พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคตผ่านครบ ๑ ปี หนังสือพิมพ์สยารัฐรายวัน จัดทำหนังสือพิมพ์รายวันฉบับพิเศษ จำนวน ๑๒ วัน ตั้งแต่วันที่ ๑๘-๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๐ เพื่อร่วมถวายความอาลัย ตอนที่ ๓ 'ในหลวง'กับ 'คึกฤทธิ์' พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ดอยขุนตาล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เคยเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปยังดอยขุนตาล ระหว่างที่ทั้งสองพระองค์เสด็จฯ แปรพระราชฐานไปยังพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ แล้วเสด็จฯ โดยเฮลิคอปเตอร์ไปยังดอยขุนตาล (ย.2)ทั้งสองพระองค์ เสด็จฯ ไปยังดอยดังกล่าวนี้สองครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ.2512 และครั้งต่อมาในปี พ.ศ.2516 โดยเสด็จฯในตอนเช้าและเสด็จฯ กลับตอนบ่าย ไปยังพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ในการเสด็จฯ ครั้งนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงนำลูกสุนัขพันธุ์แม้วไปพระราชทานแก่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช 1 ตัว ต่อจากนั้น ท่านอาจารย์หม่อมท่านยังตั้งชื่อว่า "ฮ." เพราะว่ามากับเฮลิคอปเตอร์ ปัจจุบันสุนัขตัวนั้นยังมีลูกมีหลานหลงเหลืออยู่บนดอยขุนตาล เป็นสุนัขสีเทาๆ(หน้า 283 หนังสือ "100 ปี คึกฤทธิ์") 'สยามรัฐ' กับ 'ในหลวง' "สยามรัฐ"หนังสือพิมพ์ที่มีอายุเก่าแก่ยาวนานที่สุดของไทยที่ยังคงอยู่ในปัจจุบัน โดยยึดมั่นปณิธานตามชื่อ"สยามรัฐ" "...เราเรียกชื่อหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ว่า "สยามรัฐ"เพราะเราถือว่าผลประโยชน์แห่งผืนแผ่นดินที่เรียกว่าสยามรัฐนี้ ต้องรักษาไว้เหนือประโยชน์อื่นใด และความผาสุกของคนทั้งปวงที่เป็นเจ้าของแผ่นดินผืนนี้ เป็นยอดแห่งความปรารถนาของเรา เราได้ถือเอาดวงตราของแผ่นดินไทยค้ำจุนไว้ด้วยสัตย์ที่ไทยเราถือว่าเป็นมงคลมาทอดไว้เหนือชื่อของเรา..." (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนประกาศปณิธานไว้ในหน้าหนึ่งของสยามรัฐฉบับปฐมฤกษ์ จาก"คึกฤทธิ์วินิจฉัย"น.10) สละ ลิขิตกุล ผู้ร่วมก่อตั้งสยามรัฐกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ปราโมช และเป็นบรรณาธิการสยามรัฐท่านแรก ได้เขียนเล่าใน "ในหลวงกับคึกฤทธิ์" ว่า พระบาทสมเด็จประปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงขึ้นครองราชย์ตามขัตติยราชประเพณีในวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 5 พฤษภาคม 2493 ซึ่งจากนั้นอีก 50 วันต่อมา "หนังสือพิมพ์สยามรัฐ" จึงได้ออกสู่ประชาชน ทองแถม นาถจำนง บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ได้กล่าวถึงที่มาของ "สยามรัฐ" มีประเด็นใหญ่ๆ อยู่ 3 ประเด็น ประการที่หนึ่ง คือ กำเนิดสยามรัฐ หลังจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ขัดแย้งกับรัฐบาลตอนนั้นลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี และ ส.ส.วางมือทางการเมืองแต่ในใจท่านคิดอะไรอยู่ไม่รู้ แต่มัน พอดีกับการเสด็จฯนิวัตพระนคร ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และต้องมาจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรรัชกาลที่ 8 ช่วงนี้เป็นช่วงสำคัญที่เป็นความเศร้าอย่างที่เราประสบอยู่ในตอนนี้ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ก็บวชถวายในหลวงรัชกาลที่ 8 ระหว่างนั้นก็คิดขึ้นมาว่าสังคมไทยยังขาดสื่อที่มีคุณภาพ ท่านก็เลยให้ลุงสละ ลิขิตกุล มาเตรียมงานก่อตั้งหนังสือพิมพ์ ท่านบวชอยู่ประมาณเดือนหนึ่งพอสึกมาท่านก็เปิดหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ก็เป็นช่วงหลังจากงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ และสยามรัฐ ฉบับแรกออกจำหน่ายในวันที่ 25 มิ.ย.2493 หลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในหลวงรัชกาลที่ 9 หนังสือพิมพ์สยามรัฐจึงเกี่ยวพันกับงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ 8 และพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในหลวงรัชกาลที่ 9 ถือว่าเกี่ยวพันมาก ประการที่สอง คือ ธรรมนูญสยามรัฐ หรือปณิธานของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ที่ประกาศเอาไว้ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับที่ 1 ท่านเล่าว่าเหตุใดจึงมาทำหนังสือพิมพ์และแนวทางของหนังสือพิมพ์สยามรัฐเป็นอย่างไร ท่านก็บอกว่าท่านไม่ได้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์มาเพื่อจะหนุนพรรคการเมืองใด ถ้าทำไม่ดีก็ต้องติ ต้องห้าม ดังพุทธศาสนสุภาษิต "นิคฺคณฺเห นิคฺคหารหํ ปคฺคณฺเหปคฺคหารหํ (พึงชมคนที่ควรชม พึงข่มคนที่ควรข่ม)" ไม่หนุนและไม่ต้านแนวการเมืองไหน แนวการเมืองของสยามรัฐคือ ผลประโยชน์ของประชาชนบนแผ่นดินนี้เป็นสิ่งสูงสุด อะไรที่ดีต่อประชาชนคนไทยในแผ่นดินนี้ จะสนับสนุนอะไรที่ไม่ดีจะคัดค้าน ตรงนี้ผมคิดว่า "สยามรัฐ" เป็นหนังสือพิมพ์ที่ตรงกับพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่9ที่สุดเพราะพระองค์ท่านทำทุกอย่างเพื่อประชาชน ประชาชนมาเป็นที่หนึ่ง ในทางหลักการของหนังสือพิมพ์สยามรัฐแล้ว ผมคิดว่าตรงกับพระราชปณิธานและการทำงานของสยามรัฐ 67 ปีก็ยังยึดมั่นตามแนวทางของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ที่ได้วางแนวทางเอาไว้ ในระหว่างนั้นก็ได้มีส่วนร่วมทางอ้อมสนับสนุนในโครงการของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาโดยตลอด ประการที่สาม เป็นตัวอย่างรูปธรรมเล็กๆ น้อยๆที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระเมตตาธิคุณ พระกรุณาธิคุณซึ่งแสดงออกทางพระปัญญาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่9 คือเมื่อมีพระราชดำริให้สร้างถนนบรมราชชนนีและจะมีสะพานใหม่เกิดขึ้น คือ สะพานพระราม 8 ตรงนั้นเดิมทีแผนการของทางราชการเขาจะกินพื้นที่เข้าไปถึงวัดคฤหบดี และชาวบ้านจะต้องถูกเวนคืนกันเยอะ มีเสียงสะท้อนออกมา พระองค์ท่านก็ใช้พระปัญญาวางแผนให้ใหม่จนเป็นสะพานพระราม 8 ในปัจจุบัน ซึ่งได้ลดทอนความเดือดร้อนของชาวบ้านไปมากจริงๆ สยามรัฐ ก็อยู่รอดมาได้ในตอนนั้น ก็เป็นตัวอย่างเล็กๆ ว่าพระมหากรุณาธิคุณที่ได้แผ่มาถึงสยามรัฐโดยอ้อมพระองค์ท่านเมตตาชาวบ้านพอดี โรงพิมพ์ของสยามรัฐอยู่ตรงนั้นด้วย เลยได้อานิสงส์ และเรื่องส่วนตัวของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในฐานะเป็นราชนิกูล ถึงแม้จะเป็น ม.ร.ว.แต่เป็นสายตรงของรัชกาลที่ 4 จึงมีสถานะอาวุโส ได้ถวายงานมากมายในช่วงของรัชกาลที่ 9 ยกตัวอย่าง การจัดเตรียมงานพิธีเสด็จประพาสอเมริกา จะไปพบใคร ให้สัมภาษณ์ตรงไหนม.ร.ว.คึกฤทธิ์เป็นคนเตรียมการวางแผนล่วงหน้า และได้เดินทางไปเตรียมงานที่อเมริกาก่อน ซึ่งก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงมากที่อเมริกา และเป็นไวยาวัจกร ตอนที่รัชกาลที่ 9 ทรงผนวชได้รับใช้ใกล้ชิดที่วัดบวรนิเวศฯ นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมอีกเยอะ เช่น การแต่งบทกลอน ละครถวาย เวลามีงานแสดง ส่วนพระองค์ นอกจากนั้นแล้วก็อย่างที่รู้กันว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ถวายความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์อย่างสูงความจงรักภักดีนี้ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เขียนผ่านข้อเขียนอยู่แล้วเป็นหน้าที่ที่พวกเราชาวสยามรัฐ เราจะต้องสนองปฏิบัติตามนั้น ต่อมาทุกยุคเราจะมีหนังสือแถมพิเศษที่ทำเรื่องราวเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์มากมาย ก็ถือว่าได้ปฏิบัติตามแนวทางที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช วางไว้ คุณูปการของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ก็คือการอธิบายวัฒนธรรมไทย รอบด้านให้คนเข้าใจได้ง่าย เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือกฎหมายเก่า ท่านอธิบายได้ดี เข้าใจง่าย จนมีปัญญาชนหัวสมัยใหม่บางคนไปโทษท่านว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ สร้างวัฒนธรรมไทย ทั้งที่ความจริงแล้ววัฒนธรรมมันดำเนินของมันอยู่ แต่ใครจะอธิบายมันได้ดีได้ง่าย ให้เข้าใจ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ อธิบายตรงนี้ได้อย่างเป็นระบบ ท่านไม่ได้สร้างแต่มันดำรงอยู่อย่างนั้น ท่านก็มีส่วนในการช่วยรักษา และพัฒนาวัฒนธรรมไทย หากไม่เข้าใจก็อาจจะเกิดความวุ่นวายสับสนได้ ท่านพยายามอธิบายให้เข้าใจความหมาย ของสิ่งที่เกิดขึ้นว่ารากเหง้ามันเป็นอย่างไร อย่าง การฟื้นฟูพระราชพิธีแรกนาขวัญ อันนี้เป็นกำลังใจของชาวนามาก พระองค์ท่านยังคิดพันธุ์ข้าวที่ดีมาแจกชาวนา ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ได้ก่อตั้ง สถาบันไทยคดีศึกษาและหลักสูตรให้นักศึกษาปี 1 ต้องเรียนวิชาวัฒนธรรมไทย ท่านเป็นคนวางหลักสูตรและใครหลายคนมาช่วยกันเขียนทำให้นักศึกษาธรรมศาสตร์ปี 1ได้เรียนรู้เข้าใจวัฒนธรรมไทย ต่อยอดมาเป็นโขนธรรมศาสตร์ และต่อยอดมาเป็นการพัฒนาการศึกษาวิจัยค้นคว้าไทยศึกษาของธรรมศาสตร์มาจนทุกวันนี้ บทบาทของ "สยามรัฐ" อาจจะดูยาก แต่จริงๆ บทบาทของ"สยามรัฐ"ในยุคที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์มีชีวิตอยู่สยามรัฐกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ก็คือคนเดียวกัน เพราะฉะนั้นบทบาทที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ทำอะไรไว้นั่นก็คือ บทบาทของสยามรัฐ คึกฤทธิ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอย่างไรสยามรัฐก็เป็นอย่างนั้น เหมือนสมัยที่ท่านยังเป็นเจ้าของ "หน้าในหลวงของเรา" แรกเริ่มเกิดขึ้นได้อย่างไร หลังจากที่มี ชัชวาลล์ คงอุดม เข้ามาช่วยให้สยามรัฐอยู่ต่อไป ก็มีการปรับปรุงใหญ่ๆ หลายครั้ง ครั้งหนึ่งได้คุยกันว่า หนังสือพิมพ์ไทย ไม่มีหน้าสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเต็มที่ หน้าเดียวโดดๆ สวยๆ ท่านอยากให้มีก็เลยมาคิดกันก็เกิดขึ้นโดยได้กำลังของ เสกสรร สิทธาคม ก็มาเป็นกำลังสำคัญ เราก็ประสานงานไปถึงราชเลขาธิการเสกสรรก็เลยได้ติดตามไปรายงานเกี่ยวกับโครงการต่างๆอยู่หลายปี เราหวังว่า สถาบัน โรงเรียนต่างๆ โดยเฉพาะโรงเรียนตามต่างจังหวัด สามารถที่จะตัดหน้าหนังสือพิมพ์สยามรัฐ หน้าในหลวงของเราใส่กรอบหรือติดบอร์ดที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริและเรื่องราวดีๆ ที่พระองค์ทรงช่วยเหลือประชาชนอยู่ทุกวัน โรงเรียนได้เอาไปใช้ประโยชน์ เผยแพร่ให้นักเรียนและคนในชุมชน เราก็ทำมาตลอด 10 กว่าปี เข็มทิศ 'สยามรัฐ' บัญญัติ 10 ประการ เทิดทูน-จงรักสถาบันพระมหากษัตริย์ "หนังสือพิมพ์สยามรัฐ" ถือกำเนิดในบรรณพิภพเมื่อ 25 มิถุนายน 2493 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช พร้อมคณะผู้ร่วมก่อตั้ง ได้วางหลักการ รากฐาน หรือเรียกว่าเป็น เข็มทิศ ของสยามรัฐ ด้วยการเทิดทูน 3 สถาบันหลักของชาติ คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ คณะผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ซึ่งประกอบด้วยม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และ สละ ลิขิตกุล ยังได้วางหลักการ หรืออุดมการณ์ ที่เรียกว่าเป็น เข็มทิศของสยามรัฐ ว่าจะส่งเสริมสนับสนุนการปกครองของประเทศไทยในรูปแบบประชาธิปไตยสากล โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ของชาติบ้านเมือง) อยู่ตลอดไป "ในหลวงกับคึกฤทธิ์" โดย สละ ลิขิตกุล หน้า 8 ความตอนหนึ่งว่า "สยามรัฐ จะต้องเทิดทูนแสดงความเคารพบูชาสักการะต่อองค์พระมหากษัตริย์ ด้วยการเทิดทูน และส่งเสริมพระบารมี ตลอดจนพระบรมเดชานุภาพของพระองค์ท่าน ทั้งทางตรงและทางอ้อม... เงื่อนไขของคุณชายที่กำหนดไว้เป็นหลักการ หรืออุดมการณ์ของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ในเรื่องนี้ถือกันว่าเป็นธรรมนูญของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ (แต่เป็นอันซีนรัฐธรรมนูญ) หลักการที่ว่านี้ ได้รักษาไว้ด้วยการบริหารงานของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2493 มาจนถึงตราบเท่าทุกวันนี้" บัญญัติ 10 ประการ "สยามรัฐ" เข็มทิศนี้ได้ประกาศอยู่ในบัญญัติ 10 ประการของ"สยามรัฐ" "ในจำนวน 10 ข้อในคำสั่งนั้น มีอยู่ข้อเดียวเท่านั้นที่มีความขลังและศักดิ์สิทธิ์ โดยผู้ที่ทำงานหนังสือพิมพ์สยามรัฐจะต้องปฏิบัติตาม... 1.หนังสือพิมพ์สยามรัฐ เคารพบูชาสักการะองค์พระมหากษัตริย์ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เทิดทูนไว้เหนือสิ่งใดๆ ในโลก ในฐานะที่ทรงเป็นพระประมุขของชาติไทยและคนไทย ตามระบอบประชาธิปไตย ใครคนหนึ่งจะยิ่งใหญ่เพียงใด มีอำนาจราชศักดิ์เท่าไรจะแตะต้องและละเมิดต่อพระองค์ในทางที่จะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศและพระบรมเดชานุภาพมิได้ หนังสือพิมพ์สยามรัฐจะต่อต้านต่อสู้ทุกวิถีทางทุกๆรูปแบบ และด้วยความร่วมมือร่วมใจร่วมแรงของทุกคนที่ทำงานในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ...." จาก "ในหลวงกับคึกฤทธิ์" หน้า 87 บัญญัติ 10 ประการ ซึ่ง สละ ลิขิตกุล เรียกว่าคัมภีร์ทั้ง 10 ข้อนี้ สละ ซึ่งเป็น บก.คนแรกได้นำไปจารึกบนแผ่นทองเหลือง และต่อมา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้ให้นำไปฝังไว้ในตึกที่ทำงานของสยามรัฐ "...ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ให้นำจารึกบัญญัติ 10 ประการ ซึ่งจารึกในแผ่นทองเหลืองไปฝังไว้ในผนังตึกทำงานชั้น 3 ของตึกอาคาร 6 ของสยามรัฐ โดยให้คุณบุญส่งซึ่งเป็นเด็กรับใช้ประจำตัวของท่านที่สำนักงานสยามรัฐ ให้ช่างมาเจาะผนังตึกฝังไว้เพื่อให้คล้ายกับเป็นศิลาฤกษ์ของตึกที่ทำงานสยามรัฐ ซึ่งผมเข้าใจว่าหลักศิลาฤกษ์ 10 ประการของสยามรัฐยังฝังอยู่ในตึกชั้นที่ 2 ของสยามรัฐในขณะนี้ เพียงแต่ไม่รู้ว่ายังอยู่ตรงไหนเท่านั้น เพราะคุณบุญส่งก็ถึงแก่กรรมแล้ว และไม่ได้บอกใครไว้จึงยังหาไม่พบ ถ้าจะหาพบก็คงจะต้องเห็นว่าต้องรื้อผนังตึกทุกๆ ด้าน หรือไม่ก็ต้องรอจนตึกอาคาร 6 นี้ถูกรื้อพังไปด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง" จาก"ในหลวงกับคึกฤทธิ์" หน้า 89 ความรักความผูกพัน ความจงรักภักดี ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร อย่างสูงที่สุด ได้ปรากฏในงานเขียนของ อ.หม่อมคึกฤทธิ์ อย่างต่อเนื่อง ในวาระความสูญเสียอันใหญ่หลวงของแผ่นดินไทยที่สิ้นแล้วดวงแก้วของปวงไทย หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับพิเศษ เนื่องในช่วงการเข้าสู่พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จะขอนำข้อเขียน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ที่ได้แสดงตนว่าเป็นผู้จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเหนียวแน่น และมุ่งหวังที่จะรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญภายใต้ระบบกษัตริย์อันเป็นประมุข รวมทั้งหนึ่งในผู้ที่ถ่ายทอดความรู้สึกของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้อย่างลึกซึ้งคือ สละ ลิขิตกุล คอลัมนิสต์เจ้าของนามปากกา "ทหารเก่า" และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง "สยามรัฐ" โดยเป็นบรรณาธิการคนแรก พระราชกรณียกิจนานานัปการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงตั้งมั่นเพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้ถ่ายทอดเป็นข้อเขียนทั้งในหนังสือพิมพ์สยามรัฐและสิ่งพิมพ์อื่นมากมาย โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เป็นสื่อกลางอธิบายด้วยภาษาง่ายๆให้ชาวบ้านได้เข้าใจว่า ในหลวงของเรา ได้ทรงทุ่มเทปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อปวงชนชาวไทยมากมายเพียงใด หนทางทั่วผืนแผ่นดินไทย ที่เบื้องพระบาทได้ยาตราไว้ ตลอด 70 ปีแห่งการครองราชย์ และประจักษ์แจ่มชัดตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันถึงความจงรักภักดีสุดหัวใจของคนไทยที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ อาทิ ดังงานเขียนปรากฏใน "คอลัมน์สยามรัฐหน้า5" เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2513 ความว่า "ใครที่เห็นภาพข่าวทางโทรทัศน์เกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินไปยังจังหวัดนครสวรรค์เมื่อคืนวันที่ 21 เดือนนี้แล้ว ก็คงจะอดตื้นตันใจมิได้ ตามเส้นทางพระราชดำเนินจากสนามบินนครสวรรค์ไปยังโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ซึ่งเสด็จฯ ไปทรงเปิดนั้น มีราษฎรมาเฝ้าฯ ด้วยความจงรักภักดีอย่างล้นหลามเนืองแน่น ทุกคนต่างมีใบหน้าอิ่มเอิบ และทุกคนต่างกระตือรือร้นที่จะได้ชมพระบารมี ภาพนั้นแสดงให้เห็นอย่างประจักษ์ชัดว่า เมืองไทยเรานี้มีวิญญาณ และวิญญาณของเมืองไทยนั้นอยู่ที่ไหนคนทั้งประเทศที่มีวิญญาณเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้น ย่อมไม่มีใครมาทำให้แตกแยกได้ และจะไม่มีใครมาลบล้างได้ เมื่อรถพระที่นั่งใกล้โรงพยาบาลเข้ามา ฝูงชนก็ยิ่งหนาแน่นขึ้น จนในที่สุดฝูงชนเข้าห้อมล้อมรถพระที่นั่งไว้จนไม่สามารถเคลื่อนที่ต่อไปได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จลงจากรถพระที่นั่ง และได้ทรงพระดำเนินไปท่ามกลางฝูงชนผู้จงรักภักดีจนถึงโรงพยาบาล... การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะเสด็จลงจากราชพาหนะและทรงพระดำเนินไปท่ามกลางฝูงชนที่ยัดเยียดกันเข้ามาเฝ้าฯ นั้นเป็นเรื่องที่ไม่มีใครจะนึกถึงได้ แม้เมื่อเวลาสามสิบกว่าปีที่แล้วนี้เอง..." 'มหาราช' ผู้ครองธรรม ครองใจ "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" พระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จประมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ดังกึกก้องอยู่ในหัวใจคนไทย ตราบแต่วันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก5 พฤษภาคม 2493 ตราบจนถึงปัจจุบัน เปรียบดังแสงทองส่องนำทางทั้งในหัวใจคนไทยและทั้งในการดำเนินชีวิต พระปฐมบรมราชโองการข้างต้น "เป็นเสมือนทรงให้สัญญากับประชาชนคนไทย... ซึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้นำพระราชดำรัสนั้นมาเขียนเทิดพระเกียรติและพระบารมีเป็นการส่งเสริมพระบรมเดชานุภาพ ลงหนังสือพิมพ์สยามรัฐ หลังวันมหามงคล ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นข้อเขียนที่เทิดพระเกียรติอันสูงสุดที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ด้วยความจงรักภักดี" อย่างสุดหัวใจ ดังจาก "ในหลวงกับคึกฤทธิ์" หน้า 144 ความดังนี้ "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" "ข้อความตามประโยคข้างต้นนี้ คือ พระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงประกาศ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้ ประชาชนคนไทยทั้งมวลต่างก็ประจักษ์โดยทั่วกันว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ ในหน้าที่ของสมเด็จพระมหากษัตริย์เจ้า โดยเพ่งเล็งถึงประโยชน์สุขของบรรดาพสกนิกรอย่างแท้จริง ด้วยความสม่ำเสมอตลอดมา พระราชจริยาวัตร และพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งได้ทรงบำเพ็ญเพื่อให้ปรากฏ จึงก่อให้เกิดความตื้นตันยินดีความเลื่อมใสรักใคร่และความจงรักภักดีขึ้นในหมู่ประชาชนโดยทั่วหน้ากัน ฉะนั้น ในวาระเฉลิมพระชนมพรรษาอันเป็นมหามงคลสมัย ทั้งทางราชการและประชาชนจึงได้พร้อมใจกันจัดให้มีงานเฉลิมฉลองเป็นประจำทุกปีมา เพื่อแสดงกตเวทีเป็นการรรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและถวายความจงรักภักดี" ทั้งนี้ ข้อเขียนดังกล่าว อ.สละระบุเป็นแบบอย่างทั้งสำนวน การใช้ราชาศัพท์ที่ถูกต้องตามพระราชประเพณีทุกประการ และสำคัญที่สุดที่เป็นจุดประสงค์และเจตนาอันแท้จริงของ อ.