26 มิถุนายน วันคล้ายวันเกิดของกวีนาม “สุนทรภู่” หรือ พระสุนทรโวหาร “อาลักษณ์ขี้เมา” ยูเนสโกยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านงานวรรณกรรม ปี 2529 “ประวัติชีวิตในวัยเยาว์ของสุนทรภู่ เกิดในพื้นที่ของวังหลังซึ่งตั้งอยู่ปากคลองบางกอกน้อย เมื่อ พ.ศ.2329 ตรงกับช่วงรัชกาลที่ 1 ที่เกิดของท่านในปัจจุบันก็คือบริเวณโรงพยาบาลศิริราช ภูมิลำเนาเกิดของท่านจึงอยู่ในเมืองหลวง ไม่ใช่เมืองระยอง ดังที่หลายต่อหลายคนเข้าใจกัน เรื่องเกี่ยวกับพ่อแม่ของท่านนั้น บางแหล่งข้อมูลก็ว่าเลิกร้างกันตั้งแต่สุนทรภู่อยู่ในครรภ์ พ่อจึงไปบวชอยู่เมืองแกลง ส่วนแม่ไปเป็นแม่นมพระธิดาในกรมพระราชวังหลัง...ส่วนบางข้อมูลว่า การที่พ่อแม่ของท่านไม่ได้อยู่ด้วยกันนั้นใช่ว่าจะต้องหย่าร้างกัน อาจจะเป็นไปได้ว่าพ่อที่รับบรรดาศักดิ์เป็นถึงขุนศรีสังหารไปบวชพระเพื่อสืบราชการลับให้ทางราชการ เพราะการที่แม่ท่านได้มาเป็นแม่นมของเจ้านายได้นั้น ตามธรรมเนียมของราชสำนักจะต้องเป็นผู้ที่มีประวัติครอบครัวดีด้วย...แต่โดยสรุปแล้ว พ่อกับแม่ของสุนทรภู่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน และก็ไม่แน่ใจด้วยว่าเมื่อแม่ท่านไปเป็นแม่นมอยู่ในวังแล้วจะปล่อยให้คนอื่นเลี้ยงดูท่านแทนด้วยหรือไม่ ด้วยเหตุดังนั้น สุนทรภู่จึงขาดความอบอุ่นและขาดความผูกพันกับทั้งพ่อและแม่ตลอดมา ซึ่งกลายเป็นปมและความเก็บกดอีกประการหนึ่งของสุนทรภู่” (“สุนทรภู่...ครูกวีที่เก็บกด” 2 วัฒนรักษ์ , สยามรัฐ มิ.ย.63 , สังเขป) ผลงานนิราศของท่านมีมากมาย จะพบว่าสาระที่แฝงอยู่ในนั้นคือกระจกเงาที่ส่องสะท้อนให้เห็นชีวิตของสุนทรภู่ที่แท้จริง เป็นประจักษ์พยานที่ทำให้สามารถเข้าใจสุนทรภู่ได้อย่างแจ่มแจ้ง เพราะงานสร้างสรรค์ลักษณะนี้มักรวบรวมเรื่องราวต่างๆ ของท่านเข้าไว้ด้วยเสมอ... เช่นเมื่อเดินทางผ่านบางยี่ขัน ท่านก็กล่าวไว้ในนิราศภูเขาทองเองว่า “...เห็นโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ พระสรรเพชญโพธิญาณประมาณหมาย ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย ไม่กล้ากรายแกล้งเมินก็เกินไป...” สุนทรภู่นอกจากจะเป็นทั้งกวี นักคิด นักปรัชญาและนักอักษรศาสตร์แล้ว ท่านยังมีเรื่องราวอีกหลายแง่มุมที่ยังคงทำให้คนรุ่นหลังได้พิศวงสงสัยและยังคงหาหลักฐานมาถกเถียงกันอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นประวัติส่วนตัว บุคลิกภาพ อุปนิสัย ตลอดจนผลงานที่ได้สร้างสรรค์ไว้ จึงทำให้การศึกษาเรื่องราวของท่านก็ยังคงมีมาอย่างไม่ขาดสายจนถึงปัจจุบัน ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง