กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนที่เก็บหรือซื้อเห็ดป่ามาปรุงอาหารเพื่อรับประทาน ให้ระมัดระวังอาจเป็นเห็ดพิษ และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ โดยในปีนี้พบผู้ป่วยแล้ว 1,093 ราย เสียชีวิต 5 ราย ในสัปดาห์นี้มีผู้เสียชีวิตจากการรับประทานเห็ดพิษ 2 ราย แนะหากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าจะเป็นเห็ดพิษ ไม่ควรเก็บมาปรุงอาหาร พร้อมหลีกเลี่ยงการกินเห็ดร่วมกับดื่มสุรา วันนี้ 20 ต.ค. นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้หลายพื้นที่ยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีเห็ดป่าในธรรมชาติขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะพื้นที่เดิมที่เคยเก็บเห็ดป่า ประชาชนจึงนิยมเก็บหรือซื้อเห็ดป่ามาปรุงอาหารเพื่อรับประทาน โดยเฉพาะประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ซึ่งแต่ละปีจะพบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากการกินเห็ดพิษที่ขึ้นเองตามธรรมชาติเป็นประจำ สาเหตุเพราะเข้าใจผิด เนื่องจากเห็ดป่ามีทั้งเห็ดที่กินได้และเห็ดพิษ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก จากข้อมูลเฝ้าระวังโรค สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในปีนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-13 ต.ค. 2560 พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดพิษแล้ว 1,093 ราย เสียชีวิต 5 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 45-54 ปี รองลงมาคือ 65 ปีขึ้นไป และ 55-64 ปี ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรก คือ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และสุรินทร์ ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือภาคเหนือ จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค ในสัปดาห์นี้มีรายงานผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดพิษ ในจังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 4 ราย เสียชีวิต 2 ราย (เสียชีวิตที่บ้าน 1 ราย เสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 ราย) อาการป่วยเล็กน้อย 2 ราย เป็นบุคคลในครอบครัวเดียวกัน รับประทานแกงเห็ดป่า ซึ่งเป็นเห็ดที่เก็บมาจากป่าในชุมชน โดยผู้ป่วยให้ข้อมูลว่ารับประทานเห็ดคล้ายเห็ดผึ้ง นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า เห็ดที่พบในป่ามีทั้งเห็ดที่กินได้และเห็ดพิษ ชนิดที่เป็นพิษจะมีเมือกปกคลุมและมีสีดอกเข้มกว่า ซึ่งยากแก่การสังเกตด้วยตาเปล่า เพราะมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก โดยเฉพาะเห็ดผึ้งท้องรุที่มีลักษณะคล้ายกับเห็ดผึ้งหรือเห็ดเผิ่ง(ภาษาอีสาน) พบมากในป่าแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ นอกจากนี้ ยังมีเห็ดป่าที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต คือเห็ดในกลุ่มเห็ดระโงก ทั้งนี้ ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ทดสอบความเป็นพิษของเห็ด เช่น การจุ่มช้อนเงินลงไปในหม้อต้มเห็ด การนําไปต้มกับข้าวสาร หรือใช้ปูนกินหมากป้ายที่ดอกเห็ด ถ้าเป็นเห็ดพิษจะกลายเป็นสีดำ เป็นต้น วิธีเหล่านี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการอ้างอิงในการใช้ทดสอบพิษกับเห็ดกลุ่มนี้ได้ โดยเฉพาะเห็ดระโงกพิษที่มีสารที่ทนต่อความร้อน แม้จะปรุงให้สุกแล้ว เช่น ต้ม แกง ก็ไม่สามารถทำลายสารพิษนั้นได้ อาการหลังจากกินเห็ดพิษแล้ว จะทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือถ่ายอุจจาระเหลว ไม่ควรซื้อยากินเองหรือไปรักษากับหมอพื้นบ้าน จะต้องรีบไปพบแพทย์ และแจ้งประวัติการกินเห็ดโดยละเอียด พร้อมกับนำตัวอย่างเห็ดพิษไปด้วย(หากยังเหลืออยู่) และควรให้ผู้ป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือนัดติดตามอาการทุกวันจนกว่าจะหายเป็นปกติ เนื่องจากเห็ดพิษชนิดร้ายแรงจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนในช่วงวันแรก แต่หลังจากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงตามมาคือ การทำงานของตับและไตล้มเหลว อาจทำให้เสียชีวิตได้ สำหรับการช่วยเหลือผู้ป่วยที่กินเห็ดพิษเบื้องต้น ให้ผู้ป่วยอาเจียนเอาเศษอาหารที่ตกค้างออกมาให้มากที่สุด โดยการล้วงคอ หรือกรอกไข่ขาว จากนั้นรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที ขอเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงการเก็บเห็ดไข่ห่าน เห็ดโม่งโก้ง เห็ดระโงก หรือเห็ดระงาก ขณะที่ยังเป็นดอกอ่อนหรือดอกตูม ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนกลมรี คล้ายไข่ มารับประทาน เนื่องจากไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นเห็ด มีพิษหรือไม่มีพิษ เพราะลักษณะภายนอกของดอกตูมจะเหมือนกัน ที่สำคัญหากไม่แน่ใจ ไม่รู้จัก หรือสงสัยว่าจะเป็นเห็ดพิษ ก็ไม่ควรเก็บหรือซื้อมาปรุงอาหาร รวมถึงหลีกเลี่ยงการกินเห็ดพร้อมกับดื่มสุรา เพราะฤทธิ์จากแอลกอฮอล์จะทำให้พิษเห็ดแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และทำให้อาการรุนแรงขึ้นด้วย หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422