หม่อมคึกฤทธิ์ คือ "ต้องการแสดงให้ประชาชนรู้และเห็นว่า พระมหากษัตริย์ของไทยเรานั้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวในโลก ซึ่งทรงรักษาความเป็นประชาธิปไตยอย่างเคร่งครัดในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยซึ่งก็ได้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจในหน้าที่พระมหากษัตริย์ซึ่งทรงเป็นพระประมุขของชาติบ้านเมืองไทยและคนไทยอย่างถูกต้องตามแบบฉบับของความเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยทุกๆ อิริยาบถ" (จาก "ในหลวงกับคึกฤทธิ์" น.145) "เดิมพันของเรานั้นสูง" หนึ่งในเรื่องเล่าจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ที่ได้กล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ทุกลมหายใจของพระองค์มีแต่ประชาชนคนไทย ครั้งหนึ่ง เมื่อ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช กราบบังคมทูลถามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ว่า "เคยทรงเหนื่อย ทรงท้อบ้างหรือไม่" ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระราชกระแสตอบว่า "ความจริงมันน่าท้อถอยหรอกบางเรื่องมันน่าท้อถอย แต่ว่าฉันท้อไม่ได้ เพราะเดิมพันของเรานั้นสูงเหลือเกิน เดิมพันของเรานั้นคือบ้าน คือเมืองคือความสุขของคนไทยทั่วประเทศ" รัชกาลที่ 9 โปรดราษฎร ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เคยบันทึกไว้ในข้อเขียนตอนหนึ่งว่า "ความผูกพันระหว่างพระมหากษัตริย์กับคนไทยนั้น...มีอยู่มากมายเกินกว่านิมิตหมายแห่งความเป็นชาติไทย เกินกว่าความเคารพบูชา แต่เป็นความผูกพันด้วยชีวิต ระหว่างคนไทยคนหนึ่ง กับคนไทยอีกทุกๆ คน" ประจักษ์แจ้ง ดังข้อเขียนของท่านในตอน "รัชกาลที่ 9 โปรดราษฎร" ความว่า"...เท่าที่ผมทราบมานั้น ไม่มีอะไรจะทำให้ทั้งสองพระองค์สำราญพระราชหฤทัยเกินไปกว่า การได้ทรงพบปะกับราษฎรของพระองค์ แม้จะใกล้หรือไกลก็ตามที ตามที่มีคำพังเพย แต่ก่อนว่า รัชกาลที่ 1 โปรดทหาร รัชกาลที่ 2 โปรดกวีและศิลปิน รัชกาลที่ 3 โปรดช่างก่อสร้าง (วัด) นั้น ผมกล้าต่อให้ได้ว่า... รัชกาลที่ 9 นี้โปรดราษฎร และคนที่ได้เข้าเฝ้าฯใกล้ชิดที่สุดเสมอมา ก็คือ ราษฎร มิใช่ใครที่ไหนเลย" (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช สยามรัฐ ฉบับวันที่ 16 พ.ย.2505) เมืองไทยมิอาจขาดกษัตริย์ อ.สละ เขียนใน "ในหลวงกับคึกฤทธิ์" หน้า 129 ระบุ "การที่ประชาชนมาเฝ้าฯ รับเสด็จอย่างมากมาย....ทำให้ครั้งหนึ่งมีการประชุมสภาผู้แทนฯ และมีการอภิปรายกันถึงเรื่องการเฝ้าฯ รับเสด็จของประชาชน ตามรายทางที่ผ่านไปใน กทม.นี่แหละ แต่ปรากฏว่า ประชาชนคอยเฝ้าชมพระบารมีกันอย่างหนาแน่น จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องห้ามและต้องทำงานหนัก เพราะประชาชนเบียดเสียดกันเข้ามา จนกระทั่งเสด็จฯ ไม่สะดวก เรื่องนี้คุณชายเคยเขียนบความลงพิมพ์ในสยามรัฐความตอนหนึ่งว่า "เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ นิวัติกลับพระนครจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หลังจากที่ได้เสด็จฯ ไปศึกษาต่ออีกครั้งหนึ่งนั้น ประชาชนหลั่งไหลพากันไปเฝ้าฯ รับเสด็จเนืองแน่นทุกถนนหนทาง ตั้งแต่ดอนเมืองไปถึงพระบรมมหาราชวัง ตามหมายกำหนดการนั้นจะต้องเสด็จฯ ไปทรงบูชาพระรัตนตรัยที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงศีลและรับอดิเรกจากพระสงฆ์ที่นั่น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ก็เสด็จไปประทับรอรับเสด็จฯในพระอุโบสถนั้น เมื่อเสด็จฯมาถึงแล้ว ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับสมเด็จพระสังฆราชเจ้า บังเอิญเจ้าพนักงานจะลืมปิดไมโครโฟนหรืออย่างไรไม่ทราบ แต่มีเสียงสมเด็จพระสังฆราชเจ้าออกอากาศทางวิทยุได้ยินกันไปทั่วเมืองว่า "ราษฎรเขามาคอยเฝ้าฯ ชมพระบารมี รอรับเสด็จฯกันตามถนนหนทางมากมาย เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจไปคอยกันเขาไม่ให้เข้าใกล้ได้แลเห็นพระองค์เขาเสียใจ เขาเสียใจกันมากในเมืองไทยเรานี้ พระเจ้าแผ่นดินกับราษฎรไม่เป็นภัยต่อกันเลย ขอให้ทรงจำไว้ ราษฎรไม่เป็นภัยต่อพระองค์เลย..." แล้วเสียงสมเด็จพระสังฆราชเจ้าก็เงียบหายไป ชะรอย ใครจะปิดไมโครโฟนตรงหน้าท่าน ซึ่งขณะที่ท่านถวายพระเจ้าอยู่หัว ท่านก็คงไม่ทรงทราบว่าไมโครโฟนนั้นยังเปิดอยู่ กาลเวลาได้ล่วงเลยมานานได้พิสูจน์ให้เห็นประจักษ์แล้วว่า สมเด็จพระสังฆราชท่านทรงพูดได้ถูก ตรง และเป็นความจริง และก็ไม่เคยมีปรากฏในยุคใด สมัยใดเลยว่าราษฎรได้เข้าเฝ้าฯ ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดินของเขาด้วยความรัก และความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นปราศจากภัยโดยสิ้นเชิง อย่างในยุคนี้สมัยนี้" ทรงครองใจคน การครองใจคนโดยเฉพาะผู้คนทั้งชาติยิ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สำหรับ ในหลวงรัชกาลที่ 9 กลับประทับอยู่เหนือดวงใจไทยทั้งชาติ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้กล่าวถึงเรื่องนี้โดยระบุ"...ผมเคยอยู่มาแล้วหลายแผ่นดิน แต่ก็ไม่เคยเห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวแผ่นดินใดที่คนทั้งเมืองเขาเป็นเจ้าเข้าเจ้าของให้ความเคารพบูชาอย่างสนิทสนมอย่างทุกวันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลก่อนๆ ทรงครองแผ่นดิน แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลนี้ทรงครองใจคน..." พระบรมฉายาลักษณ์ในค่ายคอมมิวนิสต์ พระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นของในหลวง รัชกาลที่ 9 ไม่เพียงจะครองใจพสกนิกรอาณาประชาราษฎร์ ดังปรากฏประจักษ์พยานด้วย รูปที่มีทุกบ้าน ยังไม่เว้นแม้กระทั่งในที่ทำการของฝ่ายคอมมิวนิสต์ "ในหลวงกับคึกฤทธิ์ " น.125 ตอน "สถิตสนิทแนบในดวงใจทุกที่" กล่าวไว้ดังนี้ว่า"มีเรื่องเล่ากันในระหว่างหน่วยทหารที่ปราบปรามผู้ก่อการร้าย ซึ่งว่ากันว่าเป็นฝ่ายที่นิยมคอมมิวนิสต์ ซึ่งหน่วยปราบปรามได้เข้ากวาดล้างที่มั่นของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในป่าและบนเขาทางภาคต่างๆ ของประเทศไทย เมื่อทำการกวาดล้างค่ายหรือที่ซ่องสุมชุมนุมของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์นั้น ปรากฏว่าเมื่อค้นในที่ทำการอันเป็นกองบัญชาการของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในป่าดงดิบแห่งหนึ่งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย หน่วยปราบปรามได้ค้นพบสิ่งหนึ่งซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะค้นได้จากแหล่งชุมนุมของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ สิ่งนั้นคือ พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คู่กับสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ใส่กรอบแขวนไว้ในที่ทำการหรือกองบัญชาการของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ด้วย เป็นการแสดงให้เห็นว่าแม้ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ที่มีอยู่ในประเทศไทย ก็ยังมีความจงรักภักดีต่อพระองค์ท่านเพราะถ้าหากไม่เคารพ จะนำพระบรมฉายาลักษณ์ทั้งสองพระองค์ไปแขวนไว้ในกองบัญชาการของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์นั้นทำไม ใครที่ว่า คอมมิวนิสต์ไม่เคารพนับถือพระมหากษัตริย์นั้นเป็นเรื่องที่ไม่จริง เพราะอย่างน้อยก็ได้พิสูจน์แล้วว่า คอมมิวนิสต์แบบไทยๆ เรานั้นเคารพนับถือพระมหากษัตริย์เช่นกัน..." กฤดาภินิหารของ 'ในหลวงฯ' ที่ 'คึกฤทธิ์' เห็น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเห็นบุญญาภินิหารของในหลวง รัชกาลที่ 9 กับตา ท่านเล่าว่า"สำหรับพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน ผมไม่อยากพูดท่านทั้งหลายคงทราบดีอยู่แล้วว่า ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจยิ่งกว่าใครทั้งหมดในแผ่นดินไทย เกือบไม่น่าเชื่อว่ามนุษย์คนไหนจะทำงานได้มากขนาดนี้ พูดเป็นสุภาษิตโบราณก็เหมือนว่า อาบพระเสโทต่างพระอุทกธารา คืออาบเหงื่อต่างน้ำ ไม่มีอีกแล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่อยู่ในหัวใจของคนไทยทุกคน ถ้าจะว่าในทางบุญญาภินิหาร รัชกาลปัจจุบันนี้แหละที่คนไทยได้เห็นบุญญาภินิหารของพระองค์มากที่สุด กระผมได้พบด้วยตนเอง ผมเองจะว่าคนโบราณก็โบราณ แต่ความรู้วิชาการสมัยใหม่ก็ยังมีอยู่ ได้เห็นเองบ้าง ไม่เห็นบ้าง และได้รับการบอกเล่าจากคนอื่นที่เชื่อถือได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ คุณหลวงสุรัตน์ณรงค์ ราชองครักษ์เล่าให้ผมฟัง เมื่อครั้งเสด็จประพาสทางชายพรมแดน ประทับเรือพระที่นั่งเสด็จทอดพระเนตรแม่น้ำโขงฝั่งไทย พอไปถึงตำบลหนึ่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมเวลานั้นยืนอยู่ข้างพระองค์คอยชี้แจง ก็กราบบังคมทูลว่า บ้านนี้เรียกว่าอย่างนั้น ตำบลนั้นชื่ออะไร ราษฎรมีเท่าไร ทำมาหากินอะไร ไปถึงตำบลหนึ่งเรียกว่า วังจระเข้ ก็ทรงพระสรวลมีพระราชดำรัสถามว่า แล้วมีจระเข้ไหม ผู้ว่าฯ ก็กราบบังคมทูล ไม่มี สมัยนี้เรือไฟ เรืออะไร จระเข้คงไม่มีอาศัยอยู่ได้ ก็ต้องหลบหนีไป ก็มีพระราชดำรัสว่า เสียดายจริงฉันยังไม่เคยเห็นจระเข้ที่มันอยู่ตามธรรมชาติ พอมีพระราชดำรัสขาดพระโอษฐ์เท่านั้น จระเข้ขึ้น 2 ตัว ก็ทรงพระสรวล ชี้ให้ผู้ว่าฯ ดู ว่าเห็นไหม ผู้ว่าฯ คืนนั้นกลับมาจวนแล้วเมา บอกว่าจระเข้มันทำกูเสีย ท่านเลยจับได้ว่าไม่ได้ไปตรวจท้องที่ ผมเคยเห็นยิ่งกว่านั้น เสด็จฯ เมืองเพชร เขาปลูกปะรำรับเสด็จใหญ่หน้าศาลากลาง 2 ปะรำ... ขณะนั้นฝนตกหนักที่สุด... ราชองครักษ์ให้คนกางกลดถวาย พระองค์ทรงยับยั้ง บอกคุณหลวงว่า ก็เขาเปียกได้ เราก็เปียกได้ว่าแล้วเสด็จพระราชดำเนินออกไป... ฝนหยุดตก นี่เอาไปสาบานที่ไหนก็ได้ว่าเห็นมากับตา แปลกจริงๆไม่มีฝน เสด็จพระราชดำเนินไปเข้าปะรำโน้น พอลับพระองค์ ฝนตกจั้กๆ อย่างเก่าอีกทันที พวกที่ตามเสด็จฯ ไม่ต้องพูดละ.... โชกไปด้วยกันหมด หนีไม่ทัน แม้องค์สมเด็จพระราชินีนาถยังเปียก เสด็จพระราชดำเนินคล้อยตาม นี่ก็เห็นกันมาแล้ว และอื่นๆ อีกมากมายเหลือเกิน จะเล่าไปไม่มีที่สิ้นสุด" (จากปาฐกถาเรื่อง "สถาบันพระมหากษัตริย์"สิงหาคม พ.