างตามทางที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงโห่ร้องถวายพระพร ได้ยินเสียงใครคนหนึ่งร้องขึ้นมาดังๆเข้าพระกรรณ ว่า....
"ในหลวง อย่าละทิ้งประชาชน" อยากจะร้องบอกเขาลงไปว่า "ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้า แล้วข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนอย่างไรได้"
เสียงนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พระองค์ท่านทรงนึกถึงประชาชนอยู่ตลอดเวลา จึงได้ทรงพระวิริยอุตสาหะศึกษาเล่าเรียน เพื่อจะได้นำความรู้ ความสามารถ มาพัฒนาประเทศ กลับมาดูแลประชาชนของพระองค์และพระองค์ทรงกลับมา... กลับมาทำสิ่งเหล่านี้... ให้ประชาชนของพระองค์ เป็นที่น่าประหลาดว่า ต่อมาอีกประมาณ 20 ปีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพบชายที่ร้องตะโกนทูลพระองค์ไม่ให้ทิ้งประชาชนนั้นเป็นพลทหาร และในปัจจุบันเขาออกไปทำนาอยู่ในต่างจังหวัด เขากราบบังคมทูลสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ไม่ทรงทิ้งราษฎร เขาทูลว่าตอนที่เขาร้องไปนั้น... เขารู้สึกว้าเหว่และใจหาย ที่เห็นพระเจ้าแผ่นดินเสด็จฯ ไปจากเมืองไทย กลัวจะไม่เสด็จฯ กลับมาอีก เขาดีใจมากที่ได้เฝ้าฯ อีก กราบบังคมทูลถามว่า... "ท่านคงจำผมไม่ได้ ผมเป็นคนร้องไม่ให้ท่านทิ้งประชาชน" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชรับสั่งถามว่า "เราน่ะรึที่ร้อง" "ใช่ครับ ตอนนั้นเห็นหน้าท่านเศร้ามาก กลัวจะไม่กลับมา จึงร้องไปเหมือนคนบ้า" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงตอบ "นั่นแหละ ทำให้เรานึกถึงหน้าที่ จึงต้องกลับมา" ใน พ.ศ.2491 ระหว่างทรงศึกษาอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงขับรถยนต์ไปทรงร่วมงานที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส ได้ทรงพบและมีพระราชหฤทัยสนิทเสน่หาใน หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาของ หม่อมเจ้านักขัตมงคล กิติยากรเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงปารีส ในปีเดียวกันนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์อย่างรุนแรง ทรงบาดเจ็บที่พระพักตร์ พระเนตรขวา และพระเศียร ทรงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมอร์เซส์โดยโปรดฯ ให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์มาเฝ้าฯ ถวายการดูแลอย่างใกล้ชิด จึงทำให้พระสัมพันธภาพแน่นแฟ้นขึ้นและต่อมาได้ทรงหมั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2492 โดยได้พระราชทานพระธำมรงค์วงที่สมเด็จพระบรมราชชนกหมั้นสมเด็จพระราชชนนี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงได้รับการอภิบาลอย่างดียิ่งจากสมเด็จพระราชชนนี จึงมีพระปรีชาสามารถปราดเปรื่อง และมีพระจริยวัตรเปี่ยมด้วยคุณธรรมทุกประการ ซึ่งน้อมนำให้พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงดำรงสิริราชสมบัติเพียบพร้อมด้วยทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตรธรรมและราชสังคหวัตถุ ทรงเจริญด้วยพระเกียรติคุณบุญญาธิการเจิดจำรัสทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งปวงเพื่อประโยชน์สุขของปวงชน เป็นที่แซ่ซ้องสรรเสริญทุกทิศานุทิศในเวลาต่อมา ตราบจนปัจจุบัน ๐ พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2493 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ระหว่างวันที่ 28-30 มีนาคม 2493 และเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2493 ทรงประกอบพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ที่วังสระปทุม โดยสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระราชทานหลั่งน้ำพระมหาสังข์ ทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายเช่นเดียวกับประชาชน ได้ทรงสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ขึ้นเป็น พระราชินีสิริกิติ์ หลังจากนั้น ได้เสด็จฯ ไปประทับพักผ่อน ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน และที่นี่เป็นแหล่งเกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริโครงการแรกคือ พระราชทานถนนสายห้วยมงคล ให้แก่ ลุงรวย และชาวบ้านที่มาช่วยกันเข็นรถพระที่นั่งขึ้นจากหล่มดิน เพราะแม้ห้วยมงคลจะอยู่ห่างจากอำเภอหัวหินเพียง 20 กิโลเมตรแต่ไม่มีถนนหนทาง ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนในการดำรงชีวิตมาก ถนนสายห้วยมงคลนี้จึงเป็นถนนสายสำคัญที่นำไปสู่โครงการในพระราชดำริ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่พสกนิกรอีกตราบวันนี้ จำนวนมากกว่า4,500 โครงการ ๐ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณขัตติยราชประเพณี ณพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง เฉลิมพระปรมาภิไธยตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร และได้พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการเป็นสัจวาจาว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม" ในการนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศ สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ พระอัครมเหสี เป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีและวันที่ 5 มิถุนายน 2493 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จฯ พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้ง เพื่อทรงรักษาพระสุขภาพ และเสด็จนิวัติพระนคร เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2494 ประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และพระที่นั่งอัมพรสถาน ทั้งสองพระองค์มีพระราชธิดา และพระราชโอรส 4 พระองค์ ดังนี้ 1.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประสูติเมื่อ 5 เมษายน 2494 ณ โรงพยาบาลมองซัวนี่ โลซานน์ 2.สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ประสูติเมื่อ 28 กรกฎาคม 2495 ณพระที่นั่งอัมพรสถาน ทรงได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อ 28 กรกฎาคม 2515 และเสด็จขึ้นทรงราชย์เป็น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2560 3.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ประสูติเมื่อ 2 เมษายน2498 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ภายหลังทรงได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารีเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2520 4.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประสูติเมื่อ 4 กรกฎาคม 2500 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ๐ ทรงพระผนวช เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2499 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงจำพรรษา ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร ปฏิบัติพระศาสนกิจ เป็นเวลา 15 วัน ระหว่างนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระ องค์ต่อมาจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลนี้ ได้ทรงพระกรุณาสถาปนาพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมชนกนาถ ขึ้นเป็น สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงสถาปนาสมเด็จพระราชชนนี เป็น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงสถาปนา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เป็น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์และทรงประกอบพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ใหม่ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน2539 เพื่อให้สมพระเกียรติตามโบราณขัตติยราชประเพณี ทั้งนี้ ด้วยพระจริยวัตรอันเปี่ยมด้วยพระกตัญญูกตเวทิตาธรรม อันเป็นที่แซ่ซ้องสรรเสริญ พระปรมาภิไธยใหม่ที่ ทรงสถาปนาคือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลอดุลยเดชวิมลรามาธิบดี จุฬาลงกรณราชปรียวรนัดดามหิตลานเรศวรางกูร ไอศูรยสันตติวงศวิสุทธ์ วรุตมขัตติยศักตอรรคอุดม จักรีบรมราชวงศนิวิฐ ทศพิธราชธรรมอุกฤษฏนิบุณ อดุลยกฤษฎาภินิหารรังสฤษฎ์ สุสาธิตบูรพาธิการ ไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ ธัญอรรคลักษณวิจิตร โสภาคย์สรรพางค์ มหาชโนตมงคประณตบาทบงกชยุคล อเนกนิกรชนสโมสรสมมต ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัตินพปฎล เศวตฉัตราดิฉัตร สรรพรัฐทศทิศวิชิตไชย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวไศรย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ วิศิษฏศักตอัครนเรศรามาธิบดี พระอัฐมรามาธิบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ปวงชนชาวไทยต่างมีความจงรักภักดี เทิดทูนพระองค์เป็นที่ยิ่งดังปรากฏเป็นที่ประจักษ์ในการแสดงออกถึงการเทิดทูนอย่างพร้อมเพรียงกันทั้งประเทศในวโรกาสมหามงคลต่างๆ ด้วยเพราะสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขแก่ปวงชนชาวไทยโดยมิได้ทรงคำนึงถึงความเหนื่อยยากพระวรกาย ทรงตระหนักอยู่ในพระราชหฤทัยว่าทุกข์ของราษฎรคือทุกข์ของพระองค์ที่ทรงได้ตั้งพระราชหฤทัยกำจัดทุกข์ให้หมดไปสร้างประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นมาแทนแก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชานุมัติหมายกำหนดการ พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ระหว่าง วันพฤหัสบดีที่8-วันอังคารที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2549 สำหรับวันพฤหัสบดีที่ 8 มิถุนายน พุทธศักราช2549 พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทาน เวลา 17.00 นาฬิกา ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย มไหยสูรยพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวังพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนิน ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทาน ถวายพระบรมอัฐิสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปยัง พระบรมมหาราชวัง เข้าทางประตูวิเศษไชยศรี เทียบรถยนต์พระที่นั่งที่หน้าพระทวารเทเวศรรักษา เวลา 17.00 นาฬิกา เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงจุดธูปเทียน เครื่องนมัสการบูชา พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร ของ พระบรมอัฐิ ที่ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งบุษบกมาลามหาพิมานแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงจุดธูปเทียน เครื่องราชสักการะแล้วถวายบังคมพระโกศพระบรมอัฐิ สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ประกอบด้วย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร อีกทั้ง พระโกศพระบรมอัฐิ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินี และสมเด็จพระบรมราชเทวีประกอบด้วย สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี สมเด็จพระศรีสุลาลัย สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ส่วนพระโกศพระบรมอัฐิ สมเด็จพระบรมราชชนก และสมเด็จพระบรมราชชนนี ประกอบด้วย สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ประดิษฐานบนพระราชบัลลังก์ (พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์) ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร แวดล้อมด้วยเครื่องบรมราชอิสริยราชูปโภค ต้นไม้ทอง ต้นไม้เงิน รวมทั้งทรงประกอบพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย มไหยสูรยพิมาน พระบรมมหาราชวัง ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงประเคนพัดรองที่ระลึก พระราชกุศลทักษิณานุประทานแด่สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะที่จะสวดพระพุทธมนต์ และพระราชาคณะที่จะถวายพระธรรมเทศนา รวม 26 รูป จากนั้น พระสงฆ์25 รูป สวดพระพุทธมนต์ จบแล้วพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงจุดธูปเทียน เครื่องทรงธรรม พระราชาคณะ ถวายพระธรรมเทศนากัณฑ์หนึ่งจบแล้ว ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมกัณฑ์เทศน์แล้ว ทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์ทั้งนั้นสดับปกรณ์พระบรมอัฐิ สมเด็จพระบรมราชบูรพการี ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินไปประทับรถยนต์พระที่นั่งที่พระทวารเทเวศรรักษา เสด็จพระราชดำเนินกลับพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต วันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน 2549 และพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช เวลา 10.19 นาฬิกา ณ พลับพลาพิธี พระที่นั่งชุมสาย บริเวณข้างพระที่นั่งอนันตสมาคม พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ เสด็จฯ ในพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ในการนี้ คุณพลอยไพลิน และ คุณสิริกิติยา เจนเซน โดยเสด็จฯด้วย เวลา 10.19 นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พลับพลาพิธี โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชา พระพุทธปฏิมาปางประจำรัชกาล สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช เสร็จแล้วพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงประเคนพัดรองที่ระลึก พระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช แด่สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ 10 รูปแล้วประทับพระราชอาสน์ ทรงศีล สมเด็จพระราชาคณะถวายศีล จบแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระที่นั่งชุมสาย ที่ตั้งเครื่องบวงสรวง บริเวณด้านหน้าพลับพลาพิธี ทรงแปรพระพักตร์สู่ปราสาทพระเทพบิดร และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงจุดธูปเทียน เครื่องราชสักการะ บวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช โหรหลวงลั่นฆ้องชัย พราหมณ์เป่าสังข์ ภูษามาลาแกว่งบัณเฑาะว์ ชาวพนักงานประโคมแตรดุริยางค์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถประทับพระราชอาสน์ที่มุขหน้าพลับพลาพิธี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชครูวามเทพมุนี หัวหน้าพราหมณ์ อ่านประกาศบวงสรวง ในขณะนั้น ผู้ที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาททุกหมู่เหล่า ยืนประนมมือ แสดงคารวบูชา ผินหน้าไปทางพระที่นั่งชุมสาย เมื่อพระราชครูวามเทพมุนีอ่านประกาศบวงสรวงจบ โหรหลวงลั่นฆ้องชัย พราหมณ์เป่าสังข์ ภูษามาลาแกว่งบัณเฑาะว์ชาวพนักงานประโคมแตรดุริยางค์ จบแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม แด่สมเด็จพระราชาคณะ และพระราชาคณะ เสร็จแล้ว ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายพระพรชัยมงคลคาถาพิเศษ ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา เสร็จแล้ว พระสงฆ์ออกไปรับพระราชทานฉัน ที่ตำหนักสวนบัวเปลว ภายในพระที่นั่งวิมานเมฆ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินขึ้นยังท้องพระโรง พระที่นั่งอนันตสมาคม ในเวลา 11.29 นาฬิกา ณ สีหบัญชร ระเบียงหน้า พระที่นั่งอนันตสมาคม โดยมีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร กราบบังคมทูลพระกรุณา ถวายพระพรชัยมงคล แทนพระบรมวงศานุวงศ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จฯ ออกมหาสมาคม ทรงรับการถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 60 ปี นับตั้งแต่ พ.ศ.1872 นับเป็นพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 60 ปี ครั้งแรกของไทย และในเวลา 11.29 น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ ออกสีหบัญชร มุขด้านทิศใต้ชาวพนักงาน กระทั่งมโหระทึก ประโคมแตรฝรั่ง ทหารกองเกียรติยศ 3 เหล่าทัพ ถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ทหารบก ทหารเรือทหารอากาศ และตำรวจ ยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติฝ่ายละ 20 นัด พระสงฆ์ทั่วราชอาณาจักร เจริญชัยมงคลคาถา ย่ำฆ้องกลองระฆัง พร้อมกับการประกอบพิธีกรรมของศาสนาอื่นๆ โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเปิดกรวยกระทงดอกไม้ธูปเทียนแพแล้วกราบบังคมทูลพระกรุณา ถวายพระพรชัยมงคลแทนพระบรมวงศานุวงศ์ จากนั้น เสด็จพระ ราชดำเนินไปเฝ้าฯ ณ ท้องพระโรง พระที่นั่งอนันตสมาคม จากนั้น ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดกรวยกระทงดอกไม้ธูปเทียนแพ แล้วกราบบังคมทูลพระกรุณาถวายพระพรชัยมงคล แทนคณะรัฐมนตรี ข้าราชการทหาร-พลเรือน และราษฎรทุกหมู่เหล่า ขณะที่ นายสุชน ชาลีเครือ รักษาการประธานวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภา เปิดกรวยกระทงดอกไม้ธูปเทียนแพ แล้วกราบบังคมทูลพระกรุณา ถวายพระพรชัยมงคล แทนสมาชิกรัฐสภา นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา เปิดกรวยกระทงดอกไม้ธูปเทียนแพ แล้วกราบบังคมทูลพระกรุณาถวายพระพรชัยมงคล แทนข้าราชการตุลาการ จบแล้ว ทหารกองเกียรติยศ 3 เหล่าทัพ ถวายความเคารพ จากนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำรัสตอบ จบแล้ว ชาวพนักงาน กระทั่งมโหระทึก ประโคมแตรฝรั่ง ทหารกองเกียรติยศ 3 เหล่าทัพถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี พสกนิกรกล่าวถวายพระพรกึกก้องลานพระราชวังดุสิต พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถประทับ ณ สีหบัญชร สักครู่ แล้วจึงเสด็จเข้าไปในท้องพระโรง พระที่นั่งอนันตสมาคม จากนั้นจึงเสด็จฯ กลับพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ในวันเสาร์ที่ 10 มิถุนายน 2549 ทรงประกอบพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน พระบรมมหาราชวังเวลา 17.00 นาฬิกา ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระบรมมหาราชวัง เข้าทางประตูวิเศษไชยศรี เทียบรถยนต์พระที่นั่งหน้าพระทวารเทเวศรรักษา เวลา 17.00 นาฬิกา เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงประเคนสัญญาบัตร พัดยศ แด่พระสงฆ์ซึ่งได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ใหม่ ตามลำดับ จำนวน 69 รูป ในขณะนั้น พระสงฆ์ 10 รูป เจริญชัยมงคลคาถาชาวพนักงานประโคมสังข์ แตร ดุริยางค์ ปี่ กลองชนะและปี่พาทย์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ถวายอนุโมทนา สมเด็จพระราชาคณะถวายอดิเรก ออกจากพระที่นั่งฯ เจ้าพนักงาน กองศาสนูปถัมภ์ กรมการศาสนา นิมนต์พระสงฆ์ 99 รูป ที่จะเจริญพระพุทธมนต์ ในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 60 ปี ขึ้นนั่งยังอาสน์สงฆ์ พร้อมแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงจุดธูปเทียน เครื่องนมัสการ บูชา พระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ ประจำรัชกาลแห่งพระองค์ ที่ประดิษฐานบนพระที่นั่งบุษบกมาลามหาพิมาน แล้วทรงประเคนพัดรองที่ระลึก พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติ ครบ60 ปี แด่สมเด็จพระราชาคณะ ประธานสงฆ์ จากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงประเคนพัดรองที่ระลึกฯ แด่สมเด็จพระราชาคณะ และพระราชาคณะ จนครบ99 รูป เสร็จแล้ว ทรงศีล พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 60 ปี จบแล้วพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม แด่สมเด็จพระราชาคณะ ประธานสงฆ์แล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม แด่สมเด็จพระราชาคณะ และพระราชาคณะ จนครบ 99 รูป ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา สมเด็จพระราชาคณะ นำถวายพระพรชัยมงคลคาถาพิเศษ ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา ออกจากพระที่นั่งฯโดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงจุดธูปเทียน เครื่องทองน้อย บูชาเทพยดารักษาพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ที่ประดิษฐานบนพระราชบัลลังก์ ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ตกแต่งต้นไม้ทอง ต้นไม้เงิน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พราหมณ์ และโหรหลวง เบิกแว่นเวียนเทียน เสด็จออกทรงรับพระประมุขต่างประเทศที่เสด็จฯมาทรงร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา ข้าราชการทหาร-พลเรือน รับแว่นเวียนเทียนสมโภชฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 60 ปี ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัยสังข์ แตร ดุริยางค์ เวียนเทียนครบ 3 รอบแล้ว พระราชครูวามเทพมุนี หัวหน้าพราหมณ์ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายน้ำเทพมนตร์ แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ แล้วทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายใบสมิต แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สำหรับปัดพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระสุหร่ายเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ พระราชลัญจกรประจำรัชกาล และพระราชลัญจกรประจำพระองค์ ที่ประดิษฐานบนพระราชบัลลังก์ เช่นเดียวกันเสร็จแล้วเสด็จพระราชดำเนินไปประทับรถยนต์พระที่นั่ง ที่พระทวารเทเวศรรักษา เสด็จพระราชดำเนินกลับพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต วันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน 2549 กระบวนเรือพระราชพิธีถวายพระพรชัยมงคล โดยเวลา 13.39 นาฬิกาณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พิธีทอดพระเนตรกระบวนเรือพระราชพิธี เวลา 17.30 นาฬิกา ณ ราชนาวิกสภาพิธีเปิดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติด้านการพัฒนาเวลา 18.30 นาฬิกา ณ หอประชุมกองทัพเรือ วันอังคารที่ 13 มิถุนายน 2549 พระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำแด่พระประมุขต่างประเทศ ณพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร พิธีพระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำแด่สมเด็จพระราชาธิบดี สมเด็จพระราชินี และผู้แทนพระประมุข เวลา 19.30 นาฬิกา ณท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ และพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร ทั้งนี้พระราชอาคันตุกะในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีมีประเทศที่มีสมเด็จพระราชาธิบดี และสมเด็จพระราชินี ตอบรับคำกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทย ของรัฐบาลไทย เพื่อร่วมถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวโรกาสนี้อย่างเป็นทางการ จำนวน 25 ประเทศ โดยมีสมเด็จพระราชาธิบดี และสมเด็จพระราชินี ที่จะเสด็จฯ มาด้วยพระองค์เอง เป็นจำนวน 13 ประเทศ นับเป็นการชุมนุมของพระประมุขจากประเทศต่างๆ มากที่สุดในโลก ตอนที่ ๒ ตามรอยพระบาทในหลวง ประทับลงบนผืนแผ่นดินไทย Download:: สยามรัฐฉบับพิเศษ ตอนที่ ๑ มหาธรรมราชา