เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ ยืนยันแล้วว่าเก็บได้จริง! #เพอร์เซเวียแรนส์ เผยภาพหินตัวอย่างบนดาวอังคารที่บรรจุอยู่ในหลอดเก็บตัวอย่าง และภาพที่ปิดฝาหลอดเรียบร้อยแล้ว เพื่อเก็บรักษารอวันนำส่งกลับมายังโลก กระบวนการเก็บตัวอย่างหินดาวอังคารของรถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ครั้งนี้ ได้เริ่มขึ้น เมื่อวันพุธที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา เมื่ออุปกรณ์ขุดเจาะหินที่ปลายแขนกลของรถสำรวจขุดเจาะก้อนหินที่เรียกว่า “Rochette” ในเบื้องต้นทางทีมรถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ยังไม่สามารถยืนยันการมีอยู่ของตัวอย่างหินภายในหลอดได้ แต่ล่าสุด ภาพชุดใหม่นี้ก็สามารถยืนยันการเก็บตัวอย่างหินได้สำเร็จ ขณะนี้ ตัวอย่างหินถูกบรรจุในหลอดไทเทเนียมที่อยู่ในสภาพสุญญากาศ เพื่อรักษาคุณค่าทางวิทยาศาสตร์ให้ได้มากที่สุด และเตรียมพร้อมสำหรับภารกิจในอนาคตที่เรียกว่า Mars Sample Return ซึ่งเป็นภารกิจที่จะนำหลอดตัวอย่างหินดาวอังคารจากรถสำรวจกลับมายังโลก เมื่อวันที่ 6 กันยายน เวลา 11:34 น. ตามเวลาประเทศไทย รถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ได้ถ่ายโอนหมายเลขลำดับของหลอดตัวอย่างหมายเลข 266 พร้อมส่งหลอดตัวอย่างหินไปเก็บภายในรถสำรวจ เพื่อวัดและบันทึกภาพตัวอย่างหิน จากนั้นได้ปิดผนึกหลอดเก็บตัวอย่างให้แน่นหนา บันทึกภาพอีกครั้ง และเก็บไว้เพื่อรอส่งกลับมายังโลก ทั้งนี้ กล้องที่ใช้บันทึกภาพในกระบวนการนี้คือกล้อง CacheCam ที่ติดตั้งอยู่ภายในตัวรถสำรวจ หันหน้ากล้องไปที่ด้านบนของหลอดเก็บตัวอย่างเพื่อถ่ายภาพหลอดเก็บตัวอย่างโดยเฉพาะ ภารกิจของรถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ เป็นการศึกษาบริเวณหลุมอุกกาบาตเจเซโร (Jezero Crater) เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับธรณีวิทยาและความเป็นมาในสมัยดึกดำบรรพ์ของพื้นที่แห่งนี้ ตลอดจนการอธิบายลักษณะของภูมิอากาศในอดีต มีอุปกรณ์สำคัญที่ใช้ในการระบุชนิดของหิน และเก็บรวบรวมตัวอย่างหินบนพื้นผิวดาวอังคาร พร้อมกับการค้นหาสัญญาณบ่งชี้ถึงสิ่งมีชีวิตด้วยกล้องจุลทรรศน์ รถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์กำลังสำรวจพื้นที่ที่เรียกว่า “Artuby” ซึ่งเป็นแนวสันเขายาวกว่า 900 เมตร โดยจะใช้เวลาอีกหลายร้อยวันบนดาวอังคารบริเวณนี้ เพอร์เซเวียแรนส์จะเดินทางเป็นระยะทางราว 2.5 ถึง 5 กิโลเมตร และอาจเก็บตัวอย่างหินได้มากถึง 8 หลอดจากทั้งหมด 43 หลอด หลังจากนั้น รถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์จะเดินทางขึ้นไปทางเหนือและทางตะวันตก เพื่อไปยังตำแหน่งต่อไปที่จะสำรวจ บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเก่าที่ขอบหลุมอุกกาบาตเจเซโร ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำดึกดำบรรพ์มาบรรจบกับทะเลสาบภายในหลุมอุกกาบาต พื้นที่ตรงนี้อาจอุดมไปด้วยแร่ธาตุดินเหนียว คาดว่าแร่ธาตุดังกล่าวจะสามารถรักษาร่องรอยของจุลชีพยุคโบราณและบ่งชี้ถึงกระบวนการทางชีววิทยาอีกด้วย เรียบเรียง : ธราดล ชูแก้ว - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. ที่มา : [1] https://www.nasa.gov/.../nasa-s-perseverance-rover... [2] https://mars.nasa.gov/.../CCF_0120_0677608328_119ECM..."