ศ.2524) "ลัดดา" เล่าไว้อีกเรื่องหนึ่งในหนังสือ "ใกล้เบื้องพระยุคลบาท กับลัดดาซุบซิบ" หน้า 136 - 137 ว่า"อีกครั้งคราวเสด็จฯ ไร่กำนันจุลที่เพชรบูรณ์ โดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง เมื่อไปถึงปรากฏมีแร้งบินรอบเฮลิคอปเตอร์เป็นวงกลม จนในหลวงต้องเสด็จออกจากเฮลิคอปเตอร์ แร้งจึงบินไป สร้างความประหลาดใจให้กับประชาชนที่รอรับเสด็จเป็นอันมาก เพราะอยู่ๆ แร้งซึ่งเป็นสัตว์ป่ามาบินรอบเฮลิคอปเตอร์อย่างไม่เกรงกลัวหรือตกใจไม่แต่เท่านั้น คราวที่เสด็จฯ อุบลราชธานีปรากฏชาวบ้านทอดแหได้ช้างในแม่น้ำมูล นับเป็นเรื่องแปลกประหลาดยิ่ง ได้มีการนำช้างเชือกนั้นมาน้อมเกล้าฯ ถวายในหลวงด้วย" สำหรับเรื่องชาวบ้านทอดแหได้ลูกช้างในแม่น้ำมูลนั้นม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เล่าไว้หน่อยหนึ่งว่า "พอเขียนถึงเรื่องช้างได้เชือกเดียว ก็หมดเวลาหมดเนื้อที่เสียแล้ว ช้างที่ยังจะเขียนถึงได้นั้น ยังมีอีกมากเป็นต้นว่า "พลายบุญส่ง"ช้างที่มาสู่พระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งเสด็จฯ ไปจังหวัดอุบลราชธานีเป็นครั้งแรก พลายบุญส่งมาสู่พระบารมีด้วยวิธีอันแปลกประหลาดตั้งแต่ยังเป็นลูกช้างเกิดใหม่ เพราะพลายบุญส่งลอยน้ำมาในแม่น้ำมูลคนที่แลเห็นนึกว่าเป็นปลา เอาแหไปทอดติดขึ้นมาแล้วก็นำตัวมาถวายพระเจ้าอยู่หัว ครับ ที่เมืองอุบลฯ นั้น เวลาพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯเขาทอดแหแล้วติดช้าง ยังมีพระเศวตฯ จากเมืองกระบี่ ซึ่งเมื่อทางจังหวัดได้รายงานเข้ามาแล้ว รัฐบาลประชาธิปไตยของ จอมพลป. พิบูลสงคราม ไม่ยอมรับรู้ เพราะเกรงว่าจะเป็นการส่งเสริมพระบารมีหรืออย่างไรก็เหลือเดา แต่บอกปัดเสีย ไม่ยอมเอาเข้ามากรุงเทพฯ เจ้าของช้างต้องนำไปออกงานวัดเก็บค่าดูจนถึงสมัยจอมพลสฤษดิ์ฯ ทั้งรัฐบาลจึงได้ยอมรับรู้และนำมาขึ้นระวางเป็นพระยาช้างต้น แล้วก็ยังมีคุณพระเศวตฯ จากจังหวัดยะลา ซึ่งขณะนี้ยืนโรงอยู่ในสวนจิตรฯ คุณพระเศวตฯ เชือกนี้เลี้ยงหมาไว้หลายสิบตัว เวลาคุณพระไปไหน หมาวิ่งตามเกรียว" คุณพระเศวตฯ ที่เลี้ยงหมานี้ เรียกย่อๆ ว่า "พระเศวตเล็ก" ชื่อเต็มอย่างเป็นทางการคือ "พระเศวตสุรคชาธาร บรมนฤบาลสวามิภักดิ์ ศุภลักษณเนตราธิคุณ ทศกุลวิศิษฏพรหมพงศ์ อดุลยวงศ์ตามพหัตถี ประชาชนสวัสดีวิบุลยศักดิ์ อัครสยามนาถสุรพาหน มงคลสารเลิศฟ้าฯ" หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช บันทึกว่า คุณพระเศวตเล็ก ถูกพบโดยนายเจ๊ะเฮง หะระตี กำนันตำบลการอ โดยโขลงช้างเดินทางเข้ามาใกล้หมู่บ้านในเวลากลางคืน พอตอนเช้าก็พบเห็นลูกช้างพลัดฝูงอยู่ใต้ถุนบ้าน สันนิษฐานว่าแม่ช้างจะรู้ว่าลูกช้างตัวนี้เป็นช้างสำคัญและนำมาส่งที่หมู่บ้าน เพื่อเข้ามาสู่พระบารมี ตั้งแต่ยังไม่หย่านม เมื่อนายเจ๊ะเฮงได้เลี้ยงดูลูกช้างนั้นไว้ วันหนึ่งมีสุนัขตัวเมียป่วยหนักใกล้ตาย ได้กระเสือกกระสนมาบริเวณที่คุณพระเศวตเล็กกำลังอาบน้ำอยู่ ได้กินน้ำที่ใช้อาบตัวคุณพระ อาการป่วยก็หายไป คงเหลือเพียงอาการปากเบี้ยวและกลายเป็นสุนัข ที่คอยคลอเคลียติดตามคุณพระเศวตเล็กตลอดมา ได้ชื่อว่า "เบี้ยว" ทางสำนักพระราชวัง โดยพระราชวังเมือง (ปุ้ย คชาชีวะ) เจ้ากรมช้างต้นได้ตรวจสอบ พบว่าลูกช้างนั้นมีมงคลลักษณะถูกต้องตามคชลักษณศาสตร์ อยู่ในพรหมพงศ์ ตระกูลช้าง 10 หมู่ ชื่อ "ดามพหัตถี" พระเศวตสุรคชาธารนับเป็นช้างต้นช้างที่สามในรัชกาลที่ 9 พ.ต.อ.ศิริ คชหิรัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2511 หลังจากพิธีสมโภชขึ้นระวาง และย้ายไปยืนโรงที่โรงช้างต้น พระราชวังดุสิต นางเบี้ยวก็ได้ติดตามมาด้วยและออกลูกหลานติดตามคุณพระเศวตเล็ก อยู่ภายในพระราชวังดุสิตอีกหลายสิบตัว พระเศวตสุรคชาธาร เคยเป็นพระสหายในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อยังทรงพระเยาว์ ได้ตามเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปยังวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์อยู่เสมอพระเศวตสุรคชาธาร ได้ล้มลง ณ โรงช้างต้น เมื่อ พ.ศ.2520 (ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย) ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เล่าไว้ว่า "เมื่อคุณพระเศวตฯ ยังเป็นลูกช้างเล็กๆ อยู่ที่บ้านกำนันในจังหวัดยะลา และยังไม่ได้ถวายตัวขึ้นระวางนั้นปรากฏว่านางเบี้ยว (สุนัข) เป็นโรคอย่างหนักขนาดชักกระตุกไปทั้งตัว แทบจะเอาชีวิตไม่รอดอยู่แล้ว แต่ก็สู้อุตส่าห์กระเสือกกระสนคลานมาถึงที่คุณพระเศวตฯ อยู่ และเลียกินน้ำอาบของคุณพระเศวตฯ เข้าไป อาการป่วยทั้งปวงก็หายเป็นปกติ เดินเหินได้ตามเดิม รอดชีวิตมาได้นางเบี้ยวก็กตัญญูรู้คุณ ติดตามคุณพระเศวตฯ เรื่อยมา ไม่ยอมห่าง คุณพระก็เมตตาเอ็นดูนางเบี้ยวถือว่านางเบี้ยวเป็นหมาของคุณพระ เมื่อถึงคราวที่คุณพระเศวตฯ จะต้องเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ เพราะเป็นช้างต้นขึ้นระวางแล้ว ทั้งคุณพระเศวตฯและนางเบี้ยวก็ทุรนทุรายเดือดร้อนมาก นางเบี้ยวร้องทั้งกลางวันและกลางคืนจะตามคุณพระมาด้วย เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงมีพระราชกระแส ว่า ช้างทั้งตัวยังเอาไปได้ ทำไมหมาอีกตัวเดียวจะเอาไปไม่ได้ ให้เอาหมาไปด้วยเถิด สงสารมัน อย่าไปพรากมันเลย นางเบี้ยวติดตามเข้ามาอยู่กับคุณพระเศวตเล็กในสวนจิตรลดาด้วย และเป็นที่รักชอบของคนในวัง เมื่อเข้ามาอยู่ในรั้วในวังก็เลื่อนฐานะขึ้นเป็นแม่เบี้ยว บางคนเรียกคุณเบี้ยวด้วยซ้ำไป และได้ออกลูกออกหลานไว้ที่โรงช้างนั้นเป็นจำนวนมาก แม่เบี้ยวตายไปหลายปีแล้ว แต่คุณพระเศวตฯ ก็ยังเลี้ยงลูกหลานของแม่เบี้ยวสืบมา เวลาคุณพระเศวตฯออกเดินในสวนจิตรลดา หมาคุณพระทั้งปวงก็วิ่งตามเป็นฝูงและเชื่อฟังคุณพระทุกอย่าง เมื่อครั้งพระนางเจ้าเอลิซาเบธแห่งกรุงอังกฤษเสด็จพระราชดำเนินที่พระตำหนักจิตรลดา คุณพระเศวตฯ ก็มายืนคอยรับเสด็จ หมาทั้งปวงของคุณพระก็มาวิ่งเล่นกันอยู่เต็มสนาม ผมบังเอิญไปเห็นเข้าก็เข้าไปกระซิบคุณพระว่า หมากระจัดกระจายเต็มทีแล้ว คุณพระได้ยินดังนั้น ก็ร้องเหมือนเสียงแตร หมาทั้งปวงก็วิ่งกลับมารวมกันอยู่บริเวณต้นไม้ใกล้ๆ คุณพระ ไม่ซุกซนต่อไป มีอยู่ตัวหนึ่ง ซึ่งคุณพระออกจะรักมาก วิ่งเข้ามาอยู่ใต้ท้องคุณพระ อาศัยคุณพระเป็นเงาบังร่ม ควาญเล่าว่า เวลากลางคืนหมาหลายสิบตัวเหล่านี้จะนอนแวดล้อมคุณพระ ใครเดินเข้าไปในเวลากลางคืนก็จะเห่าขึ้นพร้อมกัน และถ้าใครขืนเดินตรงไปถึงตัวคุณพระ ก็คงโดนหมารุมกัดแน่ๆ คุณพระเศวตฯ เล็กมีความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 อย่างน่าอัศจรรย์ แลเห็นพระองค์ต้องยกงวงขึ้นจบถวายบังคมทุกครั้งโดยไม่ต้องมีใครบอก และถ้าเสด็จพระราชดำเนินลงไปทรงเยี่ยมที่โรงช้าง คุณพระ ก็จะเฝ้าฯ ไป และถวายบังคมไปเป็นระยะไม่มีขาด จนพระกรุณาตรัสว่า ไม่ต้องถวายบังคมบ่อยถึงเพียงนั้น คุณพระจึงจะหยุดถวายบังคม" อีกครั้งที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช สัมผัสกับพระกฤดาภินิหาร คือเมื่อคราวที่ต้องเดินทางไปผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจที่สหรัฐอเมริกา สมัยนั้นการผ่าตัดหัวใจยังมีความเสี่ยงสูง คือมีสิทธิตายได้มาก ก่อนเดินทางไปสหรัฐอเมริกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เข้าเฝ้าฯ เป็นการส่วนพระองค์ ท้ายที่สุดได้ รับสั่งว่าไปผ่าตัดครั้งนี้จะไม่ตาย ให้รีบกลับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เขียนไว้ว่า มีความเชื่อมั่นในขณะนั้น บังเกิดเป็นปีติอันเปี่ยมล้นว่า ครั้งนี้เห็นจะไม่ตายแน่ มีอาการขนลุกซู่ซ่า "คึกฤทธิ์" บอกทุกวันนี้คนไทยส่วนใหญ่ยังเชื่อว่า "ในหลวง"เราเป็น "เทพ" ทรงเป็น "เทพ"ก็เพราะตลอดพระชนม์ชีพพระองค์ท่านอุทิศให้กับราษฎรไทย ครั้งหนึ่งผู้สื่อข่าว BBC กราบบังคมทูลขอพระราชทานสัมภาษณ์ ถึงพระราชทรรศนะ เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ไทย พระองค์พระราชทานคำตอบว่า..."การที่จะอธิบายว่าพระมหากษัตริย์ คืออะไรนั้น...ดูเป็นปัญหาที่ยากพอสมควร โดยเฉพาะในกรณีของข้าพเจ้า ถูกเรียกโดยคนทั่วไปว่า"พระมหากษัตริย์" แต่โดยหน้าที่ที่แท้จริงแล้วดูจะห่างไกลจากหน้าที่ที่พระมหากษัตริย์ที่เคยรู้จัก หรือเข้าใจกันมาแต่ก่อน... หน้าที่ของข้าพเจ้าในปัจจุบันนั้น ก็คือ...ทำอะไรก็ตามที่เป็นประโยชน์ถ้าถามว่า...ข้าพเจ้ามีแผนการอะไรบ้างในอนาคต คำตอบ ก็คือ..ไม่มี เราไม่ทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า... แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม...เราก็จะเลือกทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์...ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เพียงพอแล้วสำหรับเรา" เมื่อปี 2534 คึกฤทธิ์เล่าถึงพระกรุณาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทั้งต่อคนไทยและคนต่างชาติ ที่เขาประทับใจมาก คือเมื่อครั้งที่เสด็จฯไปเยือนต่างประเทศถึง 14 ประเทศ เมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว ครั้งนั้นเขาทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ประจำขบวนเสด็จฯ ได้เห็นการทรงตอบสัมภาษณ์ของนักหนังสือพิมพ์ที่ลอสแอนเจลิสอย่างไม่ถือพระองค์ เป็นอันพ้นจากสภาพไศเลนทร์โดยสิ้นเชิงในขณะนั้น และพระจริยาวัตรของพระองค์เป็นที่ประทับใจของพวกฝรั่งมาก "ขณะนั้นภาพยนตร์เรื่อง The king and I กำลังฮิตอยู่ทั่วสหรัฐอเมริกา ใครได้เห็นใครก็สนใจ และเมื่อคนหนังสือพิมพ์ได้เข้ามาเฝ้าฯ The King องค์จริงเข้าแล้ว ก็ย่อมจะคันปาก ถามเรื่องนี้กันไม่จบไม่สิ้น แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มิได้ทรงถือสาในคำถาม ซึ่งบางทีก็ล่วงเกินไป และขณะเดียวกันก็ทรงมีพระอารมณ์ขัน เช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และในโอกาสนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงใช้ภาษาอังกฤษบางคำ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงโปรดที่จะใช้ในพระราชหัตถเลขาต่างๆ จนฝรั่งที่ได้อ่าน พระราชหัตถเลขาเหล่านั้นจำขึ้นใจได้ เพราะเหตุที่ทรงใช้ คำเหล่านั้นบ่อย จึงเป็นเรื่องที่ฝรั่งเห็นว่าน่าขบขันอยู่ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงใช้คำเหล่านั้นบ้าง เช่นคำว่า et cetera ซึ่งแปลว่าเรื่องอื่นๆ หรือสิ่งอื่นๆ นั้น คนหนังสือพิมพ์ฝรั่งก็หัวเราะด้วยความเลื่อมใสศรัทธา เพราะเห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สืบสันตติวงศ์ต่อมาจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯก็ทรงรู้จักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ และได้ทรงอ่านเรื่องต่างๆ ที่ฝรั่งเอาไปรายงานเช่นเดียวกับฝรั่งอื่นๆ...... สรุปความแล้วอาจจะกล่าวได้ว่า คนในประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกานั้นยังชื่นชมในพระบารมีของพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถของเรา เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินถึงสนามบินเยอรมันตะวันตก ที่กรุงบอนน์ แล้วก็ต้องประทับรถยนต์จากสนามบินเข้าไปถึงในเมือง ซึ่งเป็นระยะทางไกลพอสมควร ผมได้นั่งรถโดยเสด็จฯ ไปกับเจ้ากรมพิธีการของเยอรมนีในสมัยนั้นกลางทางได้เห็นชาวนาคนหนึ่งซึ่งกำลังก้มหน้าขุดดินอยู่เมื่อเห็นขบวนรถพระที่นั่งและธงมหาราช แกก็เปิดหมวกถวายคำนับ ท่านอธิบดีกรมพิธีการของเยอรมนีท่านบอกผมว่าภาพอย่างนี้หาดูไม่ได้อีกแล้วในประเทศเยอรมนี และพวกท่านเองก็เพิ่งได้เห็นตอนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ของเราเสด็จพระราชดำเนินถึงเยอรมนีคราวนี้เอง" (ซอยสวนพลู 9 กรกฎาคม 2534) ปีเดียวกัน โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ถ่ายทอดวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จออกรับชาวต่างประเทศ ณ ท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรีฯ แสดงถึงพระมหากรุณาของ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ต่อชนทุกชาติทุกภาษา "เสด็จเข้าไปใกล้จนชิดตัวบุคคลเหล่านั้น และมีพระราชปฏิสันถารอย่างกันเองอย่างเข้าใจ และด้วยความเมตตากรุณา เท่าที่มนุษย์จะให้แก่กันได้ นับว่าเป็นภาพที่ทำให้เกิดความเคารพและภักดีแก่คนไทยที่ได้แลเห็นอย่างที่ไม่มีอะไรเหมือน...... ภาพที่เห็นในคืนวันนั้น คือภาพแห่งขัตติยราชตระกูลของไทยซึ่งทรงประพฤติพระองค์เป็นปกติในศีลของกษัตริย์ ปราศจากความตื่นเต้น ปราศจากความประหม่าและปราศจากความเย่อหยิ่งยโสในพระราชอริยยศ เราได้เห็นแต่ขัตติยราชตระกูลซึ่งเต็มไปด้วยพระเมตตาพระกรุณา และพระราชหฤทัยซึ่งใฝ่รู้ทุกข์ของผู้อื่นทั่วทั้งบ้านทั้งเมือง โอกาสเมื่อคืนวันที่ 14 นั้น เป็นโอกาสที่ชาวต่างประเทศทุกคนยากที่จะลืมได้ และผมซึ่งเป็นคนไทยได้เห็นภาพทางโทรทัศน์ก็ออกจะลืมได้ยากเช่นเดียวกัน เพราะความปีติโสมนัสที่เกิดขึ้นในขณะที่ได้ชมรายการนั้น เป็นของที่ลืมยากที่สุด" (ซอยสวนพลู 16 ตุลาคม 2534) "วิลาศ มณีวัต" ยังได้เล่าถึงพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อเสด็จฯ เยือนต่างประเทศ ไว้ในหนังสือ "พระราชอารมณ์ขัน" ความว่า"คนหนังสือพิมพ์อเมริกันนั้น ขึ้นชื่อว่าดุ และไม่ค่อยจะรู้จักที่ต่ำที่สูง แถมยังก้าวร้าวอีกด้วย แม้กระทั่งจอมเผด็จการผู้ยิ่งใหญ่อย่างครุสชอฟ เมื่อถึงคราวต้องไปเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้สื่อข่าวอเมริกัน ยังอดครั่นคร้ามไม่ได้ดังนั้น ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จะเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกในปี 2503 ทางรัฐบาลจึงได้จัดส่งบุคคลผู้หนึ่งไปชี้แจงทำความเข้าใจกับบรรดานักหนังสือพิมพ์อเมริกันเสียชั้นหนึ่งก่อน เท่ากับเป็นการปูพื้นพอให้ผู้สื่อข่าวอเมริกันได้ทราบถึงพระราชฐานะอันแท้จริงของพระเจ้าแผ่นดินไทย ว่ามิใช่เป็นเทพเจ้า แต่ก็ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของประชาราษฎร ทั้งที่เป็นชาวพุทธ มุสลิม และคริสต์ เพราะในประเทศไทยนั้นทุกศาสนา ทุกนิกายต่างก็สามารถเผยแผ่ศาสนาของตนได้โดยอิสรเสรี ในด้านประชาชนก็ได้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรผู้ยากไร้ ในถิ่นทุรกันดาร พร้อมด้วยแผนที่ขนาดใหญ่ในพระหัตถ์ ทรงหาแหล่งน้ำช่วยเกษตรกรผู้ยากจนของพระองค์จึงได้ รับความเคารพบูชาอย่างล้นพ้นจากชาวบ้านที่ยากจนทั่วไป งานของบุคคลนี้ ในการไปทำความเข้าใจกับนักหนังสือพิมพ์ในอเมริกา เรียกกันว่าเป็นงานประชาสัมพันธ์และทางรัฐบาลก็เห็นว่าไม่มีใครจะเหมาะยิ่งไปกว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ชี้แจงให้ผู้สื่อข่าวอเมริกันฟังว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 นั้นทรงมีพระราชฐานะ อยู่เหนือการเมืองจึงไม่บังควรที่จะกราบทูลถามเรื่องการเมือง 'ถ้าหากจะกราบทูลถามเรื่องละคร The King and I จะถามได้ไหม?' นักข่าวหนุ่มคะนองคนหนึ่งซัก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ 'ไม่แปลกอะไร คุณกราบทูลถามได้' ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ปราโมช ตอบ 'ดีเสียอีก คุณจะได้ทราบว่าคิงมงกุฎจริงๆนั้นหาได้เป็นตัวตลกอย่างในละครเรื่องนั้นไม่ แท้จริงทรงรอบรู้วิชาดาราศาสตร์ดีกว่าพวกคุณหลายๆ คนเสียอีกและทรงเชี่ยวชาญภาษาบาลีเป็นอันมาก' นักข่าวตะลึงจดกันใหญ่เนื่องด้วยม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ไปปูพื้นกรุยทางไว้ก่อนเช่นนี้ ดังนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ถึงอเมริกา พวกหนังสือพิมพ์จึงยับยั้งไม่กล้ากราบทูลสัมภาษณ์เรื่องการเมือง แต่ได้กราบทูลถามความรู้สึกส่วนพระองค์ว่า "นี่เป็นการเสด็จฯ เยือนอเมริกาเป็นครั้งแรก...ทรงรู้สึกอย่างไรบ้าง?" มีพระราชดำรัสตอบว่า "ก็ตื่นเต้นที่ได้กลับมาเยี่ยมบ้านเกิด เพราะข้าพเจ้าเกิดที่นี่...ที่เมืองบอสตัน" คงจะเป็นกษัตริย์เพียงพระองค์เดียวในโลก ที่จะสามารถตรัสได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า ทรงมีพระราชสมภพที่อเมริกา ข้อความนี้ช่วยให้ผู้สื่อข่าวรู้สึกเคารพรักและมีความใกล้ชิดกับพระองค์ขึ้นมาทันที เพราะพระองค์มิใช่"คนต่างประเทศ" หากแต่เป็น "คนบอสตัน" คนหนึ่ง ตอนใกล้จะจบการพระราชทานสัมภาษณ์ในวันแรกที่อเมริกา นักข่าวคนหนึ่งได้กราบทูลถามเป็นประโยคสั้นๆว่า "จะทรงมีอะไรฝากไปถึงอเมริกันชนทั่วๆไปบ้าง?"ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งว่า "คนอเมริกันดูช่างรีบร้อนกันเหลือเกิน ถ้าหากจะ GO SLOW จะทำให้มีความสุขยิ่งกว่านี้" เช้าวันรุ่งขึ้นสถานีวิทยุในอเมริกาแทบจะทุกรัฐต่างเริ่มรายการว่า "กษัตริย์จากไทยแลนด์รับสั่งฝากมาว่า GO SLOW...นับเป็นปรัชญาแบบไทยของพระองค์...ขอให้พวกเรา GO SLOW ในทุกๆ อย่าง แล้วชีวิตของคุณจะสบายดีขึ้น" ก่อนที่กลุ่มนักข่าวจะกราบทูลลามีนักข่าวหนุ่มคนหนึ่งกราบทูลถามเป็นคำถามสุดท้ายว่า "ทำไมพระองค์จึงทรงเคร่งขรึมนัก...ไม่ทรงยิ้มเลย..." ทรงหันพระพักตร์ไปทางสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถพลางรับสั่งว่า 'นั่นไง...ยิ้มของฉัน'แสดงให้เห็นถึงพระราชปฏิภาณ และพระราชอารมณ์ขันอันล้ำลึกของพระองค์ท่าน ทำให้ทรงเป็นที่รักของประชาชนอเมริกันโดยทั่วไป ในวันที่เสด็จฯ รัฐสภาคองเกรสเพื่อทรงมีพระราชดำรัสต่อสภา จึงทรงได้รับการถวายการปรบมืออย่างกึกก้องและยาวนานหลายครั้ง จะเห็นว่าการปฏิบัติงานของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชในครั้งนั้น มีส่วนในการช่วยอธิบายให้ผู้สื่อข่าวต่างชาติมีความเข้าใจและประจักษ์ถึงพระปรีชาญาณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้เป็นอย่างดี" ทองแถม นาถจำนง สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับ 11-17 พ.ย. 59 'ในหลวง' ของประชาชน ด้วยเข็มทิศของสยามรัฐ ที่เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งทรงสถิตอยู่ในหัวใจคนไทยตั้งแต่ทรงครองราชย์ หนึ่งในข้อเขียนเทิดพระเกียรติของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชที่ อ.สละ ลิขิตกุล บรรณาธิการคนแรกของสยามรัฐ ยกให้เป็นแบบแผนคือบทความ "ในหลวงของประชาชน" โดยว่า"...ผมถือว่าเป็นครูอาจารย์ในการเขียนถึงในหลวงในลักษณะเทิดพระเกียรตินั้น ถือเป็นวิธีการเขียนที่เป็นแบบแผนแห่งการเขียนที่เห็นว่าดีที่สุดบทหนึ่ง และนักเขียนอื่นๆ ที่จะเขียนเทิดพระเกียรติก็ถือเป็นแนวทางหรือแบบอย่างในการเขียนด้วยเช่นกัน" (ในหลวงกับคึกฤทธิ์น.103) ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้เขียน "ในหลวงของประชาชน"ลงตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2506 ดังนี้ "ไม่ว่ามนุษย์จะรวบรวมกันเข้าเป็นหมู่เหล่าหรือเป็นสังคมในที่ใดหรือในสมัยใดแห่งประวัติศาสตร์ ตำแหน่งแรกที่จะต้องกำหนดก็คือ ตำแหน่งประมุขแห่งสังคมนั้น ซึ่งถ้าหากจะเปรียบสังคมกับร่างกายมนุษย์ ประมุขแห่งสังคมก็เห็นจะได้แก่ หัว อันเป็นเบื้องสูงสุดแห่งกาย นอกจากนั้น ก็จะต้องกำหนดแขน ขา และอวัยวะต่างๆ อันจำเป็นสำหรับกายแห่งสังคมที่มีชีวิต ได้แก่ ผู้มีอำนาจหน้าที่ต่างๆ กันในการปกครอง ซึ่งถ้าขาดเสียแล้วสังคมก็ไม่อาจตั้งอยู่ได้ ประวัติศาสตร์ของหลายชาติได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า "แขนขา" แห่งสังคมนั้นอาจลืมหน้าที่ของตนเสียได้และเริ่มเป็นภัยแก่สังคมด้วยการปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาดไม่ตรงต่อเจตนาต่อสังคม หรือมิฉะนั้นก็ใช้อำนาจซึ่งมาพร้อมกับหน้าที่นั้นด้วยความไม่เป็นธรรม ทำให้เกิดความเดือดร้อนในสังคมขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้ จึงปรากฏในประวัติศาสตร์ของสังคมมนุษยชาติต่างๆ ว่า ประชาชนซึ่งเป็นกายส่วนใหญ่แห่งสังคม ต้องหาทางควบคุม "แขนขา" แห่งสังคมนั้นด้วยวิธีต่างๆ กัน เช่น การกำหนดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรมีการแยกอำนาจต่างๆ ออกเป็นคนละส่วน และวิธีอื่นๆ ตามแต่ปัญญาของมนุษย์จะคิดได้ ยังมีสถาบันและองค์กรต่างๆขึ้นในบ้านเมืองและเรียกรวมกันว่า "ระบอบประชาธิปไตย"แต่ประวัติศาสตร์ของไทยเรานั้น ปรากฏว่ามีเบื้องหลังที่แตกต่างกับของชาติอื่น ประชาชนชาวไทยได้เคยผ่านและเข้าใจดีถึง "แขนขา" ของสังคม ซึ่งต้องมีมาทุกยุคทุกสมัยมากบ้างน้อยบ้างเป็นธรรมดา แต่คนไทยเราในสมัยก่อนมิได้คิดตั้งสถาบันหรือองค์กรอื่นขึ้น เพื่อใช้อำนาจควบคุม "แขนขา" แห่งสังคมคนไทยเราได้ใช้ "หัว" แห่งสังคม หรือสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเองเป็นเครื่องควบคุมมิให้เกิดความไม่เป็นธรรมและความผิดพลาดบกพร่องต่างๆ เกิดขึ้นได้และก็ได้ปกครองกันเป็นสุขมาหลายร้อยปีด้วยวิธีการนี้ ข้อความในศิลาจารึกของพระเจ้ารามคำแหงเกี่ยวกับกระดิ่งที่แขวนไว้หน้าพระราชวัง ตลอดลงมาถึงวิธีการถวายฎีกาในกรุงรัตนโกสินทร์นี้เป็นเครื่องพิสูจน์หลักการที่คนไทยเราได้ยึดถือมาโดยตลอด สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินไทย ทรงเป็นผู้รักษาสิทธิเสรีภาพของราษฎรหรือเป็นผู้แทนราษฎรคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองของไทย คำว่า "อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ"ซึ่งปรากฏอยู่ในพระปรมาภิไธย หลายรัชกาลก็เป็นการแสดงออกซึ่งเจตนารมณ์และหลักการนี้ การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จขึ้นประทับพระที่นั่งอัฐทิศในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และทรงรับน้ำจากผู้แทนราษฎรซึ่งประจำอยู่ทั้งแปดทิศ ก็เป็นการยืนยันในหลักการอันสำคัญแห่งระบอบประชาธิปไตย หลักการนั้นก็คืออำนาจอธิปไตยมาจากปวงชน ด้วยเหตุที่กล่าวมานี้ พระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทยจึงมิใช่สถาบันที่ขัดต่อระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นสถาบันที่อยู่ในหลักการ และเจตนารมณ์แห่งประชาธิปไตยในเมืองไทยเรานี้พระมหากษัตริย์และประชาชนไม่เป็นภัยต่อกัน และพระมหากษัตริย์ทรงเป็นของประชาชนทั้งประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จขึ้นเสวยราชย์ ในประเทศไทยอันมีเบื้องหลังแห่งประวัติศาสตร์ที่กล่าวมาแล้ว และในยุคที่คนไทยกำลังตื่นตัวในการปกครองระบอบประชาธิปไตย การปฏิบัติพระราชกรณียกิจทุกอย่างทุกประการตั้งแต่แรกเริ่มมาจนถึงบัดนี้แสดงให้เห็นได้ชัดว่า มิได้ทรงห่างจากประชาชน และทรงเป็นของประชาชนมาโดยตลอด ความจริงข้อนี้ย่อมประจักษ์ชัดอยู่ในใจของประชาชนไม่จำเป็นต้องพรรณนาให้ยืดยาว การที่คนสองคนจะเป็นของกันและกันได้นั้น ขึ้นอยู่แก่ความใกล้ชิดและความร่วมกันในทุกข์และในสุข ประชาชนได้ร่วมทุกข์กับในหลวงเมื่อสมเด็จพระเชษฐาธิราชเสด็จสวรรคต ได้จับตาเฝ้ามองดูพระองค์ด้วยความห่วงใย เมื่อมีข่าวว่าทรงประสบอุบัติเหตุในต่างประเทศ หรือแม้มีข่าวเลื่องลือในทางการเมืองต่างๆ อันอาจกระทบกระเทือนถึงพระองค์ ก็พากันวิตกหวั่นหวาดไปทั่ว ในยามที่ทรงเข้าสู่พระราชพิธีอภิเษกสมรส เมื่อครั้งทรงพระผนวชเมื่อได้ทราบข่าวว่าประสูติสมเด็จเจ้าฟ้าพระราชธิดา และพระราชกุมาร ก็พากันปีติโสมนัสทุกครั้งที่ได้เฝ้าชมพระบารมี ทุกคนก็พากันเบิกบานใจ และรู้สึกว่าตนเองนั้นเป็นคนดีขึ้นกว่าเดิมไม่มากก็น้อย ทางด้านในหลวงก็ทรงใกล้ชิดและร่วมทุกข์สุข กับประชาชนอยู่เป็นนิจความผาสุกของประชาชนดูจะไม่เคยห่างเหินจากพระราชหฤทัย ทรงร่วมสุขกับประชาชนตามกาลที่ประชาชนเป็นสุข และทรงร่วมทุกข์กับประชาชน ในเมื่อประชาชนต้องประสบภัยพิบัติต่างๆ ทุกครั้งมา พระราชกรณียกิจ และพระมหากรุณาธิคุณทั้งหลายทั้งปวงนั้นได้มีผู้บรรยายมามากแล้วในหนังสือฉบับนี้ ถ้าหากจะอ่านโดยตลอดด้วยวิจารณญาณก็จะเห็นได้ว่า พระราชประสงค์สำคัญอันเรียกได้ว่าเป็นโครงร่างแห่งพระราชกรณียกิจ และพระมหากรุณาธิคุณต่างๆ อันเป็นรายละเอียดนั้นก็คือ เสรีภาพของประชาชนหรือประชาธิปไตยอันถาวรที่มาจากประชาชนโดยแท้ ในหลวงทรงเป็นของประชาชน ทรงทำงานด้วยพระราชอุตสาหะ มิได้เห็นแก่เหนื่อยยากเพื่อประชาชนทรงเป็นนิมิตและหลักประกันประชาธิปไตยแห่งบ้านเมืองของเรานี้ วิธีเดียวที่ประชาชนจะสนองพระเดชพระคุณอันล้นพ้นนี้ได้ก็คือ การกระทำตนให้ถึงพร้อมด้วยสิทธิ และหน้าที่ อันจักเป็นเครื่องนำประเทศเข้าสู่ประชาธิปไตยอันมั่นคงถาวรที่สุด และถ้าหากประชาชนกระทำได้ดังนี้ ประชาชนก็จะเป็นผู้สร้างพระบรมราชานุสรณ์อันยิ่งใหญ่ที่สุดที่มิได้เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ของชาติไทย" ข้อมูลอ้างอิง กองบรรณาธิการสยามรัฐ . (2540) "คึกฤทธิ์วินิจฉัย".กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สยามรัฐ สละ ลิขิตกุล. (2546) "ในหลวงกับคึกฤทธิ์".กรุงเทพฯ : สรรพศาสตร์ กองบรรณาธิการสยามรัฐ. (2554) "100 ปีคึกฤทธิ์".กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สยามรัฐ +++++++ 'ทรงอยากจะอยู่ใกล้ชิดประชาชน' ตามรอยพระบาทจากเรื่องเล่า 'ในหลวงของเรา' "สยามรัฐ" ถือเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวของประเทศไทย ที่มีหน้า "ในหลวงของเรา" เสกสรร สิทธาคม บรรณาธิการข่าว "ในหลวงของเรา" หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ได้ถ่ายทอดความรู้สึกจากก้นบึ้งของหัวใจที่ได้ทำหน้าที่สืบสานเจตนารมณ์ของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กับเข็มทิศของ "สยามรัฐ" ในการเป็นหนังสือพิมพ์ที่เทิดทูนแสดงความเคารพ ต่อ 3 สถาบันหลักของไทย อยากให้ย้อนรอยที่มาของหน้า "ในหลวงของเรา" "สืบเนื่องมาจากการตีความ ว่า "หนังสือพิมพ์สยามรัฐ" เป็นหนังสือพิมพ์ที่เทิดทูนชาติศาสนา พระมหากษัตริย์ยึดมั่น 3 สถาบัน โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เป็นผู้ก่อตั้งสยามรัฐเป็นผู้ที่ได้แสดงออกให้เห็นอย่างนั้น โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นที่ทราบกันอยู่แล้ว จากที่ท่านทำหน้าที่ในหน้าหนังสือพิมพ์สยามรัฐเองไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไร ทั้งเหมาะสม ไม่เหมาะสมก็ตามที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับของ "ในหลวงรัชกาลที่ 9"ท่านจะเอ่ยถึงอย่างเทิดทูนให้คนไทยได้รับรู้ถึงพระราชกรณียกิจ ถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ซึ่งถ้าใครได้เคยติดตามอ่าน "สยามรัฐ" ในยุคนั้น จะพบเจอเรื่องราวที่ อ.คึกฤทธิ์ท่านนำเสนอมาอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ว่าของท่าน ท่านทำเอง ส่วนความเป็นหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ก็เป็นไปตามธรรมชาติ คือมีข่าวพระราชกรณียกิจก็ขึ้นหน้าหนึ่ง ต่างๆ ก็เป็นไปตามธรรมชาติ ส่วนของท่านก็จะนำเสนอในคอลัมน์ท่าน ไม่ว่าจะเป็น "ข้าวนอกนา" "ซอยสวนพลู" อะไรก็ตาม นั่นคือผมเข้าใจว่าต้นเหตุของหน้าในหลวงของเราน่าจะมาจากสนองปณิธานของ อ.คึกฤทธิ์ พอมาถึงผมประมาณสักปี 2540 อาจกว่านิดหน่อยจากที่เคยทำหน้าที่อยู่ในส่วนของหน้าการศึกษา หน้าศิลปวัฒนธรรม พระองค์ท่านก็เหมือนกับพระ จริงๆ แล้วพูดได้ว่า คนไทยทุกคนและผมตั้งแต่เด็กมาจะถูกปลูกฝังให้มีความรู้สึกกับในหลวง หรือสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะในรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 จะถูกปลูกฝังถึงความเทิดทูน ความจงรักภักดีมาอย่างต่อเนื่อง เหมือนพระองค์ท่านเป็นพระเรานับถือพระอย่างไรก็นับถือเทิดทูนพระองค์ท่านเหมือนกับพระ มีทั้งความศักดิ์สิทธิ์ มีทั้งความโอบอ้อมอารี ทำงานให้กับประชาชน อะไรต่างๆ เหล่านี้ แต่ในความรู้สึกผมมีเพิ่มไปอีกว่า พระมหากษัตริย์อาจเป็นข้อที่ทำให้เราต้องระมัดระวังมากขึ้นในการที่จะแสดงออกต่อพระองค์ท่านหรือพระบรมวงศานุวงศ์ อันนี้ผมมาสังเกตเอาในภายหลัง ฉะนั้น ส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระองค์ท่านทั้งหมด ในส่วนที่ผมโตมา และก็มาสัมผัสในสายนี้อย่างจริงจัง ก็มองไปถึงองค์กรที่เกี่ยวข้องกับพระองค์ท่าน ก็มีข้อจำกัดมากมายพอสมควร ทั้งๆ ที่เราเทิดทูนจงรัก แต่ว่าผู้ทำงานถวายต่างพระเนตรพระกรรณเหล่านั้น ผู้ทำงานระหว่างองค์กรเหล่านั้นเหมือนกอดพระองค์ท่านไว้โดยระมัดระวังจากบุคคลภายนอกหรือจากสื่อภายนอกพอสมควร ทั้งๆ ที่บางสิ่งบางอย่างเวลาคนไทยรัก"พ่อ"เทิดทูน"พ่อ" แล้วก็อยากจะใกล้ชิด ทรงอยากใกล้ชิดประชาชน หลายเหตุการณ์จะสังเกตได้ว่า เฉพาะพระองค์ท่านมิได้ทรงกังวลเรื่องอย่างนี้ หากแต่พระองค์ท่านกลับอยากจะใกล้ชิดกับประชาชน ตามที่เราได้เคยเห็นภาพต่างๆ ทั้งในโทรทัศน์และสื่อหนังสือพิมพ์ว่า พระองค์ทรงนั่งพับเพียบ พระองค์ทรงโน้มพระวรกายลงไปหาประชาชน อย่างนี้ เป็นต้น หรือแม้แต่กระทั่งคำเรียกแทนพระองค์ท่านว่า"พ่อ" ของประชาชน พระองค์ท่านก็ไม่ได้ทรงห้าม แต่ฟังดูแล้วเหมือนพระองค์พอพระทัยมากกว่า ซึ่งเรื่องนี้ก็มีคนเคยพูดว่าบางทีไปอาจเอื้อม นับพระองค์เป็นญาติ แต่นั่นก็ว่ากันไป เป็นเรื่องของวิถีคนที่เทิดทูน ต่างคนต่างเทิดทูน ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นพ่อหลวงอย่างทางเหนือ จนกระทั่งมาเป็นพ่อของแผ่นดิน ก็ล้วนแล้วแต่เป็นคำที่ทำให้ใกล้ชิดพระองค์ท่าน อย่างล่าสุดครบ 60 ปีครองราชย์ ที่ประชาชนแน่นถนนเลย ซึ่งคนที่รักษาความปลอดภัยพระองค์ท่านก็กันพยายามที่จะไม่ให้ประชาชนเข้าไปใกล้ กลัวจะเกิดอันตรายหรือจะอะไรต่างๆ ถึงพระองค์ ผมฟังจากคนที่ใกล้ชิดพระองค์ท่าน ใช้คำว่าพระราชทานพร ว่าทรงให้ประชาชนเขาเข้ามาเถอะ อย่าไปกันเขาเลย แล้วพระองค์ท่านก็อยากจะอยู่ใกล้ประชาชนของพระองค์ ถ้าที่เราเฝ้าดูกันตอนนั้น ก็จะเห็นมีการผ่อนคลายในช่วงหลังค่ำไปแล้ว เป็นต้น" จากหนึ่งเดียวกับภารกิจที่ได้รับมอบหมาย"หน้าในหลวงของเรา" "ถามว่ายากไหม ว่า ยากมาก ในความรู้สึกเลย...