จากสถานการณ์ COVID-19 ที่ยังมีความรุนแรงต่อเนื่อง ส่งผลให้รูปแบบการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาต้องมีการปรับเปลี่ยนตั้งแต่การเลื่อนเปิดเทอมออกไป และเรียนผ่านออนไลน์จนโรงเรียนต่างๆ ยังไม่สามารถเปิดให้เข้าเรียนเต็มเวลาได้ บางแห่งเรียน online สลับ on-site และบางแห่งเรียน online เต็มเวลา ซึ่งพฤติกรรมของเด็กกลุ่มวัยเรียนที่ต้องนั่งเรียนนาน ๆ จะส่งผลต่อสุขภาพ 5 ประการ ดังนี้ 1.การเคลื่อนไหวน้อยไป ส่งผลร้ายต่อระบบการทรงตัว  ระบบการทรงตัวช่วยควบคุมกล้ามเนื้อตา การรับรู้พื้นที่ และการจัดการสมองเพื่อช่วยปรับการเรียนรู้และอารมณ์ 2.การนั่งนานเกินไปกระตุ้นให้เกิดโรคอ้วนในเด็ก และปัญหาทางสุขภาพมากมาย และการนั่งทั้งวันในตอนเป็นเด็ก ก็อาจนำไปสู่นิสัยที่ไม่ดีต่อสุขภาพตอนเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งอาจมีส่วนให้เกิดโรคอ้วนในที่สุด 3.การเคลื่อนไหวลดอาการซึมเศร้าและวิตกกังวล ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น กิจกรรมทางกายจะปลดปล่อยเอ็นดอร์ฟิน และช่วยให้เด็กเลิกคิดเรื่องรบกวนจิตใจไปได้ 4.การนั่งนาน ๆ สร้างนิสัยเฉื่อยชา เนือยนิ่งให้เด็ก การอยู่ในสภาพที่ต้องนั่งเป็นส่วนใหญ่ในแต่ละวัน ทั้งที่โรงเรียนและเล่นโซเชียลมีเดียที่บ้าน ก็ติดนิสัยเฉื่อยชาได้ดังนั้นผู้ปกครองควรให้ความสนใจและแนะนำเด็ก 5.เกิดปัญหาทางสายตา หากต้องนั่งจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์นาน ๆ เช่น ปวดตา ตาแห้ง อาจต้องพักสายตาบ้าง และหากมีอาการควรพบแพทย์ไม่ควรซื้อยาหยอดตาเอง อย่างไรก็ตาม การเรียนออนไลน์นอกจากจะอาศัยวินัยของเด็กซึ่งผู้ปกครองต้องคอยแนะนำไปทางที่เหมาะสมแล้ว คุณครูก็ควรมีแผนการสอน หรือกลยุทธ์วิธีการสอนที่น่าสนใจด้วย เพื่อให้ไม่น่าเบื่อกับการเรียนออนไลน์ที่บ้านทุกวัน ดังนั้น เพื่อป้องกันโรคต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในเด็กนักเรียน หลังจากเรียนออนไลน์แล้วเสร็จ ควรหากิจกรรมที่ขยับร่างกายที่จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือดได้ดีขึ้น โดยเฉพาะการออกกำลังกายจะช่วยสร้างเซลล์สมองใหม่ นอกจากนี้การมีส่วนร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ ในบ้าน เช่น ล้างจาน รดน้ำต้นไม้ หรือ ทำอาหารเย็นร่วมกัน กิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ นอกจากจะช่วยขยับร่างกายส่งผลดีทางร่างกาย จิตใจแจ่มใสแล้ว ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในครอบครัวอีกด้วย  กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข