คณะกรรมการศูนย์โควิด-19 จุฬาฯ ได้กำหนดมาตรการเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่นิสิตและบุคลากรที่มีความจำเป็นต้องเข้ามาในพื้นที่มหาวิทยาลัยในระหว่างการปิดสถานที่ทำการชั่วคราวเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ด้วยการใช้เกณฑ์การฉีดวัคซีนเป็นเครื่องมือในการคัดกรองผู้เข้าพื้นที่มหาวิทยาลัย ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล ประธานคณะกรรมการโควิด-19 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เนื่องจากมหาวิทยาลัยปิดสถานที่ทำการชั่วคราวมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่ต้องเข้าใจว่ามีงานบางประเภท เช่น งานด้านวิจัยในห้องแล็ปที่จำเป็นต้องมีบุคลากรหรือนิสิต เข้ามาดำเนินการ มิฉะนั้นจะเกิดความเสียหาย โชคดีที่ก่อนหน้านี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งศูนย์บริการวัคซีนจุฬาฯ เพื่อช่วยเหลือภาครัฐในการกระจายวัคซีนให้แก่ประชาชน โดยเน้นให้บริการฉีดวัคซีนแก่สถาบันการศึกษาที่อยู่ในเขตปทุมวัน สาทร บางรัก และกลุ่มผู้ให้บริการสาธารณะเป็นหลัก นับจนถึงวันนี้ได้ให้บริการมาแล้วมากกว่า 100 องค์กร ในจำนวนนี้รวมถึงบุคลากรของจุฬาฯ และนิสิตบางส่วนด้วย ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงาน เพิ่มความปลอดภัยและความสบายใจให้แก่ผู้ที่จำเป็นต้องเข้ามาปฏิบัติงาน และนิสิตที่มีความจำเป็นต้องเข้ามาทำแล็ป หรือสอบจบในพื้นที่มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยจึงกำหนดเงื่อนไขให้ผู้นั้นได้รับวัคซีน Sinovac เข็ม 2 หรือ AstraZeneca เข็มแรกเกิน 14 วัน และปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังอย่างเคร่งครัดก่อนเข้ามาในพื้นที่มหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม หากมีเหตุจำเป็นอื่นๆ ให้ทำเรื่องเสนอคณะกรรมการศูนย์โควิด-19 เพื่อพิจารณาได้ นอกจากมาตรการข้างต้นแล้ว ยังย้ำถึงความพร้อมในการให้บริการวัคซีนแก่ประชาคมจุฬาฯ โดยขอให้นิสิตและบุคลากรที่มีความจำเป็นต้องเข้ามาในพื้นที่มหาวิทยาลัยแต่ยังไม่ได้รับวัคซีน รีบแจ้งความจำนงเพื่อเข้ามารับวัคซีนโดยนิสิตให้ส่งรายชื่อผ่านฝ่ายกิจการนิสิตของส่วนงาน ส่วนบุคลากรให้แจ้งรายชื่อผ่านฝ่ายบุคคลของส่วนงานเพื่อนัดหมายให้เข้ารับวัคซีน ณ ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ ต่อไป