พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคตผ่านครบ ๑ ปี หนังสือพิมพ์สยารัฐรายวัน จัดทำหนังสือพิมพ์รายวันฉบับพิเศษ จำนวน ๑๒ วัน ตั้งแต่วันที่ ๑๘-๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๐ เพื่อร่วมถวายความอาลัย ตอนที่ ๒ ตามรอยพระบาทในหลวง ประทับลงบนผืนแผ่นดินไทย ตั้งแต่พุทธศักราช 2502 เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงกระชับสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ ทั้งในยุโรปอเมริกา ออสเตรเลีย และเอเชีย อีกทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่างๆ โดยทรงประจักษ์ถึงปัญหาของราษฎรในชนบทที่ดำรงชีวิตด้วยความยากจน ลำเค็ญ และด้อยโอกาส จึงทรงมีพระวิริยอุตสาหะ หาทางแก้ปัญหาตลอดมาตราบเสด็จสวรรคต ๐ ทรงขจัดทุกข์ยากนำความผาสุก อาจกล่าวได้ว่า ทุกหนทุกแห่งบนผืนแผ่นดินไทยที่รอยพระบาทได้ประทับลง ได้ทรงขจัดทุกข์ยากนำความผาสุก และทรงยกฐานะความเป็นอยู่ของราษฎร ให้ดีขึ้นด้วยพระวิริยอุตสาหะ ด้วยพระบุญญาธิการ และพระปรีชาสามารถปราดเปรื่อง อันเกิดจากพระราชหฤทัยที่ทรงมีพระเมตตาต่อราษฎรของพระองค์อย่างที่สุด พร้อมด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล ทรงอุทิศพระองค์เพื่อประโยชน์สุขของราษฎร และเพื่อความเจริญพัฒนาของประเทศชาติตลอดระยะเวลาโดยมิได้ทรงคำนึงประโยชน์สุขส่วนพระองค์เลย โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานโครงการนานัปการมากกว่า 4,500 โครงการ ทั้งการแพทย์สาธารณสุข การเกษตร การชลประทาน การพัฒนาที่ดิน การศึกษา การพระศาสนา การสังคมวัฒนธรรม การคมนาคม ตลอดจนการเศรษฐกิจ เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรในชนบท ทั้งยังทรงขจัดปัญหาทุกข์ยากของประชาชนในชุมชนเมือง เช่น ทรงแก้ปัญหาการจราจร อุทกภัย และปัญหาน้ำเน่าเสีย ในปัจจุบัน ได้ทรงริเริ่มโครงการการช่วยสงเคราะห์และอนุรักษ์ช้างของไทยอีกด้วย สำหรับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นำเสนอแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในการฟื้นฟูพัฒนาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งการจัดการปัญหาทรัพยากรดิน การรณรงค์ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝก การบริหารจัดการน้ำ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเสีย การลดสภาวะโลกร้อนโครงการอนุรักษ์พื้นที่ป่า การแสวงหาทางเลือกด้วยพลังงานทดแทน ซึ่งล้วนแต่เป็นพระราชดำริที่พระราชทานวิธีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างถูกต้อง เหมาะสม และสมดุลตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ได้สร้างคุณประโยชน์ต่อประชาชน รวมไปถึงประเทศชาติ รวมทั้งสภาวะแวดล้อมของโลกอย่างอเนกอนันต์
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงตรากตรำพระวรกายทรงงานอย่างมิทรงเหน็ดเหนื่อยแม้ในยามทรงพระประชวร ก็มิได้ทรงหยุดยั้งพระราชดำริเพื่อขจัดความทุกข์ผดุงสุขแก่พสกนิกร กลางแดดแผดกล้าพระเสโทหลั่งชุ่มพระพักตร์และพระวรกาย หยาดตกต้องผืนปฐพี ประดุจน้ำทิพย์มนต์ ชโลมแผ่นดินแล้งร้าง ให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์ นับแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชย์ตราบจนปัจจุบันนานกว่า 70 ปีแล้ว
แม้ในยามประเทศประสบภาวะเศรษฐกิจ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2539 เป็นต้นมา ก็ได้พระราชทานแนวทางดำรงชีพแบบเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ ให้ราษฎรได้พึ่งตนเอง ใช้ผืนแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประกอบอาชีพอยู่กินตามอัตภาพ ซึ่งราษฎรได้ยึดถือปฏิบัติเป็นผลดีอยู่ในปัจจุบัน ๐ ทุนของชีวิตจากที่ดินทำกินพระราชทาน โครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นอกจาก "น้ำคือชีวิต" แล้ว "ที่ดินทำกิน" ก็เป็นปัจจัยพื้นฐานหนึ่งที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์เช่นกันถือเป็นต้นทุนของชีวิตก็ว่าได้ เพราะหากประชาชนไร้ที่ดินทำกิน ผลกระทบที่ตามมา คือ ปัญหาความยากจน อันนำไปสู่การบุกรุกที่ดิน บุกรุกพื้นที่ป่าไม้ และปัญหาความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และประชาชนก็ตามมาอีกระลอกหนึ่ง สำหรับโครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เกิดขึ้นจากสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระราชทานเพื่อการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินของเกษตรกร ที่นับเป็นปัญหาสำคัญยิ่งของการพัฒนา และในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา สำหรับงานจัดการและพัฒนาที่ดินเป็นงานแรกๆ ที่พระองค์ทรงให้ความสำคัญ และมีพระราชดำริว่า "ปัญหาการบุกรุกเข้าไปครอบครองที่ดินของรัฐ โดยราษฎรที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นหลักแหล่ง จะทวีความรุนแรงขึ้น" จึงพระราชทานแนวทางการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ และราษฎรได้เข้าไปทำกินอยู่แล้วนั้น รัฐน่าจะดำเนินการตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่นั้นๆ ซึ่งในอดีตมีราษฎรเข้าไปตัดไม้ทำลายป่า บริเวณโครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริในตำบลหนองปรือ อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลสมเด็จเจริญ อำเภอหนองปรือ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเขาพระฤๅษี-เขาบ่อแร่ ครอบครองทำประโยชน์จากที่ดินเป็นจำนวนมาก ต้นไม้ใหญ่ถูกตัดทำลายไป คงเหลือสภาพป่าในบริเวณบนเขาและรอบๆ เชิงเขาอยู่บ้าง ทำให้ป่าไม้ และสิ่งแวดล้อมเสื่อมสภาพไปอย่างมาก เป็นผลให้เกิดความแห้งแล้งขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพัฒนา เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับอุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารต่อไป จากคำบอกเล่าของราษฎรชาวตำบลสมเด็จเจริญ อำเภอหนองปรือ จำนวนหลายร้อยรายที่เข้ามาปักหลักปักฐานในพื้นที่แห่งนี้ แม้ต่างคนต่างที่มา ทว่ามีเป้าหมายเดียวกันคือ ต้องการที่ดินเพื่อการทำอยู่ทำกิน โดย นายชรินทร์กลั่นแฮม ราษฎรหมู่ที่ 7 ตำบลสมเด็จเจริญ อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี หนึ่งในผู้ที่เข้ามาฝากความหวังไว้กับที่ดินผืนนี้ กล่าวว่า ได้เข้ามาอาศัยอยู่กินเลี้ยงปากท้องในที่แห่งนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 จากสภาพพื้นที่ในอดีตเป็นป่าไผ่ ได้เข้ามาบุกเบิกแผ้วถางต้นไผ่ออก ทำไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด ปลูกพริก "ตอนนั้นมีชาวบ้านเข้ามาบุกเบิกป่าจำนวนมากพอสมควร เข้ามาทำไร่ทำสวนโดยอาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติแต่ถ้าปีไหนไม่มีฝนก็ไม่ได้กิน บางครั้งเกิดฝนแล้ง รายได้ก็ไม่มี ยิ่งในสมัยก่อนนั้นสภาพสังคมยังไม่เจริญ การคมนาคมยังไม่สะดวก ถนนหนทางยังเป็นลูกรัง จึงทำมาหากินโดยการล่าสัตว์ป่าเป็นอาหาร ให้พอเลี้ยงชีพตัวเองกับครอบครัว ก็พออยู่ได้" แต่การอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน จับจองพื้นที่ทำกินของชาวบ้านในบริเวณป่าสงวนแห่งชาติ และเข้ามาแผ้วถางป่า ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้มีข้อพิพาทกันอยู่บ่อยครั้ง ชรินทร์บอกเล่าว่า เมื่อกรมป่าไม้เข้ามาตรวจสอบ ก็ต้องวิ่งหนีหลบๆ ซ่อนๆ ประจำเป็นความหวาดระแวงที่เกิดขึ้นอยู่ในใจ อยู่ก็ไม่สบายใจ ไม่อยู่ก็ไม่ได้ เพราะไม่มีที่ทำกิน จนเมื่อพระมหากรุณาธิคุณและพระเมตตาได้รินหลั่งสู่ชาวตำบลสมเด็จเจริญ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2533 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชดำริกับ นายสุเมธตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เลขาธิการ กปร.อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ว่า ได้ทรงทราบว่า พระเทพสิทธิญาณรังสี (พระอาจารย์จันทร์ คเวสโก)จากวัดป่าชัยรังสี ได้ไปดำเนินการพัฒนาพื้นที่ตำบลหนองปรือ อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี ที่เคยถูกตัดไม้ทำลายป่ามาก เพราะชาวบ้านมีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ทำกิน ซึ่งการพัฒนาจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนเป็นอย่างดี ขอให้นมัสการพระเทพสิทธิญาณรังสี และพระราชทานพระราชดำริให้เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ประสาน และสนับสนุนการดำเนินงานโครงการ รวมทั้งให้กรมชลประทาน พิจารณาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำตามลำน้ำต่างๆของห้วยตะเพิน ในเขตอำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรีและอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อจัดหาน้ำช่วยเหลือราษฎรในเขตโครงการ ทำให้มีน้ำทำการเพาะปลูก อุปโภค-บริโภค ได้ตลอดปี ต่อมาได้พระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการจัดหาที่ดินจำนวนหนึ่งนำมาใช้จัดทำโครงการเพื่อพัฒนาและช่วยเหลือประชาชนในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว และพระราชทาน ชื่อว่า โครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริซึ่งพระองค์ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และจากมูลนิธิชัยพัฒนา เข้าร่วมสนับสนุนโครงการฯ โดยยึดหลัก บวร (อันหมายถึง บ้าน วัด โรงเรียน-ราชการ)และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อให้ราษฎรได้อยู่อาศัยและทำกินกับธรรมชาติอย่างเกื้อหนุนกัน โดยมีพื้นที่ประมาณ 20,625 ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเขาพระฤๅษี-เขาบ่อแร่ แปลงที่ 2 ครอบคลุมพื้นที่ 4 หมู่บ้าน คือ หมู่ 3 บ้านห้วยแม่ระวางหมู่ 4 บ้านม่วงเฒ่า หมู่ 5 บ้านบารมี หมู่ 7 บ้านห้วยองคต ด้วยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชประสงค์ให้คนอยู่ร่วมกับผืนป่าอย่างเกื้อกูลไม่บุกรุกทำลายป่าอีกต่อไป โดยพระองค์มีพระราชดำริว่าปัญหาการบุกรุกเข้าไปครอบครองที่ดินของรัฐ โดยราษฎรที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นหลักแหล่ง รัฐน่าจะดำเนินการตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่นั้นๆ เพื่อให้กรรมสิทธิ์แก่ราษฎรในการทำกินได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่มิได้เป็นการออกโฉนดที่จะสามารถนำไปซื้อขายได้เพียงแต่ควรออกใบหนังสือรับรองสิทธิทำกิน (สทก.) แบบสามารถเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทให้สามารถทำกินได้ตลอดไปและด้วยวิธีการนี้จะช่วยให้ราษฎรมีกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของตนเองและครอบครัว โดยไม่อาจนำที่ดินนั้นไปขายและจะไม่ไปบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนอื่นๆ อีกต่อไป วันนี้โครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริได้จัดทำโครงการเพื่อสร้างความมั่นคงในที่ดินทำกินให้แก่ราษฎร ในพื้นที่โครงการฯ และเพื่อการจัดระเบียบชุมชนให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(สำนักงาน กปร.) กรมป่าไม้ และจังหวัดกาญจนบุรี ได้ร่วมกันดำเนินการจัดทำข้อมูลและสำรวจพื้นที่เพื่อจัดทำเอกสารสิทธิทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ (สทก.) ให้แก่ราษฎร โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มเดิมหรือทายาท และกลุ่มเปลี่ยนมือผู้ครอบครองสิทธิและล่าสุดได้ทำการมอบเอกสารสิทธิทำกิน ให้แก่ราษฎรจำนวน 656 ราย จำนวน 927 ฉบับ ชรินทร์ กลั่นแฮม เล่าให้ฟังอีกว่า เขาเป็นหนึ่งในราษฎรที่ได้รับการจัดสรรพื้นที่สำหรับทำกิน จากโครงการห้วยองคตฯ โดยพื้นที่ที่ได้รับจัดสรรจำนวน 8 ไร่ ในวันนี้ได้นำมาแบ่งสันปันส่วน เพื่ออยู่อาศัย และประกอบอาชีพมุ่งมั่นเดินตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทำเป็นแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่แบบผสมผสาน โดยแบ่งพื้นที่ทำสระน้ำ ส่วนที่เหลือก็ใช้เป็นพื้นที่ปลูกพืชผักสวนครัวต่างๆเช่นพริกมะเขือผักกวางตุ้ง มะละกอ กล้วย และที่สร้างรายได้ให้ครอบครัวคือ ฝรั่งพันธุ์กิมจู ที่สามารถเก็บขายได้ถึงวันละประมาณ 1,000 บาท แม้ทุกอย่างไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ทุกสิ่งต้องแลกด้วยหยาดเหงื่อ แรงกาย ความเหน็ดเหนื่อย การต่อสู้ และระยะเวลา ความขยันหมั่นเพียร ความอดทนและมุ่งมั่น หมั่นศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพืชที่จะปลูก วิธีการดูแลรักษา กระทั่งวิถีที่เรียกว่าความพอเพียงตามแนวพระราชดำริ
"ความรู้มากมายนี้เกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการหมั่นขวนขวายหาความรู้อยู่เสมอ ต้องไปศึกษาดูงานจากที่ศูนย์เรียนรู้ต่างๆ อย่างเช่น กระบวนผลิตพืชผักในสวน ก็ไม่ต้องสิ้นเปลืองต้นทุน เป็นการลดต้นทุนการผลิตแล้ว แรงงานก็ปลูกพืชทำเองช่วยกันในครอบครัวไม่ต้องจ้างแรงงานจากที่อื่น ปุ๋ยก็ทำเอง หมักเองจากวัสดุในธรรมชาติที่มีอยู่ ไถก็ไม่ต้องไถ เพราะมีไส้เดือนเป็นตัวช่วยในการพรวนดินได้อย่างดี อีกทั้งยังเลี้ยงหมูหลุมก็ได้ปุ๋ยจากมูลหมู หมูก็ขายได้เป็นรายได้เสริมอีกทาง"
๐ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา พุทธศักราช 2522 ได้มีการบันทึกถึงการถือกำเนิดของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงวางรากฐานการพัฒนาด้วยเป้าหมาย ที่สำคัญคือคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร ซึ่งจะต้องพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งก่อน ให้ราษฎรสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยการพัฒนาที่ยั่งยืน และดำเนินการควบคู่ไปกับ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ และสังคมวิทยาของแต่ละท้องถิ่นที่มีความแตกต่างกัน สำหรับศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจาก พระราชดำริ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทราได้พลิกฟื้นพื้นที่ดินทรายเสื่อมโทรมได้คืนความสมบูรณ์สามารถนำมาใช้พัฒนาการเกษตรด้านต่างๆ ที่หลากหลายด้วยพื้นที่แห่งนี้ มีลักษณะที่แห้งแล้งเนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อปลูกพืชไร่อย่างผิดวิธี แต่ด้วยพระอัจฉริยภาพทรงวางแนวทางในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่แห่งนี้ด้วยการสร้างแหล่งน้ำ พร้อมทั้งวางระบบชลประทานและปลูกป่าเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับ ผืนดิน ทรงให้ปลูกหญ้าแฝกเพื่อช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ ส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรแบบผสมผสาน และปรับปรุงดินอย่างสม่ำเสมอจวบจนกระทั่งผืนดินที่เคยเป็นดินทรายได้ พลิกฟื้นคืนความสมบูรณ์สามารถนำมาใช้พัฒนาการเกษตรด้านต่างๆ ที่หลากหลาย ส่งเสริมอาชีพที่สร้างรายได้ สร้างต้นแบบความสำเร็จให้แก่ราษฎรในภูมิภาคนี้ จากเดิมพื้นที่หลายหมื่นไร่ของอำเภอพนมสารคามเป็นป่าดงดิบ มีเขาหินตามธรรมชาติก้อนใหญ่ก้อนเล็กระเกะระกะ อยู่ทั่วไป จึงมีชื่อว่า "เขาหินซ้อน" และเคยเป็นป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย เพียงชั่วระยะเวลา 30 กว่าปีที่ผ่านมา มีการสร้างถนนทางหลวงแผ่นดินสาย 304 พนมสารคาม-กบินทร์บุรี ได้มีการระเบิดหินไปทำถนน และเปิดทางนำผู้คนเข้าสู่พื้นที่โดยสะดวกป่าดงดิบเขาหินซ้อนจึงถูกน้ำมือมนุษย์โค่นทำลายลงเป็นที่ดินทำกิน และต่อมาก็ถูกทอดทิ้งให้เป็นแผ่นดินเสื่อมโทรมรกร้าง... ด้วยเดชะพระบารมี เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พุทธศักราช 2522 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิด พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ เขาหินซ้อน ได้เสด็จไปทอดพระเนตรที่ดินที่มีผู้น้อมเกล้าฯถวาย แล้วได้พระราชทานพระราชดำริให้ก่อตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนให้เป็นศูนย์ตัวอย่าง รวมการพัฒนาด้านเกษตรกรรมที่สมบูรณ์แบบ เช่น การพัฒนาชุมชน ฟื้นฟูป่าไม้ พัฒนาแหล่งน้ำ การเลี้ยงปศุสัตว์ การประมง งานส่งเสริมการเกษตร การชลประทาน สาธารณสุข การเลี้ยงปศุสัตว์ การประมง งานส่งเสริมการเกษตร การชลประทาน สาธารณสุข ตั้งวิทยาลัยเกษตรกรรม ส่งเสริมศิลปาชีพ หัตถกรรมพื้นบ้านเพิ่มพูนรายได้ รวมทั้งพัฒนาพื้นที่รอบนอกศูนย์ บริเวณลุ่มน้ำโจนให้เจริญขึ้น สำหรับเป็นแบบอย่างการพัฒนาให้ขยายออกไปสู่พื้นที่ตำบลอื่นๆกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต หนึ่งในศูนย์การศึกษาการพัฒนา 6 แห่ง ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งนี้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนนี้มีศูนย์สาขาประกอบด้วย ศูนย์บริการบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณเขาชะโงก จังหวัดนครนายก กิจกรรมของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนมีหลากหลายเช่น การศึกษา ทดสอบเรื่องการปรับปรุงดินด้วยวิธีต่างๆเป็นต้นว่า การใช้ปุ๋ยพืชสด การปลูกพืชตระกูลถั่วเป็นพืชแซม การใช้ปุ๋ยน้ำ การผลิตปุ๋ยหมักใช้เอง การปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ การใช้วิธีธรรมชาติในการป้องกันศัตรูพืช เช่น การใช้สารสะเดา เป็นสารสกัดฉีดไล่แมลงการใช้พืชต้านทานโรค การเลี้ยงสัตว์ การประมง และอื่นๆ ๐ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในปี 2524 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันบุรีได้ถือกำเนิดขึ้น ในวโรกาสที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จ พระเจ้าตากสินมหาราชที่จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2524 ด้วยสภาพพื้นที่เป็นดินเค็ม และปัญหาความเสื่อมโทรม ของทรัพยากรชายฝั่งทะเล โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระราชดำริให้ฟื้นฟู และอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเล ควบคู่กับการพัฒนาวิธีการทำประมงที่ถูกต้อง รูปแบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รวมทั้งพัฒนาพื้นที่บนฝั่งด้วยเกษตรกรรมแบบผสมผสาน คัดเลือกพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของ ภาคตะวันออก โดยมีพระราชดำริแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ..."