รศ.ดร.สุรินทร์ คำฝอย ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า (KMIDS) กล่าวว่า โรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า ตระหนักถึงการบ่มเพาะและปลูกฝังองค์ความรู้ที่เน้นเรื่อง “ความก้าวหน้าที่ยั่งยืน” ผ่านระบบการเรียนการสอนแบบสะตีม (STEAM) ตามมาตรฐานของสหรัฐอเมริกามาเป็นหลักสูตรเพื่อให้นักเรียนเกิดความฉลาดรู้ ความเข้าใจ และมุมมองใหม่ๆที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยการผสมผสานองค์ความรู้ศาสตร์และศิลป์แขนงต่างๆที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาอย่างรอบด้านให้เยาวชน
เป็นนักนวัตกรรมที่มีแก่นแท้ของการพัฒนาสังคมที่สมดุล และ “ยั่งยืน” น้อมนำมาจาก แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ที่ขณะนี้องค์การสหประชาชาติและทั่วโลกก็กำลังกระตุ้นให้ทั่วโลกคำนึงถึงด้านดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ โดยผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมที่โรงเรียนได้แสดงให้เห็นคือ ผลงานสิ่งประดิษฐ์ของนักเรียนในโรงเรียน อันได้แก่ ผลงาน Multicore Cable Fit-Outing Robot หรือหุ่นยนต์เดินสายสาธารณูปโภคใต้ดิน และ ผลงาน Aquabot หรือหุ่นยนต์เพื่อการปลูกปะการังเทียม ซึ่งทั้ง 2 ผลงาน คว้ารางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศ และจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยในการเข้าสู่การแข่งขัน โอลิมปิกหุ่นยนต์ระดับโลก (WRO 2017) ณ เมืองซานโฮเซ ประเทศคอสตาริกา โอกาสนี้โรงเรียนจึงได้จัด KMIDS OPEN HOUSE 2017 กิจกรรมการแนะแนวหลักสูตรโรงเรียนนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองและนักเรียนได้ร่วมสัมผัสบรรยากาศโรงเรียนยุคใหม่ที่มีเครื่องมือและสื่อการสอนที่ทันสมัย พร้อมด้วยไฮไลท์สุดยอดหลักสูตรนานาชาติที่มุ่งเน้นการสร้างนักนวัตกรรมด้วยมาตรฐานระดับโลก ด้าน ณจรีย์ จันทร์เจิดศักดิ์ ตัวแทนนักเรียนชั้นเกรด 10 ผู้ผลิตผลงาน Multicore Cable Fit-Outing Robot หรือหุ่นยนต์เดินสายสาธารณูปโภคใต้ดิน กล่าวว่า สิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวเป็นต้นแบบก่อนที่จะพัฒนาสู่หุ่นยนต์ขนาดใหญ่เพื่อการทำงานหนักบนพื้นที่ที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงได้หรือเข้าถึงได้ยาก โดยหุ่นจะประกอบไปด้วอุปกรณ์ 2 ชุด คือ ชุดที่ 1 จะเป็นหุ่นยนต์ขนาดเล็กที่ทำหน้าที่ในการนำหน้าเพื่อสำรวจอุปสรรคของพื้นดินและใต้ดิน โดยมีเซ็นเซอร์ในการตรวจจับพร้อมวิเคราะห์ออกมาในรูปของแผนที่ เพื่อให้หุ่นยนต์ ชุดที่ 2 ที่เป็นหุ่นยนต์ใหญ่ทำหน้าที่ในการเดินเครื่องขุดดิน พร้อมฝังกลบสาย Multicore ซึ่งประกอบด้วย สายโทรศัพท์ สายไฟฟ้า ท่อประปา และแก๊สธรรมชาติลงบริเวณใต้ดินในเวลาเดียวกัน
โดยทางทีมหวังที่จะสานต่อแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงช่วยเหลือประชาชนที่อยู่ในชนบทห่างไกลที่ยังไมได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นด้วยการเข้าไปช่วยเหลือด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานทางเศรษฐกิจเบื้องต้น
ด้าน เทพมงคล พันธุ์กระทึก ตัวแทนนักเรียนชั้นเกรด 7 ผู้ผลิตผลงาน Aquabot หรือหุ่นยนต์เพื่อการปลูกปะการังเทียม กล่าวว่า
ตนเองได้แรงบันดาลใจจากโครงการในพระราชดำริด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล
สำหรับปัจจุบัน แนวปะการังน้ำตื้นของไทยและทั่วโลกจำเป็นอย่างมากที่จะต้องได้รับการฟื้นฟู ซึ่งหุ่นยนต์ Aquabot สามารถทำหน้าที่แบ่งเบาแรงงานมนุษย์ในการช่วยปลูกปะการังเทียมเพื่อให้สามารถใช้เป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำใต้ทะเล โดยที่หุ่นยนต์จะมีคุณสมบัติพิเศษในเรื่องของความรวดเร็วและประสิทธิภาพด้านความแม่นยำที่มากกว่า ทั้งยังเป็นหุ่นยนต์ที่มีความแข็งแรงทนทาน มีความสามารถในการต้านทานกระแสน้ำ ปลอดภัย ไม่ทำลายระบบนิเวศและมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน