ร่วมสมัย/ชะมวง พฤกษาถิ่น: มีข่าวดีมาบอก! ผู้ที่ชื่นชอบโหลดเพลงเพื่อนำไปประกอบผลงานเชิงสร้างสรรค์ งานรื่นเริง ประเพณี ที่สำคัญโหลดฟรี ไม่เสียค่าลิขสิทธิ์แต่อย่างใด ดร.วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผอ.สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย(สศร.) กล่าวว่า ขณะนี้สศร.ได้มีการขับเคลื่อนโครงการที่ได้รับเงินอุดหนุนการพัฒนาและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ประจำปี 2564 โดยล่าสุดมีการจัดทำบทเพลงร่วมสมัยเพื่อสร้างฐานข้อมูลเพลง ตามโครงการสร้างสรรค์ผลงานดนตรี โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรี ผู้มีชื่อเสียงในระดับสากลถึง 3 ท่าน ได้แก่ ดร.ปวัตน์ชัย สุวรรณคังคะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาดุริยางคศาสตร์สากล คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับโครงสร้างในการประพันธ์เพลง และ ดร.อาศิษฐ์ เกตุจันทรา อาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกันประพันธ์เพลงขึ้น จำนวน 15 บทเพลง โดยมีความยาวเพลงละ ประมาณ 2 นาที ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ ดร.อาศิษฐ์ เกตุจันทรา สำหรับบทเพลงที่สร้างสรรค์ขึ้น ได้จำแนกตาม Mood&Tone ของเพลง แบ่งเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่ 1.เพลงสำหรับบรรยากาศสบายๆ ในประเพณีต่างๆ เช่น ประเพณีสงกรานต์ ที่มีกิจกรรมรดน้ำดำหัวขอพรจากญาติผู้ใหญ่ เป็นต้น 2.ลักษณะท่วงทำนองที่ตื่นเต้นเร้าใจ ในบรรยากาศของพิธีเปิดอีเวนต์ หรือเกมการละเล่น พิธีเปิดตัวโครงการ หรือไฮไลท์ในงานต่างๆ และ 3.เป็นลักษณะของชุดเพลงที่มีท่วงทำนองดนตรีที่สร้างความสนุกสนุกสนานรื่นเริง เหมาะสำหรับกิจกรรมบันเทิงต่างๆ เพื่อพัฒนาเป็นฐานข้อมูลเพลง ดนตรี บทเพลงของไทย เพื่อให้นักพัฒนานักสร้างสรรค์ต่างๆ สามารถนำไปต่อยอด สร้างสรรค์ผลงานในสาขาของตนเพิ่มเติมได้ ด้าน ดร.ปวัตน์ชัย สุวรรณคังคะ กล่าวว่า หากย้อนไปในช่วงเวลาก่อนที่จะเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 หน่วยงานภาครัฐ สถานทูต ตลอดจนสถาบันการศึกษาต่างๆ มีการจัดกิจกรรมรื่นเริงตามเทศกาลต่างๆ โดยนิยมจะใช้เพลงบรรเลงเปิดเป็นแบคกราวน์ในงาน แต่ในบางสถานการณ์ก็ไม่สามารถนำเพลงบางเพลงมาเปิดได้เนื่องจากติดปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ของศิลปินและค่ายเพลงต่างๆ ทำให้บางครั้งผู้จัดต้องเสียงบประมาณตรงส่วนนี้ไปเป็นจำนวนมาก จึงเกิดแนวคิดสร้างสรรค์ซาวน์ดนตรีบรรเลง เพื่อให้สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไปสามารถดาวน์โหลดจากเว็ปไซต์ของสศร. เพื่อไปใช้งานได้โดยไม่มีต้องเสียค่าลิขสิทธิ์แต่อย่างใด ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดและนำไปใช้ได้ทางเว็ปไซต์ของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยในช่วงเดือนกันยายน 2564 นี้