ให้พิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมจัดทำโครงการพัฒนาด้านอาชีพการประมงและการเกษตรในเขตพื้นที่ดินชายฝั่งทะเลจังหวัดจันทบุรี"และได้พระราชทานเงินที่ราษฎรจังหวัดจันทบุรีได้ร่วมทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายโดยเสด็จพระราชกุศลในโอกาสดังกล่าวเป็นทุนริเริ่มดำเนินการ สำหรับศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตชั้นนำ ด้านการอนุรักษ์ พัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่หลากหลายบริเวณชายฝั่ง โดยบูรณาการกับการพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตให้สมดุลและยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ โดยมีพันธกิจ คือการศึกษา วิจัย และพัฒนาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่หลากหลายบริเวณชายฝั่ง การพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิต ขยายผลความสำเร็จในการดำเนินงานศูนย์ฯ ด้านการจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิต สู่สาธารณชน ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวมทั้งการพัฒนาอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตในพื้นที่เป้าหมายอย่างสมดุล และยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ อีกทั้งยังพัฒนาพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ให้เป็นแหล่งเรียนรู้และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ พัฒนาองค์การ บุคลากร และเครือข่าย สู่ความเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาชั้นนำเพื่อสนองพระราช ดำริอย่างต่อเนื่องและครบถ้วนสมบูรณ์ มีคุณภาพและประสิทธิผลเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทุกมิติอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การศึกษาทดลอง วิจัย ทดสอบ สาธิต ขยายผล และการบริหารจัดการมุ่งเน้นการขยายผลการพัฒนาสู่ประชาชนในหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ และประชาชนทั่วไปตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงฯพัฒนา อนุรักษ์ ฟื้นฟู และการจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเลบริเวณพื้นที่อ่าวคุ้งกระเบนและพื้นที่ใกล้เคียงให้เกิดความสมดุลในระบบนิเวศ และการใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนา ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง อาทิ กุ้งกุลาดำ กุ้งขาวแวนาไม ปลากะพงขาว และ ปูม้า เป็นต้น ซึ่งได้มีการดำเนินการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2555 ได้สนองแนวพระราชดำริจัดทำโครงการส่งเสริมและฟื้นฟูอาชีพการเลี้ยงสัตว์น้ำให้กับสมาชิกสหกรณ์ประมงคุ้งกระเบนและสหกรณ์การเกษตรแหลมสิงห์ มีการอบรมเกษตรกรจำนวนรวม 101 คน เกี่ยวกับเทคนิคการเลี้ยงกุ้งขาว และช่องทางการตลาด เพื่อช่วยให้เกษตรกรประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงและลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรค ที่หน่วยสาธิตการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชังและสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งในปี 2555 การดำเนินงานของหน่วยสาธิตการเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง และสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำเฉลิมพระเกียรติมีผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมเป็นจำนวนรวม 18,144 คน หรือเฉลี่ย 1,512 คนต่อเดือน สำหรับสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ครบ 60 พรรษา ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2544 โดยมีการจัดหาและรวบรวมพันธุ์สัตว์น้ำทะเลที่น่าสนใจในท้องถิ่นและพื้นที่ใกล้เคียงมาจัดแสดง ในปี 2555 มีจำนวนผู้เข้าชม 491,452 คน หรือเฉลี่ย 40,954 คนต่อเดือน รวมถึงการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ด้านการอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าชายเลน โดยงานป่าไม้ได้พัฒนาศูนย์เรียนรู้ด้านการอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าชายเลนแหลมแม่นกแก้ว ด้วยการสร้างแนวกันคลื่นจากไม้ไผ่ ปักเป็นแนวยาวขนานไปกับชายฝั่งทะเล ระยะทางประมาณ 140 เมตร เพื่อให้สภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการเติบโตของกล้าไม้ป่าชายเลน ทั้งนี้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี ได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการทำให้ประชาชนในพื้นที่โดยรอบศูนย์ศึกษาฯ และประชาชนทั่วไปที่ได้มาศึกษาเยี่ยมชมได้รับความรู้ อันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตรวมถึงสามารถสร้างอาชีพที่มั่นคง อาทิ เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เช่น กุ้งขาว ปูม้า ปลากะพง ที่ไม่ส่งผลต่อการทำลายคุณภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยที่ผ่านมาศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯยังมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทั้งป่าชายเลนและป่าบกในพื้นที่โดยรอบอ่าวคุ้งกระเบนฯ ที่เกิดความเสื่อมโทรมจากกิจกรรมสำคัญๆ อาทิ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ให้สามารถพลิกฟื้นกลับมามีสภาพที่อุดมสมบูรณ์และสวยงามเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่มขึ้นของความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตนานาชนิดในพื้นที่ป่าชายเลนและป่าบก ผลสำเร็จของการพัฒนานำมาซึ่งความผาสุกอย่างยั่งยืนของประชาชน ทั้งนี้ข้อมูลในปี 2555 พบว่า มีผู้สนใจมาศึกษาเยี่ยมชมผลการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ เป็นจำนวนสูงถึง 713,731 คน ๐ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส หากย้อนอดีต เกษตรกรในจังหวัดนราธิวาส ต้องประสบกับปัญหาดินเปรี้ยวในพื้นที่พรุ จนไม่สามารถทำการเกษตรได้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงได้กำเนิดขึ้น ในปี 2525 เพื่อให้เป็นต้นแบบการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเกษตรกรรมในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะเรื่องดินเปรี้ยว จนเป็นที่มาของทฤษฎีแกล้งดิน ในการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานไว้ และขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ นอกจากนี้ยังทรงวางระบบชลประทาน เพื่อเป็นแหล่งน้ำการเกษตรและเป็นกลไกในการรักษาระดับน้ำใต้ดิน ป้องกันการเกิดกรดในดินและน้ำ การพัฒนารูปแบบเกษตรกรรมที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ภาคใต้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นเมื่อวันที่ 6 มกราคมพ.ศ.2525 เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมวิชาการ การค้นคว้า ทดลองและสาธิตการพัฒนาด้านเกษตรกรรม ซึ่งมีรูปแบบการบริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ให้บริการแก่ประชาชนและเกษตรกรที่เข้ามาศึกษาหาความรู้ได้ เสมือนเป็น พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต มีกิจกรรมต่อเนื่องและเป็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จในด้านการเกษตรกรรมและพัฒนาอาชีพ เพื่อเป็นต้นแบบ และแนวทางให้แก่เกษตรกร ผู้สนใจในการนำไปปฏิบัติในพื้นที่ของตนเอง โดยหน่วยงานต่างๆได้ร่วมกันดำเนินการสนองพระราชดำริอย่างต่อเนื่องในด้านการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย สาธิต และการพัฒนา เพื่อนำผลการศึกษาค้นคว้าที่ได้ผลดีไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป สำหรับศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ มีพื้นที่ 1,740 ไร่ ที่ดอน 202 ไร่ เป็นที่ตั้งอาคารสำนักงาน โรงงานสกัดน้ำมันและแปรรูปน้ำมันปาล์มงานป่าไม้ งานปศุสัตว์ งานวิชาการเกษตร งานควบคุมโรคติดต่อ งานอุตสาหกรรมกระจูด และเส้นใยพืชอาคารฝึกอบรม และที่พัก ส่วนพื้นที่ลุ่มเนื้อที่ 308 ไร่ เป็นพื้นที่พรุสำหรับศึกษา ทดลอง วิจัยหาแนวทางการปรับปรุงดิน อาทิ โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่โครงการแกล้งดิน การปรับปรุงดินเพื่อปลูกข้าว การปลูกปาล์มน้ำมัน การเลี้ยงปลาในพื้นที่ดินเปรี้ยว สวน 50 ปีครองราชย์ รวบรวมพันธุ์ปาล์ม สวน 72 พรรษา รวบรวมพันธุ์ไม้หายาก สวนสมุนไพร และงานทดลองอื่นๆ ส่วนสำคัญคือพื้นที่อ่างเก็บน้ำใกล้บ้าน เนื้อที่ 1,030 ไร่ ตั้งอยู่ตอนใต้ของศูนย์ฯ จุน้ำได้ 2 ล้านลูกบาศก์เมตรเป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรของศูนย์ฯและพื้นที่ของเกษตรกรใกล้เคียง มีพื้นที่เป็นสวนยางคือ เขาสำนัก เนื้อที่200 ไร่ เป็นที่ดอนเชิงเขาปลูกยางพารา และการผลิตยางแผ่นแบบครบวงจร สาธิตการปลูกพืชแซมในสวนยางรอบๆ ศูนย์ฯ มีหมู่บ้าน 13 หมู่บ้าน ปัจจุบัน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดูแลรับผิดชอบพื้นที่หมู่บ้านรอบศูนย์ จำนวน 13 หมู่บ้าน พื้นที่28,795 ไร่ อยู่ในเขตพื้นที่ 2 ตำบล คือ ตำบลกะลุวอ และตำบลกะลุวอเหนือ ทั้งนี้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริยังมีศูนย์สาขาอีก 4 ศูนย์ ศูนย์สาขาที่ 1 โครงการสวนยางพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ตั้งอยู่ในเขตพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ บ้านเขาตันหยง เนื้อที่15.8 ไร่ สาธิตการปลูกยางพันธุ์ดี และการปลูกพืชแซมในสวนยาง ศูนย์สาขาที่ 2 โครงการพัฒนาหมู่บ้านปีแนมูดออยู่ที่บ้านปีแนมูดอ ตำบลบูกิจ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เนื้อที่ 135 ไร่ สาธิตการจัดระบบการให้น้ำ การจัดการดินและการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ศูนย์สาขาที่ 3 โครงการหมู่บ้านปศุสัตว์-เกษตรมูโนะ ตั้งอยู่บ้านโคกไทร หมู่ที่ 4 ตำบลโฆษิต อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาสเนื้อที่ 1,500 ไร่ จัดแบ่งพื้นที่เป็นที่อาศัย และที่ทำกินแก่อาสาสมัครที่ปลดประจำการ และเกษตรกรที่ยากจนไม่มีที่ดินทำกิน ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งสิ้น 37 ครอบครัว พื้นที่เป็นดินเปรี้ยวจัด พัฒนาด้านการปรับปรุงดิน การปลูกพืชการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลา และหัตถกรรม และศูนย์สาขาที่ 4 โครงการพัฒนาพื้นที่บ้านโคกอิฐ-โคกในและยูโย อยู่ที่ ตำบลพร่อน และ ตำบลบางขุนทอง อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เนื้อที่ 30,065 ไร่ จัดการดินและน้ำในพื้นที่ดินเปรี้ยว เพื่อการเกษตรแบบผสมผสานตามแนวทฤษฎีใหม่ การขุดยกร่องเพื่อปลูกพืชไร่ ไม้ผล การปรับปรุงดินเพื่อปลูกข้าว ๐ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร ขณะที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร เกิดขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาให้กับภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยสภาพพื้นที่ที่เคยประสบปัญหาหลักๆ คือ ปัญหาดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ ทรัพยากรป่าไม้ ดิน น้ำ แร่ธาตุต่างๆ มีคุณภาพต่ำไม่สามารถอุ้มน้ำได้และมีความเค็ม แหล่งน้ำไม่เพียงพอดินขาดความชุ่มชื้น การขาดความรู้ในการประกอบอาชีพของเกษตรกร จากการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ นำมาซึ่งผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การผลิตข้าวพันธุ์ดี การปลูกพืชไร่ปลอดภัยจากสารเคมี การเลี้ยงสัตว์ชนิดต่างๆจนเป็นที่รู้จักในนาม สามดำมหัศจรรย์ จารึกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับต้นเหตุปัญหาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพะราชดำริ ทั้งนี้จากเอกสารข้อมูลส่วนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่สำนักงาน กปร.(สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ) มีความตอนหนึ่งว่า "...ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เดิมเป็นป่าโปร่ง คนไปตัดไม้สำหรับเป็นฟืนและใช้พื้นที่สำหรับทำการเกษตรกรรม ป่าไม้ที่อยู่เหนือพื้นที่ถูกทำลายไปมากจึงไม่มีน้ำในหน้าแล้ง น้ำไหลแรงในหน้าฝน ทำให้มีการชะล้างหน้าดินบางลง และเกลือที่อยู่ข้างใต้จะขึ้นเป็นหย่อมๆ..." พร้อมกันนี้ได้พระราชทานข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาของดินบริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ว่า "...เป็นดินทราย ดินเค็ม ขาดน้ำ..." ต่อมาเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2525 พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์ องคมนตรี และ นายสุนทร เรืองเล็ก อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายเล็ก จินดาสงวน เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรมราชองครักษ์ สวนจิตรลดา ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ เป็นครั้งแรก โดยทรงให้พิจารณาวางโครงการจัดหาน้ำสนับสนุนโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานตามพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร เพื่อศึกษาทดลองงานพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จ อันได้แก่ การพัฒนาป่าไม้ การเกษตรต่างๆ ตามความเหมาะสม รวมทั้งการดำเนินงานด้านเกษตรอุตสาหกรรม สำหรับเป็นตัวอย่างให้ราษฎรนำไปปฏิบัติในพื้นที่ของตนเองได้ อันจะนำไปสู่ความสามารถในการพึ่งตนเองได้ต่อไป โดยได้พระราชทานพระราชดำริ ให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำตาดไฮใหญ่ ที่พิกัด 48 QUD 961-909 แผนที่มาตราส่วน 1: 50,000 ระวาง 5843 III เพื่อจัดหาน้ำสนับสนุนศูนย์ฯ พื้นที่โครงการประมาณ 1,800 ไร่ ให้สามารถส่งน้ำใช้ทำการศึกษาและทดลองได้ตลอดทั้งปี และในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2526 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรตรวจสภาพพื้นที่บริเวณบ้านนานกเค้า และเสด็จพระราชดำเนินเข้าไปถึงพื้นที่บริเวณที่จะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำตาดไฮใหญ่ ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระราชดำริ ให้พิจารณานำน้ำจากอ่างเก็บน้ำตาดไฮใหญ่มาสนับสนุนพื้นที่เกษตรกรรม บริเวณบ้านนานกเค้า และทรงคัดเลือกพื้นที่จัดตั้งศูนย์ ณบริเวณบ้านนานกเค้า ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนครด้วยพระองค์เอง เพื่อเป็นพื้นที่ ตัวแทนของภูมิภาคทั้งหมด ด้วยพื้นที่นี้มีลักษณะสภาพธรรมชาติแวดล้อม และวงจรชีวภาพที่คล้ายคลึงกับภูมิภาคโดยทั่วไป ของภาคอีสาน
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงถือกำเนิดขึ้น เพื่อเป็นแบบจำลองของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเป็นพื้นที่ส่วนย่อ ที่สอดคล้องกับการแก้ปัญหา และศึกษาวิธีการพัฒนาของภูมิภาคนี้ได้อย่างเหมาะสม
โดยในปี พ.ศ.2527 ได้ดำเนินการก่อตั้งที่ทำการของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ หมู่บ้านนานกเค้า ตำบลห้วยยาง อำเภอเมืองจังหวัดสกลนคร ประกอบด้วยพื้นที่ 11,300 ไร่ โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.พื้นที่สาธิตเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมจำนวน 2,300 ไร่ 2.พื้นที่พัฒนาป่าไม้ จำนวน 1,1000 ไร่พื้นที่หมู่บ้านรอบศูนย์ฯ 22 หมู่บ้าน จำนวน 11,000 ไร่ ในการดำเนินงานของศูนย์ฯ ได้มีการขยายผลการศึกษาเผยแพร่สู่ราษฎรในหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ รวม 15 หมู่บ้านรวมทั้งกระจายการขยายผลของศูนย์ฯ สู่พื้นที่อื่นๆ ของภาคให้เพิ่มมากขึ้น โดยจัดตั้งเป็นศูนย์สาขาขึ้น 3 แห่ง คือ1.โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหารดำเนินการลักษณะการพัฒนาพื้นที่แบบเบ็ดเสร็จทั้งในด้านการเกษตร การอนุรักษ์ป่าไม้ การพัฒนาแหล่งน้ำและศิลปาชีพ2.โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดสกลนคร-นครพนม ดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เพาะปลูกในฤดูฝน และการขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตร อุปโภคบริโภคในฤดูแล้งให้แก่ราษฎรที่อาศัยอยู่บริเวณสองฝั่งลำน้ำก่ำ3.โครงการขุดสระกักเก็บน้ำตามทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อให้เป็นจุดศึกษา ทดลอง และสาธิตให้ราษฎรได้เห็นผลการพัฒนาการเกษตรกรรมศตามแนวพระราชดำริ "ทฤษฎีใหม่" โดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ จะเป็นแม่ข่ายให้ความช่วยเหลือด้านความรู้ทางวิชาการเทคโนโลยี การฝึกอบรม การสนับสนุนพันธุ์พืชและสัตว์แก่ศูนย์สาขา เพื่อให้ราษฎรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีรูปแบบการประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับท้องถิ่น เพื่อให้มีความเป็นอยู่อย่างพอมีพอกินและสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ 1.กรมชลประทาน 2.กรมวิชาการเกษตร 3.กรมพัฒนาชุมชน 4.กรมปศุสัตว์ 5.กรมส่งเสริมการเกษตร 6.สาธารณสุขจังหวัด 7.กรมประมง 8.กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม 9.กรมพัฒนาที่ดิน 10.จังหวัดสกลนคร 11.กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช การดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯประกอบด้วย 2 งานหลักที่สำคัญ คือ 1.งานศึกษา ทดลองค้นคว้า ศึกษาหาวิธีการและรูปแบบที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศของภาค เพื่อพัฒนาการประกอบอาชีพและผลผลิตให้สูงขึ้น โดยมีการศึกษา ทดลอง ค้นคว้า พัฒนาเกษตรกรรมใน 5 ด้านด้วยกันคือ งานศึกษาและพัฒนาเกษตรกรรม งานศึกษาและพัฒนาปรับปรุงบำรุงดิน งานศึกษาและพัฒนาป่าไม้ งานศึกษาและพัฒนาปศุสัตว์ และงานสาธิตและพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการประมง ส่วน 2.งานขยายผลการศึกษาและพัฒนา เมื่อได้ผลการศึกษาที่ดี สามารถให้ผลผลิตสมบูรณ์เหมาะสมกับสภาพดินและภูมิอากาศของท้องถิ่นแล้ว ผลการศึกษาที่ดีดังกล่าวก็คือ ตัวอย่างของผลสำเร็จ ที่ศูนย์ฯ ได้นำไปขยายผลเผยแพร่สู่ราษฎรในพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ หมู่บ้านรอบศูนย์ฯ จำนวน 15 หมู่บ้าน โดยวิธีการให้ความรู้แก่ราษฎรในหลายวิธี ได้แก่ การจัดทำแปลงสาธิต การจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมการพัฒนาอาชีพ ทั้งด้านการประกอบเกษตรกรรมตลอดจนอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัว การส่งเสริมและสนับสนุนพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติจริง ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานแนวพระราชดำริต่างๆ เพื่อให้พื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร เป็นแบบจำลองของภาคอีสานในการแก้ปัญหาการประกอบอาชีพ การดำรงชีวิตและศึกษาวิธีการพัฒนาของภูมิภาคได้อย่างเหมาะสมโดยผลการศึกษาวิจัยที่มีความโดดเด่นของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ในขณะนี้ คือสิ่งที่เรียกว่า ดินแดนแห่ง 3 ดำมหัศจรรย์ ได้แก่ โคเนื้อทาจิมะภูพาน ไก่ดำภูพาน และสุกรภูพาน สำหรับการพัฒนาโคเนื้อทาจิมะภูพานดังกล่าว ทางสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานแก่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ให้เนื้อมีคุณภาพดีที่สุดในโลก