ผมคลำในภาระหน้าที่ของตัวเองที่จะทำงานตรงนี้ 1 ปี กว่าที่จะมีแนวคิดหรือมีงานของตัวเองออกมา 1 ปี ใน 1 ปีนี่ ผมก็ขอบทความจากผู้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทมาถ่ายทอด แต่สิ่งที่ไม่กล้าจะทำอะไรลงไปก็เลยนำเรื่องนี้ ไปปรึกษา ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล (ซึ่งท่านคงจำไม่ได้หรอก) ก็ไปกราบ ขอคำแนะนำ ว่า สยามรัฐ มีหน้าในหลวงของเราอยู่ จะถ่ายทอดพระมหากรุณาธิคุณเป็นหลัก ท่านมีคำแนะนำอย่างไรไหม ผมจำได้คลับคล้ายคลับคลา ว่าท่านบอกเออดีสิ ก็ให้นำพระราชดำรัส พระบรมราโชวาท มาขยายความ ผมก็ไม่ได้ตอบว่าอะไร ก็ยิ้ม ขอบพระคุณท่าน แต่นึกในใจว่าผมคงไม่บังอาจเอาพระราชดำรัสพระบรมราโชวาทของพระองค์ท่านมาขยายความ เพราะผมเข้าใจว่าลึกซึ้ง เพียงแต่ถึงจะลึกซึ้งแต่แฝงไปด้วยความง่ายในการที่จะเอามาใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะว่าในภายหลังทุกคนก็ประมวลได้ตรงกันว่าคำว่าพระราชดำริก็ดี พระบรมราโชวาทก็ดี ก็คือศาสตร์พระราชานั่นเอง มุ่งมั่นเผยแพร่พระมหากรุณาธิคุณ ฉะนั้น ความกังวลใจในการที่จะทำหน้า "ในหลวงของเรา" สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ 1. กลัวว่าจะไปหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในการใช้ถ้อยคำ ภาษา ที่สำคัญที่สุด ต้องทุบโต๊ะเลยว่าจะทำหน้าที่โดยรูปแบบไหน เราก็เคยเป็นนักวิจารณ์มาเป็นนักข่าว ความเป็นนักวิจารณ์ก็เป็นความเห็นส่วนตัว ผิดพลาดอะไรก็เป็นเรื่องของเรา ก็ต้องตัดตรงนั้นออกไปเลย ผมตั้งปฏิญาณเลยผมจะทำหน้าที่เป็นประชาสัมพันธ์ถวายพระองค์ท่าน จะไม่มีหยิบเอามาวิพากษ์วิจารณ์อย่างนี้อย่างนั้น ไปแตะต้องใครอะไรอย่างนี้ ไม่เอา เนื้อหา พระมหากรุณาธิคุณ ไม่ว่าจะเป็นโครงการพระราชดำริมีพระราชดำรัสอย่างไร ก็เอามาถ่ายทอดต่ออย่างนั้นอย่างเดียว เป็นประชาสัมพันธ์จริงๆ ตามเนื้อหาที่ปรากฏ ที่พระองค์ท่านพระราชทานให้ หรือตามหน่วยงานทำงานถวายพระเนตรพระกรรณ 2.เรื่องภาษา หรือราชาศัพท์ ถึงจะพอรู้ภาษาไทยอยู่บ้างนิดหน่อย เนื่องจากเรียนภาษามาบ้างนิดหน่อย แต่พอมาเจอเรื่องราชาศัพท์เข้าก็ไปไม่ถูกเหมือนกัน ใช้เวลานานทีเดียว สงสัยถาม สงสัยถาม จะใช้ถาม ประสานกับสำนักราชเลขาธิการ เป็นหลัก และท่านผู้รู้บางท่านอื่นๆก็ค่อยได้ความรู้ออกมา โดยเฉพาะเอกสารจากผู้ใหญ่บางท่านที่เขียนไว้อย่างเช่น ผู้ช่วยราชเลขาฯ ภาวาส บุนนาค ท่านมีเอกสารของท่านที่เป็นความเห็นเรื่องราชาศัพท์ เฉพาะของท่านก็ได้ใช้ประโยชน์อยู่พอสมควร ก็ผิดบ้างถูกบ้าง แต่โดยส่วนใหญ่พยายามมั่นใจว่าถูก ก็เลยผ่านพ้นมา ถามว่ามีอุปสรรคไหมก็ยังมีอุปสรรคเยอะ เช่น ผมมานั่งนึกว่า เมื่อพระราชดำรัส พระบรมราโชวาท มีความสำคัญ เพราะเป็นศาสตร์พระราชา เป็นแนวคิดที่พระองค์ท่านพระราชทานให้เพื่อให้คนเอาไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ หลังจากที่ผมจับเรื่องเขียนปุ๊บ โดยเรื่องที่ผมเขียนก็คือเรื่องไปตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ หรือไปตามหน่วยงานที่เขาจัดงานเฉลิมพระเกียรติอะไรต่างๆ ผมก็จะอัญเชิญพระราชดำรัส พระบรมราโชวาทมาขึ้นก่อน ทั้งๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหรอก เพื่อที่จะให้คนอ่าน อุปสรรคครั้งแรกก็อย่างที่กล่าว ที่บอกไปตอนแรกว่ามีปัญหาเกี่ยวกับหน่วยงานที่ทำงานถวายต่างพระเนตรพระกรรณก็ปกป้องดูแลความเหมาะสมไม่เหมาะสม เวลาดึงอะไรที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาใช้ก็ต้องขอพระบรมราชานุญาตเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ เป็นภาพพระราชกรณียกิจ แม้กระทั่งพระราชดำรัสแต่ละองค์ ก็ต้องขอแต่ทีนี้เราทำรายวัน ผมก็เลยเรียนไปว่า จะขอทุกวันไม่ทันเขาบอกให้ทำตัวอย่างมาเลย ผมก็ทำเรื่องแล้วก็อัญเชิญพระราชดำรัส พระบรมราโชวาทสัก 2-3 องค์แนบไป เขาก็ตอบมา ไม่มีอะไร ก็ดำเนินการไป ก็ผ่านพ้นมา มีข้อน่าดีใจ อย่างการที่ได้นำพระมหากรุณาธิคุณออกมาเผยแพร่ อย่างที่ค่อนข้างเป็นกรอบกว้างๆ เหมือนกับทำให้ภาคราชการที่ทำงานถวายต่างพระเนตรพระกรรณก็ผ่อนคลายถึงสิ่งที่จะทำให้พระเกียรติคุณของพระองค์ท่าน พระเมตตาของพระองค์ท่าน ใกล้ชิดประชาชนได้เพิ่มขึ้นมา ก็มีความรู้สึก เป็นเรื่องที่น่าดีใจ และทำให้มีความสุข" ++++ "ในหลวง ร.9" ในมุมมองที่ได้สัมผัสจาก "หน้าในหลวงของเรา" "ถ้าจะหมายถึงความเป็นบุคคล คือเหมือนกับถ้าเป็นสมัยก่อน ก็อ่านจากหนังสือบ้าง อะไรบ้าง ความรู้สึกที่คนถ่ายทอดออกมา เรามีความรู้สึกว่า เหมือนพระองค์ท่านก็คือเป็นเทพเทวดา คือจะบันดาลอะไรก็ได้ คิดอย่างนั้นนะเมื่อก่อน แต่พอได้มาสัมผัสพระราชกรณียกิจที่พระองค์ท่านทรงทำ ทำให้ยิ่งมีความรู้สึกว่าคนที่เข้าใจอย่างนั้นน่ะ เข้าใจถูก แต่ว่ายังไม่ลึกซึ้งนะ ผมคิดอย่างนั้น คือในความเป็นคนธรรมดาทั่วไป คนที่จะทำงานจริงๆ ได้อย่างนี้ยากคำว่ายากอยู่ตรงไหน อยู่ตรงที่ไม่มีใครที่จะมีความเพียร อย่างที่เคยได้ยินว่าพระองค์ท่านทรงมีพระอัจฉริยภาพมาก เช่น เรื่องดนตรี อะไรต่อมิอะไรต่างๆ และโดยส่วนใหญ่ คนพูดแล้วจะทิ้งคาไว้ ก็เหมือนกับที่พูดเมื่อกี้ว่าทรงเป็นเหมือนเทวดา บันดาลอะไรก็ได้ แต่แท้ที่จริง ถ้าทุกคนย้อนไปสืบพระราชประวัติจะเห็นว่าพระองค์ท่านทรงทุ่มเทมาก ทรงมีความเพียร ทรงมีความพยายามมาก กระทั่งทรงเชี่ยวชาญในแต่ละศิลปะนั้นๆ เป็นเรื่องซึ่งคนทั่วไป หมายถึงสื่อมวลชนและคนถ่ายทอดไม่ค่อยหยิบเรื่องอย่างนี้มาเผยแพร่มาตอกย้ำ ฉะนั้น เมื่อผมจับความเรื่องนี้ในการเป็นประชาสัมพันธ์ให้พระองค์ท่าน เผยแพร่เรื่องพระราชกรณียกิจ พระมหากรุณาธิคุณ ผมพยายามจะขยายความเรื่องตรงนี้เท่าที่ผมจะทำได้ ชี้ให้เห็นว่า พระองค์ท่านเป็นพระมหาชนกจริงๆ มิใช่มีแค่ความเพียรอย่างเดียว แน่นอนที่สุดเมื่อมีความเพียร ความอดทนต่างๆ ก็จะตามมาอยู่ในนั้น ผมจึงมองว่าคนธรรมดาสามัญ พระองค์ท่านยิ่งกว่าเทพอีก ผมคิดอย่างนั้นนะ ตามรอย "พ่อ" สำเร็จแน่แค่ไม่ท้อ และก่อนที่จะได้มาสัมผัสด้วยมือเห็นด้วยตา พระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านจริงๆ ตามที่ได้ไปสัมผัสโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เราได้ยินเรื่องพวกนี้มาพอสมควร ก็นึกเฉยๆ ว่า พระองค์ท่านจะไปทำยังไงได้ขนาดนั้นเยอะแยะมากมาย แต่พอไปสัมผัสจริงๆ ก็โอ้โหพระองค์ท่านทรงทำจริงๆ ศูนย์ศึกษาโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือที่ใกล้ตัวที่สุดที่ผมเดินทางมากที่สุดก็คือ โครงการศึกษา โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ฉะนั้น ข้อเปรียบเทียบอันหนึ่ง มีความหลากหลายแตกต่างกัน สมมติมีราชประชานุเคราะห์ 10 แห่ง ถามว่าเหมือนกันมั้ย ไม่เหมือนหรอก ใครที่จะเดินตามรอยพระองค์ได้แค่ไหนเพียงใด ก็จะปรากฏภาพแห่งความสำเร็จได้เพียงนั้น ฉะนั้น เมื่อเทียบกับศูนย์ศึกษาก็ดีหรือโครงการพระราชดำริอื่นที่พระองค์ท่านทรงดูแลเอง หมายความว่าเมื่อพระราชทานพระราชดำริเชิญหน่วยงานต่างๆ มารวมตัวกัน และก็ปลดเครื่องหมายยศถาบรรดาศักดิ์ออกซะมาทำงานให้กับประชาชน มาตรฐานของเนื้อหาแห่งการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเกษตร ปศุสัตว์ต่างๆ มันอยู่ในมาตรฐานในพื้นที่นั้นๆ คงเส้นคงวา ประชาชนที่อยากจะไปหาความรู้อะไรต่างๆ เข้าไปก็จะได้เห็นและสามารถทำได้อย่างนั้นจริงๆแต่นั่นหมายความว่าต้องเดินตามเบื้องพระยุคลบาท มีความเพียร อดทน เอากลับมาพัฒนามาปรุงแต่งตามพื้นที่ของตัวเอง ฉะนั้น ใน 100 คน ใน 1,000 คน ที่เดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท แทบจะประสบความสำเร็จทุกคนทุกครอบครัว จากที่ผมเดินทางไปสัมผัสของจริง ถ้าไม่ท้อหยุดเสียก่อนนะ ง่ายๆ ล่าสุดที่เพชรบุรี ชาวบ้านคนหนึ่งซึ่งเป็นหนี้เป็นสินเกือบ 1 ล้าน 7 แสนบาท หลังจากความโลภครอบงำ ทำเกษตรเพื่อจะหาเงินอย่างเดียว ปรากฏว่าไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งมาเยือนโครงการห้วยทรายฯไปศึกษาเรียนรู้เรื่อยๆ 4 ปี คืนหนี้ 1 ล้าน 7 แสนหมด เป็นต้น เป็นตัวอย่าง และไม่ใช่คนคนเดียว อย่างน้อยที่สุดก็คือ จ่าเขียนสร้อยสน ที่เป็นข่าวดังก็เหมือนกัน ทุกวันนี้มีฐานะครอบครัวที่มีความสุข ความจริงไม่ใช่พออยู่พอกินแกมีตังค์เยอะเลยที่แกเต็มไปด้วยป่า ก็ประมาณอย่างนี้ รู้สึกอย่างนี้จริงๆจับต้องด้วยมือได้จริง เห็นด้วยตาของจริง ของจริงทั้งนั้นเลย ที่ผมรู้สึกว่ายิ่งกว่าเทพจริงๆ นะผมว่า" ประสบการณ์การได้ตามเสด็จฯ-ตามรอยพระบาท- ความประทับใจ "ผมไม่เคยได้ตามเสด็จฯ เพราะช่วงผมหลังปี 2540 มาแล้ว ขบวนนักข่าวโดยภาพรวมที่ตามเสด็จฯเริ่มน้อยลงเนื่องจากเข้าใจว่า นี่เดาเอา เข้าใจว่าการเดินทางในขบวนใหญ่ๆ มันมีปัญหา พระองค์ท่านก็พยายามให้เหมือนเป็นครูไปแล้วเอามาเผยแพร่ แต่ไม่ได้เป็นพระราชดำรัสนะ แต่ช่างภาพยังคงอยู่ (ช่างภาพของเราสยามรัฐก็ใกล้ชิดพระองค์มาหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่พี่ประดิษฐ์ ตัณกำเหนิดพี่ติ๋ม-สมบูรณ์ เกตุผึ้ง) กระทั่งหลังจากช่วงผมเป็นช่วงที่นักข่าวหนังสือพิมพ์นะ ช่างภาพหนังสือพิมพ์เริ่มน้อยลงที่จะตามเสด็จฯ ก็พึ่งพากัน แต่ทีวีก็ยังเป็นหลักอยู่ แต่ว่าไม่เคยคาดคิดว่าจะได้ใกล้ชิดพระองค์ท่าน ผมว่าเป็นบุญในความรู้สึก ตลอดเวลาที่ได้มีโอกาสมาทำงานถวายต่างพระเนตรพระกรรณ แม้จะเป็นงานที่พระองค์ท่านไม่ได้วางให้เราทำโดยส่วนพระองค์ คือใครก็ได้ทำความดีถวาย คือเป็นคนดีก็ได้ทำงานถวายแล้ว แต่เผอิญผม สยามรัฐ ได้มีโอกาสเปิดหน้านี้โดยตรงขึ้นมา ได้ไปทำงานถวายโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ผมก็เดินตามส่วนหนึ่ง ไปตามราชประชานุเคราะห์มาตลอด วันหนึ่ง ด้วยเวลาเพียงแค่ 2-3 ปีผมได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ในบรรยากาศแห่งพระรัศมีที่หัวหิน ที่อาคารอเนกประสงค์ โดยที่ผู้ใหญ่ท่านเมตตา ว่าทำงานถวายก็ให้ไปเข้าเฝ้าฯ ครั้งแรกบรรยากาศแห่งพระรัศมี ปีแรกเลย ก็ไปเข้าเฝ้าฯ น่าจะประมาณสักปี 43-45 ประมาณนี้ ผมเป็นคนไม่ค่อยจำ ผู้ใหญ่ท่านให้ไป ไปก็ไม่ได้มีชื่อ คือปกติจะเสด็จออกเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯเข้าเฝ้าฯ ปีละครั้ง คำว่าราชประชานุเคราะห์ฯ หมายถึง ตั้งแต่ผู้บริหาร-เจ้าหน้าที่-ผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ผู้เกี่ยวข้อง