ประดิษฐ์ต้นแบบเสาไฟ นอกจากให้แสงสว่างยังสามารถตรวจวัดคุณภาพอากาศ ปริมาณฝุ่น PM 2.5 และตรวจจับความหนาแน่นและแยกประเภทยานพาหนะบนท้องถนนได้แบบเรียลไทม์ ตอบโจทย์การเป็นเมืองอัจฉริยะ 2 ก.ค.2564 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) รศ. ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า สจล. โดยนักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้คิดค้นและประดิษฐ์ ต้นแบบ “เสาไฟเอไอมัลติฟังก์ชัน” สามารถเชื่อมต่อเซิร์ฟเวอร์ (Server) ประมวลผลด้วยเอไอ (AI) ที่มาพร้อมเซนเซอร์ช่วยตรวจวัดคุณภาพอากาศ ปริมาณฝุ่น PM 2.5 พร้อมตรวจจับความหนาแน่นและแยกประเภทยานพาหนะบนท้องถนนได้แบบเรียลไทม์ เพื่อเก็บเป็นฐานข้อมูลดิจิทัล (Big Data) แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นแนวทางในการบริหารพื้นที่ทางกายภาพ อาทิ การจัดระเบียบการจราจร จำกัดจำนวนยานพาหนะที่ปล่อยควันพิษ เพื่อลดปริมาณฝุ่นบนท้องถนน ฯลฯ ตลอดจนเป็นหนึ่งในแนวทางการขับเคลื่อนประเทศไทยให้พร้อมก้าวสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในอนาคต ด้วยต้นทุนการผลิตของตัวเสาและอุปกรณ์บนเสาทั้งหมดเริ่มต้นที่ 35,000 บาท สำหรับเสาไฟดังกล่าว ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบสำคัญ ดังนี้ - ระบบไฟฟ้า ประกอบด้วย แผงโซลาร์เซลล์ขนาด 250 วัตต์ แบตเตอรี่สำรอง (Backup) ระบบไฟถนน LED มาตรฐาน ที่ส่องสว่างกว่า 10,000 ลูเมน ซึ่งสามารถขยายความสว่างได้ถึง 2 เท่าหรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับการใช้งานของไฟถนนหรือกิจกรรม อีกทั้งยังปรับระบบการส่องสว่างได้พร้อมแบตเตอรี่เพิ่มเติม กรณีฝนตกหรือสภาพอากาศไม่อำนวย - ระบบเซนเซอร์ (Sensor) ตรวจจับสภาพอากาศ อุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ความกดอากาศ และสามารถเชื่อมต่อตัวตรวจจับอื่น ๆ ตามเงื่อนไขที่กำหนด พร้อมส่งข้อมูลเข้า Server ผ่านระบบสื่อสารไร้สาย พร้อมบันทึกประวัติของสภาพอากาศและปริมาณฝุ่นไว้ เพื่อเป็นบิ๊กเดต้าในอนาคต - ระบบกล้องอัจฉริยะ (Smart Camera) ที่มาพร้อมเอไอ (AI) ระบบกล้องจะทำหน้าที่ตรวจเช็คสภาพการจราจร ดูสภาพการจราจรได้แบบเรียลไทม์ (Real Time) และสามารถเชื่อมต่อไปยัง Server ส่วนกลางและใช้งานร่วมกับระบบ AI ในการประมวลผลปริมาณความหนาแน่นของการจราจรได้จากกล้องจริง พร้อมทั้งแยกประเภทยานพาหนะที่วิ่งผ่านได้ เพื่อการใช้งานการควบคุมหรือวางแผนการจราจรเมืองอัจฉริยะในอนาคต รศ. ดร.สมยศ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ในอนาคตเสาไฟดังกล่าวสามารถต่อเติมเซนเซอร์ช่วยตรวจจับเพิ่มเติมได้ อาทิ อุปกรณ์จมูกอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic nose) อุปกรณ์จำแนกกลิ่นทั้งในลักษณะก๊าซพิษ มลภาวะทางเสียง หรือกระทั่งการเกิดน้ำท่วมขัง ฯลฯ ผ่านการเชื่อมต่อข้อมูลทางโครงข่ายการสื่อสารทั้งหมด อีกทั้งระบบและอุปกรณ์ทั้งหมดถูกออกแบบไว้ในกล่องปิดตามมาตรฐานกันน้ำและฝุ่นสำหรับใช้งานภายนอกอาคาร โดยหากเชื่อมต่อกับ Server ผู้ใช้งานจะสามารถตรวจสอบผลสภาพอากาศและปริมาณฝุ่นได้แบบ Real Time ผ่านทางเว็บเบราว์เซอร์ (Web Browser) โดยรองรับระบบปฏิบัติการของสมาร์ทโฟน ทั้งไอโอเอส (iOS) และ แอนดรอยด์ (Android) นอกจากนี้ ผู้ใช้งานยังสามารถนำไปติดตั้งบริเวณเสาไฟหรือเสาสื่อสารที่มีอยู่แล้วได้ กรณีต้องการตรวจวัดคุณภาพอากาศและความหนาแน่นของยานพาหนะบนเส้นทางนั้น ๆ ได้อีกด้วย สำหรับหน่วยงานใดที่สนใจขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. โทรศัพท์ 02-329-8300-1 ติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรมของคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. หรือ วิศวลาดกระบัง ได้ที่ https://www.facebook.com/kmitl001 หรือ https://www.facebook.com/kmitlofficial และ http://kmitl.ac.th