ลักษณะเนื้อมีความนุ่ม ไขมันแทรกเกรดสูง จุดเด่นที่สำคัญ คือ มีสัดส่วนของกรดไขมันไม่อิ่มตัว กรดไขมันอิ่มตัวสูงกว่าโคทั่วไป ทำให้ปลอดภัยต่อการบริโภค ๐ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ โดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จังหวัดเชียงใหม่ เกิดขึ้นและได้ทำหน้าที่พัฒนาเกษตรกรรมและปศุสัตว์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ซึ่งได้สร้างผลสำเร็จและเป็นต้นแบบให้กับราษฎรในพื้นที่ภาคเหนือ และนอกเหนือจากนี้ยังมีพระราชประสงค์ที่จะพัฒนาพื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้เกิดสภาพพื้นที่แห้งแล้งและเกิดไฟป่า ซึ่งแนวพระราชดำริที่ได้พระราชทานนั้นได้ก่อเกิดประโยชน์อย่างอเนกอนันต์ในเวลาต่อมาให้กับพื้นที่อื่นๆด้วยการปลูกไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง การสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น โดยเน้นการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำลำธารให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์เป็นหลักในลักษณะต้นทางเป็นการศึกษาสภาพพื้นที่ป่าไม้ต้นน้ำลำธาร ปลายทางเป็นประมงตามอ่างเก็บน้ำต่างๆ ผสมกับการศึกษาด้านเกษตรกรรม เพื่อให้ราษฎรนำไปปฏิบัติในพื้นที่ของตนเองอย่างได้ผล ทั้งนี้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริก่อกำเนิดจากการที่ได้รับพระราชดำริ เมื่อวัน 11 ธันวาคม 2525 มีพระราชประสงค์ที่จะให้เป็นศูนย์กลางในการศึกษา ทดลอง ที่เหมาะสมกับพื้นที่ภาคเหนือและเผยแพร่แก่ราษฎรให้สามารถนำไปปฏิบัติได้ด้วยตัวเองต่อไป โดยทำการศึกษาพัฒนาป่าไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง คือ ไม้ใช้สอย ไม้ผล ไม้เชื้อเพลิง ซึ่งจะอำนวยประโยชน์ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ ตลอดจนคงความชุ่มชื้นเอาไว้เป็นประโยชน์อย่างที่ 4 และพื้นที่ต้นน้ำลำธารให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์เป็นหลัก สำหรับต้นทางเป็นการศึกษาสภาพพื้นที่ป่าไม้ต้นน้ำลำธาร และปลายทางเป็นการศึกษาด้านการประมงตามอ่างเก็บน้ำต่างๆ ผสมกับการศึกษาด้านการเกษตรกรรมด้านปศุสัตว์และโคนม และด้านเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อให้เป็นศูนย์ที่สมบูรณ์แบบ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อราษฎรที่จะเข้ามาศึกษากิจกรรมต่างๆ ในศูนย์ฯ แล้วนำไปใช้ปฏิบัติอย่างได้ผลต่อไป ดังมีพระราชดำริว่า "ให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทำหน้าที่เสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต"หรืออีกนัยหนึ่ง สรุปเป็นผลการพัฒนา ที่ประชาชนจะเข้าไปเรียนรู้และนำไปปฏิบัติได้ รวมถึงวัตถุประสงค์เป็นศูนย์กลางแบบเบ็ดเสร็จที่มีการศึกษาทดลองและสาธิตในลักษณะสหวิทยาการเสมือนหนึ่งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต สำหรับราษฎรได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาเรียนรู้แล้วนำไปปฏิบัติ เพื่อศึกษา ทดลอง วิจัยและพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ด้านทรัพยากรน้ำ ป่าไม้ดิน และระบบเกษตร รวมทั้งระบบนิเวศลุ่มน้ำห้วยฮ่องไคร้ และการจัดการลุ่มน้ำให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม เป็นศูนย์กลางข้อมูลการพัฒนา บูรณาการ และแลกเปลี่ยนข้อมูล บริการข้อมูลข่าวสารทั้งในด้านวิชาการและเชิงปฏิบัติ เพื่อประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม โดยมีการขยายผลการพัฒนาสู่ประชาชนในหมู่บ้านรอบบริเวณศูนย์ฯ และโครงการบริการการพัฒนาในระดับพื้นที่ ให้ดำรงชีวิตที่พออยู่พอกิน และสามารถพึ่งตนเองได้ พัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พื้นที่ลุ่มน้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์และสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสมตามแนวพระราชดำริ ขณะที่สภาพกายภาพโดยทั่วไปของพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยฮ่องไคร้ จากผลการสำรวจเมื่อปี 2526 มีลักษณะสำคัญสรุปได้ คือ 1.สภาพดินเป็นดินหินกรวด มีหน้าดินตื้นไม่เหมาะสมต่อการใช้ประโยชน์ต่อการเกษตรกรรม 2. สภาพแวดล้อมโดยทั่วไป บรรยากาศมีสภาพแห้งแล้ง ขาดความชุ่มชื้น ธรรมชาติต้องเผชิญกับไฟไหม้ป่าในทุกๆ ปี 3. ปริมาณน้ำธรรมชาติในพื้นที่ต้นน้ำมีปริมาณน้อย ไม่เพียงพอที่จะพัฒนามาใช้ประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรมในการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำได้อย่างเพียงพอ เนื่องจากปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยต่อปีต่ำกว่า 1,200 มิลลิเมตร และสภาพกายภาพลุ่มน้ำเป็นป่าเต็งรังที่ไม่สามารถเก็บอุ้มน้ำไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 4.สภาพป่าไม้มีสภาพเสื่อมโทรม ผ่านการทำไม้สัมปทาน และสัมปทานไม้ฟืนโรงบ่มยาสูบ รวมทั้งมีการบุกรุกตัดไม้ใช้ประโยชน์โดยชุมชน จนเหลือชนิดพันธุ์ไม้อยู่ในธรรมชาติเพียง 35 ชนิด มีความหนาแน่นของต้นไม้ไม่เกิน 100 ต้นต่อไร่ ไม้ที่เหลืออยู่เป็นลูกไม้ขนาดเล็กและไม้ที่สูงใหญ่ไม่เกิน 9 เมตร ลักษณะเป็นไม้ชั้นเดียวเป็นป่าโปร่ง 5.สภาพลุ่มน้ำไม่มีการเข้ามาถือครองใช้ประโยชน์โดยชุมชน เนื่องจากไม่มีความอุดมสมบูรณ์ใดๆ ที่จะเอื้อให้ทำการเพาะปลูกได้ พื้นที่จึงมีสภาพถูกทิ้งรกร้าง สภาพทางกายภาพของพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยฮ่องไคร้ ที่เปลี่ยนสภาพภายหลังการดำเนินงานศึกษาและพัฒนาพื้นที่ป่าไม้ต้นน้ำลำธารของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดังนั้นจึงมีการพัฒนาที่ดินในสภาพป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ ในหน้าแล้งที่มีการผลัดใบ ซึ่งทางวิชาการเรียกว่า การคืนธาตุอาหารให้แก่พื้นดิน โดยจากการศึกษาพบว่าในเดือนกุมภาพันธ์ มีใบไม้มากที่สุด ประมาณ 600-700 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี ถ้าใบไม้เหล่านี้ไม่ถูกไฟไหม้ก็จะผุสลายเป็นหน้าดินเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่พื้นที่ป่า ซึ่งพบว่าธาตุอาหารในดินมีเพิ่มขึ้นจากปี 2526 มีธาตุอาหารในดินไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักดิน จากการพัฒนาปัจจุบันพบธาตุอาหารเพิ่มเป็น 3-4% ของน้ำหนักดิน ผลจากการร่วงหล่น ทับถมผุสลายของใบไม้ทำให้ดินมีหน้าดินเพิ่มขึ้น สามารถเพิ่มธาตุอาหารในดิน สามารถใช้พื้นที่ทำประโยชน์ด้านการเกษตรกรรมได้ ส่วนการพัฒนาแหล่งน้ำนั้น ด้วยสภาพแหล่งน้ำและการพัฒนาแหล่งน้ำก่อนปี 2526 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลป่าเมี่ยงอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ในเขตลุ่มน้ำห้วยฮ่องไคร้ ซึ่งลำห้วยฮ่องไคร้ เป็นลำน้ำสาขาฝั่งขวาของลุ่มน้ำแม่กวง มีต้นกำเนิดจากแนวสันเขาสูงทางทิศตะวันออกเขตตำบลป่าเมี่ยงของอำเภอดอยสะเก็ด ไหลลงมาทางทิศใต้ผ่านบ้านปางเรียบเรือ บ้านตลาดขี้เหล็ก บ้านแม่ฮ่องไคร้ ไหลบรรจบกับลำห้วยแม่โป่ง ที่บ้านท่ามะกุ่ม แล้วไหลผ่านบ้านป่าไผ่ บ้านแม่โป่ง และบ้านแม่ฮ้อยเงิน ไปบรรจบกับน้ำแม่จ้องที่บ้านแม่จ้องเหนือในเขตอำเภอดอยสะเก็ด แล้วไหลไปทางทิศตะวันตก ผ่านบ้านแม่ก๊ะใต้ บ้านแม่คือ บ้านแม่ท้องป่อง บรรจบกับน้ำแม่ปูคา ที่บ้านแม่ปูคาเหนือในเขตอำเภอสันกำแพง แล้วไหลผ่านอำเภอสันกำแพงไปลงลำน้ำกวง ไหลลงสู่แม่น้ำปิงในเขตอำเภอเมืองจังหวัดลำพูน ลำห้วยฮ่องไคร้ช่วงไหลผ่านบ้านปางเรียบเรือ ซึ่งเป็นจุดที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ 7 (ปางเรียบเรือ) มีความยาวลำน้ำประมาณ 6.50 กิโลเมตร พื้นที่ลุ่มน้ำประมาณ 13.60 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 8,500 ไร่ ลำห้วยมีขนาดกว้างประมาณ 4.00 เมตร ท้องลำน้ำมีตะกอนทราย และเนื่องจากลุ่มน้ำห้วยฮ่องไคร้ เป็นลุ่มน้ำขนาดเล็กในลุ่มน้ำห้วยฮ่องไคร้จึงไม่มีสถานีวัดปริมาณน้ำท่า การประเมินน้ำต้นทุนที่ไหลผ่านหัวงานจึงต้องอาศัยข้อมูลปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยของสถานีดัชนี ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงกับหัวงานมากที่สุด คือ สถานี P.36 (น้ำแม่ลาย) มีพื้นที่ลุ่มน้ำเหนือสถานีเท่ากับ 35 ตารางกิโลเมตร ในการประมาณน้ำท่าของลำห้วยฮ่องไคร้ ได้อาศัยข้อมูลจากสถานีวัดน้ำฝนดังกล่าวเป็นจุดตรวจสอบผลการคำนวณเพื่อให้ได้ผลสรุปที่ใกล้เคียงกันกับความเป็นจริงตามธรรมชาติ สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยฮ่องไคร้ มีการจัดการพัฒนาพื้นที่ป่าไม้ เช่น การปลูกเสริมป่า การควบคุมและป้องกันไฟป่า และก่อสร้างฝายต้นน้ำลำธาร กระจายไปทั่วพื้นที่สร้างความชุ่มชื้นให้กับป่า และระบบนิเวศป่าไม้ ทำให้ความชื้นสัมพัทธ์ในพื้นที่สูงขึ้น อุณหภูมิโดยเฉลี่ยลดลงจากเดิมรวมทั้งอัตราการระเหยและการคายน้ำลดลงเช่นเดียวกันมีผลให้ความต้องการผันน้ำจากลุ่มน้ำห้วยแม่ลายลดลงตามลำดับ ส่วนสภาพฝน อัตราการระเหย และอุณหภูมิจากการศึกษาข้อมูลปริมาณน้ำฝน ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เปรียบเทียบกับข้อมูลปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ศูนย์ฯ ห้วยฮ่องไคร้ พบว่าปริมาณน้ำฝนที่ตกในเขตพื้นที่ศูนย์ฯ มีปริมาณมากกว่าและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกือบทุกปี ปัจจุบันปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,314 มิลลิเมตร/ปี อัตราการระเหย 880 มิลลิเมตร อุณหภูมิเฉลี่ย 25 องศาเซลเซียส ด้านการพัฒนาป่าไม้นั้น ด้วยเป็นเพราะชนิดของป่าเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น จากเดิมมีสภาพเป็นป่าเต็งรังที่เสื่อมโทรม ปัจจุบันฟื้นฟูสภาพแล้ว จึงทำให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ มีบรรยากาศในสภาพแวดล้อมที่มีความชุ่มชื้น คุณภาพของป่าเปียกเดิม ในปี 2526 เกิดไฟป่าในพื้นที่ศูนย์ฯ สร้างความเสียหายประมาณ 200 ไร่/ปี เมื่อระบบการกระจายความชื้นเริ่มเข้าผืนป่าปัจจุบันในระยะ 10 ปีหลังการพัฒนาไม่ปรากฏว่ามีไฟไหม้ป่าเกิดขึ้น ในพื้นที่ศูนย์ฯ มีความหลากหลายของพืชพรรณอาหารธรรมชาติที่ชุมชนได้ใช้ประโยชน์เพื่อการพึ่งพา และเป็นรายได้เสริมในครัวเรือน ชุมชนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ทั้งนี้ การที่จะรักษาสภาพแวดล้อมให้ดีมี คุณค่าต้องมีการปลูกสร้างจิตสำนึกในการทำหน้าที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนในพื้นที่ต้นน้ำ ด้วยความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ เพื่อเป็นแนวทางให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรและสภาพแวดล้อมท้องถิ่นตอบสนองแนวพระราชดำริ
สำหรับการฟื้นฟูพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยฮ่องไคร้ ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการจัดการพัฒนาพื้นที่ที่เสื่อมโทรมให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งเกิดจากการดำเนินการพัฒนาตามแนวพระราชดำริที่ทรงให้เน้นเรื่องการอนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร โดยใช้ฝายต้นน้ำลำธารเป็นเครื่องมือในการพัฒนาพื้นที่ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพทางกายภาพจากสภาพพื้นที่ที่เสื่อมโทรมในอดีตจนมีสภาพที่สมบูรณ์
พื้นดินมีศักยภาพที่เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านเกษตรกรรมอื่นๆ ได้อย่างยั่งยืนและชุมชนรอบพื้นที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้นน้ำลำธาร ทำให้ผืนป่าต้นน้ำลำธารเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่อุดมสมบูรณ์สามารถผลิตน้ำไปใช้ในส่วนพื้นที่ด้านล่างได้ จึงเป็นบทพิสูจน์รูปแบบแห่งความสำเร็จเพื่อการเรียนรู้และนำไปสู่การปฏิบัติการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำลำธารที่ยั่งยืนต่อไป โดยพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่มีเนื้อที่ 8,500 ไร่ พื้นที่หมู่บ้านรอบบริเวณศูนย์ฯ ของโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ 18 หมู่บ้านในตำบลแม่โป่ง ตำบลแม่ฮ้อยเงิน ตำบลเชิงดอย ตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด และตำบลห้วยแก้ว กิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนโครงการบริการการพัฒนาในระดับพื้นที่ 5 แห่ง ได้แก่ โครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอจอมทองอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่โครงการพัฒนาพื้นที่ห้วยลาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ โครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่อาวอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน พื้นที่หมู่บ้านในเขตจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดอื่นในภาคเหนือที่เกษตรกรมีความสนใจเข้ามาเรียนรู้และนำไปปฏิบัติ ๐ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี ในปี 2526 มีพระราชดำริให้ก่อตั้ง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จังหวัดเพชรบุรีได้กำเนิดขึ้นเป็นลำดับสุดท้ายด้วยสภาพพื้นที่ที่เป็นดินดานไม่สามารถใช้ทำการเพาะปลูกได้จากการบุกรุก แผ้วถางป่า การทำเกษตรกรรมอย่างผิดวิธีและการใช้สารเคมี ส่งผลเสียต่อดินและน้ำ เกิดความแห้งแล้งดินกลายเป็นดิน ทรายและดินดานในที่สุด ด้วยทรงห่วงใยในพื้นที่แห่งนี้ จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้พัฒนาพื้นที่เขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ความว่า "...หากปล่อยทิ้งไว้จะกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด.."นำมาซึ่งแนวพระราชดำริในการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ ด้วยการปลูกหญ้าแฝกควบคู่กับการปรับปรุงบำรุงดินอย่างสม่ำเสมอ พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติโดยทรงวางระบบส่งน้ำไปบนภูเขาเพื่อกระจายความชุ่มชื้นวางแนวป้องกันไฟป่าแบบระบบป่าเปียก ซึ่งได้ฟื้นคืนความสมบูรณ์ชุ่มชื้นของผืนดินอีกครั้ง นอกจากนี้ยังให้มีการพัฒนาอาชีพให้กับราษฎรในด้านต่างๆ โดยพื้นที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อยู่ในเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการประกาศตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2467 เพื่อทรงห้ามมิให้มีการล่าสัตว์ในบริเวณนี้ ซึ่งมีสัตว์ป่าจำนวนมาก โดยเฉพาะเนื้อทราย จนได้ชื่อว่า ห้วยทราย ซึ่งในอดีตพื้นที่แห่งนี้มีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร และเป็นแหล่งอาหารของคนและสัตว์ ต่อมามีราษฎรอพยพเข้ามาอาศัยทำกิน เกิดการบุกรุกแผ้วถางป่า ส่วนใหญ่เป็นการทำไร่สับปะรด และใช้สารเคมีอย่างผิดวิธี ส่งผลให้ระบบนิเวศเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว ภายในเวลาไม่ถึง 40 ปี ป่าไม้ถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง ทำให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ปริมาณน้ำฝนลดน้อยลงจนมีลักษณะเป็นพื้นที่อับฝน ดินเกิดความไม่สมดุลทางธรรมชาติ หน้าดินเกิดการชะล้างพังทลายค่อนข้างสูง เกิดความเสื่อมโทรมพืชพรรณไม้ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2526 ทรงพบเห็นสภาพปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ในวันนั้นได้พระราชทานพระราชดำริแก่หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ องคมนตรี และ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการ กปร. ให้พัฒนาเป็น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้านป่าไม้อเนกประสงค์ โดยให้ราษ ฎรที่ทำกินอยู่เดิม และราษฎรที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ได้มีส่วนร่วมในการรักษาป่า และรู้จักใช้ประโยชน์จากป่า โดยไม่ทำลายป่า ควบคู่ไปกับการปลูกป่า จัดหาแหล่งน้ำ ศึกษาวิธีทำระบบป้องกันไฟป่า ให้ราษฎรมีรายได้จากการ ปลูกพืชชนิดต่างๆ เพื่อให้ประชาชนผู้ยากไร้อยู่รอดและธรรมชาติอยู่รอดด้วย
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ.2526 โดยมีกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ถึงวันนี้หลังจากเวลาผ่านไปกว่า 33 ปี พื้นที่เกือบเป็นทะเลทรายก็กลับกลายมาเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์อีกครั้ง
แม้ยังไม่สมบูรณ์เหมือนเก่า แต่ก็มีความชุ่มชื้นและปริมาณฝนมากขึ้น รวมทั้งสัตว์ต่างๆ ที่เคยละทิ้งไปอยู่ที่อื่นได้กลับคืนเข้ามาอยู่ในพื้นที่อีกประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ของศูนย์ รวมทั้งประชาชนที่อยู่ในละแวกใกล้เคียง ยังได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ รวมทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข ฯลฯ สามารถพึ่งพาตนเองได้ก่อให้เกิดชุมชนที่เข้มแข็ง สมตามพระราชดำริทุกประการ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานแนวทางการพัฒนาศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ 3 แนวทางหลัก คือ การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาแหล่งน้ำ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร โดยแนวทางแรก พระราชทานพระราชดำริให้ใช้หญ้าแฝกเป็นอาวุธสำคัญในการพัฒนาสำหรับในพื้นที่ลาดชันรวมทั้งในบริเวณร่องน้ำ ให้ปลูกหญ้าแฝกในแนวขวาง กอชิดติดกัน เพื่อช่วยลดความเร็วของกระแสน้ำที่ชะล้างหน้าดิน แนวของหญ้าแฝกจะช่วยเก็บกักตะกอนให้เกิดหน้าดินขึ้นมาใหม่ จากนั้นจึงทำการปลูกป่าเสริมลงไป ส่วนในดินที่แข็งเป็นดาน พระราชทานแนวพระราชดำริให้ทำการขุดเจาะเป็นหลุม นำดินที่มีธาตุอาหารพืชมาใส่ แล้วจึงปลูกหญ้าแฝก รดน้ำให้ความชุ่มชื้น เมื่อหญ้าแฝกตั้งตัวได้ รากซึ่งมีความแข็งแรง จะสามารถชอนไชลงไปในแนวดิ่ง เจาะดินที่แข็งเป็นดาน เมื่อหญ้าแฝกตายและย่อยสลาย จะเกิดมีช่องว่างที่รากเจาะไว้ น้ำและอากาศจึงซึมลงสู่ใต้ดินได้ ทำให้เกิดความชุ่มชื้น จากนั้นให้นำพันธุ์ไม้ที่ทนต่อสภาพความแห้งแล้ง เช่น ไม้ดั้งเดิมที่เคยมีในพื้นที่มาปลูกเสริม ส่วนใบของหญ้าแฝกที่แก่ ก็ตัดนำมาคลุมผิวดินตามโคนต้นไม้ ช่วยป้องกันการระเหยของน้ำและย่อยสลายเป็นอาหารของพืชต่อไป ในด้านน้ำ พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้จัดหาแหล่งน้ำ เพื่อให้ความชุ่มชื้นกระจายในพื้นที่ให้มาก โดยแนวพระราชดำริให้ศูนย์ฯ สร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นหรือฝายแม้ว ด้วยการนำวัสดุตามธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่มาใช้ปิดกั้นทางน้ำ ร่องเขา และพื้นที่ที่มีความลาดชันซึ่งอยู่ตอนบนของภูเขา เพื่อชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลง และช่วยดักตะกอนไว้ไม่ให้ไหลลงสู่ตอนล่าง ในระยะเวลาหนึ่งเศษซากกิ่งไม้ ใบไม้และตะกอนดิน จะอุดตามช่องและร่องของวัสดุที่ใช้ทำฝาย จนสามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ และซึมลงสู่ใต้ดิน ช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้ป่าฟื้นคืนสู่ความเขียวชอุ่มขึ้น อีกวิธีหนึ่งในการให้ความชุ่มชื้นแก่ดิน คือการทำคันดิน ซึ่งทำได้ 2 แบบ คือ คันดินกั้นน้ำและคันดินเบนน้ำ สำหรับดินกั้นน้ำ คือ การสร้างคันดินขวางพื้นที่ลาดเอียงในบริเวณที่ราบเชิงเขา และขุดเหนือคันดินให้เป็นแอ่งตามแนวคันดิน แอ่งน้ำขนาดเล็กนี้จะช่วยเก็บกักน้ำไว้ให้ไหลซึมลงดิน ช่วยสร้างป่าให้เกิดใหม่ขึ้น ส่วนคันดินเบนน้ำคือการขุดดินให้เป็นร่อง หรือยกระดับคันดินให้สูงขึ้น โดยสร้างเชื่อมต่อกับคันดินกั้นน้ำทั้งสองด้าน เมื่อมีฝนตกและมีปริมาณมาก น้ำจะไหลไปตามแนวคันดินเบนน้ำได้ทั้งสองด้าน กระจายไปในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง ทั้งคันดินนี้ยังใช้เป็นแนวป้องกันไฟป่าได้อีกด้วย เมื่อจัดการระบบน้ำให้ดินมีความชุ่มชื้นพอควรแล้วก็จัดการปลูกป่า 3 อย่าง ซึ่งจะได้ประโยชน์ถึง 4 อย่าง คือป่าอย่างที่ 1 คือ ปลูกไม้โตเร็ว เพื่อให้ใบที่ร่วงหล่นย่อยสลายสะสมสร้างหน้าดินขึ้นมาใหม่ และยังใช้เนื้อไม้เป็นเชื้อเพลิงได้ ป่าอย่างที่ 2 คือปลูกไม้ดั้งเดิมที่มีอยู่ในพื้นที่เพราะเห็นแล้วว่าทนต่อสภาพแห้งแล้งของพื้นที่ได้อย่างดีป่าอย่างที่ 3 คือปลูกไม้เศรษฐกิจหรือไม้ผล ซึ่งจะเป็นไม้ยังชีพต่อไป ส่วนประโยชน์อย่างที่ 4 เป็นผลพลอยได้จากการปลูกป่า 3 อย่างนี้ คือ เป็นการอนุรักษ์ดินและน้ำสร้างความชุ่มชื้นให้แก่พื้นที่ เกิดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศขึ้น ซึ่งการอนุรักษ์ดินนั้น เกิดจากใบไม้ที่ร่วงหล่นทับถมกัน แล้วย่อยสลายกลายเป็นดินใหม่ ส่วนการสร้างความชุ่มชื้นเกิดจากร่มเงาของต้นไม้ จะช่วยลดการระเหยของน้ำในดิน ซึ่งเป็นการสร้างป่าแบบผสมผสานได้อย่างกลมกลืน และเกิดความสมดุลในระบบนิเวศป่าไม้ได้เร็วขึ้น ขณะที่ภายในศูนย์ฯ ยังใช้ระบบภูเขาป่า ตามพระราชดำริ คือสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำด้วยระบบโซลาร์เซลล์ ส่งขึ้นไปใส่ถังพักน้ำที่ก่อสร้างไว้บนภูเขา ให้น้ำล้นและปล่อยให้ไหลกระจายไปตามพื้นที่โดยรอบถัง แล้วปลูกต้นไม้ไว้รอบๆ ไม้ที่ปลูกเป็นไม้โตเร็ว ไม้เศรษฐกิจ และไม้ดั้งเดิมซึ่งวิธีการปลูกป่าแบบให้น้ำนี้ มีอัตราการรอดตายค่อนข้างสูง อีกวิธีหนึ่ง ทรงเรียกว่า "...การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก.."ซึ่งเป็นผลที่ได้รับจากการสร้างระบบภูเขาป่า โดยพืชพันธุ์ไม้ที่เจริญเติบโตจนผลิดอกออกผล เมล็ดหรือผลที่แก่จะร่วงหล่น หรือเมื่อสัตว์ได้กินผลไปถ่ายไว้ในพื้นที่ต่างๆ เมื่อได้รับสภาพที่เหมาะสม ก็จะงอกและเติบโตเป็นต้นใหม่ต่อไปหรือในกรณีที่ป่าไม่ถูกบุกรุกรบกวนอีก ถูกทอดทิ้งไว้ตามธรรมชาติ ในระยะเวลาหนึ่ง ป่าก็สามารถฟื้นคืนสภาพขึ้นมาได้เองตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องไปปลูก รวมทั้งมีการใช้วิธีการฟื้นฟูธรรมชาติและสภาพแวดล้อมตามแนวพระราชดำริทุกรูปแบบและกระจายน้ำจากฝายแม้ว โดยใช้ท่อไม้ไผ่ สายยาง หรือท่อพีวีซีเจาะรู กระจายน้ำออกไปให้ความชุ่มชื้นอย่างกว้างขวาง เรียกว่า ระบบป่าเปียก ซึ่งทำให้สภาพป่าในพื้นที่ของโครงการฟื้นคืนสภาพอย่างรวดเร็ว โดยอาศัยหลักการของกฎธรรมชาติที่แยบยล เรียบง่ายและประหยัด แต่ได้ผลกลับมาอย่างมหาศาล ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า
"...ทิ้งป่านั้นไว้ 5 ปี ตรงนั้นไม่ต้องไปทำอะไรเลย แต่ป่าเจริญเติบโตเป็นป่าสมบูรณ์โดยไม่ต้องปลูกสักต้นเดียว คือว่าการปลูกป่านั้น สำคัญอยู่ที่ปล่อยให้เขาขึ้นเอง..."
ส่วนการพัฒนาแหล่งน้ำสำหรับโครงการดังกล่าว ซึ่งน้ำมีความสำคัญต่อพืชเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงมีโครงการชลประทานเพชรบุรี สนองแนวพระราชดำริที่ทรงให้จัดทำระบบเครือข่ายน้ำที่เรียกว่า อ่างพวง ด้วยการสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่จำนวน 4 อ่าง คือ อ่างเก็บน้ำห้วยตะแปดอ่างเก็บน้ำเขากระปุก อ่างเก็บน้ำห้วยทราย และอ่างเก็บน้ำหนองไทรในแต่ละอ่างมีขนาดและความจุไม่เท่ากัน การทำงานของอ่างพวงมีหลักการอยู่ว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ตอนบน สามารถปล่อยน้ำลงมาเติมอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่อยู่ตอนล่างได้ โดยการเชื่อมต่อท่อส่งน้ำในแต่ละอ่างถึงกัน การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ราษฎรสามารถมีน้ำใช้เพื่อการอุปโภค บริโภค ตลอดจนการใช้น้ำเพื่อการเกษตรอย่างพอเพียง เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานพระราชดำริทรงเน้นการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูป่าให้กลับสมบูรณ์ดังเดิม สามารถทำการเพาะปลูกพืชทางการเกษตรควบคู่กับการปลูกป่าจัดระเบียบราษฎรในพื้นที่โครงการเข้าอยู่อาศัยและทำกินอย่างถูกต้องตามหลักวิชาและสอดคล้องกับธรรมชาติให้ราษฎรเข้าร่วมดูแลรักษา ตลอดจนได้อาศัยผลผลิตจากป่าโดยไม่ต้องบุกรุกทำลายป่าเนื่องจากราษฎรที่ทำกินอยู่เดิมและราษฎรที่อพยพเข้ามาใหม่ มีทั้งไทยพุทธและมุสลิม ทางศูนย์ฯ จึงให้ตั้งหมู่บ้านแยกจากกัน โดยมีภูเขากั้นกลาง ต่างมีวัดและมัสยิด แต่ภูเขาก็ไม่สามารถกั้นความสัมพันธ์ของราษฎรสองหมู่บ้านได้ แม้แต่เจ้าอาวาสกับโต๊ะอิหม่าม ก็ยังไปมาจิบน้ำชาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอยู่เสมอ ด้านการส่งเสริมอาชีพ ทางศูนย์ฯ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรประกอบอาชีพโดยยึดหลักการตามแนวพระราชดำริ เช่น การทำเกษตรโดยใช้ทฤษฎีใหม่ เกษตรแบบผสมผสาน และระบบวนเกษตร ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์และการประมง ทั้งนี้ให้เป็นไปตามแนวพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ดำเนินชีวิตแบบเรียบง่าย ประหยัด พอมีพอกิน พอใช้จ่ายในครัวเรือน สามารถพึ่งพาตนเองได้ และมีความเป็นอยู่ดีขึ้น ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้เน้นให้เกษตรกรใช้หญ้าแฝกปลูกสลับกับแปลงของพืช โดยระบบรากของหญ้าแฝกจะลงลึกในแนวดิ่ง ไม่แผ่กระจาย จึงสามารถปลูกร่วมกับพืชชนิดต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นพืชผัก ไม้ผล ตลอดจนพืชไร่ และไม่เกิดผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืชแต่อย่างใด ส่วนใบของหญ้าแฝกยังใช้เป็นวัสดุคลุมหน้าดิน ป้องกันการระเหยของน้ำ รักษาความชุ่มชื้น ย่อยสลายได้ง่ายเป็นปุ๋ยอินทรียวัตถุแก่พืชได้เป็นอย่างดี สนับสนุนการใช้ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอก ตลอดจนปุ๋ยน้ำชีวภาพ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างของดิน นอกจากนี้ยังสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มอาชีพ เพื่อผลิตสินค้าเสริมรายได้ให้กับครอบครัว เช่น กลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร กลุ่มเจียระไนพลอย กลุ่มทำผ้าบาติก กลุ่มทำกะปิ กลุ่มออมทรัพย์ เป็นต้น อีกทั้งพระองค์ยังได้พระราชทานพระราชดำริให้ส่งเสริมด้านสุขภาพอนามัย ส่งเสริมให้ชุมชนได้รับความรู้ด้านสุขภาพอนามัย จัดให้มีการตรวจสุขภาพอนามัย การวางแผนครอบครัว ตลอดจนการส่งเสริมสุขภาพ คือการป้องกันสุขภาพให้ดีขึ้นโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา โดยมีสถานีกาชาดอำเภอหัวหินและสาธารณสุขอำเภอชะอำ เป็นผู้ดำเนินการ เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข ด้านการศึกษา เป็นความสำคัญอย่างยิ่งที่ได้พระราชทานพระราชดำริให้ส่งเสริมโดยศูนย์ศึกษาฯ สนับสนุนวิทยากรให้กับโรงเรียนในพื้นที่ เพื่อให้ความรู้ทั้งในและนอกโรงเรียน ตลอดจนพื้นที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทั้งด้านวิชาการและการประกอบอาชีพ ปัจจุบันมีโรงเรียนอยู่ในความรับผิดชอบ จำนวน 10 โรงเรียน กับ 1 ศูนย์เด็กก่อนวัยเรียน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเด็กนักเรียน ตลอดจนการดูแลด้านสุขภาพอนามัย ด้านโภชนาการ สำหรับการเมือง การปกครอง สนับสนุนให้ราษฎรในชุมชนมีส่วนร่วมและมีบทบาทหน้าที่ในชุมชนของตนเองการแสดงความคิดเห็น ตลอดจนกำหนดความจำเป็นพื้นฐานของท้องถิ่น เพื่อให้การพัฒนาท้องถิ่นเป็นไปตามความต้องการของชุมชนเองเกษตรกรที่ทำกินมาก่อนในพื้นที่แห้งแล้งจนเกือบเป็นทะเลทราย รวมทั้งราษฎรที่อพยพเข้ามาใหม่ ต่างก็มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นตามพระราชดำริ โดยเกษตรกรผู้ประสบความสำเร็จคนหนึ่งในโครงการนี้ ก็คือ นายสำรอง แตงพลับ วัย 66 ปี ได้เล่าว่า เดิมเป็นคนบ้านดอนยาง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ช่วยพ่อแม่ทำนาและน้ำตาลโตนด หลังจากปลดจากทหารเกณฑ์ ได้เข้ามาซื้อที่ดินที่นี่พร้อมกับเพื่อนอีก 5 คน ปลูกสับปะรดบ้าง ปลูกอ้อยบ้าง สู้อยู่ประมาณ 10 ปี เพื่อนอีก4 คน สู้กับความแห้งแล้งไม่ไหว ขอถอยกลับไป ปล่อยให้นายสำรองสู้อยู่คนเดียวในพื้นที่เกือบ 100 ไร่ และสะสมหนี้ไว้กว่า 700,000 บาท เมื่อเกือบ 30 ปีก่อน จนจะไม่ไหวอยู่แล้ว ก็พอดีมีโครงการตามพระราชดำริห้วยทรายเข้ามา มีแหล่งน้ำเกิดขึ้น จึงทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นเพียง 4 ปี ก็ล้างหนี้ได้ทั้งหมด จึงแบ่งที่ให้ลูก 5 คนไปเหลือเพียง 30 ไร่ อยู่กันสองคนกับภรรยา