นักเรียนทุน เข้าเฝ้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศล รับเข็มที่ระลึก รับโล่ ที่เป็นทางการตอนนั้นก็ตกประมาณ 200-250 คน ก่อนที่จะทรงพระประชวร แต่ตอนที่ไปก็ทรงมีพระอาการประชวรบ้าง ก็เสด็จออกไปอาคารอเนกประสงค์ทุกปี จะเสด็จขึ้นไปชั้น 2 จะเป็นห้องประชุม ทุกคนที่ได้รับเชิญ ก็จะมีชื่อ หมายเลข เก้าอี้ แล้วก็นั่งเรียงๆ ไปตามลำดับ ส่วนผู้ที่ติดตามไปก็จะไปอยู่ชั้นล่าง จะมีจอทีวีถ่ายทอดให้ดู ผมก็ไปอยู่ด้านล่าง ในขณะที่เสด็จฯ มายังห้องโถงแล้ว สักพักผู้ใหญ่ก็ให้คนมาเชิญให้ผมขึ้นไป ปรากฏว่าผมจะขึ้น คนที่ดูแลประตูเขาไม่ให้ขึ้น บอกไม่ได้เกี่ยวข้องขึ้นไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร ผมก็ไม่ขึ้น สักพักท่านให้คนมาพาไปก็เลยได้ขึ้น โอ้โห พอเข้าไปอยู่ในนั้น พระองค์ท่านประทับไกลพอสมควร ห้องยาว ผมรู้สึกว่าพอเข้าไปปุ๊บเนี่ยขนลุกเลย เข้าไปใกล้พระบารมีพระองค์ท่านเลย ดีใจมาก ไม่รู้จะพูดยังไง เขาก็เอาเก้าอี้มาให้นั่งด้วยท้ายสุดเลย นั่งจนกระทั่งเสด็จฯ กลับ ปีนั้นก็ไม่มีอะไรพระองค์ท่านประทับนั่งบนพระเก้าอี้ หลังพระราชทานเข็มแล้ว ก็จะพระราชทานพระราชดำรัสสัก 30 นาทีประ มาณนี้ นั่น เป็นปีแรกที่ได้เข้าเฝ้าฯ ดีใจมาก ที่สุดในชีวิตถวายหนังสือ-รับเข็มฯ พอปีต่อมา ทีนี้มีชื่อเลย มีหนังสือเชิญ มีเก้าอี้นั่งตามชื่อ และยิ่งกว่านั้นนะ ปรากฏว่ามีชื่อรับเข็มพระราชทานด้วย แต่ก่อนหน้านั้น ที่จะมีชื่อรับเข็มพระราชทาน ผมไปกับราชประชานุเคราะห์ แต่ละครั้งเกือบครึ่งเดือน ประมาณ13 วัน ผมก็เขียนลงทุกวัน ครั้งหนึ่งเกือบ 50 ตอน รายงานการเดินทางไปกับราชประชานุเคราะห์ไปมอบทุนการศึกษา มอบชุด นร.พระราชทาน ในช่วงปลายเดือน ธ.ค. จะมอบผ้าห่มพระราชทาน ล่องใต้น้อยวันหน่อยปีละครั้ง ผมเดินทางอย่างนี้ ปีหนึ่งเกือบ 3 พัน กม. หรืออาจจะถึงเกือบ 10 ปี หรือเป็น 10 ปี นับเป็นกิโลมหาศาลเลย ผมก็เขียนมา แล้วคุณขวัญแก้ว วัชโรทัย ตอนนั้นเป็นประธานมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ บอกเสกสรรรวมเรื่องมาให้หน่อย แกจะเอาไปพิมพ์ ก็รวมให้ ไปพิมพ์แล้วก็เอาไปแจก ปรากฏในปีต่อมาผมได้เข้าเฝ้าฯถวายหนังสือ โอ้โห สุดๆ ของชีวิตไปเลย คือถามว่ามีความสุขไหม แน่นอนอยู่แล้ว แค่ได้เฝ้าฯ แค่ได้อยู่ในบรรยากาศอย่างนั้น ไม่คาดไม่คิดมาก่อนอยู่แล้ว แต่นี่ได้เข้าเฝ้าฯ เข้าเฝ้าฯ ตอนที่พระองค์ท่านเสด็จฯ มาจากวังไกลกังวล มาจากพระตำหนักเพื่อที่จะเสด็จขึ้นชั้น 2 ตอนนี้พระองค์ท่านเริ่มมีพระอาการประชวรแล้ว ผมก็เฝ้าอยู่หน้าลิฟต์ พระองค์ท่านเสด็จฯลงจากชั้น 2 มาก็จะกลับพระตำหนัก คนที่รอเข้าเฝ้าฯอยู่ตรงนั้นก็เยอะทีเดียว มีอะไรที่จะถวายหรือจะทูล ตรงนั้นผมก็ได้ถวายหนังสือ ตอนนั้นชาไปทั้งตัว นั่งคุกเข่าแล้วก็กราบไปที่ฝ่าพระบาท หลังจากถวายหนังสือแล้ว บรรยายไม่ถูก พอปีที่ 3 เข้าเฝ้าฯ ข้างบน รับเข็มพระราชทาน โอ้โห นั่นคือสิ่งที่พิเศษที่สุดในชีวิต ++++ ธรรมะในหลวง-ทรงให้โดยเราไม่รู้ตัว มีคนเคยถามว่า ทำหน้าที่ตรงนี้ได้อะไร ไม่เห็นได้อะไรเลย ที่ผมได้มานี่ยิ่งใหญ่มาก ไม่ใช่เงินทอง ได้ความเคารพนับถือ ได้ความเชื่อถือ ได้ความภูมิใจได้อะไรต่างๆได้ความสุข จากที่เคยทำหน้าบันเทิง เคยฟุ้งเฟ้อมีความโลภต่างๆจากที่ได้สัมผัสพระราชดำรัส พระบรมราโชวาท คิดอะไรไปต่างๆ นานา ทำให้ละพวกนั้นได้พอสมควร ไม่ได้ยินดียินร้ายอะไรกับมันมากมาย แต่ถามว่าอยากได้ไหม อยากแต่อยากได้ตามวิถีที่เรามีความรู้ความสามารถที่เป็นทางของเรา ที่มีคนให้เรา เป็นค่าความรู้ความสามารถ แต่เดิมมาเราก็ไม่มีใจแก่งแย่งของใคร เพียงแต่ก่อนหน้ามีความทุกข์เพราะความโลภนี่แหละ ไปมีโน่นนี่ ปรากฏว่าทำให้เป็นหนี้เป็นสิน ถึงขั้นวิกฤติเลย ก็ต้องเอาตรงนี้ไปแก้ คือมีความรู้สึกเลย ช่างโชคดีอะไรของเราเหลือเกินบวชมาก็แล้ว อยู่วัดมาก็แล้ว ธรรมะของพระพุทธเจ้ายังไม่เข้าเลย ยังเอามาใช้ไม่ได้ แต่พระองค์ท่านเอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาขยายให้เราได้สัมผัสให้คนไทยได้สัมผัส กลับได้ผล มากมายมหาศาล หมายถึงกับผมนะ ก็เท่ากับว่าพระองค์ท่านให้อะไรกับผม โดยเฉพาะทรงให้ความพอเพียงกับผม ในความรู้สึกนะ นี่คือความรู้สึกที่ลึกซึ้งและได้น้อมนำเอาสิ่งที่ได้เห็นจากพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านมาทำ แต่ทำได้นิดเดียวนะ อย่างอื่นน่ะทำไม่เป็นเลย โดยเฉพาะสายเกษตรไม่เป็นเลย... แต่จริงๆ แล้วความประทับใจ ไม่ได้เพราะได้เข้าเฝ้าฯหรอก แต่อยู่ที่ว่า พระองค์ท่านให้เราโดยเราไม่รู้ตัว ตรงนั้นมากกว่า ประทับใจมาก เรามาค่อยๆ คิด พระองค์ท่านให้เราเป็นอย่างนั้นให้เราเป็นอย่างนี้ โดยที่เราไม่ขัดขืน เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่ดีงาม เป็นเรื่องที่กลืนไปโดยอัตโนมัติ เรื่องที่อยากถ่ายทอดให้คนทั่วไปได้รับรู้นอกเหนือจากที่ได้ลงตีพิมพ์ใน "สยามรัฐ" "มีเกร็ดนะ ที่จริงเป็นสิ่งที่ผมได้เข้าเฝ้าฯ ผมว่าสิ่งเหล่านี้เป็นอันหนึ่ง เป็นเรื่องนิดเดียวแต่เป็นเรื่องที่พระองค์ท่านให้ความสำคัญกับประชาชนของพระองค์ อย่างที่ผมบอกไปในตอนแรกว่า ทรงอยากใกล้ชิดประชาชน และพระองค์ทรงอยากให้ประชาชนได้มีโอกาสมาใกล้ชิดพระองค์ท่าน วันที่ผมเข้าเฝ้าฯ รับเข็มพระราชทานที่หัวหิน ประมาณ 200 กว่าคน พระองค์ท่านเริ่มทรงพระประชวรแล้ว โดยปกติคนจะเข้าเฝ้าฯ พระองค์ท่านประทับนั่งอยู่บนพระเก้าอี้ สูงขึ้นมา คนที่ไปเข้าเฝ้าฯ ก็จะเดินตามชื่อที่เรียกก็จะมีมาร์กสีแดง ยืนตรงนั้นปุ๊บ แล้วก็โค้ง แล้วก็ก้าวไป ก้าวไปอีกมาร์ก แล้วก็ยื่นมือไปรับจากพระหัตถ์ ปรากฏว่าที่ประทับนั่งสูง แล้วที่มาร์กไว้ ก็ห่าง พระองค์ท่านเริ่มทรงพระประชวรแล้ว เราเห็นแล้ว พระองค์ท่านต้องเอื้อมพระหัตถ์มา และคนรับก็ต้องยื่นมือเข้าไป คนจะเอื้อม ตัวเตี้ย ตัวสูง ประหม่าอะไรต่างๆ ก็จะเจอ บางทียืนเลยมาร์กบ้างออกมาบ้าง ก็ยิ่งไกลพระองค์ท่านไปใหญ่พระองค์ท่านก็ยิ่งต้องทรงเอื้อม 200 กว่าครั้ง "คนของเรากั้นไม่ให้เข้ามาใกล้ข้าพเจ้า" หลังจากที่พระราชทานเข็มเสร็จ ก็พระราชทานพระราชดำรัส มีช่วงหนึ่งพระราชทานพระราชดำรัสว่า วันนี้คนของเรา (ว่าคล้ายๆ อย่างนี้นะ) คนของเรากั้นผู้ที่มารับของไม่ให้เข้ามาใกล้กับข้าพเจ้าข้าพเจ้าก็ต้องเอื้อมมือออกไป หลายๆ ครั้งเข้า ข้าพเจ้าก็เมื่อย ซึ่งเรื่องอย่างนี้ข้าพเจ้าก็ไม่เคยสอนเลย ท่านตรัสทำนองอย่างนี้ ผมพยายามไปค้นหาที่ผมเคยเขียนบันทึกไว้นะ ไม่รู้อยู่ตรงไหน เป็นคนไม่มีระบบในการเก็บข้อมูล เป็นเรื่องประมาณสักปี 43-45 ถ้าผมจำไม่ผิด เป็นเรื่องที่พระองค์ท่านทรงให้รายละเอียดกับประชาชนของพระองค์มาก ทรงเอาพระองค์เข้ามาเป็นเครื่องมือในการที่จะทรงบอกเล่าคนอื่น นี่คือสิ่งที่ได้เห็นพระองค์ท่าน นอกจากนั้น เป็นเรื่องที่เราไม่เคยเข้าเฝ้าฯ ในด้านการตามเสด็จฯ โดยตรง ก็เลยไม่ได้สัมผัสพระราชจริยาวัตรตรงนั้นชัดเจน จากที่ได้สัมผัส ก็คิดว่าทรงให้รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ กับประชาชนของพระองค์ แสดงให้เห็นว่าพระองค์ท่านพยายามจะทรงบอกว่าให้คนของพระองค์เข้าใจวิถีของประชาชนที่เขาอยากเข้ามาใกล้ เสกสรร สิทธาคม บรรณาธิการในหลวงของเรา ก็สมัยก่อนจำได้ไหม เคยอ่านหนังสือแล้วเจอประชาชนมาเข้าเฝ้าฯ แล้วถูกกันในต่างจังหวัดนะ จนกระทั่งต้องแอบเขียนอะไรติดใส่มือเพื่อถวายฎีกา ก็มีคนเอามาเล่า ก็ถึงขนาดอย่างนั้น เพราะสิ่งตรงนี้ เป็นสิ่งที่พระองค์ท่านให้ความสำคัญกับประชาชนของพระองค์ท่าน ย้อนไปถึงที่พระองค์ท่านตรัส ตอนเสด็จฯ กลับไปศึกษาต่อ หลังจากทรงรับขึ้นทรงราชย์แล้ว ว่าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะละทิ้งประชาชนได้อย่างไรก็จะคล้ายๆ กันในความรู้สึก ก็ประมาณนี้" ทรงงานจนพระประชวรไข้ตัวใหม่ล่าสุด...ยังทรงให้ประชาชนไม่สิ้นสุด "ก็ต้องบอกว่า ไม่มีถ้อยคำอะไร จะหาถ้อยคำมาพูดถึงพระองค์ท่านอย่างเป็นรูปธรรม ที่คนจะเชื่อว่ามีความเป็นจริงอย่างนั้น เช่น เรามักจะใช้คำว่า ทรงทำงานหนักที่สุดในโลก ทรงเหน็ดเหนื่อยโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงพระวรกาย เสด็จฯ ไปทุกพื้นที่ที่ยากลำบาก ปีนเขาข้ามน้ำต่างๆ ที่เราเห็น แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องจริงเป็นเรื่องที่คนธรรมดายังไม่ทำเลย ทั้งๆ ที่ควรจะทำ ท่านองคมนตรี พลากร สุวรรณรัฐ เล่าว่า ในตอนที่พระองค์ท่านเสด็จฯ ที่ปราจีนบุรี ตอนนั้น อ.สระแก้ว ยังไม่เป็นจังหวัด เสด็จฯไปในโครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และมีคราวหนึ่งเสด็จฯ ไปฝนตกพอดี ประชาชนก็จะนั่งอยู่ในเต็นท์ รอรับเสด็จ พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินมา ทรงไม่รอให้ฝนหาย เสด็จฯ ฝ่าสายฝนมา แม้บางช่วงข้าราชบริพารจะให้เสด็จฯ ในส่วนที่ฝนตกเปียกไม่ได้ แต่ปรากฏว่าพระองค์ท่านก็อย่างที่รู้ ก็จะเสด็จฯ ไปหาประชาชน เปียกฝนอะไรต่อมิอะไรไป ครั้งนั้นเสด็จฯ กลับแล้วทรงไม่สบาย แล้วปรากฏว่าทรงไม่สบายเพราะเชื้อไข้ตัวใหม่ล่าสุด ท่านพลากรเล่า ประมาณสักปี 2524-2525 (ไม่แม่นนะ ลองเช็กดู) ก็ถือเป็นโชคดีของประเทศไทยอีกหรือเปล่าก็ไม่รู้ พระองค์ท่าน หมอหาสาเหตุกันแทบตายไม่เจอ จนกระทั่งมีหมอผู้หญิงคนหนึ่งไปค้นเจอว่าเป็นไข้ตัวใหม่ พระองค์ท่านถึงได้หาย อย่างนี้ เป็นต้น อย่างอื่นที่ใครต่อใครเล่าเป็นเกร็ด ก็แต่ว่าเป็นความจริง แม้แต่กระทั่งเรื่องที่ อ.มนูญ มุกข์ประดิษฐ์ กรรมการและรองเลขานุการมูลนิธิชัยพัฒนาเล่าถึงเรื่องเสวยข้าวผัดที่คนไม่กินแล้ว เรื่องอย่างนี้ก็เป็นเรื่องที่แน่นอน เพราะตอนนั้นตามเสด็จฯ กันอยู่ อย่างนี้ ก็เป็นสิ่งที่อยากจะบอกว่า ไม่มีคำกล่าวใดๆ อยากให้เห็นภาพพระองค์ท่านเป็นอย่างนี้ จะหาคนธรรมดาสามัญทำได้อย่างไร พระองค์ท่านก็เป็นคนธรรมดาสามัญทรงทุ่มเทพระองค์ทำเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนเพราะทรงรักทรงห่วงประชาชนของพระองค์อย่างแท้จริง" ตอนที่ ๔ วันมหาวิปโยค ติดตามวันพรุ่งนี้... Download:: สยามรัฐฉบับพิเศษ ตอนที่ ๓ 'ในหลวง'กับ 'คึกฤทธิ์'