ดร.อรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เปิดเผยว่า นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และตน ได้เข้าหารือกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ณ ห้องประชุมกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนทั้งในระบบและนอกระบบ โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนที่ดำเนินกิจการได้ด้วยการเก็บเงินค่าธรรมเนียมการศึกษา และค่าธรรมเนียมอื่น โดยมีผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้าร่วมรับฟังและเข้าร่วมหารือด้วย ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้นำเสนอถึงปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินของโรงเรียนเอกชนทั้งในระบบและนอกระบบ ตลอดจนข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำของโรงเรียนเอกชน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เห็นชอบในหลักการให้โรงเรียนเอกชนที่เก็บเงินค่าธรรมเนียมการศึกษา/ค่าธรรมเนียมอื่น ได้แก่ โรงเรียนเอกชนที่รับเงินอุดหนุน 70% โรงเรียนเอกชนที่ไม่รับเงินอุดหนุนทั้งประเภทสามัญ โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนเอกชนนอกระบบประเภทวิชาชีพ โรงเรียนเอกชนนอกระบบประเภทศิลปะและกีฬา โรงเรียนเอกชนนอกระบบประเภทสร้างเสริมทักษะชีวิต สามารถเข้าสู่มาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) และมอบหมายให้ทาง สช. ไปหารือในรายละเอียดกับผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย ตลอดจนสำรวจความต้องการสินเชื่อดังกล่าว สาระสำคัญของสินเชื่อฟื้นฟู คือ ให้กู้ได้ไม่เกินรายละ 20 ล้านบาท ดอกเบี้ย 2% ระยะเวลา 6 เดือนแรก รัฐบาลจะช่วยเหลือด้วยการจ่ายดอกเบี้ยแทน และให้ บสย. เข้ามาค้ำประกันสินเชื่อ ฯลฯ ทั้งนี้ โรงเรียนเอกชนที่สนใจ สามารถศึกษารายละเอียดล่วงหน้า และขณะนี้ตนกำลังประสานกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อนัดประชุมชี้แจงผ่านระบบ Zoom และจะดำเนินการสำรวจผู้สนใจเข้าร่วมโครงการในเร็ว ๆ นี้ โรงเรียนใด หรือท่านใดที่สนใจ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bot.or.th/covid19/content/sme/Pages/fin-rehab.aspx