พร้อมกันนี้ยังได้เข้าฝึกอบรมการเกษตรทฤษฎีใหม่ฯจากศูนย์ฯ ห้วยทรายในปี 2544 นายสำรองได้นำปรัชญาการดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาใช้ในชีวิตประจำวัน เลิกปลูกพืชเชิงเดี่ยว หันมาทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ ปลูกกล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ มะม่วง มะกรูดมะพร้าว ฝรั่ง ส้มโอ เป็นต้น และปลูกพืชผักตามฤดูกาลเช่น ชะอม ผักหวานบ้าน พริก ข่า ตะไคร้ ฯลฯ ทำนา 3 ไร่ในบ่อน้ำก็เลี้ยงปลาหลายชนิด เลี้ยงเป็ด ไก่ หมู วัว เพื่อขายลูก และนำมูลสัตว์มาทำบ่อหมักแก๊สใช้ในครัวเรือนส่วนกากหลังจากหมักแก๊สก็เป็นปุ๋ยใส่ต้นไม้ ปลูกปอเทืองทำปุ๋ยพืชสด โดยใช้แรงงานเพียง 2 คน ทำให้ชีวิตมีกินมีใช้ เป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรรายอื่นๆ ซึ่งความสำเร็จดังกล่าว ทำให้นายสำรอง ได้รับเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่นด้านเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ระดับประเทศในปี 2551 เป็นวิทยากรดีเด่นด้านเศรษฐกิจพอเพียงฯ ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ และเปิดบ้านของตัวเองเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงฯ ชุมชนบ้านหนองเขื่อน ตำบลไร่ใหม่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีเกษตรกรในท้องที่และจากต่างถิ่นมาเรียนรู้กันเป็นประจำ สำหรับห้วยทรายในวันนี้ นอกจากจะกลายสภาพจากแผ่นดินที่เคยแห้งแล้ง กำลังจะกลายเป็นทะเลทราย มาเป็นป่าที่เขียวขจี และไร่นาเรือกสวนของเกษตรกรที่มีชีวิตดีขึ้น เช่นเดียวกับป่าแล้ว ยังเป็นแหล่งศึกษาดูงาน เป็นแม่แบบให้กลุ่มเกษตรกรที่กำลังเผชิญกับความแห้งแล้งกันดารของที่ทำกิน เพื่อที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น เช่นเดียวกับสมาชิกของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๐ โครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ "น้ำ" ปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของทุกคนและสรรพชีวิต และเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่สามารถขาดได้ ไม่ว่าจะไว้ใช้ในการอุปโภคหรือบริโภคก็ตาม ซึ่งตลอดระยะเวลาแห่งการครองราชย์ 70 ปี ตราบเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระราชดำริและได้มีโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำขึ้นมากมายในทั่วประเทศ ด้วยทรงเห็นความสำคัญและความยากลำบาก เมื่อประชาชนขาดแคลนน้ำ หนึ่งในหลายๆ โครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาแหล่งน้ำ คือการพระราชทานพระราชดำริสร้างอ่างเก็บน้ำ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่ พระองค์ได้พระราชทานไว้มากมาย หนึ่งในอ่างเก็บน้ำทั้งหลาย คือ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตตำบลแก่งดินสอ พื้นที่ชลประทานก็อยู่ในเขตตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี ตำบลเมืองเก่า ตำบลบ่อทอง และตำบลบ้านนา อำเภอกบินทร์บุรีจังหวัดปราจีนบุรี ดำเนินการครั้งแรกตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2521 และยังมีพระราชดำริอีกหลายโอกาสระหว่างปี พ.ศ.2521-2544 จนกระทั่งปี 2532 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการ อนุมัติให้ดำเนินโครงการ ในปี 2538 ได้ทำการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการแล้วเสร็จ ต่อมาได้มีการศึกษาปรับปรุงรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมใหม่อีก 2 ครั้ง แล้วเสร็จในปี 2546 จนมาถึงวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 อุทยานแห่งชาติทับลานและอุทยานแห่งชาติปางสีดาได้รับการ ประกาศเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ ซึ่งพื้นที่ที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยโสมงฯบางส่วนประมาณ 2,728 ไร่ อยู่ในพื้นที่ของทั้ง 2 อุทยานทำให้โครงการหยุดชะงัก ต้องมีการศึกษาความเหมาะสมโครงการใหม่อีกครั้ง โดยกรมชลประทานได้จ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ศึกษาในปี 2550 เมื่อถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2552 คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกอนุมัติให้กรมชลประทานใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานและอุทยานแห่งชาติปางสีดาเพื่อก่อสร้างโครงการได้ ในวันที่ 26 เดือนเดียวกัน คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติในการประชุม ครั้งที่ 4/2552 เห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบวงเงินและระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง และในปี 2553 กรมชลประทานก็ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขึ้นที่บ้านแก่งยาว ตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี สำหรับโครงการห้วยโสมงฯ เกิดขึ้นจากแนวพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ได้พระราชทานไว้ตั้งแต่ปี 2521 เพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรใช้ทำการเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง และมีน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคตลอดปี เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ คือ ส่วนของอ่างเก็บน้ำมีความจุเต็มที่ 295 ล้านลูกบาศก์เมตร และส่วนของระบบส่งน้ำให้กับพื้นที่เกษตรกรรม 111,300 ไร่ ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2553-2561 รวม 9 ปีใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 8,300 ล้านบาท อีกทั้งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุ มารี ได้ทรงห่วงใยเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการ ได้พระราชทานพระราชดำริความว่า "...การก่อสร้างโครงการที่อยู่ในเขตพื้นที่ป่า ควรมีการฟื้นฟูสภาพป่า พัฒนาอาชีพให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้ทุกฝ่าย รับรู้และเข้าใจโครงการด้วย" ดังนั้นสำนักงาน กปร. กรมชลประทานร่วมกับสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดปราจีนบุรี จึงได้ดำเนินการพัฒนาอาชีพให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการห้วยโสมงฯ มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 และในปี 2559 ได้ขยายพื้นที่ด้านพัฒนาอาชีพให้แก่ราษฎรกลุ่มพื้นที่รับประโยชน์ในเขตชลประทานฝั่งซ้ายและฝั่งขวาต่อไปด้วย ในปัจจุบัน กรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประกอบด้วยตัวเขื่อน อาคารระบายน้ำล้น ท่อส่งน้ำฝั่งซ้าย อาคารระบายน้ำลงลำน้ำเดิม มีความก้าวหน้าคิดเป็นร้อยละ 60 พร้อมกับได้มีการปลูกป่า ฟื้นฟูสภาพพื้นที่รอบโครงการควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่อง ตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ วันนี้อ่างเก็บน้ำห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริใกล้เสร็จสมบูรณ์ทั้งระบบและสามารถเก็บกักน้ำได้แล้ว มีศักยภาพทั้งการบรรเทาน้ำท่วมได้แล้วเช่นกัน โดยจะเสร็จสมบูรณ์ทั้งระบบ ในปี 2561 เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จทั้งโครงการ จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับราษฎรมีแหล่งน้ำต้นทุนและเพิ่มพื้นที่ชลประทานในฤดูฝนจำนวน 111,300 ไร่ และฤดูแล้งจำนวน 45,000 ไร่ ในเขตอำเภอนาดี และอำเภอกบินทร์บุรี รวมถึงช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรีและลุ่มน้ำสาขาที่เกิดขึ้นเป็นประจำในเขตพื้นที่อำเภอนาดี และอำเภอกบินทร์บุรี ตลอดจนสามารถช่วยผลักดันน้ำทะเลไม่ให้หนุนเข้ามาลึก สร้างความเสียหายแก่พืชผลของประชาชนในพื้นที่บางส่วนของจังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดสระแก้ว นอกจากนี้ ยังจะสร้างประโยชน์ในด้านอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำ ช่วยรักษาระบบนิเวศผลักดันน้ำเค็มและน้ำเน่าเสียในแม่น้ำปราจีนบุรี และแม่น้ำบางปะกง เป็นแหล่งน้ำสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกและพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งพื้นที่อ่างเก็บน้ำยังจะเป็นแนวกันชน หรือแนวป้องกันการบุกรุกทำลายป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานและอุทยานแห่งชาติปางสีดาช่วยเพิ่มระดับความชุ่มชื้นในพื้นที่ป่า ทำให้โอกาสการเกิดไฟไหม้ป่าลดลง หรือหากเกิดไฟป่าก็จะมีแหล่งน้ำที่จะนำมาใช้ดับไฟป่าได้ ตลอดจนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดปราจีนบุรีอีกด้วย สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อใหม่ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 ว่า "อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา" อ่านว่า "นะ-รึ-บอ-ดิน-ทระจิน-ดา" มีความหมายว่า "อ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช" มีความจุ 295 ล้านลูกบาศก์เมตร เก็บกักน้ำไม่ให้ไหลบ่าท่วมอำเภอกบินทร์บุรีดั่งในอดีตที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 และนับเป็นแหล่งน้ำชื่อพระราชทานชื่อสุดท้าย ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตอนที่ ๓ 'ในหลวง' กับ 'คึกฤทธิ์' ติดตามวันพรุ่งนี้... Download:: สยามรัฐฉบับพิเศษ ตอนที่ ๒ ตามรอยพระบาทในหลวง ประทับลงบนผืนแผ่นดินไทย